การเริ่มชั้นเรียนสายกว่าปกติเพื่อการสนับสนุนการศึกษา สุขภาพและความเป็นอยู่ของเด็กนักเรียนมัธยม

วัตถุประสงค์การทบทวน

การทบทวนฯนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการเริ่มชั้นเรียนสายกว่าปกติต่อผลลัพธ์ด้านวิชาการ ปริมาณและคุณภาพการนอนหลับ ตัวชี้วัดสุขภาพจิต การเข้าชั้นเรียนและความตื่นตัวของเด็กนักเรียนมัธยมศึกษา

ความเป็นมา

เด็กนักเรียนมัธยมมีความเสี่ยงมากขึ้นในการอดนอนกว่ากลุ่มอื่น ๆ ทั้งเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงเคมีในสมองและความยุ่งมากๆของพวกเขา รวมถึงเวลาเริ่มขึ้นชั้นเรียน ด้วยเหตุนี้เราต้องการที่จะตรวจสอบว่าการเริ่มชั้นเรียนสายกว่าปกติสัมพันธ์กับประโยชน์ทางวิชาการ ระยะเวลาการนอนหลับที่มากขึ้น สุขภาพจิตที่ดีขึ้น การเพิ่มการเข้าชั้นเรียนของนักเรียน หรือความตื่นตัวของนักเรียน เช่นเดียวกับผลลัพธ์รองได้แก่ การรับประทานอาหารและการออกกำลังกาย การเกิดอุบัติเหตุ แง่มุมทางสังคมของโรงเรียน การเปลี่ยนแปลงความเป็นไปในครอบครัว การลงทะเบียนเรียนหรือการเปลี่ยนแปลงในชุมชน

วิธีการศึกษา

หลักฐานที่รวมอยู่ในการทบทวนฯนี้เป็นปัจจุบันถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2016 มีทั้งหมด17 รายงานที่ผ่านเกณฑ์ มี 11 การศึกษาที่ไม่ซ้ำกัน ผู้เข้าร่วม 297,994 คน การศึกษาพิจารณาช่วงของการเปลี่ยนแปลงเวลาเรียน (เช่น การเลื่อนเวลาเริ่มเรียนให้ช้าลง 15 นาที หรือ 1 ชั่วโมง) และช่วงเวลาของการให้สิ่งแทรกแซง (มีหนึ่งการศึกษาใช้ระยะเวลาให้สิ่งแทรกแซงสองสัปดาห์ การศึกษาอื่นๆใช้เวลาหนึ่งปี) แต่ทุกการศึกษาให้ความสนใจในสถานการณ์ที่เป็นธรรมชาติ (มุ่งเน้นไปที่นักเรียนที่อยู่ในห้องเรียนอยู่แล้วมากกว่าในห้องปฏิบัติการ) ถึงแม้ว่า 5 จาก 11 การศึกษาจะได้รับทุนสนับสนุน แต่แหล่งทุนเหล่านั้นเป็นสถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัย ซึ่งไม่ใช่หน่วยงานที่มีผลประโยชน์ในผลการศึกษา

ผลลัพธ์ที่สำคัญ

เนื่องจากการมีข้อจำกัด และหลักฐานมีคุณภาพต่ำมาก เราไม่สามารถระบุผลลัพธ์ของการเริ่มชั้นเรียนสายกว่าปกติได้อย่างมั่นใจ เราพบว่าการเริ่มชั้นเรียนสายอาจเป็นประโยชน์ทางวิชาการ แต่ผลของการศึกษา 4 เรื่อง พบผลลัพธ์ที่หลากหลาย การเริ่มชั้นเรียนสายกว่าปกติมีความสัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นของเวลานอนของนักเรียนในโรงเรียนภาคค่ำ จากผลการสังเคราะห์ 2 การศึกษา และหลักฐานจาก 6 การศึกษาอื่นยังสนับสนุนความสัมพันธ์ระหว่างการเริ่มชั้นเรียนสายกว่าปกติกับระยะเวลาการนอนที่เพิ่มขึ้น การศึกษา 1 เรื่องรายงานว่า นักเรียนที่เริ่มชั้นเรียนสายกว่าปกติมีอาการซึมเศร้าน้อยกว่าเพื่อนของพวกเขาที่เวลาเริ่มชั้นเรียนเร็วกว่า แต่ละการศึกษารายงานผลลัพธ์ที่หลากหลายเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างการเริ่มชั้นเรียนสายกว่าปกติกับการเพิ่มขึ้นของการเข้าชั้นเรียน และความตื่นตัวของเด็กนักเรียน สิ่งแทรกแซงนี้อาจมีผลข้างเคียงต่อการเตรียมการในทางปฏิบัติ ดังที่การศึกษาเชิงคุณภาพ 1 การศึกษารายงานถึงปฏิสัมพธ์ระหว่างพ่อแม่และเด็กที่ลดลง และอีกหนึ่งการศึกษารายงานว่าการจัดบุคลากรและตารางเรียนลำบาก เนื่องจากหลักฐานที่ไม่เพียงพอ เราไม่สามารถสรุปได้อย่างชัดเจนเกี่ยวกับผลลัพธ์ที่ไม่พึงประสงค์

