การป้องกันภาวะสมองเสื่อมและการลดลงของความรู้ความเข้าใจโดยใช้วิธีการแบบหลายโดเมน

คำถามของการทบทวนวรรณกรรม

สามารถป้องกันการลดลงของความรู้ความเข้าใจและภาวะสมองเสื่อมโดยวิธีการที่กำหนดเป้าหมายปัจจัยเสี่ยงสองหรือมากกว่าสำหรับภาวะสมองเสื่อม?

ความเป็นมา

ภาวะสมองเสื่อมเป็นภาวะที่ความจำและทักษะการคิดอื่น ๆ (เรียกว่าความรู้ความเข้าใจหรือการทำงานทางปัญญา) ลดลงจนถึงจุดที่ส่งผลต่อความสามารถของบุคคลในการมีอิสระอย่างเต็มที่ในกิจกรรมประจำวันของพวกเขา อาจเกิดจากปัญหาทางสมองที่หลากหลาย ซึ่งส่วนใหญ่มักเกิดเพิ่มขึ้นตามอายุ แม้ว่าความเสี่ยงของภาวะสมองเสื่อมจะเพิ่มขึ้นสำหรับทุกคนเมื่ออายุมากขึ้น แต่ไม่ใช่ทุกคนที่มีความเสี่ยงเท่ากัน มีการพบปัจจัยเสี่ยงหลายประการที่ทำให้ภาวะสมองเสื่อมมีโอกาสมากขึ้น ได้แก่ ความดันโลหิตสูงในวัยกลางคน เบาหวาน การสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์มาก และขาดการออกกำลังกาย หากปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ได้รับการแก้ไขแล้ว ก็อาจสามารถป้องกันการลดลงของความรู้ความเข้าใจและภาวะสมองเสื่อม หรืออย่างน้อยก็เพื่อชะลอการเกิด เนื่องจากภาวะสมองเสื่อมเป็นภาวะที่ซับซ้อนและมีปัจจัยเสี่ยงที่แตกต่างกันมากมาย การกำหนดเป้าหมายปัจจัยเสี่ยงเพียงปัจจัยเดียวจึงอาจไม่ได้ผลนัก ในการทบทวนวรรณกรรมนี้ เรามีความสนใจในวิธีการที่มุ่งแก้ไขปัจจัยเสี่ยงอย่างน้อยสองประการ สิ่งเหล่านี้เรียกว่าวิธีการแบบหลายโดเมน

ลักษณะของการศึกษา

เราสืบค้นจนถึงวันที่ 28 เมษายน 2021 เพื่อการศึกษาที่สุ่มเลือกผู้ที่ไม่มีภาวะสมองเสื่อมให้เข้ารับวิธีการแบบหลายโดเมนหรือเข้ารับการดูแลสุขภาพตามปกติ (เช่น คำแนะนำด้านสุขภาพทั่วไป) และเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มในเวลาต่อมาโดยนับจำนวนผู้ป่วยที่เป็นภาวะสมองเสื่อมหรือโดยการวัดการทำงานของปัญญา เราพบ 9 การศึกษาที่มีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 18,452 คน อายุเฉลี่ยของผู้เข้าร่วมคือ 68 ปี การศึกษาแตกต่างกันในแนวทางที่สำคัญหลายประการ รวมถึงในปัจจัยเสี่ยงที่พยายามปรับเปลี่ยน ระยะเวลาของวิธีการ (ตั้งแต่ 1 ปีถึง 10 ปี) และในการทดสอบที่ใช้เพื่อวัดการทำงานของปัญญา การศึกษาทั้งหมดเกิดขึ้นในประเทศที่มีรายได้สูงหรือปานกลางซึ่งการดูแลสุขภาพตามปกติน่าจะมีมาตรฐานที่ดี

