ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กิจกรรมการสร้างความตระหนักรู้เรื่องมะเร็งเต้านมในสตรี

คำถามของการทบทวนวรรณกรรม
เราได้ทบทวนหลักฐานเกี่ยวกับผลของการทดลองวิธีการต่างๆ ในการเพิ่มความตระหนักรู้เกี่ยวกับมะเร็งเต้านมในสตรี เราพบ 2 การทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม ซึ่งเป็นการวิจัยที่มีคุณภาพสูงสุด

ความเป็นมา
มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่ได้รับการวินิจฉัยบ่อยที่สุดในสตรีทั่วโลก การตรวจหา การวินิจฉัยและการรักษามะเร็งเต้านมในระยะเริ่มต้นเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ผลลัพธ์ดีขึ้น เนื่องจากสตรีจำนวนมากจะตรวจพบอาการของมะเร็งเต้านมด้วยตนเอง สิ่งสำคัญคือพวกเธอต้องมีการตระหนักรู้เกี่ยวกับมะเร็งเต้านม เช่นมีความรู้ ทักษะและมีความมั่นใจในการสังเกตการเปลี่ยนแปลงของเต้านมที่เกิดขึ้นและไปพบแพทย์โดยทันที

ลักษณะของการศึกษา
การสืบค้นการทดลองเพื่อตรวจสอบการทดลองเกี่ยวกับการตระหนักรู้มะเร็งเต้านมในสตรีที่ดำเนินการในเดือนมกราคม 2016 เราพบการทดลอง 2 เรื่อง ในสตรีทั้งหมด 997 คน

การศึกษาวิธีการส่งเสริมการค้นพบอาการมะเร็งเต้านมในระยะแรกๆ (PEP) ซึ่งได้รับทุนจากศูนย์มะเร็งเต้านมในประเทศสหราชอาณาจักร มีสตรีเข้าร่วมวิจัยทั้งหมด 867 คนได้รับการสุ่มเข้ากลุ่มการทดลอง 1 ใน 3 วิธี: (1) หนังสือเล่มเล็กที่เขียนเป็นลายลักษณ์อักษรและการดูแลตามปกติ (2) หนังสือเล่มเล็กที่เขียนเป็นลายลักษณ์อักษรและการดูแลตามปกติรวมถึงมีการสนทนาแบบตัวต่อตัวกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหรือ (3) การดูแลตามปกติเท่านั้น สตรีมีอายุระหว่าง 67 ถึง 70 ปีและได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมการศึกษาที่หน่วยคัดกรองมะเร็งเต้านมในประเทศสหราชอาณาจักร

การศึกษาของมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ Zahedan (ZUMS) มีสตรีเข้าร่วมวิจัยจำนวน 130 คนและถูกสุ่มออกเป็น 2 กลุ่มที่ได้รับอย่างใดอย่างหนึ่ง: (1) กลุ่มทดลองได้รับโปรแกรมการศึกษาโดยใช้สื่อที่เป็นลายลักษณ์อักษรและการพูดคุย ที่เน้น "พฤติกรรมป้องกันมะเร็งเต้านม" (เช่นการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และความเชื่อเชิงบวกต่อพฤติกรรมการตรวจเต้านมด้วยตนเอง) หรือ (2) ไม่มีการให้ทำกิจกรรมใดๆ เป็นกลุ่มควบคุม สตรีที่เข้าร่วมวิจัยทำงานอยุู่ที่ ZUMS และมีอายุระหว่าง 35 ถึง 39 ปี

ผลลัพธ์ที่สำคัญ
ในการศึกษาทั้ง 2 รายการ ผลการศึกษาได้รับการประเมินที่แตกต่างกัน การศึกษาของ PEP ประเมินผลลัพธ์ใน 1 เดือน, 1 ปี และ 2 ปีหลังจากสิ้นสุดการทดลอง การศึกษา ZUMS วัดผลลัพธ์ใน 1 เดือนหลังจากสิ้นสุดการทดลอง เนื่องจากการศึกษามีความแตกต่างกันมากในแง่ของอายุของผู้เข้าร่วมวิจัย โปรแกรมการทดลอง ผลลัพธ์และระยะเวลาที่ประเมินผล ผู้วิจัยจึงรายงานผลการศึกษาแยกกัน

ความรู้เกี่ยวกับอาการมะเร็งเต้านม
ใน PEP: สตรีมีความรู้เกี่ยวกับอาการมะเร็งเต้านมดูเหมือนจะดีขึ้นบ้างหลังจากได้รับหนังสือเล่มเล็กหรือได้รับหนังสือเล่มเล็กที่เป็นลายลักษณ์อักษรร่วมกับมีการพูดคุย ผลลัพธ์เหล่านี้ดีขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับการดูแลตามปกติในการประเมินผล 2 ปีหลังการการทดลอง ใน ZUMS: การตระหนักรู้ของสตรีเกี่ยวกับอาการมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้นใน 1 เดือนหลังจากสิ้นสุดการทดลอง