คุณภาพของหลักฐาน

คุณภาพของหลักฐานนี้อยู่ในระดับต่ำมากและทำให้เราไม่สามารถสรุปผลการวิจัยที่สะท้อนให้เห็นถึงผลประโยชน์หรือผลลัพธ์ที่ไม่พึงประสงค์ที่แท้จริงของการเริ่มชั้นเรียนสายกว่าปกติได้

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

การทบทวณวรรณกรรมอย่างเป็นระบบเกี่ยวกับการเริ่มชั้นเรียนสายกว่าปกตินี้แสดงให้เห็นถึงประโยชน์หลายประการที่อาจเป็นไปได้จากสิ่งแทรกแซงนี้และชี้ให้เห็นถึงความต้องการการศึกษาปฐมภูมิที่มีคุณภาพสูงขึ้น อย่างไรก็ตามผลของหลักฐานที่จำกัดนี้ เราไม่สามารถระบุผลลัพธ์ของการเริ่มชั้นเรียนสายกว่าปกติได้อย่างมั่นใจ

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

ระบบโรงเรียนจำนวนมากทั่วโลกได้รับการเสนอและดำเนินการเรื่องการเริ่มชั้นเรียนสายกว่าปกติโดยการหลีกเลี่ยงผลกระทบด้านลบที่อาจเกิดขึ้นเนื่องจากตารางการเรียนที่เช้ามากของเด็กนักเรียนวัยรุ่น แม้ว่าภาวะการนอนหลับไม่เพียงพอที่ไม่รุนแรงมีความสัมพันธ์กับสุขภาพและความเกี่ยวข้องด้านการศึกษาอย่างมีนัยสำคัญ: ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในการเกิดอุบัติเหตุและการบาดเจ็บ ความบกพร่องในการเรียนรู้ ความก้าวร้าว สูญเสียความจำ ความพึงพอใจในตัวเองต่ำ และการเปลี่ยนแปลงการเผาผลาญอาหาร ถึงแม้ว่านักวิจัยเริ่มตรวจสอบผลจากการเริ่มชั้นเรียนสายกว่าปกติ แต่ยังไม่มีใครทำการตรวจสอบหลักฐานอย่างละเอียดว่าการเริ่มชั้นเรียนสายกว่าปกติช่วยส่งเสริมสุขภาพ การศึกษาและความเป็นอยู่ของเด็กวัยรุ่นได้หรือไม่

วัตถุประสงค์: 

เรามีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินผลของการเริ่มชั้นเรียนสายกว่าปกติต่อการส่งเสริมสุขภาพ การศึกษาและความเป็นอยู่ในเด็กนักเรียนมัธยมศึกษา

วัตถุประสงค์รองคือ เพื่อตรวจสอบผลกระทบที่แตกต่างกันของการเริ่มชั้นเรียนสายกว่าปกติตามกลุ่มย่อยของนักเรียน และตามประเภทของโรงเรียนที่ต่างกัน; เพื่อจำแนกแนวทางปฏิบัติ ปัจจัยด้านบริบท และวิธีการส่งมอบมีความสัมพันธ์กับผลกระทบเชิงบวกและเชิงลบจากการเริ่มชั้นเรียนสายกว่าปกติ และเพื่อประเมินผลของการเริ่มชั้นเรียนสายกว่าปกติต่อกลุ่มคนที่กว้างขึ้น (คณาจารย์และบุคลากรในโรงเรียนมัธยม กลุ่มเพื่อนบ้าน และครอบครัว)

วิธีการสืบค้น: 

เราดำเนินการสืบค้นสำหรับการทบทวนฯนี้ในวันที่ 28 ตุลาคม 2014 และปรับปรุงให้ทันสมัยในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2016 เราได้ค้นหาใน CENTRAL, ฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ 17 ฐานที่สำคัญ (รวมถึง MEDLINE, Embase ERIC, PsycINFO และ Sociological Abstracts) วารสารที่เกี่ยวข้องฉบับปัจจุบัน และเว็บไซต์ขององค์กร, trial registries และ Google Scholar

เกณฑ์การคัดเลือก: 

เราได้รวมการศึกษาที่เป็น randomized controlled trials, controlled before-and-after studies และ interrupted time series studies ที่มีข้อมูลเพียงพอเกี่ยวกับเด็กนักเรียนอายุ 13 ถึง 19 ปี และเปรียบเทียบเวลาเริ่มเรียนของแต่ละโรงเรียน การศึกษาที่รายงานผลลัพธ์หลักที่สนใจ (ผลลัพธ์ด้านวิชาการ ปริมาณหรือคุณภาพของการนอนหลับ ตัวชี้วัดด้านสุขภาพจิต การเข้าชั้นเรียน หรือความตื่นตัว) หรือผลลัพธ์รอง (พฤติกรรมสุขภาพ ผลลัพธ์ด้านโรงเรียน หรือผลลัพธ์ด้านสังคม) ที่ผ่านเกณฑ์การคัดเข้า

