ใจความสำคัญ
• เมื่อเปรียบเทียบกับการฉีดยาหลอก การฉีดเซลล์ต้นกำเนิดสำหรับผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมอาจช่วยบรรเทาอาการปวดและการทำงานของข้อได้เล็กน้อย
• เราไม่เชื่อมั่นว่าการฉีดสเต็มเซลล์จะช่วยชะลอความก้าวหน้าของโรค เพิ่มคุณภาพชีวิต หรือเพิ่มโอกาสการรักษาให้ประสบความสำเร็จหรือไม่ หรือการฉีดสเต็มเซลล์จะปลอดภัยหรือไม่
โรคข้อเข่าเสื่อมคืออะไร
โรคข้อเข่าเสื่อมคือโรคของข้อ ข้อจะสูญเสียกระดูกอ่อนและเกิดการเปลี่ยนแปลงอื่นๆ ต่อโครงสร้างข้อ สิ่งนี้อาจส่งผลให้เกิดความเจ็บปวดและความสามารถในการใช้งานข้อต่อลดลง
โรคข้อเข่าเสื่อมรักษาอย่างไร
การรักษาส่วนใหญ่มีจุดมุ่งหมายเพื่อบรรเทาอาการ แม้ว่าจะมีเพียงไม่กี่วิธีที่มีประสิทธิผล การผ่าตัดเปลี่ยนข้อถือเป็นการรักษาขั้นสุดท้ายเพียงวิธีเดียว และสงวนไว้สำหรับผู้ป่วยที่มีโรคร้ายแรงที่ไม่ได้รับประโยชน์จากการรักษาอื่นๆ
เซลล์ต้นกำเนิด (stem cell) คือเซลล์ชนิดพิเศษที่สามารถพัฒนาไปเป็นเซลล์ที่เจริญเต็มที่ (mature cells) ในส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ ซึ่งรวมถึงเซลล์ที่สร้างกระดูกอ่อน, กระดูก และเนื้อเยื่อไขมัน ดังนั้น ตามทฤษฎีแล้ว สเต็มเซลล์เหล่านี้สามารถนำไปสู่การสร้างกระดูกอ่อนที่เสียหายขึ้นมาใหม่ภายในข้อต่อได้ ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้มีการนำมาใช้เป็นวิธีรักษาโรคข้อเสื่อม
สิ่งที่เราต้องการทราบคืออะไร
เราต้องการค้นหาว่าการฉีดสเต็มเซลล์ช่วยให้อาการปวดดีขึ้น, เพิ่มสมรรถภาพการใช้งานของข้อ, ส่งผลต่อความสำเร็จในการรักษาและคุณภาพชีวิต, ชะลอการลุกลามของโรค หรือก่อให้เกิดอันตรายในผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมหรือไม่
เราดำเนินการอย่างไร
เราได้ค้นหางานวิจัยที่ศึกษาการฉีดสเต็มเซลล์เปรียบเทียบกับการใช้ยาหลอก, การไม่ให้การรักษา, การดูแลตามปกติ หรือการรักษาด้วยวิธีอื่นในผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อม
เราได้ทำการเปรียบเทียบและสรุปผลการศึกษาต่างๆ และประเมินระดับความน่าเชื่อถือของหลักฐาน โดยอาศัยปัจจัยต่างๆ เช่น ความแปรปรวนของการฉีดสเต็มเซลล์ ความสมบูรณ์ของหลักฐาน และขนาดของงานวิจัย
เราพบอะไร
เราพบการศึกษาทั้งหมด 25 ฉบับ (มีผู้เข้าร่วม 1341 คน) โดยในจำนวนนี้มี 8 ฉบับ (ผู้เข้าร่วม 459 คน) ที่เปรียบเทียบการฉีดสเต็มเซลล์เข้าข้อเข่ากับการฉีดยาหลอก สำหรับงานวิจัยที่เหลือ เป็นการเปรียบเทียบการฉีดสเต็มเซลล์กับการรักษาด้วยวิธีต่างๆ ดังนี้ การไม่ให้การรักษา หรือ การดูแลตามปกติ (2 ฉบับ, 30 คน), การฉีดกลูโคคอร์ติคอยด์เข้าข้อ (1 ฉบับ, 33 คน), การฉีดกรดไฮยาลูรอนิก (7 ฉบับ, 429 คน), การฉีดเกล็ดเลือดเข้มข้น (PRP) (2 ฉบับ, 142 คน), การรับประทานยาอะเซตามิโนเฟน (พาราเซตามอล) (1 ฉบับ, 51 