หลักสูตรที่มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาวิธีการสื่อสารของผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสุขภาพกับผู้ที่เป็นมะเร็งส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจของผู้ที่เป็นมะเร็งหรือไม่

วัตถุประสงค์ของการทบทวนวรรณกรรมนี้คืออะไร
จุดมุ่งหมายของการทบทวน Cochrane นี้คือเพื่อค้นหาว่าการฝึกทักษะการสื่อสาร (CST) สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานกับผู้ที่เป็นมะเร็งมีผลกระทบต่อวิธีการสื่อสารของบุคลากรทางการแพทย์และต่อสุขภาพกายและจิตใจของผู้ป่วยหรือไม่

เรารวมการศึกษาประเภทใดไว้บ้าง

เรารวมเฉพาะการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม (RCT) ที่ประเมินผลลัพธ์ของ CST ที่ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ (แพทย์ พยาบาลและผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพอื่น ๆ) ที่ทำงานกับผู้ที่เป็นมะเร็ง เราได้รวม CST ประเภทต่างๆและประเมินผลลัพธ์ที่มีต่อบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วยตามผลลัพธ์ของการศึกษาที่ได้รายงานไว้ดังต่อไปนี้: การใช้คำถามปลายเปิด การทำให้ผู้ป่วยสามารถพูดข้อกังวลใจออกมา การให้ข้อมูลที่เหมาะสม การแสดงความเห็นอกเห็นใจ ให้เนื้อหาที่เป็นข้อเท็จจริง 'ความเหนื่อยหน่าย' ของบุคลากรทางการแพทย ์และ ความวิตกกังวลของผู้ป่วย

ผลลัพธ์หลักของการทบทวนวรรณกรรมนี้คืออะไร
เราพบ RCTs 17 รายการ ที่มีการเปรียบเทียบระหว่างมี CST กับไม่มี CST การศึกษาใช้วิธีการเผชิญหน้ากับผู้ป่วยจริงและการพบกับผู้ป่วยจำลองเพื่อประเมินผลลัพธ์การสื่อสาร หลักฐานไม่สามารถบ่งชี้ว่า CST สามารถนำไปสู่การพัฒนาการใช้คำถามปลายเปิดนั้นมีความไม่แน่นอนมาก อย่างไรก็ตามเราได้แสดงให้เห็นว่า CST อาจช่วยพัฒนาทักษะความเห็นอกเห็นใจของผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสุขภาพและลดโอกาสในการให้ข้อเท็จจริงโดยไม่ได้ตอบสนองต่ออารมณ์ของผู้ป่วยหรือไม่ให้การสนับสนุนเป็นรายบุคคล CST อาจไม่มีผลต่อความสามารถของบุคลากรทางการแพทย์ในการนำข้อกังวลของผู้ป่วยออกมาหรือการให้ข้อมูลที่เหมาะสม

หลักฐานที่บ่งชี้ว่า CST อาจป้องกันไม่ให้เกิด 'ความเหนื่อยหน่าย' ของผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสุขภาพมีความเชื่อถือได้ในระดับต่ำและไม่แน่ใจว่า CST มีผลต่อความวิตกกังวลของผู้ป่วยหรือไม่

ผลการศึกษาเช่นนี้หมายถึงอะไร
CST อาจช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์มีความเห็นอกเห็นใจผู้ป่วยมากขึ้นและอาจช่วยพัฒนาทักษะการสื่อสารบางด้าน การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อาจนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีขึ้นของผู้ป่วย อย่างไรก็ตามหลักฐานในประเด็นหลังนี้ยังมีความไม่แน่นอนและจำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติม

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

หลักสูตร CST ต่างๆดูเหมือนจะมีประสิทธิภาพในการพัฒนาทักษะการสื่อสารของ HCP ที่เกี่ยวข้องกับทักษะการสนับสนุนและช่วยให้ HCP มีโอกาสน้อยที่จะให้เฉพาะข้อเท็จจริงเพียงอย่างเดียวโดยไม่ตอบสนองต่ออารมณ์ของผู้ป่วยหรือให้การสนับสนุนที่มีความเฉพาะเป็นรายบุคคล เราไม่สามารถระบุได้ว่าผลลัพธ์ของ CST จะคงอยู่ตลอดเวลาหรือไม่ จำเป็นต้องมีระยะของการบูรณาการชุดความรู้ทั้งหมดอีกครั้งหรือไม่ และโปรแกรม CST ประเภทใดที่น่าจะได้ผลดีที่สุด เราไม่พบหลักฐานที่สนับสนุนประโยชน์ของ CST ต่อ 'ความเหนื่อยหน่าย' ของบุคลากรสุขภาพ สุขภาพจิตหรือสุขภาพทางกายและความพึงพอใจของผู้ที่เป็นมะเร็ง

