ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

การมีเพศสัมพันธ์ตามกำหนดเวลาสำหรับคู่รักที่พยายามจะตั้งครรภ์

คำถามของการทบทวนวรรณกรรม

เราตรวจสอบหลักฐานเกี่ยวกับผลของการมีเพศสัมพันธ์ตามกำหนดเวลา (โดยใช้การทำนายการตกไข่) กับการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ทำนายการตกไข่ในคู่รักที่พยายามตั้งครรภ์

ความเป็นมา

คู่รักหลายคู่พบว่าการตั้งครรภ์เป็นเรื่องยากและมีความกังวลเกี่ยวกับภาวะเจริญพันธุ์ ในแต่ละรอบ ผู้หญิงจะมีภาวะเจริญพันธุ์ตั้งแต่ประมาณห้าวันก่อนการตกไข่ (ไข่ถูกปล่อยออกมา) จนถึงหลายชั่วโมงหลังการตกไข่ เนื่องจากอสุจิและไข่มีเวลาในการรอดชีวิตที่จำกัด การระบุช่วงเวลาของรอบประจำเดือนของผู้หญิงเพื่อเป็นแนวทางในการมีเพศสัมพันธ์จึงอาจช่วยเพิ่มอัตราการปฏิสนธิ (การตั้งครรภ์) ได้ ซึ่งอาจช่วยลดการรักษาทางการแพทย์ที่ไม่จำเป็นและต้นทุนของการรักษาภาวะมีบุตรยากขั้นสูง แต่ก็อาจทำให้เกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ เช่น ความเครียด ได้เช่นกัน ช่วงเวลาเจริญพันธุ์สามารถระบุได้โดยใช้วิธีการต่างๆ รวมถึงการทดสอบการตกไข่จากปัสสาวะ (อุปกรณ์วัดระดับฮอร์โมนที่สามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนที่ปล่อยออกสู่ปัสสาวะ ซึ่งบ่งบอกว่าเมื่อใดจะมีการตกไข่) วิธีการรับรู้ภาวะเจริญพันธุ์ (FABM) (รวมถึงการติดตามปฏิทิน การติดตามการเปลี่ยนแปลงของของเหลวในปากมดลูกและอุณหภูมิของร่างกาย) หรือระบุว่าไข่ตกเมื่อใดด้วยอัลตราซาวนด์ การทบทวนนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินประโยชน์และความเสี่ยงของการมีเพศสัมพันธ์ตามกำหนดเวลาต่อการตั้งครรภ์ การคลอดบุตรมีชีพ ผลกระทบด้านลบ และคุณภาพชีวิตในคู่รักที่พยายามตั้งครรภ์

ลักษณะของการศึกษา

เราพบการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม 7 ฉบับ (ประเภทของการศึกษาที่ผู้เข้าร่วมได้รับการสุ่มให้เป็นหนึ่งในสองกลุ่มหรือมากกว่า) เปรียบเทียบการมีเพศสัมพันธ์ตามกำหนดเวลากับการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่มีการทำนายการตกไข่ในสตรีหรือคู่รักจำนวน 2464 คนที่พยายามตั้งครรภ์ หลักฐานเป็นปัจจุบันจนถึงมกราคม 2023

ผลการศึกษาที่สำคัญ

เราได้เพิ่มการศึกษาใหม่สามรายการในการปรับปรุงการทบทวนวรรณกรรมครั้งนี้ การศึกษาที่รวบรวมไว้ใหม่ได้เสริมสร้างความมั่นใจของเราในผลของการทดสอบการตกไข่ต่อคู่รักที่พยายามตั้งครรภ์

