ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

มาตรการเพื่อลดพฤติกรรมเนือยนิ่งหลังเกิดโรคหลอดเลือดสมอง

คำถามของการทบทวนวรรณกรรม
เราทบทวนหลักฐานที่ตรวจสอบผลของการรักษาเพื่อลดจำนวนพฤติกรรมเนือยนิ่งในผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดสมอง

ความเป็นมา
'พฤติกรรมเนือยนิ่ง' หมายถึงการนั่งหรือนอนราบ (เช่น การนั่งดูโทรทัศน์) ในตอนกลางวัน แทนที่จะขยับตัวและ 'ลุกเดิน' หลังจากเป็นโรคหลอดเลือดสมองชนิดใดก็ตาม เป็นเรื่องปกติมากที่ผู้คนจะใช้เวลาส่วนใหญ่กับพฤติกรรมเนือยนิ่ง ซึ่งเป็นเรื่องปกติทั้งในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่อยู่ในโรงพยาบาลและผู้ที่กลับบ้านได้แล้ว เป็นที่รู้กันว่าพฤติกรรมเนือยนิ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจวายและโรคหลอดเลือดสมอง และเพิ่มโอกาสเสียชีวิต การใช้เวลานั่งน้อยลงหลังเกิดโรคหลอดเลือดสมองสามารถลดความเสี่ยงเหล่านี้สำหรับผู้ป่วยในช่วงชีวิตหลังเกิดโรคหลอดเลือดสมองได้ หากเวลาอยู่นิ่งลดลง ตามคำจำกัดความแล้ว การออกกำลังกาย (เช่น การเดิน) จะต้องเพิ่มขึ้น เมื่อรวมกันแล้ว สิ่งนี้ไม่เพียงแต่จะช่วยลดความเสี่ยงด้านสุขภาพเท่านั้น แต่ยังช่วยให้ที่ผู้เป็นโรคหลอดเลือดสมองขยับเพิ่มขึ้นและช่วยเรื่องความรู้สึกของพวกเขาอีกด้วย

ลักษณะของการศึกษา
ในเดือนธันวาคม 2019 หลังจากค้นหาวรรณกรรมทางวิทยาศาสตร์อย่างครอบคลุม เราได้ระบุการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม 10 ฉบับเพื่อรวมในการทบทวนวรรณกรรม การศึกษานี้มีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 753 คนในทุกขั้นตอนของการดูแล รวมทั้งผู้ที่รักษาอยู่ในโรงพยาบาลหรือกลับไปใช้ชีวิตที่บ้าน ผู้ที่เข้าร่วมส่วนใหญ่สามารถเดินและยืนได้ด้วยตนเอง การรักษามีระยะเวลาตั้งแต่หกสัปดาห์ถึง 18 เดือน และทั้งหมดเกี่ยวข้องกับองค์ประกอบบางส่วนของการออกกำลังกายที่เพิ่มขึ้น การศึกษารวมทั้งการออกกำลังกายเพียงอย่างเดียว (การศึกษา 1 ฉบับ) หรือร่วมกับการให้ความรู้และการแนะนำช่วยเหลือ (การศึกษา 1 ฉบับ) การออกกำลังกายเพียงอย่างเดียว (การศึกษา 1 ฉบับ) หรือใช้ร่วมกับ 'แอป' โทรศัพท์มือถือ (การศึกษา 1 ฉบับ) การแทรกแซงวิถีชีวิตที่มีองค์ประกอบหลายองค์ประกอบ รวมถึงการออกกำลังกาย (การศึกษา 4 ฉบับ) และการทำกายภาพบำบัดเพิ่มเติมในผู้ป่วยใน (การศึกษา 1 ฉบับ) การศึกษา 1 ฉบับใช้มาตรการที่มุ่งเป้าไปที่การหยุดการนั่งต่อเนื่องเป็นเวลานานโดยเฉพาะ

เนื่องจากปัญหาในวิธีดำเนินการและวิธีที่ทีมวิจัยรายงาน การศึกษาทั้งหมดจึงมีความเสี่ยงสูงหรือไม่ชัดเจนของอคติ