ความรู้เกี่ยวกับความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับอายุ
ใน PEP: สตรีที่ได้รับหนังสือเล่มเล็กเป็นลายลักษณ์อักษรและมีปฏิสัมพันธ์กับผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสุขภาพ มีค่าคะแนนความรู้เกี่ยวกับความเสี่ยงเรื่องอายุคือหากมีอายุเพิ่มขึ้นจะทำให้มีความเสี่ยงมากขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับการดูแลตามปกติในการประเมิน 2 ปีหลังสิ้นสุดการทดลอง สำหรับสตรีที่ได้รับเฉพาะหนังสือเล่มเล็กมีความรู้เพิ่มขึ้นแต่น้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่มีการพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญร่วมด้วย ใน ZUMS: การศึกษานี้ประเมินได้เฉพาะในกรณีที่สตรีรับรู้ว่าตัวเองมีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งเต้านม การรับรู้ความเสี่ยงด้วยตนเองนี้เพิ่มขึ้นในหนึ่งเดือนหลังสิ้นสุดการทดลอง

รายงานผลการตรวจเต้านมด้วยตนเอง
ใน PEP: สตรีรายงานว่ามีการตรวจเต้านมทุกเดือนเพิ่มขึ้น แต่ไม่มากอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ในการประเมินผลในปีที่ 2 หลังการทดลองเมื่อเปรียบเทียบกับการดูแลตามปกติ ใน ZUMS: สตรีรายงานว่ามี "พฤติกรรมป้องกันมะเร็งเต้านม" เพิ่มขึ้นในการประเมินผล 1 เดือนหลังสิ้นสุดการทดลอง หากสรุปให้มีความเฉพาะผลการศึกษานี้หมายถึงการมีความเชื่อในเชิงบวกของพวกเขาที่มีต่อพฤติกรรมการตรวจเต้านมด้วยตนเอง

การตระหนักรู้เกี่ยวกับมะเร็งเต้านม
ใน PEP: การตระหนักรู้มะเร็งเต้านมของสตรีโดยรวมไม่เปลี่ยนแปลงหลังจากได้รับหนังสือเล่มเล็กเพียงอย่างเดียวเมื่อเปรียบเทียบกับการดูแลตามปกติในการประเมินผล 2 ปี หลังสิ้นสุดการทดลอง อย่างไรก็ตามการตระหนักรู้เกี่ยวกับมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้นในสตรีที่ได้รับหนังสือเล่มเล็กเป็นลายลักษณ์อักษรและมีปฏิสัมพันธ์กับผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสุขภาพ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมนี้เห็นได้เมื่อเปรียบเทียบกับการดูแลตามปกติในการติดตามประเมินผล 2 ปีหลังสิ้นสุดการทดลอง ใน ZUMS มีรายงานว่า "พฤติกรรมป้องกันมะเร็งเต้านม" ของสตรีมีเพิ่มขึ้นใน 1 เดือน

ไม่มีการศึกษาใดที่รายงานเกี่ยวกับประเด็นอื่น ๆ ของการตระหนักรู้เกี่ยวกับมะเร็งเต้านม ความตั้งใจที่จะขอความช่วยเหลือ คุณภาพชีวิต ผลข้างเคียงของการทดลอง หรือผลลัพธ์ที่เกี่ยวข้องกับมะเร็งเต้านม

คุณภาพของหลักฐาน
หลักฐานที่นำมาทบทวนได้รับการพิจารณาว่าการศึกษา PEP มีคุณภาพปานกลาง และการศึกษา ZUMS มีคุณภาพต่ำ ไม่มีการศึกษาใดอธิบายความหมายของ 'การตระหนักรู้เกี่ยวกับมะเร็งเต้านม' ได้ชัดเจน การที่การศึกษาที่นำมาทบทวนไม่มีคุณภาพสูงทำให้เรามีความสามารถที่จำกัดในการหาข้อสรุปจากผลการทบทวนวรรณกรรม อย่างไรก็ตามผลการศึกษาของ PEP ชี้ให้เห็นว่าการรวมข้อมูลที่เป็นลายลักษณ์อักษรและการอภิปรายแบบตัวต่อตัวกับผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสุขภาพมีผลในระยะยาวในการเพิ่มการตระหนักรู้เกี่ยวกับมะเร็งเต้านมของสตรี ในอนาคตการศึกษาควรใช้กลุ่มตัวอย่างที่มีขนาดใหญมากขึ้นและติดตามสตรีเป็นระยะเวลานานมากขึ้น