คน), การใช้ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) ร่วมกับกายภาพบำบัดและการฉีดกรดไฮยาลูรอนิก (1 ฉบับ, 57 คน), การฉีดสเต็มเซลล์ร่วมกับการรักษาอื่นในข้อ เทียบกับการให้การรักษาอื่นในข้อเพียงอย่างเดียว (3 ฉบับ, 140 คน) การศึกษาเหล่านี้ดำเนินการในหลายพื้นที่ทั่วโลก ได้แก่ ยุโรป ตะวันออกกลาง เอเชีย สหรัฐอเมริกา อเมริกาใต้ สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย
ผลลัพธ์หลัก
เมื่อเปรียบเทียบกับการฉีดยาหลอก การฉีดสเต็มเซลล์อาจช่วยให้อาการปวดและการทำงานของข้อดีขึ้นเล็กน้อย
อาการปวด ซึ่งวัดจากคะแนน 0 ถึง 10 (0 คือไม่ปวดเลย) ที่ระยะเวลา 6 เดือน พบว่ากลุ่มที่ฉีดสเต็มเซลล์มีคะแนนดีกว่า 1.2 คะแนน
• ผู้ที่ได้รับการฉีดสเต็มเซลล์ให้คะแนนความปวดของตนเองที่ 3.3 คะแนน
• ผู้ที่ได้รับการฉีดยาหลอกให้คะแนนความปวดของตนเองที่ 4.5 คะแนน
การทำงานของข้อ ซึ่งวัดจากคะแนน 0 ถึง 100 (0 คือใช้งานได้ดีที่สุด) ที่ระยะเวลา 6 เดือน พบว่ากลุ่มที่ฉีดสเต็มเซลล์มีคะแนนดีกว่า 14.2 คะแนน
• ผู้ที่ได้รับการฉีดสเต็มเซลล์ให้คะแนนการทำงานของข้อที่ 32.1 คะแนน
• ผู้ที่ได้รับการฉีดยาหลอก ประเมินการทำงานของร่างกายตนเองไว้ที่ 46.3 คะแนน
ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าการฉีดสเต็มเซลล์ จะช่วยปรับปรุงคุณภาพชีวิต ณ เวลา 6 เดือนได้หรือไม่ เมื่อวัดผลด้วยมาตรวัดคะแนน 0 ถึง 100 (โดย 0 หมายถึงการทำงานที่ดีที่สุด)
• ผู้ที่ได้รับการฉีดสเต็มเซลล์ ประเมินคุณภาพชีวิตของตนเองไว้ที่ 68.1 คะแนน
• ผู้ที่ได้รับการฉีดยาหลอกให้คะแนนคุณภาพชีวิตของตนเองที่ 45.3 คะแนน
ความสำเร็จในการรักษา พบว่าหลังการฉีดสเต็มเซลล์ 12 เดือน กลุ่มที่ฉีดสเต็มเซลล์มีผู้ที่ประเมินว่าการรักษาประสบความสำเร็จมากกว่า 153 คนต่อ 1000 คน
• 683 คนต่อ 1000 คน รายงานว่าการรักษาประสบความสำเร็จในกลุ่มที่ฉีดสเต็มเซลล์
• 530 คนต่อ 1000 คน รายงานว่าการรักษาประสบความสำเร็จในกลุ่มที่ฉีดยาหลอก
เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่รุนแรง พบว่าหลังการฉีดสเต็มเซลล์ 12 เดือน กลุ่มที่ฉีดสเต็มเซลล์มีผู้ที่เกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่รุนแรงน้อยกว่า 7 คนต่อ 1000 คน
• 16 คนต่อ 1000 คน ประสบเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่รุนแรงในกลุ่มที่ฉีดสเต็มเซลล์
• 23 คนต่อ 1000 คน รายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่รุนแรงในกลุ่มที่ฉีดยาหลอก
ไม่มีการรายงานผู้ที่ถอนตัวออกจากการศึกษาเนื่องจากผลเสียที่เกิดจากการฉีดสเต็มเซลล์หรือยาหลอก
ไม่มีการประเมินการลุกลามของโรคในการศึกษาใดๆ
ข้อจำกัดของหลักฐานคืออะไร