เราสรุปได้ว่าการมีเพศสัมพันธ์ในช่วงเวลาเจริญพันธุ์ที่ระบุโดยใช้การทดสอบการตกไข่ของปัสสาวะอาจเพิ่มโอกาสของการตั้งครรภ์และการคลอดบุตรมีฃีพในสตรีอายุต่ำกว่า 40 ปี ที่พยายามตั้งครรภ์เป็นเวลาต่ำกว่า 12 เดือน เมื่อเทียบกับการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่คาดการณ์การตกไข่ ผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่า หากโอกาสของการตั้งครรภ์หลังมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้การทดสอบการตกไข่คือ 18% โอกาสหลังมีเพศสัมพันธ์ตามกำหนดเวลาพร้อมการตรวจการตกไข่จากปัสสาวะจะเป็น 20% ถึง 28% สิ่งนี้ชี้ให้เห็นว่าหากโอกาสในการเกิดมีชีพโดยไม่มีการทำนายการตกไข่คือ 16% โอกาสในการเกิดมีชีพโดยมีการทำนายการตกไข่จากปัสสาวะ คือ 16% ถึง 28% อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการศึกษาจำนวนมากได้รับทุนจากผู้ผลิตชุดทดสอบการตกไข่ในปัสสาวะ จึงควรแปลความผลลัพธ์ด้วยความระมัดระวัง มีหลักฐานไม่เพียงพอที่จะสรุปผลของการมีเพศสัมพันธ์ตามกำหนดเวลาต่อการตั้งครรภ์ทางคลินิก (การตั้งครรภ์ที่ยืนยันด้วยอัลตราซาวนด์) เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ เช่น ความเครียด และคุณภาพชีวิต เนื่องจากข้อมูลที่จำกัด เราไม่แน่ใจถึงผลกระทบของ FABM ในการมีเพศสัมพันธ์ตามกำหนดเวลาต่อผลลัพธ์การตั้งครรภ์ ผลข้างเคียง และคุณภาพชีวิตเมื่อเปรียบเทียบกับการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่มีการทำนายการตกไข่

คุณภาพของหลักฐาน

คุณภาพโดยรวมของหลักฐานอยู่ในระดับปานกลางถึงต่ำมาก จำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมในด้านนี้ ข้อจำกัดหลักของหลักฐานคือ การศึกษาที่รวบรวมไว้มีจำนวนน้อย ขนาดการศึกษามีขนาดเล็ก และโอกาสที่จะเกิดอคติ เนื่องจากการศึกษาจำนวนมากได้รับทุนจากผู้ผลิตอุปกรณ์ตรวจทำนายการตกไข่ ด้วยเหตุนี้ การค้นพบนี้ควรได้รับการตีความอย่างระมัดระวัง และการศึกษาในอนาคตอาจเปลี่ยนแปลงข้อสรุปของเรา

บทนำ

ปัจจัยหลายประการมีอิทธิพลต่อภาวะเจริญพันธุ์ ปัจจัยหนึ่งคือช่วงเวลาของการมีเพศสัมพันธ์ "ช่วงเจริญพันธุ์" อธิบายถึงระยะของวงจรที่การปฏิสนธิสามารถเกิดขึ้นได้ และเกิดขึ้นประมาณ 5 วันก่อนถึงหลายชั่วโมงหลังการตกไข่ 'การมีเพศสัมพันธ์ตามกำหนดเวลา' คือแนวทางปฏิบัติเพื่อระบุการตกไข่ในอนาคต และช่วงเจริญพันธ์ เพื่อเพิ่มโอกาสที่จะตั้งครรภ์ วิธีการทำนายการตกไข่ ได้แก่ การวัดฮอร์โมนในปัสสาวะ (luteinising hormone (LH) และฮอร์โมนเอสโตรเจน) วิธีการคำนึงถึงภาวะเจริญพันธุ์ (fertility awareness-based methods; FABM) (รวมถึงการติดตามอุณหภูมิร่างกายเบื้องต้น การตรวจติดตามมูกปากมดลูก แผนภูมิปฏิทิน/แอปติดตาม) และอัลตราซาวนด์ อย่างไรก็ตาม มีแง่ลบที่อาจเกี่ยวข้องกับการทำนายการตกไข่ ได้แก่ ความเครียด การใช้เวลา และผลกระทบด้านต้นทุนในการซื้อชุดอุปกรณ์ตกไข่และการสมัครสมาชิกแอป การทบทวนนี้พิจารณาหลักฐานจากการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม (randomised controlled trials; RCTs) ที่ประเมินการใช้การมีเพศสัมพันธ์ตามกำหนดเวลา (โดยใช้การทำนายการตกไข่) กับผลลัพธ์การตั้งครรภ์

