วิธีในการปรับปรุงการคุมกำเนิดด้วยฮอร์โมน

คำถาม

ประสิทธิภาพของวิธีที่มุ่งเน้นการปรับปรุงความเหมาะสมและต่อเนื่องของการคุมกำเนิดด้วยฮอร์โมนระยะสั้น (เช่น การให้คำแนะนำเฉพาะ หรือการให้ความรู้ การสร้างแรงชักจูง หรือการส่งข้อความเตือน) เปรียบเทียบเทียบกับการดูแลวางแผนครอบครัวตามปกติ (การให้คำแนะนำปกติ หรือ การไม่ส่งข้อความเตือน) เป็นอย่างไร

ทำไมเรื่องนี้จึงมีความสำคัญ

การคุมกำเนิดด้วยฮอร์โมนระยะสั้นถูกใช้โดยสตรีทั่วโลก การคุมกำเนิดด้วยฮอร์โมนระยะสั้นที่ถูกใช้มากที่สุดคือยาเม็ดและยาฉีดคุมกำเนิด วิธีการเหล่านี้บ่อยครั้งที่ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร สตรีอาจมีปัญหาในการใช้วิธีการคุมกำเนิด เช่น การลืมกินยา หรือการกลับมาฉีดยาช้ากว่ากำหนด สตรีอาจหยุดการคุมกำเนิดเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของประจำเดือน เราสนใจว่าการให้คำแนะนำหรือการเตือนจะช่วยสตรีใช้วิธีการคุมกำเนิดเหล่านี้ได้ถูกต้องมากขึ้นหรือไม่

การใช้ที่ไม่ถูกต้องของวิธีการคุมกำเนิดด้วยฮอร์โมนระยะสั้นอาจนำไปสู่การตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ การตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ในประเทศสหรัฐอเมริกาสัมพันธ์กับการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดที่ไม่ถูกต้องเพียงอย่างเดียวมากถึง 20% ซึ่งมีผลกระทบต่อทางสุขภาพและเศรษฐศาสตร์ของทั้งสตรีและระบบดูแลสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ การค้นหาแนวทางในการปรับปรุงการใช้และการคงใช้ของวิธีการคุมกำเนิดด้วยฮอร์โมนระยะสั้นจึงมีความสำคัญในการลดปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์

เราค้นพบอะไร

เราทำการสืบค้นหลักฐานจากrandomized controlled trials (RCTs)จนถึงกรกฎาคม 2018 การปรับปรุงให้ทันสมัยนี้รวบรวม RCT 10 ฉบับ มีสตรีเข้าร่วม 6242 คน หกการศึกษามุ่งเน้นการให้คำปรึกษาและสี่การศึกษาเกี่ยวข้องกับการแจ้งเตือนยาเม็ดถัดไปหรือการนัดครั้งถัดไป (ทั้งที่มีและไม่มีการให้การศึกษาเกี่ยวกับสุขภาพร่วมด้วย) ทุกการศึกษาทำในสหรัฐอเมริกาหรือเม็กซิโก หนึ่งการศึกษาที่ถูกเพิ่มขึ้นมาไม่ได้เปลี่ยนแปลงผลหรือเพิ่มความแน่นอนของหลักฐาน

การให้คำปรึกษาอาจ:

· ปรับปรุงการคงใช้ของการคุมกำเนิด (การศึกษา 6 ฉบับ; ผู้เข้าร่วมโครงการ 2624 คน; หลักฐานความแน่นอนต่ำมาก)

· การคงใช้ลดลงจากปัญหาประจำเดือน (การศึกษา 1 ฉบับ; ผู้เข้าร่วมโครงการ 350 คน; หลักฐานความแน่นอนต่ำ)

· การคงใช้ลดลงจากอาการข้างเคียง (การศึกษา 1 ฉบับ; ผู้เข้าร่วมโครงการ 350 คน; หลักฐานความแน่นอนต่ำ)

· ไม่มีผลต่อตัวชี้วัดการตั้งครรภ์ (การศึกษา 3 ฉบับ, ผู้เข้าร่วมโครงการ 1985 คน; หลักฐานความแน่นอนต่ำมาก)

การแจ้งเตือน:

· ปรับปรุงการคงใช้ของการคุมกำเนิด (การศึกษา 2 ฉบับ, ผู้เข้าร่วมโครงการ 933 คน; หลักฐานความแน่นอนต่ำมาก)

· อาจมีความแตกต่างเล็กน้อยหรือไม่มีเลยในการปฏิบัติตามข้อกำหนดการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด (การศึกษา 1 ฉบับ, ผู้เข้าร่วมโครงการ 73 คน; หลักฐานความแน่นอนปานกลาง)

