ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แนวทางป้องกันการหกล้มในโรคพาร์กินสัน

คำถามของการทบทวน

ในการทบทวนนี้ เราประเมินหลักฐานเกี่ยวกับผลของวิธีการที่ออกแบบมาเพื่อลดการหกล้มในผู้ที่เป็นโรคพาร์กินสัน (PD) วิธีการต่างๆได้แก่การออกกำลังกาย การใช้ยา การให้ความรู้เพื่อป้องกันการหกล้ม และการออกกำลังกายร่วมกับให้ความรู้ เราไม่รวมวิธีการที่มีเป้าหมายเพื่อลดการหกล้มจากการเป็นลมหมดสติ ทบทวนหลักฐานตั้งแต่ปัจจุบันถึง 16 กรกฎาคม 2020

ความเป็นมา

ในผู้ที่เป็น PD การหกล้มบ่อยครั้งเป็นหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญที่ร้ายแรงที่สุด ข้อมูลเกี่ยวกับกลยุทธ์การป้องกันการหกล้มที่มีประสิทธิผล จะช่วยให้มีการนำไปใช้ในการป้องกันการหกล้ม

ลักษณะของการศึกษา

เรารวบรวม randomised controlled trials 32 เรื่อง ซึ่งมีผู้เข้าร่วมโครงการจำนวน 3370 คน ในจำนวนนี้มีการศึกษา 25 ฉบับ มีผู้เข้าร่วม 2700 คน ใช้วิธีการออกกำลังกาย การศึกษา 3 ฉบับ มีผู้เข้าร่วม 242 คนเ ใช้วิธีการให้ยา การศึกษา 1 ฉบับ ผู้เข้าร่วม 53 คนเป็นการให้ความรู้ การศึกษา 3 ฉบับ มีผู้เข้าร่วม 375 คนเ ใช้วิธีการออกกำลังกายร่วมกับการให้ความรู้ โดยรวมแล้ว การออกกำลังกายและการออกกำลังกายร่วมกับการให้ความรู้ มีผู้เข้าร่วมที่มีระดับความรุนแรงของ PD น้อยถึงปานกลาง

ผลลัพธ์ที่สำคัญ

การศึกษา 12 ฉบับ เปรียบเทียบการออกกำลังกายกับกลุ่มควบคุมที่ใช้วิธีการที่ไม่น่าจะลดการหกล้มได้ การออกกำลังกายอาจช่วยลดจำนวนการหกล้มได้ประมาณ 26% การออกกำลังกายอาจช่วยลดจำนวนผู้ที่หกล้มอย่างน้อยหนึ่งครั้งได้ประมาณ 10% การออกกำลังกายอาจทำให้คุณภาพชีวิตด้านสุขภาพดีขึ้นเล็กน้อยทันทีหลังออกกำลังกาย อย่างไรก็ตาม เราไม่แน่ใจว่าจะลดจำนวนการมีกระดูกหักจากการหกล้มได้หรือไม่ จำนวนเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ หรือเป็นวิธีการที่คุ้มค่าใช้จ่ายในการป้องกันการหกล้มหรือไม่

การศึกษา 3 ฉบับ เปรียบเทียบ Cholinesterase inhibitor (ทั้ง rivastigmine หรือ donepezil) กับยาหลอก และพบว่ายานี้อาจลดอัตราการหกล้มได้ประมาณ 50% อย่างไรก็ตาม ผลของยานี้ต่อจำนวนผู้ที่หกล้มอย่างน้อยหนึ่งครั้ง และคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพยังไม่แน่นอน Cholinesterase inhibitor อาจเพิ่มจำนวนเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการหกล้มได้ประมาณ 60% ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับความคุ้มค่าของยาในการป้องกันการหกล้ม

การศึกษา 1 ฉบับ เปรียบเทียบการให้ความรู้เพียงอย่างเดียวและ การศึกษา 3 ฉบับ เปรียบเทียบการออกกำลังกายร่วมกับการให้ความรู้กับกลุ่มควบคุม การออกกำลังกายร่วมกับให้ความรู้ อาจทำให้มีผลเพียงเล็กน้อยหรือแทบไม่มีเลยต่อจำนวนผู้ที่หกล้มหนึ่งครั้งหรือมากกว่า อย่างไรก็ตาม เราไม่แน่ใจถึงผลของวิธีการเหล่านี้ต่อผลลัพธ์อื่นที่เกี่ยวกับการหกล้มและการไม่หกล้มอื่นๆ

