ยาที่ใช้ในการักษา vestibular migraine มีประสิทธิผลเพียงใด

ใจความสำคัญ

ยังไม่ชัดเจนว่ายาใดมีประสิทธิผลในการรักษา vestibular migraine

มีการศึกษาน้อยมากที่ประเมินประโยชน์และโทษที่เป็นไปได้ของการใช้ยาขณะที่มีอาการเกิดขึ้น การศึกษาที่มีอยู่มีขนาดเล็กและผลลัพธ์ยังสรุปไม่ได้

จำเป็นต้องมีการทำงานเพิ่มเติมในเรื่องนี้เพื่อช่วยระบุว่ามีวิธีการรักษาใดที่อาจใช้เพื่อช่วยบรรเทาการกำเริบของอาการเวียนศีรษะจากไมเกรน

Vestibular migraine คืออะไร

ไมเกรน (บางครั้งเรียกว่า 'ไมเกรนแบบคลาสสิค') เป็นอาการที่พบบ่อยที่ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะซ้ำ Vestibular migraine เป็นภาวะที่เกี่ยวข้องซึ่งอาการหลักคืออาการ เวียนศีรษะรุนแรงหรือรู้สึกหมุน อาการเหล่านี้มักเป็นร่วมกับอาการปวดศีรษะหรืออาการคล้ายไมเกรนอื่นๆ (เช่น ไวต่อแสงหรือเสียง คลื่นไส้และอาเจียน) เป็นภาวะที่พบได้บ่อย ซึ่งพบได้มากถึง 1 ใน 100 คน และอาจส่งผลรุนแรงต่อการใช้ชีวิตประจำวัน

Vestibular migraine รักษาอย่างไร

แนวทางหลักในการรักษา ได้แก่ การพยายามป้องกันไม่ให้การกำเริบเริ่มต้นขึ้น (การรักษาเชิงป้องกัน) เช่นเดียวกับการรักษาเพื่อบรรเทาอาการของการกำเริบ ไม่มีการรักษาที่แนะนำกันอย่างแพร่หลายเพื่อจัดการกับอาการของการเป็น vestibular migraine บางครั้งผู้คนได้รับคำแนะนำให้ใช้ยาที่ใช้รักษาอาการปวดหัวไมเกรน สมมติฐานคือยาเหล่านี้อาจใช้ได้ผลกับ vestibular migraine

เราต้องการค้นหาอะไร

เราต้องการที่จะรู้ว่า:

- มีหลักฐานว่ายาใดๆ ทำงานเพื่อบรรเทาหรือหยุดการวิงเวียนของไมเกรนหรือไม่

- การรักษาอาจก่อให้เกิดอันตรายหรือไม่

เราได้ทำอะไร

เราค้นหาการศึกษาในผู้ใหญ่ที่เปรียบเทียบยาต่างๆ กับไม่รักษาหรือรักษาด้วยยาหลอก (จำลอง) เราใช้วิธีมาตรฐานเพื่อประเมินความเชื่อมั่นของหลักฐาน เราให้คะแนนความเชื่อมั่นในหลักฐานโดยพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ เช่น วิธีการศึกษาและขนาดของกลุ่มตัวอย่าง และความสอดคล้องของการค้นพบตลอดการศึกษา

เราพบอะไร

เราพบการศึกษา 2 ฉบับ ซึ่งรวมคนทั้งหมด 133 คน (ผู้หญิง 75%) การศึกษาทั้งสองพิจารณายาประเภทหนึ่งที่เรียกว่า triptans หลักฐานแสดงให้เห็นว่าการรับประทาน triptan อาจสร้างความแตกต่างเพียงเล็กน้อยกับจำนวนผู้ที่มีอาการบ้านหมุนดีขึ้น อย่างไรก็ตาม มีปัญหาเกี่ยวกับหลักฐาน ซึ่งหมายความว่าเราไม่แน่ใจเกี่ยวกับผลลัพธ์นี้

การศึกษา 1 ฉบับดูผลข้างเคียงที่เกี่ยวข้องกับยานี้และพบว่าไม่มีใครเกิดผลข้างเคียงที่ร้ายแรง อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการศึกษานี้รวบรวมคนเพียง 114 คน จึงน้อยเกินไปที่จะประเมินเรื่องนี้อย่างเหมาะสม ดังนั้นเราจึงไม่แน่ใจว่าจะมีความเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายจากการรักษาเหล่านี้หรือไม่

