ดนตรีบำบัดสำหรับผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อม

ความเป็นมา

ผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมจะค่อยๆ พัฒนาปัญหาด้านความจำ การคิด ภาษา และการทำกิจกรรมประจำวัน ภาวะสมองเสื่อมมักเกี่ยวข้องกับปัญหาทางอารมณ์และพฤติกรรม และอาจลดคุณภาพชีวิตของบุคคล ในระยะหลังๆของการดำเนินโรคสมองเสื่อม ผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมอาจมีความลำบากในการสื่อสารด้วยคำพูด แม้ว่าพวกเขาจะไม่สามารถพูดได้อีกแล้ว แต่พวกเขาก็ยังสามารถฮัมเพลงหรือเล่นไปพร้อมกับเสียงเพลงได้ การบำบัดด้วยดนตรีจึงเหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ทีมีภาวะสมองเสื่อม นักดนตรีบำบัดมีคุณสมบัติพิเศษในการทำงานกับบุคคลหรือกลุ่มคน โดยใช้ดนตรีเพื่อช่วยตอบสนองความต้องการทางร่างกาย จิตใจ และสังคมของบุคคลหรือกลุ่มคนที่ทำงานด้วย ผู้เชี่ยวชาญวิชาชีพอื่นอาจได้รับการฝึกอบรมเพื่อให้ได้ผลการรักษาที่คล้ายคลึงกัน

วัตถุประสงค์ของการทบทวนนี้

เราต้องการดูว่าเราสามารถหาหลักฐานเชิงประจักษ์ที่แสดงว่าการบำบัดด้วยดนตรีช่วยปรับปรุงความผาสุกทางอารมณ์และคุณภาพชีวิตของผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมได้หรือไม่ นอกจากนี้เรายังสนใจหลักฐานเกี่ยวกับผลต่อปัญหาทางอารมณ์ พฤติกรรม สังคม หรือการรู้คิด (เช่น การคิดและการจดจำ) ในผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อม

สิ่งที่เราทำ

เราสืบค้นการทดลองทางคลินิกทีประเมินผลลัพธ์เหล่านี้ และสุ่มเลือกผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมให้เข้ารับการบำบัดด้วยดนตรีหรือกลุ่มเปรียบเทียบ กลุ่มเปรียบเทียบอาจไม่ได้รับการดูแลเป็นพิเศษ หรืออาจได้รับการเสนอให้ทำกิจกรรมอื่น เกณฑ์การคัดเลือกเราต้องการงานวิจัยที่มีการทำดนตรีบำบัดอย่างน้อย 5 ครั้ง เพราะเราคิดว่าการรักษาน้อยกว่า 5 ครั้ง ไม่น่าจะมีผลมากนัก เรารวมผลการทดลองเพื่อประเมินผลของการรักษาให้มีความแม่นยำมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ หลักฐานเป็นปัจจุบันจนถึงวันที่ 19 เดือน มิถุนายน 2017

สิ่งที่เราพบ

เราพบการทดลอง 22 รายการ ที่จะรวมในการทบทวน และเราสามารถรวมผลลัพธ์สำหรับผลลัพธ์บางอย่างจากผู้เข้าร่วมโครงการวิจัยจำนวน 890 คน ทุกคนที่เข้าร่วมการทดลองพักอยู่ในบ้านพักคนชราหรือโรงพยาบาล การทดลองบางเรื่องเปรียบเทียบการบำบัดด้วยดนตรีกับการดูแลตามปกติ และบางการทดลองเปรียบเทียบกับกิจกรรมอื่นๆ เช่น การทำอาหารหรือการระบายสี คุณภาพของการศึกษาและคุณภาพของการรายงานมีความหลากหลายซึ่งส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผลลัพธ์ที่เราศึกษา อันดับแรก เราดูผลลัพธ์ทันทีหลังจากสิ้นสุดการรักษา จากผลลัพธ์ของเรา เรามีความมั่นใจได้ในระดับปานกลางว่าการบำบัดด้วยดนตรีช่วยให้อาการซึมเศร้าและปัญหาด้านพฤติกรรมโดยรวมดีขึ้น แต่ไม่ได้มีผลเฉพาะต่อพฤติกรรมกระวนกระวายหรือก้าวร้าว นอกจากนี้ยังอาจช่วยลดความวิตกกังวลและเพิ่มความผาสุกทางอารมณ์รวมถึงคุณภาพชีวิตด้วย แม้ว่าเราจะไม่ค่อยมั่นใจในผลลัพธ์เหล่านี้ อาจมีผลเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยต่อการรู้คิด เรามีความมั่นใจน้อยมากในผลลัพธ์ของการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม การศึกษาบางเรื่องยังศึกษาว่ามีผลเกิดขึ้นต่อเนื่องในระยะยาว อีกหรือไม่หลังจากสิ้นสุดการรักษาเป็นเวลาอย่างน้อยสี่สัปดาห์หรือมากกว่านั้น อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลน้อยและเราไม่แน่ใจหรือไม่แน่ใจอย่างมากเกี่ยวกับผลลัพธ์เหล่านี้ การทดลองเพิ่มเติมมีแนวโน้มที่จะส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อสิ่งที่เรารู้เกี่ยวกับผลของการบำบัดด้วยดนตรีสำหรับผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อม ดังนั้นการวิจัยอย่างต่อเนื่องจึงมีความสำคัญ

