ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

การนำเซลล์ต้นกำเนิดจากไขกระดูกของผู้ป่วยส่งไปที่หัวใจเป็นการรักษาที่ปลอดภัยและมีประสิทธิผลหลังอาการหัวใจวายหรือไม่

ใจความสำคัญ

- การรักษาด้วยเซลล์ต้นกำเนิดไม่ได้นำไปสู่ผลลัพธ์ทางคลินิกที่ดีขึ้นในผู้ที่มีอาการหัวใจวาย

- การบำบัดก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์หรือเป็นอันตราย (ไม่พึงประสงค์) เพียงเล็กน้อยในระยะเวลาการรักษา

ปัญหาสุขภาพมีอะไรบ้าง

อาการหัวใจวายเกิดจากการอุดตันของหลอดเลือดแดงที่ส่งเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ แม้ว่าวิธีการรักษาใหม่ๆ จะก้าวหน้าขึ้น แต่ผู้ป่วยหัวใจวายจำนวนมากกลับมีการทำงานของหัวใจลดลงและมีอายุขัยสั้นลง

ภาวะนี้ควรได้รับการรักษาอย่างไร

ปัจจุบัน การรักษาตามมาตรฐานสำหรับผู้ที่มีอาการหัวใจวาย คือ การเปิดหลอดเลือดที่อุดตันอีกครั้งด้วยบอลลูนขนาดเล็ก ซึ่งเรียกว่า primary angioplasty จากนั้นจึงใส่ท่อขนาดเล็ก (เรียกว่า stent ) เข้าไปในหลอดเลือดเพื่อให้หลอดเลือดเปิดอยู่ตลอด

เรากำลังศึกษาการรักษาแบบใดอยู่

เซลล์ไขกระดูกได้รับการศึกษาวิจัยเพื่อใช้เป็นการรักษาเพิ่มเติมสำหรับอาการหัวใจวาย โดยอาศัยความสามารถในการซ่อมแซมกล้ามเนื้อหัวใจที่ได้รับความเสียหาย สิ่งนี้แสดงให้เห็นผลลัพธ์ในทางที่ดี เช่น สารเคมีในเลือดที่เชื่อมโยงกับความเสียหายของหัวใจ และวัดการทำงานของหัวใจโดยการตรวจทางรังสี อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการพิสูจน์ว่ายาชนิดนี้จะส่งผลต่อผลลัพธ์สำคัญทางคลินิก เช่น การเสียชีวิต การต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลซ้ำ หรือความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาหัวใจที่ร้ายแรงอื่นๆ (เช่น โรคหลอดเลือดสมองหรือหัวใจวายอีกครั้ง)

เราต้องการทราบอะไร

เราต้องการทราบว่าการรักษาด้วยเซลล์ต้นกำเนิดจะช่วยลดการเสียชีวิตและการวัดการทำงานของหัวใจได้ผลดีขึ้นหรือไม่เมื่อนำข้อมูลจากการศึกษาที่ดำเนินการทั้งหมดมารวมกัน

เราทำอะไรไปแล้วบ้าง

การทบทวนนี้ระบุถึงการทดลองทางคลินิกที่สุ่มผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีอาการหัวใจวาย โดยเลือกรับการรักษาด้วยเซลล์บำบัด ยาหลอก (การรักษาแบบ "หลอก") หรือรับการบำบัดทางการแพทย์มาตรฐานเพียงอย่างเดียว เพื่อระบุการทดลองเหล่านี้ เราค้นหาฐานข้อมูลการทดลองทางคลินิกที่เกี่ยวข้องจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2022 หลังจากรวมการทดลองเหล่านี้แล้ว เราวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อค้นหาแนวโน้มทั่วไป นอกจากนี้ เรายังวิเคราะห์ความเสี่ยงของการมีอคติ (รวมถึงความเป็นไปได้ที่ผู้เข้าร่วมการศึกษาจะทราบว่าตนได้รับการรักษาใด)

เราค้นพบอะไร

ในการทบทวนครั้งนี้ เราได้เลือกและวิเคราะห์ข้อมูลจากการทดลอง 53 ฉบับที่คัดเลือกผู้เข้าร่วมจำนวน 4159 คน เรามั่นใจว่าการตรวจสอบนี้แสดงให้เห็นว่าการรักษาด้วยเซลล์ต้นกำเนิดไม่ได้นำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีขึ้นทางคลินิกในผู้ที่มีอาการหัวใจวาย - การรักษาก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์หรือเป็นอันตราย (ไม่พึงประสงค์) เพียงเล็กน้อยในระยะเวลาการรักษา

ข้อจำกัดของหลักฐานคืออะไร

เป็นไปได้ที่ผู้เข้าร่วมในบางการศึกษาอาจไม่ได้ตระหนักว่าตนกำลังได้รับการรักษาแบบใด ไม่ใช่ว่าการศึกษาทั้งหมดจะให้ข้อมูลทุกอย่างที่เราต้องการรวมไว้ในการวิเคราะห์ของเรา

