เหตุใดการวินิจฉัยภาวะสมองเสื่อมให้ดีขึ้นจึงมีความสำคัญ

ภาวะสมองเสื่อมหมายถึงกลุ่มของภาวะสมองที่นำไปสู่ปัญหาด้านความจำ การทำงาน หรือการทำงานในชีวิตประจำวัน แพทย์ใช้การทดสอบที่หลากหลายเพื่อวินิจฉัยภาวะสมองเสื่อม มักมีรายงานว่าต้องใช้เวลานานในการวินิจฉัยโรคสมองเสื่อมตั้งแต่เริ่มพบผู้ให้บริการด้านสุขภาพด้วยอาการที่บ่งบอกถึงภาวะสมองเสื่อม

สติปัญญาบกพร่องเป็นคำที่กว้าง รวมถึงผู้ที่สมองทำงานได้ไม่ดีเท่าที่ควรเมื่ออายุมากขึ้น แต่ไม่มีภาวะสมองเสื่อมเช่นเดียวกับคนที่มีภาวะสมองเสื่อม ผู้ที่มีสติปัญญาบกพร่องบางคนที่ไม่มีภาวะสมองเสื่อม อาจมีอาการที่เรียกว่าสติปัญญาบกพร่องเล็กน้อย (MCI) บางคนที่มี MCI (แต่ไม่ทั้งหมด) จะพัฒนาเป็นสมองเสื่อมเมื่อเวลาผ่านไป

จุดมุ่งหมายของการทบทวนนี้คืออะไร

ผู้ทบทวนมีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของการวินิจฉัยภาวะสมองเสื่อมและสติปัญญาบกพร่องในการดูแลเบื้องต้นโดยแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป (GPs)

สิ่งที่ศึกษาในการทบทวนนี้คืออะไร

ผู้เขียนได้รวมข้อมูลที่ดึงมาจากการศึกษา 11 ฉบับ รวมถึง 10 เรื่องมีข้อมูลที่สมบูรณ์เกี่ยวกับความแม่นยำในการวินิจฉัย ผู้เขียนรวมการศึกษา 8 ฉบับ ที่มีการสรุปทางสถิติ ผู้เข้าร่วม 2790 คน โดย 826 คน (30%) มีภาวะสมองเสื่อม ผู้เขียนรวมการศึกษา 4 ฉบับ ที่ตรวจสอบเกี่ยวกับผู้มีสติปัญญาบกพร่อง ผู้เข้าร่วม 1497 คน ซึ่ง 594 คนมีสติปัญญาบกพร่อง (40%)

ผลลัพธ์หลักของการทบทวน

ผลการทบทวนพบว่าในทางทฤษฎี แพทย์เวชปฏิบัตัทั่วไปตัดสินทางคลินิกในผู้ที่มีอาการสมองเสื่อม เพื่อวินิจฉัยภาวะสมองเสื่อมถูกต้อง (sensitivity) 58% และสามารถวินิจฉัยผู้ที่ไม่มีอาการสมองเสื่อม (ความจำเพาะ) 89%

ผลการทบทวนพบว่าในทางทฤษฎี แพทย์เวชปฏิบัตัทั่วไปตัดสินทางคลินิกในผู้ที่มีอาการสติปัญญาบกพร่อง เพื่อวินิจฉัยภาวะสติปัญญาบกพร่องถูกต้อง (sensitivity) 84% และสามารถวินิจฉัยผู้ที่ไม่มีอาการสติปัญญาบกพร่อง (ความจำเพาะ) 73%

ผลของการศึกษาในการทบทวนนี้มีความน่าเชื่อถือเพียงใด

ในการทบทวนนี้ มีปัญหาทางเทคนิคบางประการเกี่ยวกับการออกแบบการศึกษา และความแตกต่างระหว่างการศึกษาที่ทำให้ยากต่อการเปรียบเทียบ ซึ่งหมายความว่าเป็นการยากที่จะแน่ใจว่าผลการวิจัยเหล่านี้สามารถนำไปใช้ในการปฏิบัติทางคลินิกได้

ผลของการทบทวนนี้นำไปใช้กับใคร

นักวิจัยที่ทำการทบทวนนี้ ดำเนินการตรวจสอบส่วนใหญ่ในยุโรป โดยมีการศึกษา 1 ฉบับ ในสหรัฐอเมริกาและการศึกษา 1 ฉบับ ในออสเตรเลีย การศึกษาทั้งหมดรวมถึงผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับเวชปฏิบัติทั่วไป ผู้เข้าร่วมมีอายุเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 73 ปี ถึง 83 ปี (เฉลี่ย 77 ปี) ผู้เข้าร่วมที่เป็นสตรีตั้งแต่ 47% ถึง 100% ผู้ที่ถูกวินิจฉัยสุดท้ายว่ามีภาวะสมองเสื่อมอยู่ระหว่าง 2% ถึง 56% (เฉลี่ย 21%) หากนำข้อค้นพบเหล่านี้ไปใช้ในสถานที่ที่มีจำนวนผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมน้อยลง ความแม่นยำของการทดสอบอาจแตกต่างกัน

