ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

การสัมภาษณ์เพื่อเสริมสร้างแรงจูงใจในการฟื้นตัวที่ดีหลังโรคหลอดเลือดสมอง

คำถามการทบทวน

เราได้ตรวจสอบหลักฐานเกี่ยวกับผลของการสัมภาษณ์เพื่อเสริมสร้างแรงจูงใจในผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดสมอง และพบการศึกษา 1 ฉบับ

ความเป็นมา

ปัญหาทางจิตใจ เช่น ภาวะซึมเศร้าและความวิตกกังวลเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยหลังจากเกิดโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งอาจทำให้ผู้ที่รอดชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองขาดแรงจูงใจในการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันหรือการฟื้นฟูสมรรถภาพได้ การสัมภาษณ์เพื่อเสริมสร้างแรงจูงใจเป็นวิธีการให้คำปรึกษาที่ออกแบบมาเพื่อช่วยให้ผู้คนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผ่านการค้นหาและแก้ไขความขัดแย้งด้วยทักษะการสื่อสารที่เป็นมาตรฐาน เป็นวิธีเฉพาะในการเพิ่มความคาดหวังและความเชื่อในการฟื้นตัวของผู้ป่วยหลังจากเกิดโรคหลอดเลือดสมอง เราต้องการทราบว่าการสัมภาษณ์เพื่อสร้างแรงจูงใจเป็นวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพในการช่วยให้การทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันหลังจากเกิดโรคหลอดเลือดสมองดีขึ้นหรือไม่

ลักษณะของการศึกษา

หลักฐานเป็นปัจจุบันจนถึงเดือนมีนาคม 2015 มีเพียงการศึกษาเดียวที่ตรงตามเกณฑ์ที่เรากำหนด ซึ่งเป็นการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองทั้งหมด 411 รายที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปที่ได้รับการสัมภาษณ์เพื่อสร้างแรงจูงใจหรือการดูแลตามปกติระหว่าง 5 ถึง 28 วันหลังจากเกิดโรคหลอดเลือดสมอง ระยะเวลาติดตามผลคือ 12 เดือน การสัมภาษณ์เพื่อเสริมสร้างแรงบันดาลใจประกอบด้วยการสัมภาษณ์หนึ่งครั้งต่อสัปดาห์ จำนวนสี่ครั้งต่อคน โดยแต่ละครั้งของการสัมภาษณ์ใช้เวลา 30 ถึง 60 นาที

ผลลัพธ์ที่สำคัญ

หลักฐานที่เราพบจากการศึกษาเดียวไม่เพียงพอที่จะสนับสนุนว่า การใช้การสัมภาษณ์เพื่อเสริมสร้างแรงจูงใจช่วยให้การทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันดีขึ้นหลังเกิดโรคหลอดเลือดสมอง แต่ผู้เข้าร่วมที่ได้รับการสัมภาษณ์เพื่อสร้างแรงจูงใจมีแนวโน้มที่จะมีอารมณ์เป็นปกติมากกว่ากลุ่มที่ได้รับการดูแลตามปกติ

คุณภาพของหลักฐาน

จากการประเมินการศึกษานี้ พบว่า มีความเสี่ยงที่จะเกิดอคติในด้านคุณภาพของระเบียบวิธีวิจัย เนื่องจากไม่สามารถปกปิดผู้ประเมินและผู้เข้าร่วมการวิจัยได้

บทนำ

ปัญหาทางจิตใจเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยหลังจากเกิดโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งอาจทำให้ผู้ที่รอดชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองขาดแรงจูงใจในการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน การสัมภาษณ์เพื่อเสริมสร้างแรงจูงใจเป็นวิธีเฉพาะที่ช่วยในการเพิ่มแรงจูงใจภายใน ซึ่งอาจช่วยปรับกิจกรรมในชีวิตประจำวันของผู้รอดชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองให้ดีขึ้นได้

วัตถุประสงค์

เพื่อศึกษาผลของการสัมภาษณ์เพื่อเสริมสร้างแรงจูงใจในการปรับปรุงการทำกิจวัตรประจำวันหลังเกิดโรคหลอดเลือดสมอง

