ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

การรักษาด้วยยาอย่างต่อเนื่องสำหรับผู้ป่วยโรคจิตเภท

ยารักษาโรคจิตเป็นปัจจัยสำคัญในการรักษาโรคจิตเภท ไม่เพียงแต่ในกรณีที่มีอาการเฉียบพลันเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการรักษาในระยะยาวด้วย ในขณะที่ผู้ป่วยอาจต้องการหยุดการรักษาในบางช่วง แต่เป็นที่ทราบกันดีว่าการกลับเป็นซ้ำของอาการทางจิตเกิดขึ้นหลังจากหยุดการรักษา อาการกำเริบอาจนำไปสู่ความเสี่ยงต่ออันตราย การสูญเสียความเป็นอิสระแห่งตน และความทุกข์ทรมานอย่างมากสำหรับผู้ป่วยและครอบครัวของพวกเขา

รายงานฉบับปัจจุบันนำเสนอเวอร์ชันอัปเดตของการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบที่เผยแพร่ก่อนหน้าปี 2012 และอ้างอิงจากการทดลองที่มีการสุ่มและมีกลุ่มควบคุมจำนวน 75 เรื่องที่เผยแพร่ในช่วงเวลาอันยาวนานตั้งแต่ปี 1950 และมีผู้เข้าร่วมวิจัยมากกว่า 9000 คน ผลของยารักษาโรคจิตทั้งหมดที่นำมาทบทวนในเอกสารชุดนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับการรักษาด้วยยาหลอกนั่นคือการหยุดยา - สำหรับการรักษาด้วยยาอย่างต่อเนื่องนั่นคือการป้องกันการกำเริบของโรค จุดมุ่งหมายคือการสำรวจประโยชน์และความเสี่ยงของแต่ละทางเลือกทั้งสองวิธีการนี้

ผลของการทบทวนนี้แสดงให้เห็นอย่างสอดคล้องกันว่ายารักษาโรคจิตสามารถลดอาการกำเริบและความจำเป็นในการต้องได้รับการรักษาตัวในโรงพยาบาลได้อย่างมีประสิทธิผล อันที่จริงในกรณีของการหยุดการรักษาความเสี่ยงของการกำเริบของโรคภายใน 1 ปีนั้นสูงกว่าเกือบ 3 เท่า ยารักษาโรคจิตดูเหมือนจะมีผลในเชิงบวกต่อความสามารถในการมีส่วนร่วมในกิจกรรมและความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล และความเป็นไปได้ในการบรรเทาจากอาการ แม้ว่าจะมีหลักฐานในเรื่องนี้น้อย แม้ว่าจะอ้างอิงจากรายงานที่มีจำนวนน้อยกว่า แต่ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องมักจะมีความพึงพอใจในชีวิตที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นการยืนยันถึงผลกระทบที่ว่าเมื่อความผาสุกลดลงจะมีความเสี่ยงสูงต่อการกลับเป็นซ้ำ ในทางกลับกันเมื่อประเมินแบบกลุ่ม ผู้ป่วยกลุ่มที่ได้รับการรักษายารักษาโรคจิตพบว่ายารักษาโรคจิตมีความสัมพันธ์กับผลข้างเคียงหลายอย่างเช่นความผิดปกติของการเคลื่อนไหว น้ำหนักเพิ่มมากขึ้น และความง่วงนอน อย่างไรก็ตามการทบทวนนี้ช่วยให้เข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่ว่าการหยุดการรักษาเป็นอันตรายมากกว่าการรักษาอย่างต่อเนื่อง

น่าเสียดายที่การศึกษาที่รวมอยู่ในการทบทวนนี้มักใช้เวลานานถึง 1 ปี จึงทำให้มีความยากลำบากในความชัดเจนต่อผลในระยะยาวของยาเหล่านี้ อย่างไรก็ตามเป็นความจริงที่ว่ายิ่งการศึกษามีระยะเวลานานมากขึ้น ก็จะยิ่งมีโอกาสที่จะได้รับผลกระทบจากปัจจัยอื่น ๆ เช่นสิ่งแวดล้อม และทำให้การตีความผลลัพธ์มีความซับซ้อนมากขึ้น ที่สำคัญที่สุดการทบทวนนี้สนับสนุนข้อดีของยารักษาโรคจิตในผู้ป่วยที่เข้าร่วมวิจัยที่มีความแตกต่างหลากหลาย ดังนั้นกลยุทธ์ที่ดีที่สุดคือการรักษาด้วยยารักษาโรคจิตต่อเนื่อง และใช้การหารือและปรับการใช้ยาหากเกิดผลข้างเคียง

บทนำ

อาการและอาการแสดงของโรคจิตเภทเชื่อมโยงกับโดพามีนที่มีปริมาณสูงในพื้นที่เฉพาะของสมอง (ระบบลิมบิก) ยารักษาโรคจิตขัดขวางการส่งโดพามีนในสมองและลดอาการเฉียบพลันของโรค การทบทวนวรรณกรรมฉบับก่อนหน้าตีพิมพ์ในปี 2012 มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาว่ายารักษาโรคจิตมีประสิทธิผลในการป้องกันการกำเริบของโรคหรือไม่ การทบทวนวรรณกรรมครั้งนี้ป็นการปรับปรุงของการทบทวนวรรณกรรมเพิ่มเติมจากฉบับก่อนหน้า