อะไรคือข้อสรุปจากการทบทวนนี้

หากการศึกษาเหล่านี้เป็นตัวแทนของการปฏิบัติของแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปจริง ถ้าแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปวินิจฉัยจากอาการทางคลินิกเพียงอย่างเดียวในการวินิจฉัยภาวะสมองเสื่อม หมายความว่าผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมบางคนอาจได้รับการวินิจฉัย 'พลาด' อย่างไม่ถูกต้อง และเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องทำการตรวจเพิ่มเติมเพื่อยืนยันว่าบุคคลนั้นทำได้ไม่มีปัญหา อย่างไรก็ตาม หากแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปคิดว่ามีคนเป็นโรคสมองเสื่อม มีโอกาสสูงที่การวินิจฉัยจะถูกต้อง และการตรวจเพื่อยืนยันภาวะสมองเสื่อมอาจแตกต่างกันและอาจใช้เวลาและภาระน้อยลง การศึกษาที่รวมอยู่ในการทบทวนนี้แนะนำว่าการวินิจฉัยจากอาการทางคลินิกอาจเป็นการตรวจที่มีประโยชน์ในการพิจารณาว่าต้องทำอะไรต่อไป

ความเป็นปัจจุบันของการทบทวนนี้

ผู้ทบทวนได้สืบค้นการศึกษาที่ได้รับการตีพิมพ์จนถึงวันที่ 16 กันยายน 2021

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

การวินิจฉัยภาวะสมองเสื่อมของแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปมีความจำเฉพาะมากกว่าความไว จำเป็นต้องตรวจเพิ่มเติมเพื่อยืนยันผลการวินิจฉัยในกลุ่มเป้าหมายใการตรวจทางคลินิกอาจช่วยในการตัดสินใจสรุปผลการวินิจฉัยในอนาคต ผู้ป่วยหลายคนที่แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปตัดสินว่ามีภาวะสมองเสื่อมจะมีอาการ ผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยเป็นผลลบลวงมีแนวโน้มที่จะมีอาการรุนแรงน้อย และแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปบางคนใช้การทดสอบที่เป็นทางการมากขึ้น เพื่อตัดสินว่าไม่มีภาวะสมองเสื่อม ผลบวกลวงบางอย่างอาจต้องการการสนับสนุนในทางปฏิบัติที่คล้ายคลึงกันกับผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อม เช่น บางคนมีภาวะซึมเศร้า ซึ่งอาจได้รับการรักษาล่าช้าในขณะที่ยังรักษาได้

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

ในการดูแลเบื้องต้น แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป (GPs) ต้องพบปะกับผู้ป่วย การตัดสินใจทางคลินิกจึงเป็นส่วนสำคัญของการประเมินการวินิจฉัยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยทั่วไป การตัดสินใจทางคลินิกในการดูแลผู้ป่วยต่อไป รวมถึงการตัดสินใจทางคลินิกเกี่ยวกับการวินิจฉัยความรุนแรงของอาการและปัจจัยของผู้ป่วย เช่น ความคิดและความคาดหวังในการรักษา แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปหลายคนใช้วิจารณญาณของตนเองในการประเมินประเมินผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมโดยอาศัยความรู้ความเข้าใจ ใช้ข้อมูลที่มีอยู่ ณ จุดดูแล เพื่อตัดสินใจว่าผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมหรือไม่ แทนที่จะทำการตรวจอย่างเป็นทางการ

วัตถุประสงค์: 

เพื่อตรวจสอบความแม่นยำในการวินิจฉัยของแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป ในการวินิจฉัยภาวะสติปัญญาบกพร่องและภาวะสมองเสื่อมในผู้ที่มีอาการที่เข้ารับการรักษาในเบื้องต้น เพื่อตรวจสอบความแม่นยำในการทดสอบในการศึกษาที่แตกต่างกันที่รวบรวมไว้

วิธีการสืบค้น: 

เราค้นหาใน MEDLINE (Ovid SP), Embase (Ovid SP), PsycINFO (Ovid SP), Web of Science Core Collection (ISI Web of Science) และ LILACs (BIREME) เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2021

เกณฑ์การคัดเลือก: 

เราเลือกการศึกษาแบบภาคตัดขวางและการศึกษาแบบ cohort จากหน่วยดูแลปฐมภูมิซึ่งแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปใช้วิจารณญาณ (จากการพบกับผู้ป่วย) หรือซักประวัติ (ตามความรู้ของผู้ป่วยและการทบทวนบันทึกทางการแพทย์ แต่ไม่เกี่ยวข้องกับการพบกับผู้ป่วย) กลุ่มเป้าหมายคือภาวะสมองเสื่อมและสติปัญญาบกพร่อง (สติปัญญาบกพร่องเล็กน้อยและภาวะสมองเสื่อม) และเรารวมการศึกษาที่มีมาตรฐานอ้างอิงที่เหมาะสม เช่น Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders (DSM), International Classification of Diseases (ICD) คำจำกัดความเกี่ยวกับสาเหตุ หรือ การวินิจฉัยทางคลินิกของผู้เชี่ยวชาญ