วิธีการสืบค้น

ผู้วิจัยสืบค้นการศึกษาจาก Cochrane Stroke Group's Trials Register (พฤศจิกายน 2014), the Cochrane Central Register of Controlled Trials (CENTRAL; 2015, ฉบับที่ 1), MEDLINE (1948 ถึง มีนาคม 2015), EMBASE (1980 ถึง มีนาคม 2015), CINAHL (1982 ถึง มีนาคม 2015), AMED 1985 ถึงมีนาคม 2015), PsycINFO (1806 ถึงมีนาคม 2015), PsycBITE (มีนาคม 2015) และฐานข้อมูลที่เป็นภาษาจีนจำนวน 4 ฐาน ในการค้นหาการศึกษาที่ตีพิมพ์ ไม่ได้ตีพิมพ์ และอยู่ในระหว่างการดำเนินการ เราค้นหาการลงทะเบียนการทดลองที่กำลังดำเนินการอยู่และหนังสือประมวลผลการประชุมทางวิชาการ ตรวจสอบรายการอ้างอิง และติดต่อผู้นิพนธ์ที่เกี่ยวข้อง

เกณฑ์การคัดเลือก

การทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม (RCTs) ที่เปรียบเทียบการสัมภาษณ์เพื่อเสริมสร้างแรงจูงใจกับไม่มีการสัมภาษณ์ หรือการสัมภาษณ์เพื่อกระตุ้นแรงจูงใจแบบหลอก หรือการบำบัดทางจิตวิทยาอื่นๆ สำหรับผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดสมองเป็นเกณฑ์การคัดเลือก

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล

ผู้ทบทวนสองคนคัดเลือกการศึกษาที่ผ่านเกณฑ์การคัดเข้า สกัดข้อมูลที่เข้าข่าย และประเมินความเสี่ยงต่อการมีอคติอย่างเป็นอิสระต่อกัน การวัดผลลัพธ์ประกอบด้วยกิจกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน อารมณ์ และการเสียชีวิต

ผลการวิจัย

มีการศึกษาหนึ่งเรื่องที่มีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 411 คน ซึ่งได้เปรียบเทียบการสัมภาษณ์เพื่อเสริมสร้างแรงจูงใจกับการดูแลตามปกติ ที่ตรงตามเกณฑ์การคัดเข้า ผลการทบทวนนี้ไม่ได้แสดงความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญระหว่างกลุ่มที่ได้รับการสัมภาษณ์เพื่อเสริมสร้างแรงจูงใจกับกลุ่มที่ได้รับการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตามปกติ สำหรับผู้เข้าร่วมที่ไม่ต้องพึ่งพาผู้อื่นในการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน หรือการเสียชีวิตหลังจากติดตามผลในระยะ 3 เดือนและ 12 เดือน แต่ผู้เข้าร่วมที่ได้รับการสัมภาษณ์เพื่อเสริมสร้างแรงจูงใจมีแนวโน้มที่จะมีอารมณ์เป็นปกติมากกว่าผู้ที่ได้รับการดูแลตามปกติเมื่อติดตามผล 3 เดือนและ 12 เดือน

ข้อสรุปของผู้วิจัย

ไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะสนับสนุนว่า การใช้การสัมภาษณ์เพื่อเสริมสร้างแรงจูงใจจะทำให้การทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันหลังจากเกิดโรคหลอดเลือดสมองให้ดีขึ้น จำเป็นต้องมีงานวิจัย RCTs ที่มีการออกแบบมาอย่างดีเพิ่มเติม

บันทึกการแปล

แปลโดย ดร.วิภาวดี โพธิโสภา Edit โดย ผกากรอง 8 มกราคม 2023

Citation
Cheng D, Qu Z, Huang J, Xiao Y, Luo H, Wang J. Motivational interviewing for improving recovery after stroke. Cochrane Database of Systematic Reviews 2015, Issue 6. Art. No.: CD011398. DOI: 10.1002/14651858.CD011398.pub2.