ความเชื่อมั่นของเราต่อผลการประเมินด้านอาการปวดและการทำงานของข้อนั้นอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากยังไม่ทราบแน่ชัดถึงรูปแบบการเตรียมและขนาดของสเต็มเซลล์ที่เหมาะสมที่สุด อีกทั้งยังมีความแตกต่างกันไปในแต่ละการศึกษา นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาขนาดใหญ่ถึง 3 ฉบับที่ไม่สามารถนำมารวมในการวิเคราะห์ได้ เนื่องจากแม้จะดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว แต่ผู้วิจัยได้ถอนงานวิจัยออกไปก่อนที่จะมีการรายงานผล
เรายังไม่สามารถสรุปได้อย่างชัดเจนว่า การฉีดสเต็มเซลล์ช่วยให้ผู้ป่วยรายงานว่าการรักษาประสบความสำเร็จหรือมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นได้จริงหรือไม่ เรายังไม่แน่ใจเกี่ยวกับความเสี่ยงที่จะเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่รุนแรงและเหตุการณ์ที่ทำให้ต้องหยุดการรักษา เนื่องจากนอกเหนือจากความแตกต่างของสเต็มเซลล์ที่ใช้ในแต่ละการศึกษาและข้อมูลที่ขาดหายไปจากงานวิจัยขนาดใหญ่แล้ว ยังมีจำนวนเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นน้อยมากอีกด้วย
หลักฐานนี้เป็นปัจจุบันแค่ไหน
หลักฐานเป็นปัจจุบันถึงวันที่ 15 กันยายน 2023
บทบรรณาธิการ นี่คือการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบที่มีการปรับข้อมูลใหม่อยู่เสมอ เราค้นหาหลักฐานใหม่ทุก ๆ 3 เดือนและอัปเดตการตรวจสอบเมื่อเราระบุหลักฐานใหม่ที่เกี่ยวข้อง โปรดเข้าไปที่ Cochrane Database of Systematic Reviews สำหรับการตรวจสอบสถานะปัจจุบันของการทบทวนวรรณกรรมนี้
Read the full abstract
สเต็มเซลล์ (Stem cells) คือเซลล์ตั้งต้นชนิดพิเศษที่สามารถทดแทนเซลล์ที่เสื่อมสภาพหรือเสียหายได้ จึงช่วยคงการทำงานของเนื้อเยื่อให้สมบูรณ์แข็งแรง การบำบัดด้วยเซลล์ต้นกำเนิดถูกนำมาใช้ในการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมเพิ่มมากขึ้น แม้ว่าจะยังคงไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับกลไกที่การบำบัดด้วยเซลล์ต้นกำเนิดอาจช่วยชะลอความก้าวหน้าของโรคข้อเข่าเสื่อมได้ รวมถึงความไม่เชื่อมั่นเกี่ยวกับประโยชน์และอันตรายของการบำบัดด้วยเซลล์ต้นกำเนิดก็ตาม
วัตถุประสงค์
เพื่อประเมินประโยชน์และอันตรายของการฉีดเซลล์ต้นกำเนิดต่อผู้ที่เป็นโรคข้อเข่าเสื่อม วัตถุประสงค์รองคือการรักษากระแสของหลักฐานโดยใช้แนวทางการทบทวนแบบ living systematic review
วิธีการสืบค้น
เราค้นหาใน Cochrane Central Register of Controlled Trials (CENTRAL), MEDLINE, Embase และทะเบียนการทดลองจนถึงวันที่ 15 มิถุนายน 2023 โดยไม่มีการจำกัดด้านภาษา เรายังได้สืบค้นจากฐานข้อมูล ClinicalTrials.gov และแพลตฟอร์มการขึ้นทะเบียนการทดลองทางคลินิกระหว่างประเทศขององค์การอนามัยโลก (WHO International Clinical Trials Registry Platform - ICTRP) สำหรับโครงร่างการทดลองและการทดลองที่กำลังดำเนินการอยู่ที่เกี่ยวข้อง
เกณฑ์การคัดเลือก