ความเชื่อมั่นของหลักฐาน

การศึกษาทั้งหมดมีความเสี่ยงสูงที่หรือมีความไม่ชัดเจนที่จะมีอคติในหนึ่งรายการหรือมากกว่านั้น สิ่งนี้อาจมีอิทธิพลต่อวิธีดำเนินการศึกษาและการประเมินผลการศึกษา

สำหรับการออกกำลังกาย ความเชื่อมั่นของหลักฐานสำหรับอัตราการหกล้มและจำนวนผู้ที่หกล้มอย่างน้อยหนึ่งครั้งอยู่ในระดับปานกลาง ความเชื่อมั่นของหลักฐานอยู่ในระดับต่ำ หรือต่ำมากสำหรับผลลัพธ์อื่นๆทั้งหมด

สำหรับการใช้ยา การให้ความรู้และการออกกำลังกายร่วมกับการให้ความรู้ ผลการศึกษาทั้งหมดมีความเชื่อมั่นต่ำถึงต่ำมาก

บทนำ

ผู้ที่เป็นโรคพาร์กินสัน (PD) ส่วนใหญ่มีประสบการณ์การหกล้ม มีการศึกษาในการใช้วิธีการหลายอย่างที่ออกแบบมาเพื่อลดการหกล้ม การสังเคราะห์หาหลักฐานวืธีการเพื่อลดการหกล้มในผู้ที่เป็นโรค PD ที่เป็นปัจจุบัน จะช่วยในการตัดสินใจเกี่ยวกับวิธีการป้องกันการหกล้มสำหรับผู้ที่เป็นโรค PD

วัตถุประสงค์

เพื่อประเมินผลของวิธีการต่างๆ เพื่อลดการหกล้มในผู้ที่เป็น PD

วิธีการสืบค้น

เราสืบค้นจาก CENTRAL, MEDLINE, Embase, ฐานข้อมูลอื่นๆ 4 แห่ง และฐานข้อมูลทะเบียนการทดลอง 2 แหล่ง ถึงวันที่ 16 กรกฏาคม 2020 ร่วมกับการตรวจสอบการอ้างอิง การค้นหาการอ้างอิง และการติดต่อกับผู้นิพนธ์การศึกษาเพื่อหาการศึกษาเพิ่มเติม เรายังได้ทำการค้นหาเพิ่มเติมวันที่ 13 ตุลาคม 2021

เกณฑ์การคัดเลือก

เรารวมการศึกษาวิจัยแบบ randomised controlled trials (RCT) ที่ศึกษาวิธีการต่างๆ ที่มีเป้าหมายเพื่อลดการหกล้มในผู้ที่เป็น PD และรายงานผลที่มีต่อการหกล้ม เราไม่รวมวิธีการที่มีเป้าหมายเพื่อลดการหกล้มจากการเป็นลมหมดสติ

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล

เราใช้ขั้นตอนมาตรฐานของ Cochrane ในการทบทวนวรรณกรรมนี้ ผลการศึกษาหลักคือ อัตราการหกล้มและจำนวนคนที่ล้มอย่างน้อยหนึ่งครั้ง ผลการศึกษารองคือ จำนวนผู้มีที่กระดูกหักจากการหกล้มอย่างน้อยหนึ่งครั้ง คุณภาพชีวิต เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ และผลทางเศรษฐกิจ ประเมินความเชื่อมั่นของหลักฐานโดยใช้ GRADE

ผลการวิจัย

การทบทวนวรรณกรรมนี้ประกอบด้วยการศึกษา 32 ฉบับ ซึ่มีผู้เข้าร่วม 3370 คน เรารวมการศึกษาเกี่ยวกับการออกกำลังกาย 25 ฉบับ (ผู้เข้าร่วม 2700 คน) การศึกษาเกี่ยวกับการใช้ยา 3 ฉบับ (ผู้เข้าร่วม 242 คน) การศึกษาเกี่ยวกับการให้ความรู้เพื่อป้องกันการหกล้ม 1 ฉบับ (ผู้เข้าร่วม 53 คน) และการศึกษาเกี่ยวกับการออกกำลังกายร่วมกับการให้ความรู้ 3 ฉบับ (ผู้เข้าร่วม 375 คน) โดยรวมแล้ว ผู้เข้าร่วมในการออกกำลังกายและการออกกำลังกายร่วมกับการให้ความรู้ มีระดับความรุนแรงของ PD น้อยถึงปานกลาง ในขณะที่ผู้เข้าร่วมในการใช้ยาเป็นผู้ที่มีระดับความรุนแรงของโรคสูง การศึกษาทั้งหมดมีความเสี่ยงสูงหรือมีความเสี่ยงไม่ชัดเจนที่จะมีอคติในหนึ่งรายการหรือมากกว่านั้น ความเสี่ยงที่แสดงให้เห็นผลกระทบของแต่ละวิธีการจะนำเสนอในตารางสรุปผลการวิจัย