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

การให้ผู้ป่วยที่มีภาวะสมองเสื่อมที่อยู่ในความดูแลของสถาบันที่ทำหน้าที่ดูแลผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมด้วยดนตรีบำบัดอย่างน้อย 5 ครั้ง อาจช่วยลดอาการซึมเศร้าและปรับปรุงปัญหาพฤติกรรมโดยรวมเมื่อสิ้นสุดการรักษา นอกจากนี้ยังอาจเพิ่มความผาสุกทางอารมณ์และคุณภาพชีวิต และลดความวิตกกังวล แต่อาจมีผลกระทบต่ออาการกระวนกระวายหรือความก้าวร้าวหรือการรู้คิดเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย เราไม่แน่ใจเกี่ยวกับผลต่อพฤติกรรมทางสังคมและผลลัพธ์ในระยะยาว การศึกษาในอนาคตควรตรวจสอบระยะเวลาของผลลัพธ์ที่สัมพันธ์กับระยะเวลาโดยรวมของการบำบัดและจำนวนครั้งของการบำบัด

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

ภาวะสมองเสื่อมเป็นกลุ่มอาการทางคลินิกที่เกิดจากหลายสาเหตุ ซึ่งมีลักษณะเฉพาะจากการเสื่อมสภาพในการทำหน้าที่การรู้คิด พฤติกรรม สังคม และอารมณ์ มีการบำบัดทางเภสัชวิทยาแต่มีข้อจำกัดในการรักษาอาการสมองเสื่อมหลายอย่าง มีการค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับการรักษาที่ไม่ใช่ทางเภสัชวิทยาน้อย ในการทบทวนนี้ เราตรวจสอบหลักฐานสำหรับผลของดนตรีบำบัด

วัตถุประสงค์: 

เพื่อประเมินผลของดนตรีบำบัดสำหรับผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมต่อความผาสุกทางอารมณ์ รวมถึงคุณภาพชีวิต อารมณ์แปรปรวนหรืออารมณ์ด้านลบ ปัญหาด้านพฤติกรรม พฤติกรรมทางสังคมและการรู้คิดเมื่อสิ้นสุดการบำบัด และติดตามประเมินผลหลังสิ้นสุดการบำบัดในระยะสี่สัปดาห์ขึ้นไป

วิธีการสืบค้น: 

เราสืบค้นจาก ALOIS ซึ่งเป็น Specialized Register of the Cochrane Dementia and Cognitive Improvement Group (CDCIG) เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2017 โดยใช้คำที่สืบค้น: music therapy, music, singing, sing, auditory stimulation การสืบค้นเพิ่มเติมดำเนินการจนถึงวันที่ 19 มิถุนายน 2017 ในฐานข้อมูลด้านการดูแลสุขภาพที่สำคัญ MEDLINE, Embase, PsycINFO, CINAHL และ LILACS; และในทะเบียนการทดลองและแหล่งข้อมูลที่มีการเผยแพร่งานวิจัยในวงจำกัด

เกณฑ์การคัดเลือก: 

เรารวมการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุมที่ใช้ดนตรีบำบัด (อย่างน้อยห้าครั้ง) สำหรับผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมที่ประเมินผลลัพธ์ที่เราสนใจ กลุ่มควบคุมได้รับการดูแลตามปกติหรือได้รับกิจกรรมอื่นๆ ที่มีหรือไม่มีดนตรี

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

ผู้ทบทวนสองคนทำงานอย่างอิสระเพื่อคัดกรองการศึกษาที่รวบรวมได้ตามเกณฑ์การคัดเข้า จากนั้นจึงดึงข้อมูลและประเมินคุณภาพของระเบียบวิธีวิจัยของการศึกษาที่รวบรวมมา หากจำเป็น เราติดต่อผู้วิจัยที่ทำการทดลองเพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติม รวมถึงข้อมูลจากแบบประเมินระดับรายด้านที่เกี่ยวข้อง หรือข้อมูลอื่นๆ ที่ขาดหายไป เรารวมข้อมูลโดยใช้ random- effects method