วัตถุประสงค์

เพื่อประเมินประโยชน์และความเสี่ยงของวิธีการทำนายการตกไข่เพื่อกำหนดเวลาการมีเพศสัมพันธ์ในคู่สมรสที่พยายามตั้งครรภ์

วิธีการสืบค้น

เราสืบค้นใน Cochrane Gynaecology and Fertility (CGF) Group Specialized Register, CENTRAL, MEDLINE และ Embase ในเดือนมกราคม 2023 นอกจากนี้เรายังตรวจสอบรายการอ้างอิงของการศึกษาที่เกี่ยวข้องและค้นหาทะเบียนการทดลองสำหรับการทดลองเพิ่มเติม

เกณฑ์การคัดเลือก

เรารวบรวม RCTs ที่เปรียบเทียบวิธีการมีเพศสัมพันธ์ตามกำหนดเวลาโดยใช้การทำนายการตกไข่กับการทำนายการตกไข่ในรูปแบบอื่น หรือการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ทำนายการตกไข่ในคู่รักที่พยายามตั้งครรภ์

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล

เราใช้ขั้นตอนระเบียบวิธีมาตรฐานที่แนะนำโดย Cochrane ในการเลือกและวิเคราะห์การศึกษาในการทบทวนนี้ ผลลัพธ์การทบทวนหลักคือการเกิดมีชีพและเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ (เช่น ภาวะซึมเศร้าและความเครียด) ผลลัพธ์รอง ได้แก่ การตั้งครรภ์ทางคลินิก การตั้งครรภ์ (อาการทางคลินิกหรือการทดสอบการตั้งครรภ์ในปัสสาวะให้ผลบวกบวกที่ยังไม่ได้รับการยืนยันโดยอัลตราซาวนด์) ระยะเวลาจนถึงการตั้งครรภ์ และคุณภาพชีวิต เราประเมินคุณภาพโดยรวมของหลักฐานสำหรับการเปรียบเทียบที่สำคัญโดยวิธี GRADE

ผลการวิจัย

การปรับปรุงการทบทวนนี้รวบรวม RCTs 7 ฉบับที่ศึกษาในผู้หญิงหรือคู่รัก 2464 คน การศึกษา 4 ใน 5 ฉบับจากการทบทวนครั้งก่อนถูกรวมไว้ในการปรับปรุงการทบทวนวรรณกรรมนี้ และมีการศึกษาใหม่ 3 ฉบับ เพิ่มเข้ามา เราประเมินคุณภาพของหลักฐานในระดับปานกลางถึงต่ำมาก ข้อจำกัดหลักคือความไม่แม่นยำ, indirectness และความเสี่ยงของการมีอคติ

การทดสอบการตกไข่ในปัสสาวะเทียบกับการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่มีการทำนายการตกไข่

เมื่อเปรียบเทียบกับการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ทำนายการตกไข่ การตรวจการตกไข่ในปัสสาวะอาจเพิ่มโอกาสในการเกิดมีชีวิตในคู่รักที่พยายามตั้งครรภ์ (อัตราส่วนความเสี่ยง (RR) 1.36, 95% ช่วงความเชื่อมั่น (CI) 1.02 ถึง 1.81, RCT 1 ฉบับ, n = 844, หลักฐานคุณภาพปานกลาง) สิ่งนี้ชี้ให้เห็นว่าหากโอกาสในการเกิดมีชีพโดยไม่มีการทำนายการตกไข่ด้วยการตรวจปัสสาวะคือ 16% โอกาสในการเกิดมีชีพโดยมีการทำนายการตกไข่คือ 16% ถึง 28% อย่างไรก็ตาม เราไม่แน่ใจว่าการมีเพศสัมพันธ์ตามกำหนดเวลาโดยใช้การตรวจจับการตกไข่ในปัสสาวะส่งผลให้เกิดความแตกต่างในความเครียดหรือไม่ (mean Difference (MD) 1.98, 95% CI −0.87 ถึง 4.83, I² = 0%, P = 0.17, RCT 1 ฉบับ, n = 77, หลักฐานคุณภาพต่ำมาก) หรือการตั้งครรภ์ทางคลินิก (RR 1.09, 95% CI 0.51 ถึง 2.31, I² = 0%, RCT 1 ฉบับ, n = 148, หลักฐานคุณภาพต่ำ) เช่นเดียวกับผลการเกิดมีชีพ การมีเพศสัมพันธ์ตามกำหนดเวลาโดยใช้การตรวจการตกไข่ด้วยปัสสาวะอาจเพิ่มโอกาสของการตั้งครรภ์ทางคลินิกหรือการทดสอบการตั้งครรภ์ในปัสสาวะแล้วให้ผลบวก (RR 1.28, 95% CI 1.09 ถึง 1.50, I² = 0, RCTs 4 ฉบับ, n = 2202, หลักฐานคุณภาพปานกลาง) สิ่งนี้ชี้ให้เห็นว่าหากสมมติว่าโอกาสของการตั้งครรภ์ทางคลินิกหรือการทดสอบการตั้งครรภ์ในปัสสาวะเป็นบวกโดยไม่มีการทำนายการตกไข่คือ 18% โอกาสภายหลังการมีเพศสัมพันธ์ตามกำหนดเวลาพร้อมการตรวจการตกไข่จะเป็น 20% ถึง 28% หลักฐานไม่เพียงพอที่จะระบุผลของการทดสอบการตกไข่ของปัสสาวะต่อเวลาการตั้งครรภ์หรือคุณภาพชีวิต

วิธีการตระหนักถึงภาวะเจริญพันธุ์ (fertility awareness-based methods; FABM) เทียบกับการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ทำนายการตกไข่

เนื่องจากหลักฐานไม่เพียงพอ เราไม่แน่ใจว่าการมีเพศสัมพันธ์ตามกำหนดเวลาโดยใช้ FABM ส่งผลให้เกิดความแตกต่างในอัตราการเกิดมีชีพเมื่อเปรียบเทียบกับการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่มีการคาดการณ์การตกไข่ (RR 0.95, 95% CI 0.76 ถึง 1.20, I² = 0%, RCTs 2 ฉบับ, n = 157, หลักฐานคุณภาพต่ำ) นอกจากนี้เรายังไม่แน่ใจว่า FABM ส่งผลต่อความเครียดหรือไม่ (MD −1.10, 95% CI −3.88 ถึง 1.68, 1 RCT, n = 183, หลักฐานคุณภาพต่ำมาก) ในทำนองเดียวกัน เราไม่แน่ใจถึงผลของการมีเพศสัมพันธ์ตามกำหนดเวลาโดยใช้ FABM ต่อความวิตกกังวล (MD 0.5, 95% CI −0.52 ถึง 1.52, P = 0.33, 1 RCT, n = 183, หลักฐานคุณภาพต่ำมาก); ภาวะซึมเศร้า (MD 0.4, 95% CI −0.28 ถึง 1.08, P = 0.25, RCT 1 ฉบับ, n = 183, หลักฐานคุณภาพต่ำมาก); หรือการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ (MD 1.2, 95% CI −0.38 ถึง 2.78, P = 0.14, RCT 1 ฉบับ, n = 183, หลักฐานคุณภาพต่ำมาก) หลักฐานไม่เพียงพอที่จะตรวจสอบประโยชน์ของการมีเพศสัมพันธ์ตามกำหนดเวลาโดยใช้ FABM ในการตั้งครรภ์ทางคลินิก (RR 1.13, 95% CI 0.31 ถึง 4.07, RCT 1 ฉบับ, n = 17, หลักฐานคุณภาพต่ำมาก) การตั้งครรภ์ทางคลินิกหรืออัตราการทดสอบการตั้งครรภ์ทางคลินิกได้ผลบวก (RR 1.08, 95% CI 0.89 ถึง 1.30, RCTs 3 ฉบับ, n = 262, หลักฐานคุณภาพต่ำมาก) สุดท้ายนี้ เราไม่แน่ใจว่าการมีเพศสัมพันธ์ตามกำหนดเวลาโดยใช้ FABM ส่งผลต่อระยะเวลาในการตั้งครรภ์หรือไม่ (อัตราส่วนอันตราย 0.86, 95% CI 0.53 ถึง 1.38, RCT 1 ฉบับ, n = 140, หลักฐานคุณภาพต่ำ) หรือคุณภาพชีวิต