ข้อจำกัด ของหลักฐานคืออะไร

เรามีความเชื่อมั่นน้อยมากในหลักฐานเนื่องจากการศึกษาที่ดำเนินการมีขนาดเล็ก นอกจากนี้ยังมีปัญหาบางประการเกี่ยวกับการดำเนินการศึกษา ซึ่งหมายความว่าผลลัพธ์อาจไม่น่าเชื่อถือ เราทราบดีว่า triptans อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงบางอย่างในผู้ที่ใช้ยานี้สำหรับอาการปวดศีรษะไมเกรน แต่เราไม่สามารถทราบได้ว่าผลข้างเคียงเหล่านี้พบได้บ่อยหรือไม่เมื่อใช้ยาสำหรับอาการเวียนศีรษะจากไมเกรน

หลักฐานนี้เป็นปัจจุบันแค่ไหน

หลักฐานนี้เป็นปัจจุบันถึงกันยายน 2022

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

หลักฐานสำหรับวิธีการที่ใช้ในการรักษาการกำเริบของอาการเวียนศีษะจากไมเกรนเฉียบพลันมีน้อยมาก เราพบการศึกษาเพียง 2 ฉบับ ซึ่งทั้งสองการศึกษาประเมินการใช้ triptans เราให้คะแนนหลักฐานทั้งหมดว่ามีความน่าเชื่อถือต่ำมาก หมายความว่าเรามีความมั่นใจเพียงเล็กน้อยในการประมาณการผลกระทบ และไม่สามารถแน่ใจได้ว่ายากลุ่ม triptans มีผลใดๆ ต่ออาการเวียนศีรษะจากไมเกรน แม้ว่าเราจะพบข้อมูลที่น้อยมากเกี่ยวกับอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการรักษาในการทบทวนนี้ แต่การใช้ triptans สำหรับอาการอื่นๆ (เช่น ปวดศีรษะไมเกรน) เป็นที่ทราบกันว่าเกี่ยวข้องกับผลกระทบบางประการ

เราไม่พบการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุมด้วยยาหลอกสำหรับวิธีการอื่น ๆ ที่อาจใช้สำหรับเงื่อนไขนี้ จำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อระบุว่าวิธีการใด ๆ ที่ช่วยปรับปรุงอาการของไมเกรนแบบวิงเวียนและเพื่อตรวจสอบว่ามีผลข้างเคียงที่เกี่ยวข้องกับการใช้หรือไม่

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

Vestibular migraine (อาการเวียนศีรษะจากไมเกรน) เป็นรูปแบบหนึ่งของไมเกรนซึ่งหนึ่งในอาการแสดงหลักคือรู้สึกมีอาการบ้านหมุนกำเริบ อาการเหล่านี้มักเกี่ยวข้องกับลักษณะอื่นๆ ของไมเกรน เช่น ปวดศีรษะและไวต่อแสงหรือเสียง การกำเริบของอาการรู้สึกหมุนอย่างรุนแรงและคาดเดาไม่ได้อาจทำให้คุณภาพชีวิตลดลงอย่างมาก ภาวะนี้คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อประชากรเพียงไม่ถึง 1% แม้ว่าหลายคนจะยังไม่ได้รับการวินิจฉัย มีการใช้วิธีการทางเภสัชวิทยาจำนวนหนึ่งหรือเสนอให้ใช้ในช่วงเวลาที่มีการกำเริบของอาการวิงเวียนศีรษะจากไมเกรนเพื่อช่วยลดความรุนแรงหรือแก้ไขอาการ สิ่งเหล่านี้มีพื้นฐานมาจากการรักษาที่ใช้สำหรับอาการปวดศีรษะจากไมเกรน โดยเชื่อว่าพยาธิสรีรวิทยาพื้นฐานของอาการเหล่านี้คล้ายกัน

วัตถุประสงค์: 

เพื่อประเมินประโยชน์และโทษของวิธีการทางเภสัชวิทยาที่ใช้ในการบรรเทาอาการกำเริบเฉียบพลันของอาการวิงเวียนศีรษะจากไมเกรน

วิธีการสืบค้น: 

ผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูล Cochrane ENT ค้นหา Cochrane ENT Register; การลงทะเบียนกลางของการทดลองควบคุม (CENTRAL); Ovid MEDLINE; Ovid Embase; Web of Science; ClinicalTrials.gov; ICTRP และแหล่งข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับการทดลองที่เผยแพร่และไม่ได้เผยแพร่ วันที่ค้นหาคือ 23 กันยายน 2022

