การบำบัดด้วยการกระตุ้นพฤติกรรมสำหรับผู้ใหญที่มีปัญหาสุขภาพทางกายเป็นเวลานานและมีภาวะซึมเศร้า

ภาวะซึมเศร้ามักพบได้บ่อยในผู้ใหญ่ที่มีปัญหาสุขภาพกายเป็นเวลานาน ความเจ็บป่วยทางกายในระยะยาวเช่นโรคหัวใจและหลอดเลือดเบาหวาน มะเร็งหรือภาวะทางเดินหายใจเรื้อรังอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิต ปัญหาสุขภาพจิตอาจส่งผลต่อวิธีที่บุคคลจะรับมือกับสภาพร่างกาย การกระตุ้นพฤติกรรมเป็นวิธีการบำบัดด้วยการพูดที่ใช้ในการรักษาภาวะซึมเศร้าในผู้ใหญ่และอาจเป็นทางเลือกหนึ่งของการบำบัดทางจิตวิทยาหรือยาอื่น ๆ การทบทวนนี้ประเมินผลของการกระตุ้นพฤติกรรมต่อภาวะซึมเศร้าสำหรับผู้ที่มีความเจ็บป่วยทางกายในระยะยาว

เรารวมการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม (RCTs) ของการกระตุ้นพฤติกรรมกับผู้ใหญ่ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้าและโรคหัวใจและหลอดเลือด เบาหวาน มะเร็งหรือภาวะทางเดินหายใจเรื้อรัง RCT เป็นการศึกษาที่มีกลุ่มควบคุมซึ่งผู้เข้าร่วมวิจัยจะได้รับการจัดสรรให้กับกลุ่มการรักษาและกลุ่มควบคุมโดยการสุ่ม เราค้นหาฐานข้อมูลออนไลน์ที่หลากหลายรวมถึงฐานข้อมูลระดับภูมิภาคและการลงทะเบียนในฐานข้อมูลการวิจัยเชิงทดลอง การสืบค้นดำเนินการเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2019 ระบุข้อมูล 6066 รายการ หลังจากการคัดกรองงานวิจัย เราได้รวมการศึกษา 2 รายการไว้ในการทบทวนนี้และมีผู้เข้าร่วมวิจัย 181 คนที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล

การศึกษาทั้งสองได้คัดเลือกผู้เข้าร่วมวิจัยจากโรงพยาบาลในสหรัฐอเมริกา การศึกษา 1 รายการ รวมผู้เข้าร่วมวิจัยที่ฟื้นตัวจากโรคหลอดเลือดสมองและอีกงานวิจัยรวมผู้หญิงที่เป็นมะเร็งเต้านม ในการศึกษาทั้ง 2 รายการ ผู้เข้าร่วมวิจัยได้รับการกระตุ้นพฤติกรรมที่มีการดำเนินการแค่ 8 สัปดาห์ สัปดาห์ละหนึ่งครั้ง แบบตัวต่อตัว การศึกษา 1 รายการ เปรียบเทียบการกระตุ้นพฤติกรรมกับการรักษาหลังป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมองตามปกติในขณะที่อีก 1 รายการ เปรียบเทียบการกระตุ้นพฤติกรรมกับการบำบัดด้วยการแก้ปัญหาซึ่งเป็นการบำบัดด้วยการพูด

หลักฐานมีความแน่นอนระดับต่ำถึงปานกลางแสดงให้เห็น ว่าการกระตุ้นพฤติกรรมอาจมีประสิทธิผลในการรักษาภาวะซึมเศร้ามากกว่ากลุ่มเปรียบเทียบ แต่การประมาณการผลลัพธ์เหล่านี้ไม่ชัดเจนและประสิทธิผลของการบำบัดลดลงในระยะยาว ไม่พบความแตกต่างระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมในจำนวนผู้ที่ออกจากการศึกษาก่อนเสร็จสิ้นการทดลอง อาการซึมเศร้า คุณภาพชีวิต ความสามารถในการทำงานของร่างกาย หรืออาการวิตกกังวล การศึกษาไม่ได้รายงานเกี่ยวกับผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาการศึกษา

การศึกษาที่นำมารวบรวมมีข้อจำกัดหลายประการ ในการศึกษาทั้ง 2 รายการ ผู้เข้าร่วมวิจัยรู้ว่าตนเองได้รับการรักษาอะไร นอกจากนี้นักวิจัยยังมีส่วนร่วมในการออกแบบกิจกรรมการทดลองในทั้งการศึกษาทั้ง 2 รายการ จึงอาจมีผลต่อการประเมินผลลัพธ์สำหรับกลุ่มที่ได้รับการกระตุ้นพฤติกรรมว่ามีผลลัพธ์ที่ดีกว่า มีการศึกษา 1 รายการ มีข้อมูลที่ขาดหายไปซึ่งเกิดจากผู้เข้าร่วมวิจัยออกจากการศึกษาจึงอาจมีผลต่อผลลัพธ์

เราไม่พบหลักฐานเพียงพอในการทบทวนนี้เพื่อให้ทราบว่าควรใช้การกระตุ้นพฤติกรรมเพื่อรักษาภาวะซึมเศร้าในผู้ใหญ่ที่มีปัญหาสุขภาพทางกายในระยะยาวหรือไม่

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

หลักฐานจากการทบทวนนี้ไม่เพียงพอที่จะสรุปเกี่ยวกับประสิทธิภาพและการยอมรับการรักษาของการกระตุ้นพฤติกรรมในการรักษาภาวะซึมเศร้าในผู้ใหญ่ที่เป็นโรค NCDs การทบทวนในอนาคตอาจต้องเพิ่มผู้ที่มีอาการซึมเศร้าที่ยังไม่ถึงเกณฑ์การวินิจฉัยโรคซึมเศร้าอย่างเป็นทางการ หรือศึกษาเฉพาะคนในกลุ่มนี้ เนื่องจากผลการศึกษาอาจเป็นหลักฐานในการให้ข้อเสนอแนะว่าการกระตุ้นพฤติกรรมสามารถใช้เพื่อรักษาอาการซึมเศร้าที่ไม่รุนแรงหรือไม่ได้รับการวินิจฉัย (หรือทั้งสองอย่าง) ในผู้ที่มี NCDs ควรศึกษาในพื้นที่การวิจัยที่มีทรัพยากรน้อย รวมถึงในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง ซึ่งการกระตุ้นพฤติกรรมอาจเป็นทางเลือกที่เป็นไปได้สำหรับการรักษาภาวะซึมเศร้าสำหรับผู้ที่มีความสนใจที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าว

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

ภาวะซึมเศร้าพบได้บ่อยในผู้ที่เป็นโรคไม่ติดต่อ (NCDs) เช่นโรคหัวใจและหลอดเลือด เบาหวาน มะเร็ง และระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง การมีภาวะร่วมกันของภาวะซึมเศร้าและ โรคไม่ติดต่อเรื้อรังอาจส่งผลต่อพฤติกรรมสุขภาพ การปฏิบัติตามการรักษา ปัจจัยทางสรีรวิทยา และคุณภาพชีวิต สิ่งนี้เกี่ยวข้องกับผลลัพธ์ที่ไม่ดีสำหรับการเจ็บป่วยทั้งสองเงื่อนไข ปัจจุบันการกระตุ้นพฤติกรรมไม่ได้ระบุไว้สำหรับการรักษาภาวะซึมเศร้าในประชากรกลุ่มนี้ในสหราชอาณาจักร แต่มีการใช้เพื่อรักษาภาวะซึมเศร้าในผู้ใหญ่มากขึ้น

วัตถุประสงค์: 

