ใจความสำคัญ
- ในผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ ยาต้านไวรัสช่วยลดโรคไซโตเมกาโลไวรัส (CMV) และการเสียชีวิตจากโรค CMV เมื่อเทียบกับยาหลอกหรือไม่ได้รับการรักษา
- พบว่าการให้ยาป้องกันเป็นระยะเวลานานขึ้นมีประสิทธิผลมากกว่าการรักษา 3 เดือนในผู้รับการปลูกถ่ายไตและปอด
- พบว่าวัลแกนซิโคลเวียร์ขนาดต่ำมีประสิทธิผลเท่ากับขนาดมาตรฐานในการป้องกัน CMV ในผู้รับการปลูกถ่ายไตที่มีความเสี่ยงปานกลาง
ทำไมต้องใช้ยาต้านไวรัสเพื่อป้องกันโรค CMV ในผู้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ
CMV (ไวรัส herpes ชนิดหนึ่ง) เป็นไวรัสชนิดที่พบบ่อยที่สุดในผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ (ไต หัวใจ ตับ ปอด และตับอ่อน) CMV เป็นสาเหตุสำคัญของการเจ็บป่วยและเสียชีวิตในปีแรกหลังการปลูกถ่ายอวัยวะ
เราต้องการค้นหาอะไร
เราต้องการดูทั้งประโยชน์และผลเสียของยาต้านไวรัสเพื่อป้องกันโรค CMV ในผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ
เราทำอะไรบ้าง
เราค้นหาการทดลองทั้งหมดที่ประเมินประโยชน์และอันตรายของการรักษาด้วยยาต้านไวรัสแบบสุ่มเพื่อการป้องกันโรค CMV ในผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ เราเปรียบเทียบและสรุปผลลัพธ์ของการทดลองและจัดอันดับความเชื่อมั่นของเราในข้อมูลโดยพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ เช่น วิธีและขนาดของการทดลอง
เราพบอะไร
เรารวบรวมการศึกษา 41 ฉบับ ที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วย 5051 รายที่ได้รับการปลูกถ่ายไต ไตและตับอ่อน ตับ หัวใจ ปอด หรือหัวใจและปอด เราพบว่ายาต้านไวรัสบางชนิด (ganciclovir, valaciclovir และ aciclovir) ช่วยลดความเสี่ยงของโรค CMV การเสียชีวิตเนื่องจากโรค CMV และโรคทางคลินิกที่เกิดจากไวรัส herpes simplex เมื่อเทียบกับยาหลอกหรือไม่มีการรักษา สำหรับโรค CMV และการเสียชีวิต ประโยชน์ของอะซิโคลเวียร์ แกนซิโคลเวียร์ และวาลาซิโคลเวียร์พบได้ในผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายหัวใจ ไต หรือตับ ผลประโยชน์เหล่านี้เกิดขึ้นได้ทั้งกับผู้รับที่เคยติดเชื้อ CMV ในอดีต และผู้รับที่ไม่เคยติดเชื้อ CMV มาก่อน แต่ได้รับการปลูกถ่ายจากผู้บริจาคที่เคยติดเชื้อ CMV มาก่อน ผลประโยชน์เกิดขึ้นทุกจุดเวลา เราพบว่าแกนซิโคลเวียร์มีประสิทธิผลมากกว่าอะซิโคลเวียร์และมีประสิทธิผลเท่ากับวาลแกนซิโคลเวียร์ ซึ่งในปัจจุบันเป็นยาต้านไวรัสที่ใช้กันมากที่สุดเพื่อป้องกันโรค CMV ในผู้รับการปลูกถ่าย การใช้ยาวาลแกนซิโคลเวียร์ในขนาดต่างกันไม่ได้ส่งผลให้เกิดความแตกต่างในการป้องกันโรค CMV
ข้อจำกัดของหลักฐานคืออะไร
อาจต้องมีการศึกษาในอนาคตในกลุ่มผู้รับและผู้บริจาคที่ซีโรเนกาทีฟ ขึ้นอยู่กับความชุกของโรค CMV ในกลุ่มนี้ด้วยสูตรยากดภูมิคุ้มกันที่ใหม่กว่าและมีประสิทธิภาพมากกว่า
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับประสิทธิภาพของการป้องกันในคนที่ได้สูตรยากดภูมิคุ้มกันที่แตกต่างกัน ซึ่งใช้สำหรับการป้องกันและรักษาการปฏิเสธกราฟท์ในการปลูกถ่ายอวัยวะชนิดต่างๆ
หลักฐานเป็นปัจจุบันแค่ไหน