การศึกษา 12 ฉบับ เปรียบเทียบการออกกำลังกาย (ทุกประเภท) กับกลุ่มควบคุม (ใช้วิธีการที่ไม่น่าจะสามารถลดการหกล้มได้ เช่น การดูแลตามปกติหรือการออกกำลังกายลวง) ในผู้ที่มีระดับความรุนแรงของโรค PD น้อยถึงปานกลาง การออกกำลังกายอาจลดอัตราการหกล้มได้ประมาณ 26% (rate ratio (RaR) 0.74, 95% confidence interval (CI) 0.63 ถึง 0.87; ผู้เข้าร่วม 1456 คน, การศึกษา 12 ฉบับ หลักฐานมีความเชื่อมั่นปานกลาง) การออกกำลังกายยังอาจช่วยลดจำนวนผู้ที่หกล้มอย่างน้อยหนึ่งครั้งหรือมากกว่าได้เล็กน้อย ประมาณ 10% (risk ratio (RR) 0.90, 95% CI 0.80 ถึง 1.00; ผู้เข้าร่วม 932 คน, การศึกษา 9 ฉบับ; หลักฐานมีความเชื่อมั่นปานกลาง)

เราไม่แน่ใจว่าการออกกำลังกาย ทำให้มีความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่แตกต่างเลยกับจำนวนผู้ที่ประสบภาวะกระดูกหัก 1 ครั้งหรือมากกว่าจากการหกล้ม (RR 0.57, 95% CI 0.28 ถึง 1.17; ผู้เข้าร่วม 989 คน, การศึกษา 5 ฉบับ; หลักฐานที่มีความเชื่อมั่นต่ำมาก) การออกกำลังกายอาจทำให้คุณภาพชีวิตด้านสุขภาพดีขึ้นเล็กน้อยทันทีหลังออกกำลังกาย (standardised mean difference (SMD) -0.17, 95% CI -0.36 ถึง 0.01; ผู้เข้าร่วม 951 คน, การศึกษา 5 ฉบับ; หลักฐานที่มีความเชื่อมั่นต่ำ) เราไม่แน่ใจว่าการออกกำลังกายมีผลกระทบต่อเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์หรือไม่ หรือการออกกำลังกายเป็นวิธีการที่คุ้มค่าใช้จ่ายสำหรับการป้องกันการหกล้มหรือไม่

การศึกษา 3 ฉบับ ทดลองใช้ Cholinesterase inhibitor (rivastigmine หรือ donepezil) Cholinesterase inhibitor อาจลดอัตราการหกล้มลง 50% (RaR 0.50, 95% CI 0.44 ถึง 0.58; ผู้เข้าร่วม 229 คน, การศึกษา 3 ฉบับ; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) อย่างไรก็ตาม เราไม่แน่ใจว่ายานี้ ทำให่มีความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยกับจำนวนผู้ที่หกล้มอย่างน้อยหนึ่งครั้ง (RR 1.01, 95% CI 0.90 ถึง 1.14 ผู้เข้าร่วม 230 คน การศึกษา 3 ฉบับ) และคุณภาพชีวิตที่เกี่ยวกับสุขภาพ (mean difference (MD) ของ EQ5D Thermometer 3.00, 95% CI -3.06 ถึง 9.06; หลักฐานที่มีความเชื่อมั่นต่ำมาก) Cholinesterase inhibitor อาจเพิ่มอัตราของเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่ไม่เกี่ยวกับการหกล้มได้ 60% (RaR 1.60, 95% CI 1.28 ถึง 2.01; ผู้เข้าร่วม 175 คน, การศึกษา 2 ฉบับ; หลักฐานที่มีความเชื่อมั่นต่ำ) อาการไม่พึงประสงค์ส่วนใหญ่ไม่รุนแรงและเกิดขึ้นชั่วคราว ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับความคุ้มค่าของยาสำหรับการป้องกันการหกล้ม