บทนำ

มะเร็งเต้านมยังคงเป็นมะเร็งที่ได้รับการวินิจฉัยบ่อยที่สุดในสตรีทั่วโลก การตรวจหา การวินิจฉัยและการรักษามะเร็งเต้านมในระยะเริ่มต้นเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ผลลัพธ์ดีขึ้น เนื่องจากสตรีจำนวนมากจะค้นพบอาการของมะเร็งเต้านมด้วยตนเอง สิ่งสำคัญคือพวกเธอต้องมีการตระหนักรู้ถึงมะเร็งเต้านมเช่นมีความรู้ ทักษะและมีความมั่นใจในการตรวจค้นหาการเปลี่ยนแปลงของเต้านมและรายงานต่อแพทย์โดยทันที

วัตถุประสงค์

เพื่อประเมินประสิทธิผลของกิจกรรมการสร้างความตระหนักรู้เรื่องมะเร็งเต้านมในสตรี

วิธีการสืบค้น

เราสืบค้นจากทะเบียนเฉพาะของ Cochrane Breast Cancer Group (สืบค้นเมื่อ 25 มกราคม 2016), ทะเบียน Cochrane Central Register of Controlled Trials (CENTRAL; 2015, Issue 12) ใน Cochrane Library (สืบค้น 27 มกราคม 2016), MEDLINE OvidSP (2008 ถึง 27 มกราคม 2016) , Embase (Embase.com, 2008 ถึง 27 มกราคม 2016) the World Health Organization’s International Clinical Trials Registry Platform (ICTRP) search portal และ ClinicalTrials.gov (สืบค้นเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2016) นอกจากนี้เรายังสืบค้นจากรายการอ้างอิงที่ระบุไว้ในบทความและบทวิจารณ์ทีสืบค้นได้ ุและงานวิจัยที่เผยแพร่ในเอกสารการประชุมวิชาการและบทคัดย่อที่ตีพิมพ์ โดยไม่มีข้อจำกัดด้านภาษา

เกณฑ์การคัดเลือก

การทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม (RCTs) มุ่งเน้นไปที่การทำกิจกรรมเพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับมะเร็งเต้านมของสตรี เช่นความรู้เกี่ยวกับอาการ / การเปลี่ยนแปลงของมะเร็งเต้านมที่อาจเกิดขึ้นและความมั่นใจในการสำรวจและคลำหน้าอกโดยใช้วิธีการสร้างความตระหนักรู้แบบใดก็ได้เช่นแบบตัวต่อตัว / กลุ่ม / แคมเปญสื่อมวลชน

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล

ผู้ประพันธ์การทบทวนบทความจำนวน 2 คนทำงานอย่างเป็นอิสระต่อกันในการคัดลอกข้อมูลและประเมินความเสี่ยงของการมีอคติ เรารายงาน odds ratio (OR) และช่วงความเชื่อมั่น 95% (CIs) สำหรับผลลัพธ์ที่แบ่งเป็นสองกลุ่มและความแตกต่างค่าเฉลี่ย (MD) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (SD) สำหรับผลลัพธ์ที่เป็นข้อมูลต่อเนื่อง เราไม่สามารถรวมข้อมูลจากการศึกษาที่นำมาทบทวนได้ เนื่องจากการศึกษาทั้งหมดมีความแตกต่างกัน เราจึงนำเสนอผลการสังเคราะห์ในรูปแบบบรรยาย เราได้ประเมินคุณภาพของหลักฐานที่ได้โดยวิธีการของเกรด (GRADE)

ผลการวิจัย

เราได้รวมการศึกษา RCT 2 รายการ ที่มีผู้เข้าร่วมวิจัยเป็นสตรีจำนวน 997 คน: การศึกษาแบบ RCT 1 รายการ (สตรี 867 คน) ได้สุ่มสตรีที่เข้าร่วมวิจัย เข้ากลุ่มที่ได้รับหนังสือเล่มเล็กที่เป็นลายลักษณ์อักษรและได้รับการดูแลตามปกติ (กลุ่มทดลองกลุ่มที่ 1) หรือเข้ากลุ่มที่ได้รับหนังสือเล่มเล็กที่เป็นลายลักษณ์อักษรและการดูแลตามปกติรวมถึงการโต้ตอบทางวาจากับนักถ่ายภาพรังสีหรือนักวิจัยที่เป็นนักจิตวิทยา (กลุ่มทดลองกลุ่มที่ 2) หรือการดูแลตามปกติ (กลุ่มควบคุม); และ การวิจัยแบบ RCT เรื่องที่ 2 (สตรี 130 คน) ได้สุ่มสตรีเข้ากลุ่มที่ได้รับโปรแกรมการศึกษา (3 ครั้ง ครั้งละ 60 ถึง 90 นาที) หรือเข้ากลุ่มที่ไม่มีการทำกิจกรรมใดๆ (กลุ่มควบคุม)