· อาจมีความแตกต่างเล็กน้อยหรือไม่มีเลยต่อการมาฉีดยาตรงเวลาสำหรับยาฉีดคุมกำเนิด (การศึกษา 2 ฉบับ, ผู้เข้าร่วมโครงการ 350 คน; หลักฐานความแน่นอนต่ำ)

หมายความว่าอย่างไร

มีหลักฐานบางส่วนแนะนำว่าทั้งการให้คำปรึกษาละเอียดและการแจ้งเตือน (ทั้งที่ให้และไม่ให้ความรู้เพิ่มเติม) อาจช่วยปรับปรุงการคงใช้วิธีการคุมกำเนิดด้วยฮอร์โมนระยะสั้นเมื่อเปรียบเทียบกับการดูแลวางแผนครอบครัวตามปกติ

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

ถึงแม้หัวข้อการวิจัยนี้จะมีความสำคัญมาก การศึกษาไม่ถูกตีพิมพ์เพิ่มจากการทบทวนวรรณกรรมครั้งก่อนในปี 2013 (การศึกษา 9 ฉบับ) และมีการศึกษาเดียวที่ตีพิมพ์เพิ่มในปี 2019 ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงผลลัพธ์หรือช่วยปรับปรุงความน่าเชื่อถือของหลักฐาน

โดยรวมแล้ว ความน่าเชื่อถือของหลักฐานสำหรับกลยุทธ์ในการปรับปรุงการปฏิบัติตามและการคงใช้ของการคุมกำเนิดอยู่ในเกณฑ์ต่ำ การให้คำปรึกษาละเอียดและการแจ้งเตือน (ทั้งที่ให้และไม่ให้ความรู้เพิ่มเติม) อาจช่วยปรับปรุงการคงใช้ของการคุมกำเนิดด้วยฮอร์โมนระยะสั้นเมื่อเปรียบเทียบกับการดูแลวางแผนครอบครัวตามปกติ อย่างไรก็ตาม การตีความต้องทำด้วยความระมัดระวังเนื่องจากหลักฐานมีความน่าเชื่อถือต่ำ รวบรวมนำเข้าการทดลองที่ใช้การคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนระยะสั้นที่หลากหลายอาจส่งผลให้เกิดความความแตกต่างระหว่างการศึกษาสูง มีความเป็นไปได้ที่ประสิทธิผลของกลยุทธ์ในการปรับปรุงการปฏิบัติตามและการคงใช้อาจเกิดขึ้นไม่แน่นอนกับการคุมกำเนิดที่มุ่งเป้า มีการรายงานที่จำกัดของผลลัพธ์ที่วัดได้อย่างเป็นจริง (เช่น เครื่องติดตามอิเลคทรอนิค) ในการศึกษาที่รวบรวมนำเข้า การทดลองในอนาคตควรได้ประโยชน์จากคำจำกัดความมาตรฐานและการวัดการปฏิบัติตามและความเหมือนกันของคำศัพท์ที่ใช้ในการบรรยายวิธีการและตัวเปรียบเทียบ การศึกษาต่อไปควรเป็นการศึกษาขนาดใหญ่ มีระยะการติดตามอย่างน้อยหนึ่งปีและมีระเบียบวิจัยการรายงานที่ดี

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

ทั่วโลก การคุมกำเนิดโดยใช้ฮอร์โมนนั้นได้รับความนิยมสูงที่สุดในการคุมกำเนิดชั่วคราว ถึงแม้จะมีประสิทธิภาพสูงในผู้ใช้อย่างถูกต้อง ประสิทธิภาพในการใช้ทั่วไปของวิธีการระยะสั้นเช่นยากินหรือยาฉีดคุมกำเนิดนั้นต่ำกว่ามาก โดยรวมแล้ว ความแตกต่าวนี้บ่งถึงการปฏิบัติตามอย่างต่อเนื่องของชนิดการคุมกำเนิดและอัตราการคงใช้ที่ต่ำ ความถูกต้องของการใช้การคุมกำเนิดเพื่อให้มั่นใจถึงประสิทธิภาพมีความสำคัญอย่างมากในการลดการเกิดการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์

วัตถุประสงค์: 

เพื่อประเมินประสิทธิภาพของกลยุทธ์ที่มุ่งเน้นในการพัฒนาการปฏิบัติตามและการคงใช้ของการคุมกำเนิดด้วยฮอร์โมนระยะสั้นเปรียบเทียบกับการดูแลในการวางแผนครอบครัวปกติ

วิธีการสืบค้น: 