วัตถุประสงค์

เพื่อทบทวนผลของการรักษาด้วยยารักษาโรคจิตอย่างต่อเนื่องสำหรับผู้ที่เป็นโรคจิตเภทเปรียบเทียบกับการหยุดยาเหล่านี้

วิธีการสืบค้น

เราสืบค้นจากฐานข้อมูลการศึกษาโรคจิตเภทที่อยู่ochrane Schizophrenia Group's Study-Based Register of Trials รวมถึง ทะเบียนการทดลองทางคลินิก (วันที่ 12 พฤศจิกายน 2008, 10 ตุลาคม 2017, 3 กรกฎาคม 2018 และ 11 กันยายน 2019)

เกณฑ์การคัดเลือก

เราได้รวมการทดลองแบบสุ่มทั้งหมดที่เปรียบเทียบระหว่างกลุ่มที่ได้รับการรักษาด้วยยารักษาโรคจิตอย่างต่อเนื่องกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอกสำหรับผู้ที่เป็นโรคจิตเภทหรือโรคจิตแบบโรคจิตเภท

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล

เราดึงข้อมูลจากการศึกษาที่นำเข้ามาอย่างอิสระต่อกัน สำหรับข้อมูลที่มีลักษณะสองตัวเลือก (dichotomous data) เราคำนวณอัตราส่วนความเสี่ยง (RR) และช่วงความเชื่อมั่น (CIs) 95% โดยการวิเคราะห์แบบ intention-to-treat โดยใช้ a random-effects model สำหรับข้อมูลต่อเนื่องเราคำนวณความแตกต่างของค่าเฉลี่ย (MD) หรือความแตกต่างของค่าเฉลี่ยมาตรฐาน (SMD) โดยใช้แบบ a random-effects model

ผลการวิจัย

การทบทวนวรรณกรรมฉบับปัจจุบันประกอบด้วยการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม (RCTs) 75 เรื่อง มีผู้เข้าร่วมวิจัยทั้งหมด 9145 คนเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มที่ได้รับยารักษาโรคจิตกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก เป็นการทดลองที่เผยแพร่ตั้งแต่ปี 1959 ถึง 2017 และมีขนาดของกลุ่มตัวอย่างอยู่ระหว่าง 14 ถึง 420 คน ในหลายๆ การศึกษา การรายงานวิธีการสุ่มเข้ากลุ่มทดลองหรือกลุ่มควบคุม และการปกปิดวิธีการทดลองไม่ชัดเจน อย่างไรก็ตามการจำกัดการวิเคราะห์ข้อมูลเฉพาะการศึกษาที่มีความเสี่ยงของการมีอคติต่ำทำให้ได้ผลลัพธ์ที่คล้ายคลึงกัน แม้ว่าสิ่งนี้และแหล่งที่มาของอคติที่เป็นไปได้อื่น ๆ จะจำกัดคุณภาพของงานวิจัยโดยรวม แต่ประสิทธิผลของยารักษาโรคจิตในการรักษาผู้ป่วยโรคจิตเภทต่อเนื่องก็มีความชัดเจน ยารักษาโรคจิตมีประสิทธิผลมากกว่ายาหลอกในการป้องกันการกำเริบของโรคเมื่อประเมินผลที่ 7 ถึง 12 เดือน (ผลลัพธ์หลัก; กลุ่มที่ได้รับยา 24% เปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก 61%, RCTs 30 เรื่อง, ผู้เข้าร่วมวิจัยจำนวน = 4249 คน, RR 0.38, 95% CI 0.32 ถึง 0.45, จำนวนผู้ป่วยที่ต้องได้รับการรักษาด้วยยานี้หากต้องการให้หายเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคน (NNTB) 3, 95% CI 2 ถึง 3; หลักฐานมีความเชื่อมั่นในระดับสูง)

การเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลก็ลดลงเช่นกัน อย่างไรก็ตามความเสี่ยงพื้นฐานลดลง (กลุ่มที่ได้รับยา 7% เปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก 18%, RCTs จำนวน 21 เรื่อง, ผู้เข้าร่วมวิจัย = 3558 คน, RR 0.43, 95% CI 0.32 ถึง 0.57, NNTB 8, 95% CI 6 ถึง 14; หลักฐานมีความเชื่อมั่นในระดับสูง) ผู้เข้าร่วมในกลุ่มยาหลอกออกจากการศึกษาก่อนกำหนดมากกว่ากลุ่มยารักษาโรคจิตเนื่องจากหลายสาเหตุ (ประเมินผลในเดือนที่ 7 ถึง เดือนที่ 12: ยา 36% เปรียบเทียบกับยาหลอก 62%, RCTs 24 เรื่อง, ผู้เข้าร่วมวิจัย = 3951 คน, RR 0.56, 95% CI 0.48 ถึง 0.65, NNTB 4, 95% CI 3 ถึง 5; หลักฐานมีความเชื่อมั่นในระดับสูง) และเนื่องจากความไม่มีประสิทธิผลของการรักษา (ประเมินในเดือนที่ 7 ถึง เดือนที่ 12: ยา 18% เปรียบเทียบกับยาหลอก 46%, RCTs 24 เรื่อง, ผู้เข้าร่วมวิจัย = 3951 คน, RR 0.37, 95% CI 0.31 ถึง 0.44, NNTB 3, 95% CI 3 ถึง 4)