หลักฐานเป็นข้อมูลล่าสุด ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2024
การป้องกันโรคด้วยยาต้านไวรัสจะช่วยลดโรค CMV และการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับ CMV เมื่อเทียบกับยาหลอกหรือไม่ได้รับการรักษา ในผู้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ ข้อมูลเหล่านี้สนับสนุนการใช้ยาต้านไวรัสเพื่อป้องกันโรคในผู้ป่วยที่ได้รับ การปลูกถ่ายอวัยวะที่ตรวจพบเชื้อ CMV เป็นบวกและลบและได้รับอวัยวะที่ตรวจพบเชื้อ CMV เป็นบวก
ความเสี่ยงของการติดเชื้อไซโตเมกาโลไวรัส (cytomegalovirus; CMV) ในผู้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ ส่งผลให้มีการใช้ยาป้องกันบ่อยครั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการทางคลินิกที่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อ CMV นี่คือการปรับปรุงการทบทวนที่เผยแพร่ครั้งแรกในปี 2005 และปรับปรุงในปี 2008 และ 2013
เพื่อตรวจสอบประโยชน์และโทษของยาต้านไวรัสเพื่อป้องกันโรค CMV และการเสียชีวิตจากทุกสาเหตุในผู้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ
เราติดต่อผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูลและค้นหา Cochrane Kidney and Transplant Register of Studies จนถึงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2024 โดยใช้คำค้นหาที่เกี่ยวข้องกับการทบทวนนี้ การศึกษาใน Register จะถูกค้นหาผ่านการค้นหาใน CENTRAL, MEDLINE และ EMBASE, conference proceedings, International Clinical Trials Register Platform (ICTRP) Search Portal และ ClinicalTrials.gov
เรารวมการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มเปรียบเทียบ (randomised controlled trials; RCTs) และ quasi-RCTs ที่เปรียบเทียบยาต้านไวรัสกับยาหลอกหรือไม่มีการรักษา เปรียบเทียบยาต้านไวรัสที่แตกต่างกันหรือแผนการรักษาที่แตกต่างกันของยาต้านไวรัสชนิดเดียวกันสำหรับการป้องกันโรค CMV ในผู้รับการปลูกถ่ายอวัยะ การศึกษาที่ตรวจสอบการบำบัดล่วงหน้าสำหรับการติดเชื้อ CMV มีการศึกษาในการทบทวนแยกต่างหาก และถูกแยกออกจากการทบทวนนี้
ผู้ประพันธ์ 2 คนประเมินการศึกษาที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือก ประเมินความเสี่ยงของการเกิดอคติและดึงข้อมูลอย่างอิสระต่อกัน สรุปการประมาณผลกระทบโดยใช้ random-effects model และผลการศึกษาสำหรับข้อมูลแบบ dichotomous นำเสนอด้วย risk ratio(RR) และช่วงเชื่อมั่น 95% (CI) และข้อมูลแบบต่อเนื่องนำเสนอด้วย mean difference และช่วงเชื่อมั่น 95% (CI) ความเชื่อมั่นในหลักฐานได้รับการประเมินโดยใช้วิธี Grading of Recommendations Assessment, Development and Evaluation (GRADE)
การปรับปรุงในปี 2024 นี้พบการศึกษาใหม่ 4 ฉบับ ทำให้จำนวนการศึกษาที่รวบรวมไว้ทั้งหมด 41 ฉบับ (ผู้เข้าร่วม 5054 คน) ความเสี่ยงของการมีอคติสูงหรือไม่ชัดเจนในการศึกษาส่วนใหญ่ โดยมีความเสี่ยงต่ำของอคติในการสร้างลำดับของผู้เข้าร่วมโครงการ (12) การปกปิดการจัดสรร (12) การปกปิด (11) และการรายงานผลลัพธ์แบบเลือกสรร (9) ในการศึกษาจำนวนน้อย