ผลลัพธ์สำคัญ

มีเพียงสองการศึกษาเท่านั้นที่นับจำนวนผู้ที่เป็นโรคสมองเสื่อม ผู้สูงอายุที่ได้รับวิธีการแบบหลายโดเมนไม่มีแนวโน้มที่จะเกิดภาวะสมองเสื่อมมากหรือน้อยไปกว่าผู้ที่ได้รับการดูแลตามปกติ วิธีการแบบหลายโดเมนอาจปรับปรุงการทำงานของปัญญาขึ้นเล็กน้อยเมื่อวัดด้วยการทดสอบแบบยาวและมีรายละเอียด แม้ว่าเราจะไม่พบผลใดๆ ในการศึกษาที่วัดการทำงานของปัญญาด้วยการทดสอบแบบคัดกรองระยะสั้น (Mini-Mental State Examination, MMSE) การศึกษาที่พบว่ามีประโยชน์ส่วนใหญ่เสนอการฝึกอบรมด้านความรู้ความเข้าใจภายในวิธีการแบบหลายโดเมน ทำให้เป็นไปได้ว่าผลบางอย่างอาจเกิดจากการที่ผู้คนทำการทดสอบความรู้ความเข้าใจได้ดีขึ้น แทนที่จะเกิดจากการปรับปรุงการทำงานของปัญญาอย่างแท้จริงที่จะปรากฏให้เห็นในชีวิตประจำวัน ผลยังมากขึ้นในหมู่ผู้เข้าร่วมที่มีความเสี่ยงทางพันธุกรรมเพิ่มขึ้นสำหรับภาวะสมองเสื่อม (ผู้ที่มียีน ApoE4) ไม่มีการศึกษาใดรายงานผลที่เป็นอันตรายของวิธีการ

เราพบว่าการศึกษาส่วนใหญ่ดำเนินการได้ดี โดยรวมแล้ว ความเชื่อมั่นของหลักฐานอยู่ในระดับปานกลางถึงสูง ซึ่งหมายความว่าเรามีความมั่นใจในผลลัพธ์ของเราในระดับปานกลางถึงมาก

บทสรุป

เราไม่พบหลักฐานว่าวิธีการแบบหลายโดเมนสามารถป้องกันภาวะสมองเสื่อมได้ แต่อาจมีประโยชน์เล็กน้อยต่อการทำงานของปัญญาในผู้สูงอายุ มีความแตกต่างมากมายระหว่างวิธีการ และเราไม่สามารถพูดอะไรได้ว่าการกำหนดเป้าหมายปัจจัยเสี่ยงเฉพาะหรือปัจจัยเสี่ยงร่วมกันอาจมีผลมากขึ้น หรือเกี่ยวกับระยะเวลาของวิธีการที่อาจต้องใช้เวลานาน ยังมีอะไรอีกมากที่สามารถเรียนรู้ได้จากการวิจัยเพิ่มเติมในด้านนี้

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

เราไม่พบหลักฐานว่าวิธีการแบบหลายโดเมนสามารถป้องกันภาวะสมองเสื่อมที่เกิดขึ้นโดยอ้างอิงจากการทดลองสองฉบับ มีการปรับปรุงเล็กน้อยในการทำงานทางปัญญา ที่ได้รับการประเมินโดย NTB ในกลุ่มผู้เข้าร่วมที่ได้รับวิธีการแบบหลายโดเมน แม้ว่าผลนี้จะมากที่สุดในการทดลองที่เสนอการฝึกอบรมด้านความรู้ความเข้าใจภายในวิธีการแบบหลายโดเมน ทำให้ยากต่อการแยกแยะจากผลที่อาจเกิดขึ้นจากการเรียนรู้ วิธีการมีความหลากหลายในแง่ขององค์ประกอบและความเข้มข้น

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

ภาวะสมองเสื่อมเป็นปัญหาด้านการดูแลสุขภาพทั่วโลก ความชุกทั่วโลกกำลังเพิ่มขึ้น ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาทางการแพทย์ที่มีประสิทธิผลเพื่อรักษาหรือชะลอการเริ่มต้นของการลดลงของความรู้ความเข้าใจหรือภาวะสมองเสื่อม 40% ของภาวะสมองเสื่อมเกิดจากปัจจัยเสี่ยงที่อาจปรับเปลี่ยนได้ ซึ่งนำไปสู่แนวคิดที่ว่าการกำหนดเป้าหมายปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้อาจลดอุบัติการณ์ของการลดลงของความรู้ความเข้าใจและภาวะสมองเสื่อม เนื่องจากภาวะสมองเสื่อมที่เกิดขึ้นแบบประปราย เป็นภาวะที่มีหลายปัจจัย ซึ่งคาดว่ามาจากหลายสาเหตุและปัจจัยเสี่ยง วิธีการแบบหลายโดเมนจึงอาจมีประสิทธิผลในการป้องกันโรคสมองเสื่อมมากกว่าปัจจัยเสี่ยงเพียงกลุ่มเดียว