เพื่อตรวจสอบผลของการกระตุ้นพฤติกรรมเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมอื่นๆ ในการรักษาภาวะซึมเศร้าในผู้ใหญ่ที่เป็นโรค NCDs

เพื่อตรวจสอบผลของการกระตุ้นพฤติกรรมเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมในแต่ละประเภท (ไม่มีการรักษา อยู่ในกลุ่มมีรายชื่อรอได้รับการกระตุ้นพฤติกรรม การบำบัดทางจิตวิทยาอื่น ๆ การรักษาทางเภสัชวิทยาหรือการรักษาประเภทอื่น ๆ ตามการดูแลตามปกติ) สำหรับการรักษาภาวะซึมเศร้าในผู้ใหญ่ที่เป็นโรค NCDs

วิธีการสืบค้น: 

เราสืบค้นจาก CCMD-CTR, CENTRAL, Ovid MEDLINE, Embase, ฐานข้อมูลอื่น ๆ 4 ฐานข้อมูล และการลงทะเบียนทดลอง 2 แหล่ง ในวันที่ 4 ตุลาคม 2019 เพื่อค้นหาการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม (RCTs) ที่เกี่ยวกับการกระตุ้นพฤติกรรมสำหรับภาวะซึมเศร้าในผู้เข้าร่วมวิจัยที่เป็นโรค NCD และในการสืบค้นได้รวมงานวิจัยที่ไม่ได้ตีพิมพ์เผยแพร่ และการตรวจสอบจากเอกสารอ้างอิง เราไม่มีข้อจำกัดเกณฑ์การสืบค้นเกี่ยวกับวันที่ ภาษา หรือสถานะการตีพิมพ์

เกณฑ์การคัดเลือก: 

เราได้รวม RCT ที่เกี่ยวกับการกระตุ้นพฤติกรรมสำหรับการรักษาภาวะซึมเศร้าในผู้ใหญ่ที่เป็นโรค NCD 1 ใน 4 กลุ่มโรค ได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือด เบาหวาน มะเร็ง และภาวะทางเดินหายใจเรื้อรัง เกณฑ์การคัดเลือกคือ ผู้เข้าร่วมวิจัยที่ได้รับการวินิจฉัยอย่างเป็นทางการว่าเป็นทั้งภาวะซึมเศร้าและ NCD การศึกษาจะถูกนำมาวิเคราะห์หากการกระตุ้นพฤติกรรมเป็นองค์ประกอบหลักของกิจกรรมการทดลอง เรารวมการศึกษาที่มีการเปรียบเทียบกับกิจกรรมอื่นๆ ที่ไม่ใช่การกระตุ้นพฤติกรรมและไม่ได้จำกัดวิธีการรายงานผลลัพธ์

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

เราใช้กระบวนการระเบียบวิธีวิจัยที่เป็นมาตรฐานที่ Cochrane กำหนด ประกอบด้วย การคัดกรองชื่อเรื่อง / บทคัดย่อ และต้นฉบับแบบเต็ม การคัดลอกข้อมูลและประเมินความเสี่ยงของการมีอคติ โดยทำขั้นตอนที่กล่าวมาคู่กันระหว่างผู้วิจัยสองคน เมื่อจำเป็นเราจะติดต่อผู้นิพนธ์บทความวิจัยเพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติม

ผลการวิจัย: 

เราได้รวมการศึกษาสองเรื่องโดยมีข้อมูลที่ใช้ในการวิเคราะห์มาจากผู้เข้าร่วมวิจัยจำนวน 181 คน