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

บทความนี้นี่เป็นการปรับปรุงครั้งที่ 3 ของการทบทวนที่ได้เผยแพร่ครั้งแรกใน Cochrane Library ในปี 2002 ฉบับที่ 2 ผู้ที่เป็นมะเร็ง ครอบครัวและผู้ดูแลมีความชุกของความเครียดทางจิตใจสูง ซึ่งอาจลดลงได้ด้วยการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพและการสนับสนุนจากผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสุขภาพที่พวกเขาได้รับบริการ (HCPs) การวิจัยชี้ให้เห็นว่าทักษะการสื่อสารไม่ได้รับการพัฒนาเพิ่มขึ้นตามประสบการณที่มี ดังนั้นจึงต้องมีความพยายามอย่างมากในการทุ่มเทให้กับหลักสูตรที่อาจช่วยพัฒนาทักษะการสื่อสารสำหรับบุคลากรทางสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับการดูแลโรคมะเร็ง หลักสูตรฝึกอบรมทักษะการสื่อสาร (CST) ที่มีการดำเนินอยู่มีความหลากหลาย (CST) เราดำเนินการทบทวนบทความวิจัยฉบับนี้เพื่อพิจารณาว่า CST มีประสิทธิภาพหรือไม่และ CST ประเภทใดมีประสิทธิภาพมากที่สุด

วัตถุประสงค์: 

เพื่อประเมินว่าการฝึกทักษะการสื่อสารมีประสิทธิผลในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของบุคลากรสุขภาพที่ทำงานในการดูแลผู้ป่วยมะเร็ง และเพิ่มสุขภาวะของบุคลากรสุขภาพ สถานะสุขภาพและความพึงพอใจของผู้ป่วยหรือไม่

วิธีการสืบค้น: 

เราสืบค้นในฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ดังต่อไปนี้: ผู้วิจัยได้สืบค้นจาก Cochrane Central Register of Controlled Trials (CENTRAL; 2018, Issue 4), MEDLINE via Ovid, Embase via Ovid, Psyclnfo และ CINAHL ถึง พฤษภาคม 2018 นอกจากนี้เราได้สืบค้นการทดลองทางคลินิกที่ลงทะเบียนไว้กับหอสมุดแห่งชาติแห่งสหรัฐอเมริกาและทำการสืบค้นด้วยมือเพิ่มเติมจากรายการอ้างอิงของบทความที่เกี่ยวข้องและจากรายงานสืบเนื่องในการประชุมวิชาการ (conderence proceedings)

เกณฑ์การคัดเลือก: 

การทบทวนฉบับดั้งเดิมเป็นการทบทวนเชิงพรรณณาซึ่งรวมถึงการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม (RCT) และการศึกษาแบบ ontrolled before-and-after studies ในเวอร์ชันที่อัปเดตเรา จำกัด เกณฑ์การคัดเลือกงานวิจัยของเราไว้ที่การทดลองแบบสุ่มมีกลุ่มควบคุม (RCT) ที่ประเมิน CST เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่มี CST หรือ CST ในรูปแบบอื่น ๆ สำหรับบุคลกรทางการแพทย์ที่ทำงานในการดูแลผู้ป่วยมะเร็ง ผลลัพธ์หลักคือการเปลี่ยนแปลงทักษะการสื่อสารของบุคลากรทางการแพทย์ ที่วัดจากปฏิสัมพันธ์กับผู้ป่วยจริงหรือผู้ป่วยจำลองที่เป็นมะเร็งหรือทั้งสองอย่างโดยใช้เครื่องมือในการประเมินที่วัดเชิงวัตถุวิสัย (objective scale) เราไม่รวมการศึกษาที่มุ่งเน้นไปที่ทักษะการสื่อสารที่เกี่ยวข้องกับการขอความยินยอมที่ได้รับข้อมูลสำหรับการเข้าร่วมในการวิจัย

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

ผู้ทบทวนวรรณกรรม 2 คน เลือกงานวิจัยและดึงข้อมูลโดยใช้แบบฟอร์มการดึงข้อมูลที่ผ่านการทดสอบอย่างเป็นอิสระต่อกัน เรารวบรวมข้อมูลโดยใช้ random- effects method สำหรับข้อมูลต่อเนื่องนำเสนอด้วยผลต่างค่าเฉลี่ยมาตรฐาน (SMDs)