หลักฐานนี้ทันสมัยแค่ไหน

หลักฐานในการทบทวนครั้งนี้เป็นข้อมูลล่าสุดจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2022

บทนำ

การปลูกถ่ายเซลล์เป็นแนวทางการบำบัดที่มีศักยภาพในการซ่อมแซมและสร้างเนื้อเยื่อหลอดเลือดและเนื้อเยื่อหัวใจที่เสียหายขึ้นใหม่ภายหลังการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (acute myocardial infarction; AMI) ส่งผลให้เกิดการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม (RCT) หลายฉบับทั่วโลก

วัตถุประสงค์

เพื่อพิจารณาความปลอดภัยและประสิทธิภาพของเซลล์ต้นกำเนิดจากไขกระดูกของตนเองในการรักษา AMI โดยเน้นที่ผลลัพธ์ทางคลินิก

วิธีการสืบค้น

การทบทวน Cochrane นี้เป็นการปรับฉบับก่อนหน้า (เผยแพร่ในปี 2015) เราค้นหาใน Cochrane Central Register of Controlled Trials (CENTRAL; 2022, ฉบับที่ 2), MEDLINE, EMBASE, CINAHL, LILACS และ CPCI-S จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2022 นอกจากนี้ เราได้ค้นหาฐานข้อมูล ClinicalTrials.gov และ ICTRP ขององค์การอนามัยโลก (WHO) ในเดือนมกราคม 2023 เรายังค้นหาข้อมูลอ้างอิงของการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบและการวิเคราะห์เมตต้าที่เกี่ยวข้องล่าสุดด้วย

เกณฑ์การคัดเลือก

RCT ที่เปรียบเทียบเซลล์ที่ได้จากไขกระดูกของตัวเองกับการไม่ได้เซลล์จากไขกระดูกเลย (ไม่ว่าจะเป็นยาหลอกหรือมาตรฐานการดูแลที่เหมาะสมที่สุด) ในผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น AMI นั้นมีคุณสมบัติเหมาะสม

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล

ผู้วิจัย 2 คนคัดกรองเอกสารอ้างอิงทั้งหมด ประเมินความเสี่ยงของการมีอคติในการทดลองที่รวมอยู่ในการทบทวน และดึงข้อมูลออกมาอย่างเป็นอิสระต่อกัน เราดำเนินการวิเคราะห์เมตต้าโดยใช้แบบจำลอง random-effects models เราวิเคราะห์ผลลัพธ์ในการติดตามระยะสั้น (น้อยกว่า 12 เดือน) และระยะยาว (12 เดือนขึ้นไป) ผลลัพธ์ที่เป็นแบบสองตัวเลือกรายงานข้อมูลเป็นอัตราส่วนความเสี่ยง (RR) และการรายงานผลลัพธ์ต่อเนื่องเป็นความแตกต่างของค่าเฉลี่ย (MD) หรือ MD มาตรฐาน (SMD) เราได้ดำเนินการวิเคราะห์ความไว (sensitivity analysis) เพื่อประเมินผลลัพธ์ในบริบทของความเสี่ยงของการมีอคติในการเลือกผู้เข้าร่วมโครงการ (selection bias) อคติในการปฏิบัติต่อผู้เข้าร่วมโครงการ (performance bias) และอคติในการติดตามผู้เข้าร่วมโครงการ (attrition bias) ได้มีการวิเคราะห์กลุ่มย่อยเพื่อตรวจสอบผลของการทำงานของหัวใจขั้นพื้นฐาน (การทำงานของหัวใจห้องล่างซ้าย (left ventricular ejection fraction; LVEF) ปริมาณเซลล์ ชนิดของเซลล์ และเวลาในการให้ยา รวมถึงการใช้ heparinในสารละลายเซลล์ขั้นสุดท้าย

ผลการวิจัย

RCTs จำนวน 53 ฉบับที่คัดเลือกผู้เข้าร่วมจำนวน 4159 ราย (ผู้ป่วยรักษาด้วยเซลล์บำบัด 2297 ราย ผู้ป่วยกลุ่มควบคุม 1862 ราย) ตรงตามเกณฑ์การคัดเข้า

เซลล์บำบัดไม่ได้ช่วยเปลี่ยนแปลงความเสี่ยงใด ๆ ที่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตในการติดตามระยะสั้น (24/1145 เทียบกับ 18/779; RR 0.79, ช่วงความเชื่อมั่น 95% (95% CI) 0.44 ถึง 1.40; การศึกษา 21 ฉบับ ผู้เข้าร่วม 1924 ราย; หลักฐานความเชื่อมั่นสูง) หรือการติดตามในระยะยาว (49/998 เทียบกับ 51/912; RR 0.88, 95% CI 0.60 ถึง 1.31; การศึกษา 22 ฉบับ ผู้เข้าร่วม 1910 ราย; หลักฐานความเชื่อมั่นสูง)

