อาหารมังสวิรัติเพื่อป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด

ความเป็นมา

เป็นที่ทราบกันดีว่าการรับประทานอาหารมีความสำคัญต่อความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด การทบทวนนี้ประเมินผลของการให้คำแนะนำด้านอาหารให้ปฏิบัติตามอาหารวีแก้น (ไม่รวมเนื้อสัตว์ ปลา ไข่ นม และน้ำผึ้ง) หรือการให้อาหารที่เกี่ยว (หรือทั้งสองอย่าง) สำหรับผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดี ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด และผู้ที่เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด เพื่อป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดที่เป็นใหม่หรือเป็นซ้ำ และลดปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง

ลักษณะการศึกษา

เราค้นหาฐานข้อมูลสำคัญของการศึกษาทางการแพทย์จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2020 และพบการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม (RCTs) 13 เรื่อง (ในเอกสาร 38 ฉบับ) ที่ตรงตามเกณฑ์ของเรา เราจัดกลุ่มการศึกษาออกเป็นสามประเภทต่อไปนี้เพื่อช่วยเราในการตีความผลลัพธ์:

1. การแทรกแซงด้วยอาหารมังสวิรัติเมื่อเปรียบเทียบกับการไม่แทรกแซงหรือการแทรกแซงเพียงเล็กน้อยเพื่อป้องกันการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด
2. การแทรกแซงด้วยอาหารมังสวิรัติเมื่อเทียบกับการแทรกแซงด้วยอาหารอื่น ๆ เพื่อป้องกันการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด
3. การแทรกแซงด้วยอาหารมังสวิรัติเมื่อเทียบกับการแทรกแซงด้วยอาหารอื่น ๆ ในตนที่เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดเพื่อป้องกันการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดซ้ำ

ผลลัพธ์ที่สำคัญ

ไม่มีการทดลองใดรายงานการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดทั้งในผู้ที่มีหรือไม่มีโรคเมื่อเริ่มต้น มีรายงานปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือดในการศึกษาที่รวบรวมไว้ มีหลักฐานที่มีความน่าเชื่อถือในระดับปานกลางสำหรับการลดระดับไขมันเล็กน้อยด้วยการรับประทานอาหารมังสวิรัติ เมื่อเทียบกับการไม่ทำหรือให้การรักษาน้อยที่สุดในผู้ที่ไม่มีโรค แต่ยังมีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยในมาตรการในทิศทางตรงกันข้ามเพื่อประโยชน์ของหัวใจและหลอดเลือด ในผู้ที่มีโรคหัวใจและหลอดเลือดอยู่แล้วนั้น มีข้อมูลจำกัดมาก เนื่องจากมีเพียงการทดลองเดียวที่ตรงตามเกณฑ์ของเรา 4 การทดลองรายงานผลข้างเคียงของการรับประทานอาหาร ซึ่งไม่มีหรือไม่มีเลย

ความเชื่อมั่นของหลักฐาน

การศึกษาส่วนใหญ่มีข้อจำกัดในการออกแบบการศึกษา ดังนั้นควรตีความหลักฐานอย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จำนวนโดยรวมของผู้ที่เข้าร่วมในการศึกษานี้น้อยเกินไปที่จะแยกแยะความเป็นไปได้ของผลที่พบโดยบังเอิญ และน้อยเกินไปที่จะพบความแตกต่างที่ส่งผลต่อการวัดผลของเรา

สรุปผลการศึกษา

การทบทวนสรุปว่าขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบของอาหารมังสวิรัติต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด มีข้อมูลจำกัดเกี่ยวกับผลกระทบของอาหารต่อผู้ที่เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดอยู่แล้ว และผลที่ผสมกันเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงสำหรับผู้ที่ไม่มีโรค เราพบการศึกษา 8 ฉบับ ที่ยังคงดำเนินอยู่ และเมื่อเราได้ผลลัพธ์จากสิ่งเหล่านี้ เราจะรวมการศึกษาเหล่านี้เข้าในการทบทวนเพื่อช่วยลดความไม่แน่นอน

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

การศึกษาโดยทั่วไปมีขนาดเล็กโดยมีผู้เข้าร่วมเพียงไม่กี่รายที่มีส่วนในการเปรียบเทียบของแต่ละกลุ่ม ไม่มีการศึกษาที่รวบรวมไว้รายงานเกี่ยวกับเหตุการณ์ทางคลินิกของ CVD ขณะนี้มีข้อมูลไม่เพียงพอที่จะสรุปผลของการแทรกแซงด้วยอาหารมังสวิรัติต่อปัจจัยเสี่ยงของ CVD การศึกษาที่กำลังดำเนินอยู่ 8 เรื่องที่พบจะเพิ่มหลักฐาน โดยทั้ง 8 เรื่องมีการรายงานเกี่ยวกับการป้องกันเบื้องต้น มีหลักฐานไม่เพียงพอสำหรับการป้องกันทุติยภูมิ