ความรู้เกี่ยวกับอาการมะเร็งเต้านม

ในการศึกษาเรื่องแรก ในกลุ่มทดลองกลุ่มที่ 1 ผู้เข้าร่วมวิจัยมีความรู้เกี่ยวกับอาการที่ไม่ใช่ก้อนเนื้อเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม ในการประเมินผลหลังการทดลองไปแล้ว 2 ปี แต่ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ (OR 1.1, 95% CI 0.7 ถึง 1.6; P = 0.66; สตรี 449 คน; คุณภาพของหลักฐานอยู่ในระดับปานกลาง) เช่นเดียวกัน ในการประเมินผลหลังจากสิ้นสุดการทดลองไปแล้ว 2 ปี ผู้เข้าร่วมการวิจัยในกลุ่มการทดลองที่ 2 มีความรู้เกี่ยวกับอาการมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม แต่ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ (OR 1.4, 95% CI 0.9 ถึง 2.1; P = 0.11; สตรี 434 คน; คุณภาพของหลักฐานอยู่ในระดับปานกลาง) ในการศึกษาเรื่องที่ 2 การตระหนักรู้ของสตรีเกี่ยวกับอาการมะเร็งเต้านมในกลุ่มที่ได้รับการทดลองโดยการได้รับการศึกษาเพิ่มขึ้นในการประเมินผล 1 เดือนหลังจากสิ้นสุดการทดลอง (MD 3.45, SD 5.11; สตรี 65 คน; คุณภาพของหลักฐานอยู่ในระดับต่ำ) เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม (MD −0.68, SD 5.93; สตรี 65 คน; P <0.001) ซึ่งมีการตระหนักรู้ลดลง

ความรู้เกี่ยวกับความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับอายุ

ในการศึกษาเรื่องแรก ในกลุ่มทดลองกลุ่มที่ 1 ผู้เข้าร่วมวิจัยมีความรู้เกี่ยวกับความเสี่ยงต่อโอกาสการเป็นมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้นตามอายุที่เพิ่มมากขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม ในการประเมินผลหลังการทดลองไปแล้ว 2 ปี แต่ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ (OR 1.8, 95% CI 0.9 ถึง 3.5; P < 0.08; สตรี 447 คน; คุณภาพของหลักฐานอยู่ในระดับปานกลาง) ผู้เข้าร่วมวิจัยมีความรู้เกี่ยวกับความเสี่ยงต่อโอกาสการเป็นมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในการทดลองกลุ่มที่ 2 เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม ในการประเมินผลหลังการทดลองไปแล้ว 2 ปี (OR 4.8, 95% CI 2.6 ถึง 9.0; P < 0.001; สตรี 431 คน; คุณภาพของหลักฐานอยู่ในระดับปานกลาง) ในการศึกษาเรื่องที่ 2 สตรีในกลุ่มทดลองที่ได้รับการศึกษามีการรับรู้ต่อตนเองถึงความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในการประเมินผล 1 เดือนหลังจากสิ้นสุดการทดลอง (MD 1.31, SD 3.57; สตรี 65 คน; คุณภาพของหลักฐานอยู่ในระดับต่ำ) เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม (MD −0.55, SD 3.31; สตรี 65 คน; P = 0.005) ในขณะที่พบว่ามีการรับรู้ต่อตนเองถึงความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมลดลง

ความถี่ของการตรวจเต้านม

ในการศึกษาเรื่องแรก ไม่พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญสำหรับผู้เข้าร่วมวิจัยในกลุ่มทดลองกลุ่มที่ 1 เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม ในการประเมินผลหลังการทดลองไปแล้ว 2 ปี (OR 1.1, 95% CI 0.8 ถึง 1.6; P = 0.54; สตรี 457 คน; คุณภาพของหลักฐานอยู่ในระดับปานกลาง) ผู้เข้าร่วมวิจัยมีการตรวจเต้านมทุกเดือนเพิ่มมากขึ้นแต่ไม่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ ในการทดลองกลุ่มที่ 2 เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม ในการประเมินผลหลังการทดลองไปแล้ว 2 ปี (OR 1.3, 95% CI 0.9 ถึง 1.9; P = 0.14; สตรี 445 คน; คุณภาพของหลักฐานอยู่ในระดับปานกลาง) ในการศึกษาเรื่องที่ 2 พฤติกรรมการป้องกันการเป็นมะเร็งเต้านมของสตรีในกลุ่มที่ได้รับการทดลองโดยการได้รับการศึกษาเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในการประเมินผล 1 เดือนหลังจากสิ้นสุดการทดลอง (MD 1.21, SD 2.54; สตรี 65 คน; คุณภาพของหลักฐานอยู่ในระดับต่ำ) เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม (MD 0.15, SD 2.94; สตรี 65 คน; P <0.045)