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

ผู้ทบทวนอย่างน้อยสองคนคัดเลือกการศึกษาอย่างอิสระต่อกันโดยการคัดกรองจากหัวข้อ บทคัดย่อ และบทความฉบับเต็มตามเกณฑ์การคัดเข้าและคัดออกที่กำหนด ผู้ทบทวนสองคนดึงข้อมูลจากการศึกษาที่นำเข้าอย่างอิสระต่อกัน เรานำเสนอผลจากการสังเคราะห์เชิงพรรณนา (narrative synthesis) จากการศึกษาทั้งหมด เมื่อมีการศึกษาสองเรื่องหรือมากกว่าที่ให้ข้อมูลเพียงพอในการคำนวณขนาดอิทธิพล (effect size) เราทำการวิเคราะห์ random-effects meta-analyses เพื่อสังเคราะห์ผลของการศึกษาทั้งหมด

ผลการวิจัย: 

การสืบค้นของเราพบ 17 รายงานที่ผ่านเกณฑ์ มี 11 การศึกษาที่ไม่ซ้ำกัน มีผู้เข้าร่วม 297,994 คน การศึกษาที่วัดผลลพัธ์ด้านวิชาการ ปริมาณและคุณภาพของการนอนหลับ ตัวชี้วัดด้านสุขภาพจิต การเข้าชั้นเรียน และความตื่นตัวของนักเรียน โดยภาพรวม คุณภาพของหลักฐานต่ำมาก เนื่องจากการศึกษาส่วนใหญ่มีความเสี่ยงของการมีอคติสูง หรือไม่ชัดเจน ในเรื่องการจัดสรร การขาดหายไปของกลุ่มตัวอย่าง ไม่มีการสุ่มตัวอย่าง และการรวบรวมข้อมูลพื้นฐาน ดังนั้นเราจึงไม่สามารถมั่นใจในผลลัพธ์ของการเริ่มชั้นเรียนสายกว่าปกติ

หลักฐานเบื้องต้นจากการศึกษาที่นำเข้าแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการเริ่มชั้นเรียนสายกว่าปกติ กับผลลัพธ์ด้านวิชาการและด้านจิตสังคม แต่คุณภาพและความสามารถในการเปรียบเทียบกันได้ของข้อมูลเหล่านี้ต่ำ และไม่สามารถสังเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณได้ การศึกษาสี่เรื่องตรวจสอบความสัมพันธ์ระหว่างการเริ่มชั้นเรียนสายกว่าปกติกับผลลัพธ์ด้านวิชาการ มีการรายงานผลที่หลากหลาย การศึกษาหกเรื่องตรวจสอบผลลัพธ์ด้านปริมาณการนอนหลับ และพบความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญ พบความสัมพันธ์เชิงบวกระหว่างการเริ่มชั้นเรียนสายกว่าปกติกับปริมาณการนอนหลับ การศึกษาหนึ่งเรื่องให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลลัพธ์ด้านสุขภาพจิต พบว่ามีความสัมพันธ์ระหว่างอาการซึมเศร้าที่ลดลงกับการเริ่มชั้นเรียนสายกว่าปกติ มีผลการศึกษาที่หลากหลายเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างการเริ่มชั้นเรียนสายกว่าปกติกับการขาดเรียน การศึกษาสามเรื่องรายงานผลลัพธ์ที่หลากหลายเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างการเริ่มชั้นเรียนสายกว่าปกติกับความตื่นตัวของนักเรียน มีข้อบ่งชี้ที่จำกัดเกี่ยวกับผลลัพธ์ที่ไม่พึงประสงค์ต่อการเตรียมการในทางปฏิบัติ ดังที่การศึกษาเชิงคุณภาพหนึ่งเรื่อง รายงานว่าปฏิสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่และเด็กน้อยลง และอีกหนึ่งการศึกษารายงานว่าการจัดบุคลากรและตารางเรียนลำบาก เนื่องด้วยหลักฐานที่ไม่เพียงพอ เราไม่สามารถสรุปได้อย่างชัดเจนเกี่ยวกับผลลัพธ์ที่ไม่พึงประสงค์

มันเป็นสิ่งสำคัญที่จะทราบข้อจำกัดของการศึกษานี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาที่เป็น randomized controlled trials และการศึกษาปฐมภูมิที่มีคุณภาพสูงซึ่งยากต่อการดำเนินการเนื่องจากระบบโรงเรียนมักจะไม่ยอมหรือไม่สามารถอนุญาตให้นักวิจัยจัดตารางเรียน และเก็บข้อมูล นอกจากนี้หลักฐานเหล่านี้ไม่กล่าวถึงกระบวนการของการดำเนินการเกี่ยวกับการเริ่มชั้นเรียนสายกว่าปกติ เนื่องจากการศึกษาที่นำเข้ามุ่งเน้นที่การรายงานผลมากกว่าการตรวจสอบกระบวนการ

บันทึกการแปล: 

แปลโดย นางสาวน้ำเพชร จำปาทอง Cochrane ประเทศไทย แปลเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2017

Tools
Information