คุณภาพชีวิตอาจดีขึ้นในผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยยา (RCTs 7 เรื่อง, ผู้เข้าร่วมวิจัย = 1573 คน, SMD -0.32, 95% CI ถึง -0.57 ถึง -0.07; หลักฐานมีความเชื่อมั่นในระดับต่ำ) และผลลัพธ์อาจจะเหมือนกันกับการทำหน้าที่ทางสังคม (RCTs 15 เรื่อง, ผู้เข้าร่วมวิจัย = 3588 คน, SMD -0.43, 95% CI -0.53 ถึง -0.34; หลักฐานมีความเชื่อมั่นในระดับปานกลาง)

ภายใต้ข้อมูลที่มีอำนาจจำแนกต่ำ ไม่พบหลักฐานความแตกต่างระหว่างกลุ่มสำหรับผลลัพธ์ 'การเสียชีวิตเนื่องจากการฆ่าตัวตาย' (ยา 0.04% เปรียบเทียบกับยาหลอก 0.1%, RCTs 19 เรื่อง, ผู้เข้าร่วมวิจัย = 4634 คน, RR 0.60, 95% CI 0.12 ถึง 2.97, หลักฐานมีความเชื่อมั่นในระดับต่ำ) และสำหรับจำนวนผู้ป่วยที่ได้รับการจ้างงาน (ประเมินผลในเดือนที่ 9 ถึง เดือนที่ 15, ยา 39% เทียบกับยาหลอก 34%, RCTs 3 เรื่อง, ผู้เข้าร่วมวิจัย = 593 คน, RR 1.08, 95% CI 0.82 ถึง 1.41, หลักฐานความมีความเชื่อมั่นในระดับต่ำ)

ยารักษาโรคจิต (วิเคราะห์เป็นกลุ่มและโดยไม่คำนึงถึงระยะเวลา) มีความสัมพันธ์กับจำนวนผู้เข้าร่วมวิจัยจำนวนมากที่มีความผิดปกติของการเคลื่อนไหว (เช่นความผิดปกติของการเคลื่อนไหวอย่างน้อยหนึ่งอย่าง: ยา 14% เทียบกับยาหลอก 8%, RCTs 29 เรื่อง, ผู้เข้าร่วมวิจัย = 5276 คน, RR 1.52, 95% CI 1.25 ถึง 1.85, จำนวนผู้ป่วยจะเกิดอันตรายเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคน หากได้รับการรักษาด้วยยานี้ (NNTH) 20, 95% CI 14 ถึง 50), ยาระงับประสาท (ยา 8% เทียบกับยาหลอก 5%, RCTs จำนวน 18 เรื่อง, ผู้เข้าร่วมวิจัย = 4078 คน, RR 1.52, 95% CI 1.24 ถึง 1.86, NNTH 50, 95% CI ไม่มีนัยสำคัญ) และน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น (ยา 9% เทียบกับยาหลอก 6%, RCTs 19 เรื่อง, ผู้เข้าร่วมวิจัย = 4767 คน, RR 1.69, 95% CI 1.21 ถึง 2.35, NNTH 25, 95% CI 20 ถึง 50)

ข้อสรุปของผู้วิจัย

สำหรับผู้ที่เป็นโรคจิตเภทหลักฐานแสดงให้เห็นว่าการรักษาด้วยยารักษาโรคจิตอย่างต่อเนื่องจะช่วยป้องกันการกำเริบของโรคได้มากกว่ายาหลอกในการติดตามผลประมาณ 2 ปี ผลกระทบนี้ต้องได้รับการชั่งน้ำหนักเปรียบเทียบกับผลข้างเคียงของยารักษาโรคจิต การศึกษาในอนาคตควรให้ความกระจ่างเกี่ยวกับการเจ็บป่วยและการเสียชีวิตในระยะยาวที่เกี่ยวข้องกับยาเหล่านี้มากขึ้น

บันทึกการแปล

ผู้แปล สมพร รุ่งเรืองกลกิจ ภาควิชาการพยาบาลจิตเวช คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น วันที่ 13 พฤษภาคม 2021

Citation
Ceraso A, LIN JJ, Schneider-Thoma J, Siafis S, Tardy M, Komossa K, Heres S, Kissling W, Davis JM, Leucht S. Maintenance treatment with antipsychotic drugs for schizophrenia. Cochrane Database of Systematic Reviews 2020, Issue 8. Art. No.: CD008016. DOI: 10.1002/14651858.CD008016.pub3.