เราได้รวบรวมการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม (Randomised Controlled Trials - RCTs) หรือการทดลองที่ใช้วิธีการจัดสรรผู้เข้าร่วมการทดลองแบบกึ่งสุ่ม (quasi-randomised methods) ซึ่งเปรียบเทียบการฉีดสเต็มเซลล์กับ การฉีดยาหลอก, การไม่ให้การรักษาหรือการดูแลตามมาตรฐาน, การฉีดกลูโคคอร์ติคอยด์, การฉีดชนิดอื่นๆ, การออกกำลังกาย, การบำบัดด้วยยา, หัตถการทางการผ่าตัด, และ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและการบำบัดเสริม ในผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อม
การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล
ผู้ประพันธ์การทบทวนวรรณกรรม 2 คนเลือกการศึกษาเพื่อรวมเข้าไว้ ดึงข้อมูลลักษณะและผลลัพธ์ของการทดลอง ประเมินความเสี่ยงของการมีอคติ และประเมินความเชื่อมั่นของหลักฐานโดยใช้แนวทาง GRADE การเปรียบเทียบหลักคือระหว่างการฉีดสเต็มเซลล์กับการฉีดยาหลอก จุดเวลาหลักสำหรับการประเมินอาการปวด สมรรถภาพการใช้งาน และคุณภาพชีวิต คือที่ระยะเวลา 3 ถึง 6 เดือน และใช้จุดสิ้นสุดของระยะเวลาการทดลองเป็นจุดประเมินหลักสำหรับความสำเร็จในการรักษาตามการรายงานของผู้เข้าร่วมวิจัย การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของข้อ และผลลัพธ์ด้านเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ ผลลัพธ์ที่สำคัญ ได้แก่ ความเจ็บปวด การทำงาน คุณภาพชีวิต การประเมินความสำเร็จโดยรวม ความก้าวหน้าของข้อตามภาพรังสี การถอนตัวเนื่องจากเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ และเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่ร้ายแรง
ผลการวิจัย
เราพบการทดลองแบบสุ่มจำนวน 25 ฉบับ (มีผู้เข้าร่วมการวิจัย 1341 คน) ในผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อม ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบการฉีดสเต็มเซลล์กับการฉีดยาหลอก (8 ฉบับ), การไม่ให้การรักษาหรือการดูแลตามมาตรฐาน (เช่น ยาแก้ปวด การลดน้ำหนัก และการออกกำลังกาย) (2 ฉบับ), การฉีดกลูโคคอร์ติคอยด์ (1 ฉบับ), การฉีดกรดไฮยาลูรอนิก (7 ฉบับ), การฉีดเกล็ดเลือดเข้มข้น (2 ฉบับ), ยาอะเซตามิโนเฟน (พาราเซตามอล) ชนิดรับประทาน (1 ฉบับ), ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ร่วมกับกายภาพบำบัดและการฉีดกรดไฮยาลูรอนิก (1 ฉบับ) และการฉีดสเต็มเซลล์ร่วมกับการรักษาร่วมภายในข้อ เทียบกับการให้การรักษาร่วมภายในข้อเพียงอย่างเดียว (3 ฉบับ) การทดลองส่วนใหญ่มีขนาดเล็ก โดยขนาดตัวอย่างมีตั้งแต่ 6 ถึง 252 คน และมี 2 การทดลองเท่านั้นที่มีผู้เข้าร่วมมากกว่า 100 คน อายุเฉลี่ยของผู้เข้าร่วมการทดลองต่างๆ อยู่ระหว่าง 51 ถึง 66 ปี และระยะเวลาของอาการแตกต่างกันตั้งแต่ 1 ถึง 10 ปี