วัตถุประสงค์: 

เพื่อประเมินผลของวิธีการแบบหลายโดเมนเพื่อป้องกันการลดลงของความรู้ความเข้าใจและภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ ซึ่งรวมถึงทั้งประชากรทั่วไปและประชากรที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นต่อการลดลงของความรู้ความเข้าใจและภาวะสมองเสื่อม

วิธีการสืบค้น: 

เราค้นหา ALOIS, Cochrane Dementia and Cognitive Improvement Group's register, MEDLINE (Ovid SP), Embase (Ovid SP), PsycINFO (Ovid SP), CINAHL (EBSCOhost), Web of Science Core Collection (ISI Web of Science), LILACS ( BIREME) และ ClinicalTrials.gov เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2021 นอกจากนี้เรายังตรวจสอบการอ้างอิงของรายการอ้างอิงของการศึกษาที่รวมเข้า เอกสารหลัก และเอกสารทบทวนวรรณกรรม เพื่อค้นหาการศึกษาเพิ่มเติมและประเมินความเหมาะสมสำหรับการรวมในการทบทวนวรรณกรรม

เกณฑ์การคัดเลือก: 

เรากำหนดวิธีการแบบหลายโดเมนว่าเป็นวิธีการที่มีองค์ประกอบมากกว่าหนึ่งอย่าง ทางเภสัชวิทยาหรือไม่ใช่ทางเภสัชวิทยา แต่ไม่ได้ประกอบด้วยยาเพียงสองตัวขึ้นไปที่มีเป้าหมายการรักษาเหมือนกัน เรารวมการศึกษาวิจัยแบบสุ่มที่มีกลุ่มเปรียบเทียบ (RCTs) เพื่อประเมินผลของวิธีการดังกล่าวต่อการทำงานทางปัญญาและ/หรือภาวะสมองเสื่อมที่เกิดขึ้น เรายอมรับการควบคุมที่เป็นวิธีการหลอหรือการดูแลตามปกติ แต่ไม่ใชวิธี่การแบบโดเมนเดียวที่มีจุดประสงค์เพื่อลดความเสี่ยงของภาวะสมองเสื่อม เรากำหนดให้การศึกษาต้องมีผู้เข้าร่วมอย่างน้อย 400 คน และต้องมีวิธีการและระยะเวลาติดตามผลอย่างน้อย 12 เดือน

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

ตอนแรกเราคัดกรองผลการค้นหาโดยใช้วิธีการ '‘crowdsourcing' ซึ่งสมาชิกของ Cochrane’s citizen science ค้นหา RCTs เราคัดกรองเอกสารอ้างอิงที่พบเทียบกับเกณฑ์การคัดเลือกโดยผู้ทบทวนวรรณกรรมสองคนที่ทำงานอย่างอิสระ ผู้ทบทวนวรรณกรรมสองคน คัดลอกข้อมูล, ประเมินความเสี่ยงของอคติ และใช้ GRADE ในการประเมินความเชื่อมั่นของหลักฐาน โดยเป็นอิสระต่อกัน เรากำหนดให้การทบทวนที่มีความเชื่อมั่นสูงเป็นการทดลองที่มีความเสี่ยงต่ำของการเกิดอคติในทุกโดเมน ยกเว้นการปกปิดผู้เข้าร่วมและบุคลากรที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการ ผลลัพธ์ที่สำคัญอย่างยิ่ง ได้แก่ ภาวะสมองเสื่อมที่เกิดขึ้นใหม่ ุ ความบกพร่องทางสติปัญญาเล็กน้อย (MCI) ที่เกิดขึ้นใหม่ การลดลงของความรู้ความเข้าใจที่วัดด้วยการวัดที่ตรวจสอบแล้ว และการเสียชีวิต ผลลัพธ์ที่สำคัญ ได้แก่ เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ (เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด) คุณภาพชีวิต และกิจกรรมในชีวิตประจำวัน (ADL) เราสังเคราะห์ข้อมูลโดย random-effects meta-analyses ตามความเหมาะสม เราแสดงผลการรักษาเป็น risk ratio (RR) และความแตกต่างระหว่างค่าเฉลี่ย (MD) กับช่วงความเชื่อมั่น 95% (CIs)