ผลการศึกษาที่สำคัญ
ปัจจุบัน หลักฐานแสดงให้เห็นว่ามาตรการลดพฤติกรรมเนือยนิ่งไม่ช่วยเพิ่มหรือลดการเสียชีวิต โรคหัวใจและหลอดเลือด การล้มหรือเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์อื่นๆ หรือระยะเวลาที่ใช้ในการนั่ง อย่างไรก็ตาม แม้ว่าหลักฐานจะไม่สมบูรณ์ แต่ก็ยังมีประโยชน์ในผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดสมองโดยพยายามนั่งให้น้อยลง หากทำได้อย่างปลอดภัย

ความน่าเชื่อถือของหลักฐาน
เราได้ประเมินความเชื่อมั่นของหลักฐานที่ได้โดยวิธีการ GRADE ความเชื่อมั่นของเราอยู่ในระดับต่ำเกี่ยวกับผลกระทบของสิ่งแทรกแซงเหล่านี้ต่อการเสียชีวิต เหตุการณ์เกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด และการหกล้ม และสำหรับผลกระทบต่อเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์อื่นๆ นั้นอยู่ในระดับปานกลาง ความเชื่อมั่นต่ำมากต่อผลกระทบต่อพฤติกรรมเนือยนิ่ง มุ่งความสนใจในพฤติกรรมเนือยนิ่งหลังจากเกิดโรคหลอดเลือดสมองเกิดขึ้นใหม่ ปัญหาหลักของหลักฐานก็คือมีงานวิจัยเพียงไม่กี่ฉบับเท่านั้นที่ศึกษาเรื่องนี้จนถึงปัจจุบัน หลักฐานที่มีอยู่มีแนวโน้มที่จะจำกัดเฉพาะผู้ป่วยหลังโรคหลอดเลือดสมองที่มีความคล่องตัวมากกว่า การศึกษาจำนวนมากไม่ได้ดำเนินการในระยะเวลานานพอที่จะแสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการนั่งในระยะยาว หรือการเปลี่ยนแปลงความเสี่ยงของการเจ็บป่วยหรือการเสียชีวิต

บทนำ

ผู้รอดชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองมักไม่เคลื่อนไหวร่างกายและอยู่นิ่งๆ และอาจนั่งเป็นเวลานานในแต่ละวัน สิ่งนี้จะเพิ่มความเสี่ยงต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดและมีผลกระทบต่อร่างกายและการทำงานของร่างกายอื่น ๆ มาตรการเพื่อลดหรือขัดขวางระยะเวลาเนือยนิ่ง รวมทั้งเพิ่มการออกกำลังกายหลังเกิดโรคหลอดเลือดสมอง สามารถลดความเสี่ยงการเกิดซ้ำของโรคหลอดเลือดหัวใจและการเสียชีวิตในช่วงชีวิตหลังเกิดโรคหลอดเลือดสมองได้

วัตถุประสงค์

เพื่อตรวจสอบว่าสิ่งแทรกแซงที่ออกแบบมาเพื่อลดพฤติกรรมเนือยนิ่งหลังเกิดโรคหลอดเลือดสมอง หรือสิ่งแทรกแซงที่มีศักยภาพในการดำเนินการดังกล่าว สามารถลดความเสี่ยงของการเสียชีวิตหรือเหตุการณ์ทุติยภูมิเกี่ยวกับหลอดเลือด ปรับเปลี่ยนความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจ และลดพฤติกรรมเนือยนิ่งหรือไม่

วิธีการสืบค้น

ในเดือนธันวาคม 2019 เราสืบค้นใน Cochrane Stroke Trials Register, CENTRAL, MEDLINE, Embase, CINAHL, PsycINFO, Conference Proceedings Citation Index และ PEDro นอกจากนี้เรายังค้นหาทะเบียนการทดลองที่กำลังดำเนินอยู่ รายการอ้างอิงที่ผ่านการคัดกรอง และติดต่อผู้เชี่ยวชาญในสาขานั้น

เกณฑ์การคัดเลือก

การทดลองแบบสุ่มเปรียบเทียบการทดลองที่เพิ่มสิ่งแทรกแซงเพื่อลดเวลาการเนือยนิ่งกับการดูแลตามปกติ ไม่มีสิ่งแทรกแซง หรือการควบคุมรายการรอ การควบคุมความสนใจ สิ่งแทรกแซงหลอก หรือสิ่งแทรกแซงเสริม นอกจากนี้เรายังรวมสิ่งแทรกแซงที่มีจุดประสงค์เพื่อแยกส่วนหรือขัดขวางระยะเวลาการมีพฤติกรรมเนือยนิ่ง