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

ผู้ทบทวน 2 คนคัดกรองจากชื่อเรื่องและบทคัดย่อ บทความที่เกี่ยวข้องและดึงข้อมูล คัดแยกข้อแตกต่างที่แก้ไขโดยการอภิปรายและมีฉันทามติ เราใช้ QUADAS-2 เพื่อประเมินความเสี่ยงของการมีอคติและความกังวลในการนำศึกษาแต่ละครั้งไปใช้เป็นข้อกำหนดหลัก เราทำ meta-analysis โดยใช้ random-effects model

ผลการวิจัย: 

เราใช้บทความที่อาจมีความเกี่ยวข้อง 18,202 ฉบับ หลังจากการขจัดความซ้ำซ้อน เหลือบทความ 12,427 ฉบับ เราประเมินบทความฉบับเต็ม 57 ฉบับ และดึงข้อมูลจากการศึกษา 11 ฉบับ (17 รายงาน) ซึ่งการศึกษา 10 ฉบับ มีข้อมูลเชิงปริมาณ เรารวบรวมการศึกษา 8 ฉบับ ในการทำ meta-analysis สำหรับกลุ่มเป้าหมายที่มีภาวะสมองเสื่อม และการศึกษา 4 ฉบับสำหรับกลุ่มเป้าหมายที่มีสติปัญญาบกพร่อง การศึกษาส่วนใหญ่มีความเสี่ยงต่ำต่อการเกิดอคติเมื่อประเมินด้วยเครื่องมือ QUADAS-2 การศึกษา 4 ฉบับ มีความเสี่ยงสูงที่จะมีอคติ และอ้างอิงโดเมนมาตรฐาน การศึกษา 2 ฉบับ มีความเสี่ยงสูงที่จะมีอคติ การศึกษาส่วนใหญ่มีข้อกังวลเพียงเล็กน้อยจากการใช้เครื่องมือ QUADAS-2 ในการประเมินความเสี่ยงของการมีอคติ

ผู้เข้าร่วมมีอายุเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 73 ปี ถึง 83 ปี (เฉลี่ย 77 ปี) ผู้เข้าร่วมที่เป็นสตรีตั้งแต่ 47% ถึง 100% ผู้ที่ถูกวินิจฉัยสุดท้ายว่ามีภาวะสมองเสื่อมอยู่ระหว่าง 2% ถึง 56% (เฉลี่ย 21%) แต่ละการศึกษาวินิจฉัยกลุ่มเป้าหมายมีภาวะสมองเสื่อม มีความไวอยู่ระหว่าง 34% ถึง 91% และความจำเพาะอยู่ระหว่าง 58% ถึง 99% ในการทำ meta-analysis การวินิจฉัยกลุ่มเป้าหมายมีภาวะสมองเสื่อม จากการศึกษา 8 ฉบับ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 826 คนจาก 2790 คนเป็นโรคสมองเสื่อม ความถูกต้องของการวินิจฉัยของแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปมีความไว 58% (95% CI 43 % ถึง 72%), ความจำเพาะ 89% (95% CI 79% ถึง 95%), positive likelihood ratio 5.3 (95% CI 2.4 ถึง 8.2) และ negative likelihood ratio 0.47 (95% CI 0.33 ถึง 0.61)

แต่ละการศึกษาการวินิจฉัยกลุ่มเป้าหมายภาวะสติปัญญาบกพร่องมีความไวอยู่ระหว่าง 58% ถึง 97% และความจำเพาะอยู่ระหว่าง 40% ถึง 88% การวินิจฉัยสุดท้ายของแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปในการศึกษา 4 ฉบับ ผู้มีสติปัญญาบกพร่อง 594 จาก 1497 มีความไว 84% (95% CI 60 % ถึง 95%), ความจำเพาะ 73% (95% CI 50% ถึง 88%), positive likelihood ratio 3.1 (95% CI 1.4 ถึง 4.7) และ negative likelihood ratio 0.23 (95% CI 0.06 ถึง 0.40)

จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะสรุปผลในการวิเคราะห์ความแตกต่างเนื่องจากมีการศึกษาจำนวนน้อย สำหรับความจำเฉพาะ เราพบว่าข้อมูลเข้ากันได้กับการศึกษาที่ใช้ ICD-10 หรือการตัดสินย้อนหลัง มีความจำเพาะที่รายงานสูงกว่าการศึกษาที่ใช้คำจำกัดความของ DSM หรือใช้การตัดสินในอนาคต ในทางตรงกันข้ามสำหรับความไว เราพบว่าการศึกษาที่ใช้ดัชนีทดสอบในอนาคตอาจมีความไวสูงกว่าการศึกษาที่ใช้ดัชนีทดสอบย้อนหลัง

บันทึกการแปล: 

แปลโดย เพียงจิตต์ ธารไพรสาณฑ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที 8 กรกฎาคม 2022

Tools
Information