เราไม่แน่ใจเกี่ยวกับผลของการให้ความรู้เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมในคนที่หกล้มอย่างน้อยหนึ่งครั้ง (RR 10.89, 95% CI 1.26 ถึง 94.03 ผู้เข้าร่วม 53 คน การศึกษา 1 ฉบับ หลักฐานที่มีความเชื่อมั่นต่ำมาก) และไม่มีข้อมูลในผลการศึกษาอื่นๆ ที่สนใจกับการเปรียบเทียบนี้ เรายังไม่แน่ใจ (หลักฐานที่มีความเชื่อมั่นต่ำมาก) ว่าการออกกำลังกายร่วมกับการให้ความรู้ทำให้จำนวนการหกล้มต่างกันเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย (RaR 0.46, 95% CI 0.12 ถึง 1.85; ผู้เข้าร่วม 320 คน การศึกษา 2 ฉบับ) จำนวนผู้ที่มีการกระดูกหักจากการหกล้ม (RR 1.45, 95% CI 0.40 ถึง 5.32,320 ผู้เข้าร่วม การศึกษา 2 ฉบับ) หรือคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพ (PDQ39 MD 0.05, 95% CI -3.12 ถึง 3.23 , ผู้เข้าร่วม 305 คน, การศึกษา 2 ฉบับ) การออกกำลังกายร่วมกับการให้ความรู้ อาจทำให้จำนวนผู้ที่หกล้มอย่างน้อยหนึ่งครั้งแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่แตกต่างเลย (RR 0.89, 95% CI 0.75 ถึง 1.07; ผู้เข้าร่วม 352 คน, การศึกษา 3 ฉบับ; หลักฐานที่มีความเชื่อมั่นต่ำ) เราไม่แน่ใจว่าการออกกำลังกายร่วมกับการให้ความรู้มีผลต่อเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์หรือไม่ หรือเป็นวิธีการที่คุ้มค่าใช้จ่ายสำหรับการป้องกันการหกล้มหรือไม่

ข้อสรุปของผู้วิจัย

การออกกำลังกายอาจลดอัตราการหกล้ม และอาจลดจำนวนผู้ที่หกล้มลงในผู้ที่มีระดับความรุนแรงของ PD น้อยถึงปานกลางได้เล็กน้อย

Cholinesterase inhibitor อาจลดอัตราการหกล้ม แต่เราไม่แน่ใจว่ายาเหล่านี้มีผลกระทบต่อจำนวนคนที่หกล้มหรือไม่ การตัดสินใจใช้ยาเหล่านี้ ต้องมีความสมดุลกับความเสี่ยงของเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่ไม่เกี่ยวกับการหกล้ม แม้ว่าเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์เหล่านี้ส่วนใหญ่มักไม่รุนแรงหรือเกิดขึ้นชั่วคราวก็ตาม

จำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมในรูปแบบของ RCT ขนาดใหญ่และมีคุณภาพสูง เพื่อยืนยันผลของการออกกำลังกายประเภทต่างๆ และระดับการดูแลที่แตกต่างกันเกี่ยวกับการหกล้ม และความรุนแรงของโรคอาจส่งผลต่อผลลัพธ์ที่ได้อย่างไร จำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มความมั่นใจต่อผลของยา และศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการให้ความรู้เพื่อการป้องกันการหกล้มทั้งให้ความรู้อย่างเดียวและการให้ความรู้ร่วมกับการออกกำลังกาย

บันทึกการแปล

แปลโดย เพียงจิตต์ ธารไพรสาณฑ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที 17 มิถุนายน 2022 Edit โดย ผกากรอง 24 พฤศจิกายน 2022

Citation
Allen NE, Canning CG, Almeida LRS, Bloem BR, Keus SHJ, Löfgren N, Nieuwboer A, Verheyden GSAF, Yamato TP, Sherrington C. Interventions for preventing falls in Parkinson's disease. Cochrane Database of Systematic Reviews 2022, Issue 6. Art. No.: CD011574. DOI: 10.1002/14651858.CD011574.pub2.