การศึกษาแบบมีกลุ่มควบคุมด้วยยาหลอก (Placebo-controlled trials) ส่วนใหญ่ปราศจากความเสี่ยงของการมีอคติ ในขณะที่การศึกษาส่วนใหญ่ที่ไม่มีกลุ่มควบคุมด้วยยาหลอก มีแนวโน้มที่จะมีความเสี่ยงของการมีอคติด้านการปฏิบัติต่อผู้เข้าร่วมโครงการ (performance bias) และด้านการวัดผลลัพธ์ (detection bias) ในที่นี้ เราจะจำกัดการรายงานผลเฉพาะการเปรียบเทียบหลัก คือ การฉีดสเต็มเซลล์เทียบกับการฉีดยาหลอก
เมื่อเทียบกับการฉีดยาหลอก การฉีดเซลล์ต้นกำเนิดอาจช่วยบรรเทาอาการปวดและการทำงานของร่างกายได้เล็กน้อยถึง 6 เดือนหลังการรักษา ค่าความปวดเฉลี่ย (จากมาตรวัดคะแนน 0 ถึง 10 โดย 0 คือไม่มีอาการปวด) อยู่ที่ 4.5 คะแนนในกลุ่มที่ได้รับการฉีดยาหลอก และลดลง 1.2 คะแนนในกลุ่มที่ได้รับการฉีดสเต็มเซลล์ (ช่วงความเชื่อมั่นของผลลัพธ์อยู่ระหว่างลดลง 2.5 คะแนน ถึง 0 คะแนน) (I 2 = 80%; จาก การศึกษา 7 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 445 คน) ค่าเฉลี่ยด้านการใช้งานร่างกาย (จากมาตรวัดคะแนน 0 ถึง 100 โดย 0 คือใช้งานได้ดีที่สุด) อยู่ที่ 46.3 คะแนนในกลุ่มที่ได้รับการฉีดยาหลอก และดีขึ้น 14.2 คะแนนในกลุ่มที่ได้รับการฉีดสเต็มเซลล์ (ช่วงความเชื่อมั่นของผลลัพธ์อยู่ระหว่างดีขึ้น 25.3 คะแนน ถึง 3.1 คะแนน) (I 2 = 82%; จากการศึกษา 7 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 432 คน) เราไม่เชื่อมั่นว่าการฉีดเซลล์ต้นกำเนิดจะช่วยปรับปรุงคุณภาพชีวิตหรือเพิ่มจำนวนผู้ที่รายงานผลการรักษาสำเร็จเมื่อเทียบกับการฉีดยาหลอกหรือไม่ เนื่องจาก ความเชื่อมั่นของหลักฐานต่ำมาก คุณภาพชีวิตโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 45.3 คะแนนจากการฉีดหลอก และดีขึ้น 22.8 คะแนน (แย่ลง 18.0 คะแนน ถึงดีขึ้น 63.7 คะแนน) จากการฉีดเซลล์ต้นกำเนิด ( I2 = 96%; การศึกษา 2 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 288 ราย) ในการติดตามผลสูงสุด 6 เดือน เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาติดตามผล พบว่าผู้เข้าร่วม 89 จาก 168 คน (คิดเป็น 530 ต่อ 1000 คน) ในกลุ่มที่ได้รับการฉีดยาหลอกรายงานว่าการรักษาประสบความสำเร็จ เปรียบเทียบกับ 126 จาก 180 คน (คิดเป็น 683 ต่อ 1000 คน) ในกลุ่มที่ได้รับการฉีดสเต็มเซลล์ (Risk Ratio (RR) 1.29, ช่วงความเชื่อมั่น 95% อยู่ที่ 1.10 ถึง 1.53; I 2 = 0%; จากการศึกษา 4 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 348 คน)
เราได้ปรับลดระดับความเชื่อมั่นของหลักฐานสำหรับผลลัพธ์ด้านความเจ็บปวดและการใช้งานร่างกายลงเป็นระดับต่ำ เนื่องจากปัญหา indirectness (เนื่องจากแหล่งที่มา วิธีการเตรียม และขนาดของสเต็มเซลล์ที่ใช้มีความแตกต่างกันในแต่ละการศึกษา) และข้อสงสัยเรื่องอคติจากการตีพิมพ์ (publication bias) (เนื่องจากอาจมีการศึกษาแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุมขนาดใหญ่ถึง 3 ฉบับที่ดำเนินการแล้ว แต่ถูกถอนออกไปก่อนการรายงานผล) สำหรับคุณภาพชีวิตและความสำเร็จในการรักษา เราได้ลดระดับหลักฐานลงอีกเหลือระดับความเชื่อมั่นต่ำมากเนื่องจากความไม่แม่นยำ นอกเหนือจาก indirectness และข้อสันนิษฐานว่ามีอคติในการตีพิมพ์