มีหลักฐานความเชื่อมั่นสูงว่าการป้องกันด้วยอะซิโคลเวียร์ แกนซิโคลเวียร์ หรือวาลาซิโคลเวียร์ เมื่อเทียบกับยาหลอกหรือไม่ได้รับการรักษามีประสิทธิผลมากกว่าในการป้องกันโรค CMV (การศึกษา 19 ฉบับ: RR 0.42, 95% CI 0.34 ถึง 0.52) การเสียชีวิตจากทุกสาเหตุ (การศึกษา 17 ฉบับ: RR 0.63, 95% CI 0.43 ถึง 0.92) และการติดเชื้อ CMV (การศึกษา 17 ฉบับ: RR 0.61, 95% CI 0.48 ถึง 0.77) มีหลักฐานความเชื่อมั่นปานกลางว่าการป้องกันอาจช่วยลดการเสียชีวิตจากโรค CMV ได้ (การศึกษา 7 ฉบับ: RR 0.26, 95% CI 0.08 ถึง 0.78) การป้องกันโรคจะช่วยลดความเสี่ยงของโรคเริมและงูสวัด การติดเชื้อแบคทีเรียและโปรโตซัว แต่อาจสร้างความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่สร้างความแตกต่างเลยกับการติดเชื้อรา การปฏิเสธกราฟต์เฉียบพลันหรือการสูญเสียกราฟต์ ไม่พบความแตกต่างที่ชัดเจนในเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์กับ aciclovir, ganciclovir หรือ valaciclovir เมื่อเทียบกับยาหลอก หรือไม่พบการรักษา
มีหลักฐานที่มีความเชื่อมั่นสูงว่าแกนซิโคลเวียร์เมื่อเปรียบเทียบกับอะซิโคลเวียร์ มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรค CMV มากกว่า (การศึกษา 7 ฉบับ: RR 0.37, 95% CI 0.23 ถึง 0.60) ผลลัพธ์ใดๆ ระหว่าง valganciclovir และ ganciclovir ที่ให้ทางหลอดเลือดดำ อาจมีความแตกต่างเล็กน้อยหรือไม่มีเลยเมื่อเทียบกับ ganciclovir แบบรับประทาน (หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) ประสิทธิภาพและผลข้างเคียงของ valganciclovir หรือ ganciclovir อาจไม่แตกต่างจาก valaciclovir ในการศึกษา 3 ฉบับ (หลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง) มีหลักฐานความเชื่อมั่นปานกลางว่าการป้องกันเป็นระยะเวลานานขึ้นอาจช่วยลดความเสี่ยงของโรค CMV เมื่อเทียบกับการให้การป้องกัน 3 เดือน (การศึกษา 2 ฉบับ: RR 0.20, 95% CI 0.12 ถึง 0.35) โดยอาจจะมีความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยในอัตราของเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำแสดงให้เห็นว่า valganciclovir 450 มก./วัน เทียบกับ valganciclovir 900 มก./วัน มีความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือแทบไม่มีความแตกต่างเลยในการเสียชีวิตจากทุกสาเหตุ การติดเชื้อ CMV การปฏิเสธกราฟต์ เฉียบพลัน และการสูญเสียกราฟต์ (ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์) มาริบาเวียร์อาจเพิ่มการติดเชื้อ CMV เมื่อเทียบกับแกนซิโคลเวียร์ (การศึกษา 1 ฉบับ: RR 1.34, 95% CI: 1.10 ถึง 1.65; หลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง) อย่างไรก็ตาม พบความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยระหว่างการรักษาทั้งสองสำหรับโรค CMV การเสียชีวิตจากทุกสาเหตุ การปฏิเสธเฉียบพลัน และเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่ 6 เดือน (หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ)
แปลโดย พญ.วิลาสินี หน่อแก้ว โรงพยาบาลมะเร็งอุบลราชธานี Edit โดย พ.ญ. ผกากรอง ลุมพิกานนท์ 10 เมษายน 2025