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล

ผู้ทบทวน 2 คนเลือกการศึกษาและดำเนินการประเมิน 'ความเสี่ยงของอคติ' อย่างเป็นอิสระต่อกัน เราวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้การวิเคราะห์เมตต้าแบบสุ่มและประเมินความเชื่อมั่นของหลักฐานด้วยวิธี GRADE

ผลการวิจัย

เรารวบรวมการศึกษา 10 ฉบับ มีผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง 753 คน การศึกษา 5 ฉบับใช้สิ่งแทรกแซงโดยการออกกำลังกาย การศึกษา 4 ฉบับใช้การแทรกแซงรูปแบบการใช้ชีวิตแบบหลายองค์ประกอบ และการศึกษา 1 ฉบับใช้สิ่งแทรกแซงเพื่อลดและขัดขวางพฤติกรรมเนือยนิ่ง ในการศึกษาทั้งหมด ความเสี่ยงของการมีอคติสูงหรือไม่ชัดเจนใน 2 โดเมนขึ้นไป การศึกษา 9 ฉบับมีความเสี่ยงสูงต่อการมีอคติอย่างน้อย 1 โดเมน

สิ่งแทรกแซงไม่ได้เพิ่มหรือลดการเสียชีวิต (ความแตกต่างความเสี่ยง (RD) 0.00 ช่วงความเชื่อมั่น 95% (CI) -0.02 ถึง 0.03; การศึกษา 10 ฉบับ ผู้เข้าร่วม 753 คน หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) อุบัติการณ์ของเหตุการณ์หลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมองกำเริบซ้ำ (RD -0.01, 95% CI -0.04 ถึง 0.01; การศึกษา 10 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 753 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ), อุบัติการณ์ของการล้ม (และการบาดเจ็บ) (RD 0.00, 95% CI -0.02 ถึง 0.02; การศึกษา 10 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 753 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) หรืออุบัติการณ์ของเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์อื่นๆ (หลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง)

สิ่งแทรกแซงไม่ได้เพิ่มหรือลดระยะเวลาพฤติกรรมกมเนือยนิ่ง (Mean Difference (MD) +0.13 ชั่วโมง/วัน, 95% CI -0.42 ถึง 0.68; การศึกษา 7 ฉบับ ผู้เข้าร่วม 300 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก) มีข้อมูลน้อยเกินไปที่จะตรวจสอบผลกระทบต่อรูปแบบพฤติกรรมเนือยนิ่ง

ผลของการแทรกแซงที่มีต่อปัจจัยเสี่ยงเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด มีการวิเคราะห์แบบเมตต้าที่จำกัดมาก

ข้อสรุปของผู้วิจัย

การวิจัยพฤติกรรมเนือยนิ่งในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองดูเหมือนจะมีความสำคัญ แต่ขณะนี้หลักฐานยังไม่สมบูรณ์ และเราไม่พบหลักฐานที่แสดงถึงผลประโยชน์ที่ได้ แนวปฏิบัติปัจจุบันขององค์การอนามัยโลก (WHO) ทั่วไปแนะนำให้ลดระยะเวลาเนือยนิ่งของคนพิการ ขณะนี้หลักฐานยังไม่ชัดเจนพอที่จะเป็นแนวทางปฏิบัติในการลดการเนือยนิ่งได้ดีที่สุดโดยเฉพาะในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง

จำเป็นต้องมีการทดลองแบบสุ่มคุณภาพสูงเพิ่มเติม โดยเฉพาะอย่างยิ่งศึกษาในผู้เข้าร่วมที่มีข้อจำกัดด้านการเคลื่อนไหว การทดลองควรรวมถึงมาตรการระยะยาวที่มุ่งเป้าไปที่การลดเวลาที่ต้องอยู่นิ่ง ผลลัพธ์ของปัจจัยเสี่ยง การวัดพฤติกรรมเนือยนิ่ง (และการออกกำลังกาย) และการติดตามผลในระยะยาว

บันทึกการแปล

ผู้แปล แพทย์หญิงชุติมา ชุณหะวิจิตร วันที่ 24 มีนาคม 2024

Citation
Saunders DH, Mead GE, Fitzsimons C, Kelly P, van Wijck F, Verschuren O, Backx K, English C. Interventions for reducing sedentary behaviour in people with stroke. Cochrane Database of Systematic Reviews 2021, Issue 6. Art. No.: CD012996. DOI: 10.1002/14651858.CD012996.pub2.