ผลการวิจัย: 

เรารวม RCTs 17 รายการ ที่ส่วนใหญ่ดำเนินการทดลองในแผนกผู้ป่วยนอก การทดลอง 11 รายการ เปรียบเทียบ CST กับกลุ่มที่ไม่มี CST; การทดลอง 3 รายการ เปรียบเทียบผลของการ CST โดยมีการติดตามประเมินผลหลังจากได้รับการฝึก CST ครั้งแรก; การทดลอง 2 รายการ เปรียบเทียบผลของ CST กับการฝึกสอนผู้ป่วย และการทดลอง 1 รายการ เปรียบเทียบระหว่าง CST 2 ประเภท ประเภทของหลักสูตร CST จากการทดลองที่นำมาใช้ในการประเมินในการศึกษานี้มีความหลากหลาย ผู้เข้าร่วมการศึกษา ได้แก่ ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็ง แพทย์ประจำบ้าน แพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านอื่นๆ พยาบาลและทีมบริการสุขภาพที่มีความหลากหลาย โดยรวมแล้วมี บุคลากรสุขภาพเข้าร่วมวิจัย 1240 คน (แพทย์ 612 คน แพทย์ประจำบ้าน 151 คน พยาบาล 532 คนและทีมบริการสุขภาพที่มีความหลากหลาย 96 คน)

การศึกษา 10 รายการ ถูกนำมาวิเคราะห์แบบการวิเคราะห์เมตต้า HCP ในกลุ่มทดลองมีแนวโน้มที่จะใช้คำถามปลายเปิดในการสัมภาษณ์หลังการสิ้นสุดการทดลองมากกว่ากลุ่มควบคุม (SMD 0.25, 95% CI 0.02 ถึง 0.48; P = 0.03, I² = 62%; 5 การศึกษา, จากการสัมภาษณ์ผู้เข้าร่วมวิจัย 796 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำมาก); มีแนวโน้มที่จะแสดงความเห็นอกเห็นใจต่อผู้ป่วยของตนมากขึ้น (SMD 0.18, 95% CI 0.05 ถึง 0.32; P = 0.008, I² = 0%; 6 การศึกษา, การสัมภาษณ์ผู้เข้าร่วมวิจัย 844 คน, หลักฐานมีความเชื่อมั่นปานกลาง) และมีโอกาสน้อยที่จะให้ข้อเท็จจริงเพียงอย่างเดียว (SMD -0.26, 95% CI -0.51 ถึง -0.01; P = 0.05, I² = 68%; 5 การศึกษา, การสัมภาษณ์ผู้เข้าร่วมวิจัย 780 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำ) หลักฐานที่มีความเชื่อมั่นปานกลางบ่งชี้ว่าไม่มีความแตกต่างระหว่างกลุ่มทดลอง CST กับกลุ่มควบคุมที่ไม่ได้รับ CST ในการดึงความกังวลใจของผู้ป่วยออกมาและการให้ข้อมูลที่เหมาะสม ไม่มีหลักฐานที่บ่งชี้ความแตกต่างในทักษะการสื่อสารอื่นๆของ HCP รวมถึงการทำให้เกิดความเข้าใจที่ชัดเจนและ / หรือการสรุปข้อมูลและการเจรจาต่อรอง แพทย์และพยาบาลไม่ได้แสดงทักษะที่แตกต่างกันสำหรับผลลัพธ์ใด ๆ ที่เกิดขึ้นกับบุคลากรทางการแพทย์

ไม่มีความแตกต่างระหว่างกลุ่มที่เกี่ยวกับ 'ความเหนื่อยหน่าย' ของบุคลากรทางการแพทย์ (หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำ) หรือไม่เกี่ยวกับความพึงพอใจของผู้ป่วยหรือการรับรู้ของผู้ป่วยต่อทักษะการสื่อสารของ HCPs (หลักฐานที่มีความเชื่อมั่นต่ำมาก) มีการทดลองจำนวน 15 รายการ จากการการวิจัยแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุมจำนวน 17 รายการ ที่ถือว่ามีความเสี่ยงของการมีอคติโดยรวมต่ำ

บันทึกการแปล: 

แปลโดย สมพร รุ่งเรืองกลกิจ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น วันที่ 4 พฤษภาคม 2021

Tools
Information