การตระหนักรู้เกี่ยวกับมะเร็งเต้านม

การตระหนักรู้เกี่ยวกับมะเร็งเต้านมโดยรวมของสตรีไม่เปลี่ยนแปลงในกลุ่มการทดลองกลุ่มที่ 1 เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมในการประเมินผล 2 ปีหลังสิ้นสุดการทดลอง (OR 1.8, 95% CI 0.6 ถึง 5.30; P = 0.32; สตรี 435 คน; คุณภาพของหลักฐานอยู่ในระดับปานกลาง) ในขณะที่การตระหนักรู้โดยรวมเพิ่มขึ้นในกลุ่มการทดลองกลุ่มที่ 2 เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมในการประเมินผล 2 ปีหลังสิ้นสุดการทดลอง (OR 8.1, 95% CI 2.7 ถึง 25.0; P <0.001; สตรี 420 คน; คุณภาพของหลักฐานอยู่ในระดับปานกลาง) ในการศึกษาเรื่องที่ 2 มีคะแนนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเกี่ยวกับแบบจำลองความเชื่อด้านสุขภาพ (ซึ่งรวมถึงโครงสร้างของการตระหนักรู้และการรับรู้ความไวต่อความเสี่ยงที่จะเกิด) ในการประเมินผล 1 เดือนหลังสิ้นสุดการทดลองในกลุ่มทดลองที่ได้รับความรู้ (ค่าเฉลี่ย 1.21, SD 2.54; สตรี 65 คน) เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม (ค่าเฉลี่ย 0.15, SD 2.94; สตรี 65 คน; P = 0.045)

ไม่มีการศึกษาใดรายงานผลลัพธ์ที่เกี่ยวข้องกับแรงจูงใจในการตรวจเต้านมของตนเอง ความมั่นใจในการขอความช่วยเหลือ ระยะเวลาตั้งแต่การค้นพบอาการเต้านมจนถึงการไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ความตั้งใจที่จะขอความช่วยเหลือ คุณภาพชีวิต ผลข้างเคียงของการทดลอง ระยะของมะเร็งเต้านม ประมาณการการอยู่รอด หรืออัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งเต้านม

ข้อสรุปของผู้วิจัย

บนพื้นฐานจากผลการวิจัยแบบ RCT 2 เรื่อง พบว่าการได้รับกิจกรรมการทดลองในระยะเวลาสั้น ๆ มีแนวโน้มในการเพิ่มการตระหนักรู้เกี่ยวกับมะเร็งเต้านมของสตรี อย่างไรก็ตามควรแปลความข้อค้นพบของการทบทวนนี้ด้วยความระมัดระวัง เนื่องจากบนฐานการประเมิน GRADE พบว่าหลักฐานมีคุณภาพระดับปานกลางใน 1 การศึกษาจาก 2 การศึกษาที่นำมาทบทวน นอกจากนี้การทดลองที่นำมาทบทวนมีความแตกต่างกันในแง่ของกิจกรรมการทดลอง ประชากรที่ศึกษาและเครื่องมือประเมินผลลัพธ์ ดังนั้นหลักฐานในปัจจุบันจึงไม่สามารถนำไปขยายต่อในบริบทที่กว้างขึ้น การศึกษาเพิ่มเติมรวมถึงมีขนาดของกลุ่มตัวอย่างที่ใหญ่ เครื่องมือในการประเมินผลลัพธ์มีการตรวจสอบความตรง และติดตามประเมินผลในระยะยาวเป็นสิ่งที่จะเชื่อถือได้

บันทึกการแปล

แปลโดย สมพร รุ่งเรืองกลกิจ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2021

Citation
O'Mahony M, Comber H, Fitzgerald T, Corrigan MA, Fitzgerald E, Grunfeld EA, Flynn MG, Hegarty J. Interventions for raising breast cancer awareness in women. Cochrane Database of Systematic Reviews 2017, Issue 2. Art. No.: CD011396. DOI: 10.1002/14651858.CD011396.pub2.