ผลการวิจัย: 

เรารวบรวมการทดลองได้ทั้งหมดจำนวน 22 รายการ โดยมีผู้เข้าร่วมวิจัยที่ถูกสุ่มเข้าร่วมจำนวน 1097 คน การศึกษาจำนวน 21 เรื่องซึ่งมีผู้เข้าร่วมวิจัยจำนวน 890 คนที่มีข้อมูลนำมาใช้ในการวิเคราะห์เมตต้า ผู้เข้าร่วมการศึกษามีภาวะสมองเสื่อมในระดับความรุนแรงที่แตกต่างกัน และทุกคนอาศัยอยู่ในสถาบันคือบ้านพักคนชราหรือโรงพยาบาล การศึกษาจำนวน 7 รายการ ที่ศึกษาผลของดนตรีบำบัดเป็นรายบุคคล และมีงานวิจัยอีกจำนวนหนึ่งที่ศึกษาดนตรีบำบัดในรูปแบบกลุ่ม รูปแบบของดนตรีบำบัดส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับองค์ประกอบดนตรีที่มีลักษณะกระทำด้วยตนเองหรือเป็นผู้ฟังหรือชมดนตรี คุณภาพของระเบียบวิธีการวิจัยมีความหลากหลาย การวิจัยทั้งหมดมีความเสี่ยงของการมีอคติสูงด้านการดำเนินการวิจัย และบางงานวิจัยมีความเสี่ยงของการมีอคติสูงด้านการประเมินผล หรืออคติอื่นๆ

เมื่อสิ้นสุดการทดลอง เราพบหลักฐานคุณภาพต่ำว่าดนตรีบำบัดอาจเพิ่มความผาสุกทางอารมณ์และคุณภาพชีวิต (ความแตกต่างของค่าเฉลี่ยมาตรฐาน (SMD) 0.32 ช่วงความเชื่อมั่น 95% (CI) 0.02 ถึง 0.62; การศึกษา 9 รายการ, ผู้เข้าร่วมวิจัยจำนวน 348 คน ) และลดความวิตกกังวล (SMD –0.43, 95% CI –0.72 ถึง –0.14; การศึกษา 13 รายการ, ผู้เข้าร่วม 478 คน) เราพบหลักฐานคุณภาพต่ำที่บ่งชี้ว่าการใช้ดนตรีเป็นพื้นฐานในการบำบัดอาจมีผลเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยต่อการรู้คิด (SMD 0.15, 95% CI –0.06 ถึง 0.36; การศึกษา 7 รายการ, ผู้เข้าร่วมวิจัย 350 คน) มีหลักฐานคุณภาพปานกลางที่แสดงว่าดนตรีบำบัดสามารถลดอาการซึมเศร้า (SMD –0.27, 95% CI –0.45 ถึง –0.09; การศึกษา 11 รายการ, ผู้เข้าร่วมวิจัย 503 คน) และปัญหาพฤติกรรมโดยรวม (SMD –0.23, 95% CI –0.46 ถึง –0.01; การศึกษา 10 รายการ, ผู้เข้าร่วมวิจัย 442 คน) แต่ไม่ลดอาการกระวนกระวายหรือความก้าวร้าว (SMD –0.07, 95% CI –0.24 ถึง 0.10; การศึกษา 14 รายการ, ผู้เข้าร่วมวิจัย 626 คน) คุณภาพของหลักฐานเกี่ยวกับพฤติกรรมทางสังคมต่ำมาก ผลลัพธ์จึงมีความไม่แน่นอนอย่างมาก

หลักฐานสำหรับผลลัพธ์ระยะยาวที่ประเมินในระยะ 4 สัปดาห์หรือมากกว่าหลังจากสิ้นสุดการทดลองนั้นมีคุณภาพต่ำมากสำหรับภาวะวิตกกังวลและพฤติกรรมทางสังคม และสำหรับผลลัพธ์อื่นๆ นั้นหลักฐานมีคุณภาพต่ำสำหรับผลลัพธ์ที่เห็นผลเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย (กับ SMD ขนาดเล็กระหว่าง 0.03 และ 0.34)

บันทึกการแปล: 

แปลโดย สมพร รุ่งเรืองกลกิจ ภาควิชาการพยาบาลจิตเวช คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น วันที่ 1 กรกฎาคม 2021

Tools
Information