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

อาหารมีบทบาทสำคัญในสาเหตุของโรคหัวใจและหลอดเลือด (CVD) และเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ปรับเปลี่ยนได้จึงเป็นจุดสำคัญของกลยุทธ์การป้องกันมากมาย เมื่อเร็ว ๆ นี้ อาหารประเภทมังสวิรัติได้รับความนิยมและมีความจำเป็นต้องสังเคราะห์หลักฐานการทดลองทางคลินิกที่มีอยู่สำหรับศักยภาพในการป้องกัน CVD

วัตถุประสงค์: 

เพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพของการปฏิบัติตามรูปแบบการบริโภคอาหารมังสวิรัติสำหรับการป้องกัน CVD ขั้นปฐมภูมหรือทุติยภูมิ

วิธีการสืบค้น: 

เราสืบค้นในฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ต่อไปนี้ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2020: Cochrane Central Register of Controlled Trials (CENTRAL), MEDLINE, Embase และ Web of Science Core Collection นอกจากนี้ เรายังค้นหา ClinicalTrials.gov ในเดือนมกราคม 2021 เราไม่มีข้อจำกัดด้านภาษา

เกณฑ์การคัดเลือก: 

เราเลือกการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม (RCTs) ในผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดีและผู้ใหญ่ที่มีความเสี่ยงสูงของ CVD (การป้องกันปฐมภูมหรือเบื้องต้น) และผู้ที่มี CVD (การป้องกันทุติยภูมิ) รูปแบบอาหารมังสวิรัติไม่รวมเนื้อสัตว์ ปลา ไข่ ผลิตภัณฑ์นมและน้ำผึ้ง การแทรกแซงอาจเป็นคำแนะนำด้านอาหาร การจัดหาอาหารที่เกี่ยวข้อง หรือทั้งสองอย่าง กลุ่มเปรียบเทียบไม่ได้รับการแทรกแซง การแทรกแซงน้อยที่สุด หรือการแทรกแซงด้วยอาหารอื่น ผลลัพธ์รวมถึงเหตุการณ์ทางคลินิกและปัจจัยเสี่ยงของ CVD เรารวมเฉพาะการศึกษาที่มีระยะเวลาติดตามผลตั้งแต่ 12 สัปดาห์ขึ้นไป โดยกำหนดให้เป็นช่วงการแทรกแซงบวกกับการติดตามผลหลังการแทรกแซง

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

ผู้วิจัย 2 คน ทำการประเมินการศึกษาที่เป็นไปตามเกณฑ์การคัดเข้า ดึงข้อมูล และประเมินความเสี่ยงของการมีอคติ อย่างอิสระต่อกัน เราใช้ GRADE เพื่อประเมินความเชื่อมั่นของหลักฐาน เราทำการเปรียบเทียบหลัก 3 ประการ:

1. การแทรกแซงด้วยอาหารมังสวิรัติเทียบกับการไม่แทรกแซงหรือการแทรกแซงน้อยที่สุดสำหรับการป้องกันเบื้องต้น
2. การแทรกแซงด้วยอาหารมังสวิรัติกับการแทรกแซงด้วยอาหารอื่น ๆ สำหรับการป้องกันเบื้องต้น
3. การแทรกแซงด้วยอาหารมังสวิรัติกับการแทรกแซงด้วยอาหารอื่นสำหรับการป้องกันทุติยภูมิ

ผลการวิจัย: 

13 การทดลอง (บทความวิจัย 38 ฉบับ, การลงทะเบียนการทดลอง 7 เรื่อง) และการทดลองที่กำลังดำเนินอยู่ 8 เรื่อง เป็นไปตามเกณฑ์การคัดเลือกของเรา การทดลองส่วนใหญ่เกี่ยวกับการป้องกันเบื้องต้น: การเปรียบเทียบที่ 1 (4 การทดลอง, สุ่มผู้เข้าร่วม 466 คน) และการเปรียบเทียบที่ 2 (8 การทดลอง, สุ่มผู้เข้าร่วม 409 คน) เรารวมเพียง 1 การทดลองที่ป้องกันทุติยภูมิสำหรับการเปรียบเทียบที่ 3 (สุ่มผู้เข้าร่วม 63 คน)