การศึกษาทั้ง 2 รายการ ได้คัดเลือกผู้เข้าร่วมวิจัยจากคลินิกในโรงพยาบาลในสหรัฐอเมริกา การศึกษา 1 รายการ คัดเลือกอาสาสมัครจากคนที่ฟื้นตัวจากโรคหลอดเลือดสมองและการศึกษาอีก 1 รายการ คัดเลือกอาสามัครจากสตรีที่เป็นมะเร็งเต้านม สำหรับการศึกษาทั้งสองเรื่อง กิจกรรมในกลุ่มทดลองประกอบด้วยการบำบัดทางพฤติกรรมแบบตัวต่อตัวเป็นเวลาแปดสัปดาห์โดยการศึกษาหนึ่งเปรียบเทียบกับการรักษาหลังป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมองตามปกติและการศึกษาอีกหนึ่งรายการ เปรียบเทียบกับการบำบัดด้วยการแก้ปัญหา

การศึกษาทั้งสองมีความเสี่ยงของการมีอคติในเรื่องการปฏิบัติต่อผู้เข้าร่วมโครงการวิจัย (performance bias) และโอกาสของการมีผลประโยชน์ทับซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจากการที่ผู้วิจัยมีส่วนร่วมในการพัฒนาโปรแกรมการทดลอง มีการศึกษา 1 รายการ มีความเสี่ยงของการมีอคติในการเลือกผู้เข้าร่วมโครงการวิจัย และอคติในการรายงานผลที่ไม่ชัดเจน และการศึกษานี้ถูกประเมินว่ามีความเสี่ยงของการมีอคติสูงในการติดตามผู้เข้าร่วมโครงการวิจัย

ประสิทธิภาพการรักษา (การหายของโรค) ในกลุ่มที่ได้รับการกระตุ้นพฤติกรรมมีมากกว่ากลุ่มเปรียบเทียบในการประเมินผลระยะสั้น (อัตราส่วนความเสี่ยง (RR) 1.53, ช่วงความเชื่อมั่น 95% (CI) 0.98 ถึง 2.38; หลักฐานมีความเชื่อมั่นในระดับต่ำ) และในการประเมินผลระยะกลาง (RR 1.76, 95% CI 1.01 ถึง 3.08; หลักฐานมีความเชื่อถือได้ในระดับปานกลาง) แต่ผลลัพธ์นี้ขาดความแม่นยำและประสิทธิผลลดลงเมื่อประเมินผลในระยะยาว (RR 1.42, 95% CI 0.91 ถึง 2.23; หลักฐานมีความเชื่อมั่นในระดับปานกลาง) เราไม่พบหลักฐานของความแตกต่างในการยอมรับการรักษาในการประเมินผลระยะสั้น (RR 1.81, 95% CI 0.68 ถึง 4.82) และในระยะกลาง (RR 0.88, 95% CI 0.25 ถึง 3.10) (หลักฐานมีความเชื่อมั่นในระดับต่ำ)

ไม่มีหลักฐานที่แสดงความแตกต่างของอาการซึมเศร้าระหว่างกลุ่มทดลองที่มีการกระตุ้นพฤติกรรมและกลุ่มเปรียบเทียบ (ระยะสั้น: MD-1.15, 95% CI -2.71 ถึง 0.41, หลักฐานมีความเชื่อมั่นในระดับต่ำ) การศึกษาเรื่องหนึ่งไม่พบความแตกต่างสำหรับคุณภาพชีวิต (ระยะสั้น: MD 0.40, 95% CI –0.16 ถึง 0.96; หลักฐานมีความเชื่อมั่นในระดับต่ำ), การทำหน้าที่ทั่วไป (ระยะสั้น: MD 2.70, 95% CI –6.99 ถึง 12.39; หลักฐานมีความเชื่อมั่นในระดับต่ำ), อาการวิตกกังวล (ระยะสั้น: MD-1.70, 95% CI -4.50 ถึง 1.10, หลักฐานมีความเชื่อมั่นในระดับต่ำ)

ทั้งสองการศึกษาไม่มีการรายงานการศึกษาเกี่ยวกับผลข้างเคียง

บันทึกการแปล: 

แปลโดย สมพร รุ่งเรืองกลกิจ คณะพยาบาลศษสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 13 เมษายน 2021

Tools
Information