เกณฑ์การคัดเลือก: 

เรารวมการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม (RCTs) และ quasi-RCTs ในผู้ใหญ่ที่มีอาการไมเกรนแบบวิงเวียนที่แน่นอนหรือเป็นไปได้โดยเปรียบเทียบ triptans, ergot alkaloids, dopamine antagonists, antihistamines, 5-HT3 receptor antagonists, gepants (CGRP receptor antagonists), แมกนีเซียม, พาราเซตามอลหรือ ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เทียบกับการได้รับยาหลอกหรือไม่มีการรักษา

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

เราใช้วิธีมาตรฐานของ Cochrane ผลลัพธ์หลักของเราคือ: 1) อาการวิงเวียนบ้านหมุนรู้สึกดีขึ้น (ประเมินเป็นผลลัพธ์แบบแบ่งขั้ว - ดีขึ้นหรือไม่ดีขึ้น) 2) การเปลี่ยนแปลงของอาการการบ้านหมุน (ประเมินเป็นผลลัพธ์ต่อเนื่อง โดยมีคะแนนเป็นตัวเลข) และ 3) เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ร้ายแรง ผลลัพธ์รองของเราคือ: 4) คุณภาพชีวิตที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพเฉพาะโรค 5) อาการปวดศีรษะดีขึ้น 6) อาการไมเกรนอื่น ๆ ดีขึ้น และ 7) อาการไม่พึงประสงค์อื่น ๆ เราพิจารณาผลลัพธ์ที่รายงานในสามช่วงเวลา: < 2 ชั่วโมง, 2 ถึง 12 ชั่วโมง, > 12 ถึง 72 ชั่วโมง เราใช้ GRADE เพื่อประเมินความเชื่อมั่นของหลักฐานสำหรับผลลัพธ์แต่ละรายการ

ผลการวิจัย: 

เรารวบรวม RCTs 2 ฉบับที่มีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 133 คน ซึ่งทั้ง 2 ฉบับเปรียบเทียบการใช้ triptans กับยาหลอกสำหรับการเป้นไมเกรนชนิดวิงเวียนเฉียบพลัน การศึกษา 1 ฉบับเป็น RCT แบบกลุ่มคู่ขนาน (จากผู้เข้าร่วม 114 คน เป็นผู้หญิง 75%) เปรียบเทียบการใช้ rizatriptan 10 มก. กับยาหลอก การศึกษาที่ 2 เป็น RCT แบบไขว้ที่มีขนาดเล็กกว่า (จากผู้เข้าร่วม 19 คน เป็นผู้หญิง 70%) เปรียบเทียบการใช้ zolmitriptan 2.5 มก. กับยาหลอก

Triptans อาจส่งผลให้สัดส่วนของผู้ที่มีอาการบ้านหมุนดีขึ้นเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยใน 2 ชั่วโมงหลังจากรับประทานยา อย่างไรก็ตาม หลักฐานมีความไม่แน่นอนอย่างมาก (อัตราส่วนความเสี่ยง 0.84, ช่วงความเชื่อมั่น 95% 0.66 ถึง 1.07; การศึกษา 2 ฉบับ; จากการเป็นไมเกรนชนิดวิงเวียน 262 ครั้งในผู้เข้าร่วม 124 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำมาก) เราไม่ได้ระบุหลักฐานใด ๆ เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของอาการบ้านหมุนโดยใช้มาตราส่วนต่อเนื่อง มีเพียงการศึกษาเดียวเท่านั้นที่ประเมินเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ร้ายแรง ไม่มีเหตุการณ์ใดถูกบันทึกไว้ในทั้งสองกลุ่ม แต่เนื่องจากขนาดตัวอย่างมีขนาดเล็ก เราจึงไม่สามารถแน่ใจได้ว่ามีความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการใช้ยา triptans สำหรับอาการนี้หรือไม่ (0/75 ได้รับ triptans, 0/39 ได้รับยาหลอก การศึกษา 1 ฉบับ ผู้เข้าร่วม 114 คน หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำมาก)

บันทึกการแปล: 

แปลโดย พญ.วิลาสินี หน่อแก้ว โรงพยาบาลมะเร็งอุบลราชธานี Edit โดย ผกากรอง 20 พฤศจิกายน 2023

Tools
Information