เซลล์บำบัดไม่ได้ช่วยเปลี่ยนแปลงความเสี่ยงของการเสียชีวิตจากหลอดเลือดหัวใจในการติดตามผลระยะสั้น (8/348 เทียบกับ 9/329; RR 0.73, 95% CI 0.31 ถึง 1.71; การศึกษาวิจัย 9 ฉบับ ผู้เข้าร่วม 677 ราย; หลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง) หรือการติดตามผลในระยะยาว (29/641 เทียบกับ 29/602; RR 0.91, 95% CI 0.55 ถึง 1.53; การศึกษา 14 ฉบับ ผู้เข้าร่วม 1243 ราย; หลักฐานความเชื่อมั่นสูง)

เซลล์บำบัดไม่ได้ช่วยเปลี่ยนแปลงความเสี่ยงของการวัดแบบองค์ประกอบ ของการเสียชีวิต การเกิดกล้ามเนื้อตายซ้ำ และการกลับเข้ารักษาในโรงพยาบาลเนื่องจากภาวะหัวใจล้มเหลวในการติดตามผลในระยะสั้น (5/198 เทียบกับ 12/181; RR 0.36, 95% CI 0.12 ถึง 1.14; การศึกษา 3 ฉบับ ผู้เข้าร่วม 379 ราย; หลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง) หรือการติดตามผลในระยะยาว (24/262 เทียบกับ 33/235; RR 0.63, 95% CI 0.36 ถึง 1.10; การศึกษา 6 ฉบับ ผู้เข้าร่วม 497 ราย; หลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง)

อาการไม่พึงประสงค์ร้ายแรงระหว่างขั้นตอนการรักษา ซึ่งมีรายงานว่าเป็นผลจากการทดลอง 33 ฉบับ นั้นถือว่าพบได้น้อย (รวมแล้วมีการรายงานอาการไม่พึงประสงค์ทั้งหมด 138 อาการ หลักฐานความเชื่อมั่นสูง) และโดยทั่วไปแล้วไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับเซลล์บำบัด

นอกจากนี้ ไม่มีผลกระทบต่อความเจ็บป่วยหรือคุณภาพชีวิต/ประสิทธิภาพการทำงานหลังจากทำเซลล์บำบัด

ในการวิเคราะห์แบบรวม LVEF ที่วัดโดยการถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ในการติดตามผลในระยะยาวพบว่าอาการดีขึ้น(+1.85%, 95% CI 0.13 ถึง 3.56; P = 0.04; การศึกษา 12 ฉบับ ผู้เข้าร่วม 968 ราย) ในการวิเคราะห์กลุ่มย่อย LVEF เบื้องต้น < 45% ใน MRI เป็นตัวทำนายการเพิ่มของ LVEF จาก MRI แต่ไม่ใช่สำหรับอัตราการเสียชีวิตโดยรวม ยังคงช่วยเพิ่ม LVEF ตามที่วัดโดยการตรวจเอคโคคาร์ดิโอแกรมและ SPECT ทั้งในจุดเวลาระยะสั้นและระยะยาว

ผลลัพธ์ไม่มีผลกระทบจากความเสี่ยงของการมีอคติในการเลือกผู้เข้าร่วมโครงการ (selection bias) อคติในการปฏิบัติต่อผู้เข้าร่วมโครงการ (performance bias) และอคติในการติดตามผู้เข้าร่วมโครงการ (attrition bias) จากการศึกษาแต่ละฉบับ

ข้อสรุปของผู้วิจัย

มีหลักฐานว่าเมื่อมีการให้เซลล์จากไขกระดูกของตัวเองแก่ผู้ป่วยที่ได้รับการทำการขยายหลอดเลือดหลักหลังภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน อัตราการเสียชีวิตไม่ได้ลดลง อย่างไรก็ตาม จำนวนเหตุการณ์มีน้อยมาก ดังนั้น ความแตกต่างที่สังเกตได้ระหว่างการรักษาก็เลยมีน้อย เราไม่คาดหวังว่าการทดลองในอนาคตที่สอดคล้องกับการทบทวนนี้จะเปลี่ยนแปลงผลลัพธ์ ดังนั้น การทดลองทางคลินิกใหม่ๆ อาจต้องเน้นที่กลยุทธ์หรือกลุ่มผู้ป่วยอื่น ๆ

บันทึกการแปล

ผู้แปล แพทย์หญิงชุติมา ชุณหะวิจิตร วันที่ 11 กันยายน 2024

Citation
Zwetsloot PP, van der Naald M, Jones D, Reid A, Chamuleau S, Mathur A. Stem cell treatment for acute myocardial infarction. Cochrane Database of Systematic Reviews 2024, Issue 8. Art. No.: CD006536. DOI: 10.1002/14651858.CD006536.pub5.