ไม่มีการศึกษาใดที่ประเมินการใช้การมีเพศสัมพันธ์ตามกำหนดเวลาด้วยเครื่องอัลตราซาวนด์ในอุ้งเชิงกราน

ข้อสรุปของผู้วิจัย

หลักฐานใหม่ที่นำเสนอในการปรับปรุงการทบทวนวรรณกรรมนี้แสดงให้เห็นว่าการมีเพศสัมพันธ์ตามกำหนดเวลาโดยใช้การทดสอบการตกไข่ในปัสสาวะอาจช่วยเพิ่มอัตราการเกิดมีชีพและการตั้งครรภ์ (การตั้งครรภ์ทางคลินิกหรือการตรวจปัสสาวะให้ผลบวก แต่ยังไม่ได้รับการยืนยันด้วยอัลตราซาวนด์) ในสตรีอายุต่ำกว่า 40 ปี ที่พยายามตั้งครรภ์มาน้อยกว่า 12 เดือน เมื่อเทียบกับการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่มีการทำนายการตกไข่ อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลไม่เพียงพอที่จะระบุผลของการทดสอบการตกไข่ในปัสสาวะต่อเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ การตั้งครรภ์ทางคลินิก ระยะเวลาในการตั้งครรภ์ และคุณภาพชีวิต ในทำนองเดียวกัน เนื่องจากข้อมูลที่จำกัด เราจึงไม่แน่ใจถึงผลกระทบของ FABM ต่อผลลัพธ์การตั้งครรภ์ ผลข้างเคียง และคุณภาพชีวิต

ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อทำความเข้าใจความปลอดภัยและประสิทธิผลของการมีเพศสัมพันธ์ตามกำหนดเวลาสำหรับคู่รักที่พยายามตั้งครรภ์ การวิจัยนี้ควรรวมการศึกษาที่รายงานผลลัพธ์ที่เกี่ยวข้องทางคลินิก เช่น การเกิดมีชีพและผลข้างเคียงในคู่สมรสที่มีบุตรได้และมีบุตรยาก และใช้วิธีการต่างๆ เพื่อตรวจหาการตกไข่ มีเพียงความเข้าใจที่ครอบคลุมถึงความเสี่ยงและประโยชน์ของการมีเพศสัมพันธ์ตามกำหนดเวลาเท่านั้นจึงจะสามารถให้คำแนะนำแก่คู่รักทุกคู่ที่พยายามตั้งครรภ์ได้

บันทึกการแปล

แปลโดย พญ.วิลาสินี หน่อแก้ว โรงพยาบาลมะเร็งอุบลราชธานี Edit โดย พ.ญ. ผกากรอง ลุมพิกานนท์ 25 ตุลาคม 2024

Citation
Gibbons T, Reavey J, Georgiou EX, Becker CM. Timed intercourse for couples trying to conceive. Cochrane Database of Systematic Reviews 2023, Issue 9. Art. No.: CD011345. DOI: 10.1002/14651858.CD011345.pub3.