เราสืบค้นถึง กรกฎาคม 2018 ในฐานข้อมูลต่อไปนี้ (ไม่มีการจำกัดภาษา): the Cochrane Central Register of Controlled Trials (CENTRAL; 2018, Issue 7), PubMed ผ่าน MEDLINE, POPLINE, Web of Science, ClinicalTrials.gov และ the International Clinical Trials Registry Platform (ICTRP)

เกณฑ์การคัดเลือก: 

เรารวบรวมนำเข้า randomized controlled trials (RCTs) ที่เปรียบเทียบกลยุทธ์ที่มุ่งเน้นในการช่วยการปฏิบัติตามและการคงใช้วิธีการคุมกำเนิดด้วยฮอร์โมนระยะสั้น (เช่น ยาเม็ดคุมกำเนิด (OCs) ยาฉีดคุมกำเนิด (DMPA หรือ Depo-Provera) วงแหวนคุมกำเนิดทางช่องคลอด หรือ แผ่นแปะคุมกำเนิด) กับการดูแลวางแผนครอบครัวปกติในสตรีวัยเจริญพันธ์ที่ต้องการป้องกันการตั้งครรภ์

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

เราใช้ระเบียบวิธีวิจัยมาตรฐานในการดำเนินการศึกษาตามที่ Cochrane ได้แนะนำ ตัววัดปฐมภูมิคือการคงใช้หรือการเลิกใช้ของวิธีการคุมกำเนิด อัตราการเลิกใช้เนื่องจากเหตุการณ์อันไม่พึงประสงค์ (ประจำเดือนเปลี่ยนแปลง และเหตุการณ์อันไม่พึงประสงค์อื่นทั้งหมด) และการปฏิบัติตามวิธีการใช้ตามที่ระบุ คือการลืมกินยา และการไปฉีดยาไม่ตรงนัด การตั้งครรภ์คือตัววัดทุติยภูมิ

ผลการวิจัย: 

เรารวบรวมนำเข้า RCT 10 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับสตรี 6242 คน หกการทดลองให้การให้คำปรึกษาตัวต่อตัวโดยตรงทั้งการให้คำปรึกษาหลายครั้งหรือการให้คำปรึกษาหลายด้านในครั้งเดียวกัน สี่การทดลองให้การเตือนการนัดหมายหรือการได้ยาครั้งถัดไป จากการทดลองทั้งสี่นี้ สองการศึกษาให้ข้อมูลการศึกษาทางสุขภาพพร้อมทั้งการเตือน ทุกการทดลองใช้การดูแลตามปกติเป็นตัวเปรียบเทียบ

คุณภาพของงานวิจัยอยู่ในระดับต่ำมากถึงปานกลาง (very low to moderate quality) ข้อจำกัดหลักคือความเสี่ยงของการเกิดอคติ (สัมพันธ์เกี่ยวกับระเบียบวิธีการรายงานที่ไม่ดี ขาดการปิดบัง และข้อมูลตัวชี้วัดไม่สมบูรณ์) ความไม่แน่นอน ความไม่ตรง และความไม่แม่นยำ

การคงใช้ของวิธีการคุมกำเนิดด้วยฮอร์โมน

ยังไม่แน่นอนว่าการให้การปรึกษาอย่างเข้มข้นจะช่วยปรับปรุงการคงใช้ของวิธีการคุมกำเนิดด้วยฮอร์โมนเปรียบเทียบกับการดูแลปกติ (OR 1.28, 95% CI 1.07 ถึง 1.54; ผู้เข้าร่วมโครงการ 2624 คน; การศึกษา 6 ฉบับ; I2 = 79%; หลักฐานความน่าเชื่อถือต่ำมาก) หลักฐานบ่งบอกว่า ถ้าโอกาสของการคงใช้โดยการดูแลปกติคือ 39% โอกาสของการคงใช้โดยการให้คำปรึกษาอย่างเข้มข้นจะอยู่ระหว่าง 41% และ 50% โดยรวม pooled OR บ่งบอกว่าการคงใช้ที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อแบ่งตามกลุ่มของชนิดวิธีการคุมกำเนิด ผลบวกจะอยู่เพียงในกลุ่มของ DMPA

ยังไม่เป็นที่แน่นอนว่าการเตือน (+/- การให้การศึกษา) ช่วยเพิ่มการคงใช้วิธีการคุมกำเนิดด้วยฮอร์โมนเปรียบเทียบกับการดูแลปกติ (OR 1.33, 95% CI 1.03 ถึง 1.73; ผู้เข้าร่วมโครงการ 933 คน; การศึกษา 2 ฉบับ; I2 = 69%; หลักฐานความน่าเชื่อถือต่ำมาก) หลักฐานบ่งบอกว่า ถ้าโอกาสการคงใช้ด้วยการดูแลปกติคือ 52% โอกาสการคงใช้ด้วยการเตือนจะอยู่ระหว่าง 52% และ 65%