ผลการวิจัย: 

เรารวม 9 RCTs (ผู้เข้าร่วม 18.452 คน) ในการทบทวนวรรณกรรมนี้ 2 การศึกษารายงานภาวะสมองเสื่อมที่เกิดขึ้นใหม่; ทั้ง 9 การศึกษารายงานการวัดการทำงานทางปัญญา การประเมินทำงานทางปัญญาต่างกันมากในการศึกษาต่างๆ ตั้งแต่การประเมินทางประสาทจิตวิทยาแบบสมบูรณ์ไปจนถึงการตรวจคัดกรองระยะสั้น เช่น การตรวจสภาพจิตใจขนาดเล็ก (MMSE) ระยะเวลาของวิธีการแตกต่างกันไปตั้งแต่ 12 เดือนถึง 10 ปี

เราเปรียบเทียบวิธีการแบบหลายโดเมนกับการดูแลตามปกติหรือวิธีการหลอก MDs ที่เป็นบวก และ RR <1 สนับสนุนวิธีการแบบหลายโดเมนมากกว่าวิธีการควบคุม สำหรับภาวะสมองเสื่อมที่เกิดขึ้นใหม่ ไม่มีหลักฐานของความแตกต่างระหว่างกลุ่มที่ได้วิธีการแบบหลายโดเมนและกลุ่มควบคุม (RR 0.94, 95% CI 0.76 ถึง 1.18; 2 การศึกษา; ผู้เข้าร่วม 7256 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นสูง) มีความแตกต่างเล็กน้อยในคะแนน Z แบบผสมสำหรับความรู้ความเข้าใจที่วัดด้วย neuropsychological test battery (NTB) (MD 0.03, 95% CI 0.01 ถึง 0.06; 3 การศึกษา; ผู้เข้าร่วม 4617 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นสูง) และด้วย Montreal Cognitive Assessment มาตราส่วน (MoCA) (MD 0.76 จุด, 95% CI 0.05 ถึง 1.46; 2 การศึกษา; ผู้เข้าร่วม 1554 คน) แต่ความเชื่อมั่นของหลักฐานสำหรับ MoCA ต่ำมาก (เนื่องจากความเสี่ยงร้ายแรงของอคติ ความไม่สอดคล้องกัน และไม่ใช่หลักฐานทางตรง) และไม่มี หลักฐานของผลต่อ MMSE (MD 0.02 จุด, 95% CI -0.06 ถึง 0.09; 6 การศึกษา; ผู้เข้าร่วม 8697 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง) ไม่มีหลักฐานของผลต่อการตาย (RR 0.93, 95% CI 0.84 ถึง 1.04; 4 การศึกษา; ผู้เข้าร่วม 11,487 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นสูง)

มีหลักฐานที่มีความเชื่อมั่นสูงสำหรับปฏิกิริยาระหว่างวิธีการแบบหลายโดเมนกับสถานะ ApoE4 ต่อผลลัพธ์ของการทำงานทางปัญญาที่วัดด้วย NTB (carriers MD 0.14, 95% CI 0.04 ถึง 0.25, noncarriers MD 0.04, 95% CI -0.02 ถึง 0.10, P for interaction 0.09) ไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนสำหรับปฏิกิริยาระหว่างสถานะความรู้ความเข้าใจพื้นฐาน (กำหนดโดยคะแนน MMSE) กับความรู้ความเข้าใจที่วัดด้วย NTB (กลุ่ม MMSE ที่ตรวจวัดพื้นฐานต่ำ MD 0.06, 95% CI 0.01 ถึง 0.11, กลุ่ม MMSE ที่ตรวจวัดพื้นฐานสูง MD 0.01, 95% CI -0.01 ถึง 0.04, P for interaction 0.12) และไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนสำหรับผลในผู้เข้าร่วมที่มีคะแนนของปัจจัยเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด อายมากุ และอุบัติการณ์ของภาวะสมองเสื่อม (CAIDE) > 6 คะแนน (MD 0.07, 95%CI -0.00 ถึง 0.15)

บันทึกการแปล: 

แปลโดย ศ.นพ. ภิเศก ลุมพิกานนท์ ภาควิชา สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัย ขอนแก่น เมื่อ 11 มกราคม 2022

Tools
Information