ไม่มีการทดลองใดรายงานเกี่ยวกับจุดสิ้นสุดทางคลินิก ผลลัพธ์หลักอื่นๆ ได้แก่ ระดับไขมันและความดันโลหิต

สำหรับการเปรียบเทียบที่ 1 มีหลักฐานที่มีความเชื่อมั่นในระดับปานกลางจาก 4 การทดลองที่มีผู้เข้าร่วม 449 คน ว่าอาหารมังสวิรัติอาจนำไปสู่การลดลงเล็กน้อยของคอเลสเตอรอลรวม (ความแตกต่างของค่าเฉลี่ย (MD) −0.24 mmol/L, ช่วงความเชื่อมั่น 95% (CI) −0.36 ถึง −0.12) และโคเลสเตอรอลไลโปโปรตีนความหนาแน่นต่ำ (LDL) (MD −0.22 mmol/L, 95% CI −0.32 ถึง −0.11), การลดลงเพียงเล็กน้อยของระดับไลโปโปรตีนความหนาแน่นสูง (HDL) (MD −0.08 mmol/L , 95% CI −0.11 ถึง −0.04) และระดับไตรกลีเซอไรด์เพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาก (MD 0.11 มิลลิโมล/ลิตร, 95% CI 0.01 ถึง 0.21) การเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยในระดับ HDL และไตรกลีเซอไรด์เป็นไปในทิศทางตรงกันข้ามกับที่คาดไว้ ไม่มีหลักฐานที่บ่งชี้ถึงผลกระทบของการรับประทานอาหารมังสวิรัติต่อความดันโลหิตซิสโตลิก (MD 0.94 mmHg, 95% CI −1.18 ถึง 3.06; 3 การทดลอง, ผู้เข้าร่วม 374 คน) และความดันโลหิตขณะคลายตัว (MD −0.27 mmHg, 95% CI −1.67 ถึง 1.12; 3 การทดลอง, ผู้เข้าร่วม 372 คน) (หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำ)

สำหรับการเปรียบเทียบที่ 2 ไม่มีหลักฐานสำหรับผลของการแทรกแซงอาหารมังสวิรัติต่อระดับคอเลสเตอรอลรวม (MD −0.04 mmol/L, 95% CI −0.28 ถึง 0.20; 4 การทดลอง, ผู้เข้าร่วม 163 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำ) อาจมีผลเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยของการแทรกแซงอาหารมังสวิรัติต่อ LDL (MD −0.05 mmol/L, 95% CI −0.21 ถึง 0.11; 4 การทดลอง, ผู้เข้าร่วม 244 คน) หรือระดับคอเลสเตอรอล HDL (MD −0.01 mmol/L, 95% CI −0.08 ถึง 0.05; 5 การทดลอง, ผู้เข้าร่วม 256 คน) หรือไตรกลีเซอไรด์ (MD 0.21 mmol/L, 95% CI −0.07 ถึง 0.49; 5 การทดลอง, ผู้เข้าร่วม 256 คน) เมื่อเปรียบเทียบกับวิธีการรับประทานอาหารอื่นๆ (หลักฐานมีความเชื่อมั่นปานกลาง) เราไม่แน่ใจอย่างมากเกี่ยวกับผลกระทบใดๆ ของการรับประทานอาหารมังสวิรัติต่อความดันโลหิตซิสโตลิก (MD 0.02 mmHg, 95% CI −3.59 ถึง 3.62) หรือความดันโลหิตขณะคลายตัว (MD 0.63 mmHg, 95% CI −1.54 ถึง 2.80; 5 การทดลอง, ผู้เข้าร่วม 247 คน (หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำมาก))

มีเพียงการศึกษาเดียว (ผู้เข้าร่วม 63 คน) ที่มีส่วนในการเปรียบเทียบที่ 3 ซึ่งไม่มีหลักฐานสำหรับผลกระทบของการรับประทานอาหารมังสวิรัติต่อระดับไขมันหรือความดันโลหิตเมื่อเทียบกับวิธีการรับประทานอาหารอื่น ๆ (หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำหรือต่ำมาก)

4 การทดลองรายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ ซึ่งไม่มีหรือมีเพียงเล็กน้อย

บันทึกการแปล: 

แปลโดย พญ.วิลาสินี หน่อแก้ว โรงพยาบาลมะเร็งอุบลราชธานี Edit โดย ผกากรอง 24 สิงหาคม 2023

Tools
Information