การหยุดใช้จากเหตุการณ์อันไม่พึงประสงค์

หลักฐานบ่งบอกว่าการให้คำปรึกษาอาจสัมพันธ์กับการลดลงของอัตราการเลิกใช้จากเหตุการณ์อันไม่พึงประสงค์เปรียบเทียบกับการดูแลปกติ โดยอัตราการหยุดใช้จากประจำเดือนเปลี่ยนแปลงนั้นต่ำกว่า (OR 0.20, 95% CI 0.11 ถึง 0.37; ผู้เข้าร่วมโครงการ 350 คน; การศึกษา 1 ฉบับ; หลักฐานความน่าเชื่อถือต่ำ) แต่อาจมีความแตกต่างเล็กน้อยหรือไม่มีเลยในเหตุการณ์อันไม่พึงประสงค์อื่นทั้งหมด (OR 0.73, 95% CI 0.36 ถึง 1.47; ผู้เข้าร่วมโครงการ 350; การศึกษา 1 ฉบับ; หลักฐานความน่าเชื่อถือต่ำ) หลักฐานบ่งบอกว่า: ถ้าโอกาสการหยุดใช้ในการดูแลปกติจากการเปลี่ยนแปลงของประจำเดือนคือ 32% โอกาสการหยุดใช้ในการให้การปรึกษาอย่างเข้มข้นจะอยู่ระหว่าง 5% และ 15% และถ้าโอกาสการหยุดใช้ในการดูแลปกติจากเหตุการณ์อันไม่พึงประสงค์เป็น 55% โอกาสการหยุดใช้ในการให้การปรึกษาอย่างเข้มข้นจะอยู่ระหว่าง 30% และ 64%

การหยุดใช้ไม่ถูกรายงานในการทดลองที่เกี่ยวกับการใช้การเตือน (+/- การให้การศึกษา)

การปฏิบัติตาม

การปฏิบัติตามไม่ถูกรายงานในการทดลองที่เกี่ยวกับการใช้การให้คำปรึกษาอย่างเข้มข้น

ในการทดลองที่เกี่ยวกับการแจ้งเตือน (+/- การให้การศึกษา) ไม่พบหลักฐานที่สามารถสรุปได้ถึงความแตกต่างในการปฏิบัติตามที่ถูกระบุเป็น ยาที่ลืมกิน (MD 0.80, 95% CI -1.22 ถึง 2.82; ผู้เข้าร่วมโครงการ 73 คน; การศึกษา 1 ฉบับ; หลักฐานความน่าเชื่อถือปานกลาง) หรือการฉีดยาตรงเวลา (OR 0.84, 95% CI 0.54 ถึง 1.29; ผู้เข้าร่วมโครงการ 350 คน; การศึกษา 2 ฉบับ; I2 = 0%; หลักฐานความน่าเชื่อถือต่ำ) หลักฐานบ่งบอกว่า: ถ้าโอกาสของการปฏิบัติตามวิธีที่ถูกระบุเป็นการฉีดยาตรงเวลาในการดูแลปกติเป็น 50% โอกาสของการปฏิบัติตามวิธีที่ถูกระบุเป็นการฉีดยาตรงเวลาในการแจ้งเตือนจะอยุ่ระหว่าง 35% และ 56%

การตั้งครรภ์

ไม่มีหลักฐานที่สามารถสรุปได้ถึงความแตกต่างของอัตราการตั้งครรภ์ระหว่างการให้คำปรึกษาอย่างเข้มข้นกับการดูแลปกติ (OR 1.24, 95% CI 0.98 ถึง 1.57; ผู้เข้าร่วมโครงการ 1985 คน; การศึกษา 3 ฉบับ; I2 = 0%, หลักฐานความน่าเชื่อถือต่ำมาก) หลักฐานบ่งบอกว่า ถ้าโอกาสของการตั้งครรภ์โดยการดูแลปกติคือ 18% โอกาสของการตั้งครรภ์โดยการให้คำปรึกษาอย่างเข้มข้นจะอยู่ระหว่าง 18% และ 25%

การตั้งครรภ์ไม่ถูกรายงานในการทดลองที่เกี่ยวกับการใช้การเตือน (+/- การให้การศึกษา)

บันทึกการแปล: 

แปลโดย นพ เจน โสธรวิทย์ ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 20 มิถุนายน 2019

Tools
Information