เราไม่เชื่อมั่นเกี่ยวกับอันตรายที่อาจเกิดขึ้นที่เกี่ยวข้องกับการฉีดเซลล์ต้นกำเนิด เนื่องจากมีอัตราการเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่ร้ายแรงต่ำมาก เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาติดตามผล พบว่ามีผู้เข้าร่วม 5 จาก 219 คน (คิดเป็น 23 ต่อ 1000 คน) ในกลุ่มที่ได้รับการฉีดยาหลอก ประสบเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ชนิดร้ายแรง เปรียบเทียบกับ 4 จาก 242 คน (คิดเป็น 16 ต่อ 1000 คน) ในกลุ่มที่ได้รับการฉีดสเต็มเซลล์ (RR 0.72, ช่วงความเชื่อมั่น 95% อยู่ที่ 0.20 ถึง 2.64; I 2 = 0%; จากการศึกษา 7 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 461 คน) และไม่มีรายงานการถอนตัวออกจากการวิจัยเนื่องจากเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ เราได้ลดระดับหลักฐานลงเหลือระดับความเชื่อมั่นต่ำมากเนื่องจาก indirectness สงสัยว่ามีอคติในการตีพิมพ์ และความไม่แม่นยำ
ความก้าวหน้าทางรังสีวิทยาไม่ได้รับการประเมินในงานวิจัยใดๆ ที่รวมอยู่
ข้อสรุปของผู้วิจัย
เมื่อเปรียบเทียบกับการฉีดยาหลอก และจากหลักฐานที่มีความเชื่อมั่นในระดับต่ำ การฉีดสเต็มเซลล์สำหรับผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมอาจช่วยให้อาการปวดและการใช้งานข้อเข่าดีขึ้นเล็กน้อย เรายังไม่สามารถสรุปได้แน่ชัดถึงผลของการฉีดสเต็มเซลล์ที่มีต่อคุณภาพชีวิต หรือจำนวนผู้ที่รายงานว่าการรักษาประสบความสำเร็จ แม้ว่าประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการบำบัดด้วยสเต็มเซลล์สำหรับโรคข้อเข่าเสื่อมได้แก่ ผลการฟื้นฟูที่อาจเกิดขึ้นกับเนื้อเยื่อที่เสียหาย โดยเฉพาะกระดูกอ่อนบริเวณข้อ แต่เราก็ยังไม่เชื่อมั่นเกี่ยวกับผลของการฉีดสเต็มเซลล์ต่อการดำเนินไปของโครงสร้างในข้อเข่า (วัดจากลักษณะทางรังสีวิทยา) ยังมีความไม่เชื่อมั่นเกี่ยวกับความปลอดภัยในการฉีดเซลล์ต้นกำเนิดด้วย มีการรายงานอาการไม่พึงประสงค์ที่ร้ายแรงไม่บ่อยนัก แม้ว่าขั้นตอนการรักษาข้อที่รุกรานทั้งหมด (รวมทั้งการฉีดยา) จะมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อข้ออักเสบเล็กน้อย ความเสี่ยงของอันตรายสำคัญอื่นๆ รวมทั้งความกังวลที่อาจเกิดขึ้นเกี่ยวกับการใช้การบำบัดที่มีศักยภาพในการส่งเสริมการเจริญเติบโตของเซลล์ หรือการใช้เซลล์จากต่างพันธุ์ ยังคงไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด
แปลโดย ศ.นพ.ภิเศก ลุมพิกานนท์ ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 27 เมษายน 2025