ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ประโยชน์และความเสี่ยงของการใช้การทดสอบความสมบูรณ์ของปอดเพื่อประเมินว่าทารกแรกเกิดที่คลอดก่อนกำหนดจำเป็นต้องได้รับการบำบัดด้วยสารลดแรงตึงผิวเพื่อปรับปรุงการทำงานของปอดหรือไม่

ใจความสำคัญ

• กลุ่มอาการหายใจลำบากเป็นภาวะที่พบบ่อยในทารกคลอดก่อนกำหนด ในขณะที่ประโยชน์ของการรักษาด้วยสารลดแรงตึงผิวที่ได้รับคำแนะนำจากการทดสอบความสมบูรณ์ของปอดยังไม่ชัดเจน

• ไม่มีการศึกษารายงานการเสียชีวิตของทารกแรกเกิด (28 วันแรกของชีวิต) หรือผลลัพธ์ด้านพัฒนาการทางระบบประสาท ไม่แน่ใจว่าการรักษาด้วยสารลดแรงตึงผิวที่ได้รับคำแนะนำโดยการทดสอบความสมบูรณ์ของปอดจะส่งผลต่อการเสียชีวิตก่อนออกจากโรงพยาบาลหรือไม่ การรักษาด้วยสารลดแรงตึงผิวที่ได้รับคำแนะนำจาก rapid tests สำหรับการขาดสารลดแรงตึงผิวอาจส่งผลเล็กน้อยหรือไม่แตกต่างเลยในการเกิดโรคปอดเรื้อรังที่เกิดจากการคลอดก่อนกำหนดหรือที่เรียกว่า bronchopulmonary dysplasia ความต้องการในการรักษาด้วยสารลดแรงตึงผิว หรือภาวะปอดแตก (pneumothorax) ใดๆ ก็ตามที่เป็นปอดยุบแฟบ

• จำเป็นต้องมีการศึกษาเพื่อเปรียบเทียบการรักษาด้วยสารลดแรงตึงผิวโดยการทดสอบ rapid tests สำหรับการขาดสารลดแรงตึงผิว เปรียบเทียบกับการให้สารลดแรงตึงผิวเพื่อป้องกันโรค (การให้สารลดแรงตึงผิวก่อนเริ่มมีอาการ) ในทารกที่มีความเสี่ยงสูงทุกราย

การทดสอบความสมบูรณ์ของปอดคืออะไร

สารลดแรงตึงผิวเป็นส่วนผสมที่ซับซ้อนประกอบด้วยโปรตีนและฟอสโฟลิปิด โปรตีนช่วยในการแพร่กระจายและการดูดซึมที่พื้นผิวของปอด ในขณะที่ไขมันจะช่วยลดแรงตึงผิว และป้องกันการยุบแฟบของปอดเมื่อสิ้นสุดการหายใจออก (นั่นคือตอนที่อากาศออกจากปอด) ทารกคลอดก่อนกำหนดมีความเสี่ยงต่ออาการหายใจลำบากซึ่งเกิดขึ้นเมื่อปอดไม่พัฒนาอย่างเหมาะสม เกิดจากการขาดสารลดแรงตึงผิว ดังนั้น การให้สารลดแรงตึงผิวจึงเป็นสิ่งที่ทำบ่อยในทารกที่คลอดก่อนกำหนด จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีความเห็นพ้องต้องกันเกี่ยวกับข้อบ่งชี้และเวลาสำหรับการบำบัดทดแทนด้วยสารลดแรงตึงผิว เมื่อพิจารณาถึงวิธีการให้ซึ่งเป็นหัตถการที่รุกรานและค่าใช้จ่าย จุดมุ่งหมายคือเพื่อให้มีการให้อย่างทันท่วงทีและหลีกเลี่ยงการรักษาที่มากเกินไป การทดสอบความสมบูรณ์ของปอดโดย rapid test (เช่น การทดสอบ click test, lamellar body counts และ stable microbubble test) เป็นการวัดความเข้มข้นของสารลดแรงตึงผิวในปอดในของเหลวใดๆ การทดสอบเหล่านี้สามารถทำได้กับน้ำคร่ำ ซึ่งเป็นของเหลวชนิดแรกที่ดูดจากกระเพาะอาหารหรือหลอดลม (หลอดลม) ทันทีหลังคลอด เพื่อประเมินระดับของการขาดสารลดแรงตึงผิว การใช้ rapid tests อาจเป็นแนวทางในการระบุทารกที่ต้องการใช้สารลดแรงตึงผิว

เราต้องการค้นหาอะไร

เราต้องการทราบว่าการใช้การทดสอบความสมบูรณ์ของปอดในทารกคลอดก่อนกำหนดดีกว่าการให้สารลดแรงตึงผิวก่อนเริ่มมีอาการหายใจลำบาก (การให้สารลดแรงตึงผิวเพื่อป้องกันโรค) ในทารกที่มีความเสี่ยงสูงทั้งหมดหรือการรักษาด้วยสารลดแรงตึงผิวที่ให้กับทารกที่มีอาการหายใจลำบากที่ได้รับการวินิจฉัยทางคลินิก และเกณฑ์ทางรังสีวิทยา

นอกจากนี้เรายังต้องการค้นหาว่าการใช้สารลดแรงตึงผิวตามการทดสอบการเจริญเติบโตของปอดในทารกคลอดก่อนกำหนดมีความสัมพันธ์กับการลดลงของผลลัพธ์เชิงลบหรือไม่ เช่น การเสียชีวิต โรคปอดเรื้อรังที่เกิดจากการคลอดก่อนกำหนด หรือปอดยุบแฟบใด ๆ หรือไม่ โรคปอดเรื้อรังจากการคลอดก่อนกำหนดเป็นปัญหาสำคัญสำหรับทารกคลอดก่อนกำหนด ซึ่งสัมพันธ์กับอัตราการเสียชีวิตที่สูงขึ้นและผลลัพธ์ที่แย่ลงในกลุ่มผู้รอดชีวิต การอักเสบของปอดเรื้อรังเนื่องจากการใช้เครื่องช่วยหายใจเป็นเวลานานเพื่อการหายใจเป็นสาเหตุที่เป็นไปได้มากที่สุด การให้สารลดแรงตึงผิวสามารถช่วยในการเลิกจากการช่วยหายใจ และด้วยเหตุนี้จึงป้องกันทารกแรกเกิดไม่ให้เป็นโรคปอดเรื้อรังที่เกิดจากการคลอดก่อนกำหนด

เราทำอะไร

เราค้นหาการศึกษาที่ศึกษาการรักษาด้วยสารลดแรงตึงผิวซึ่งมีคำแนะนำจาก rapid test ประเภทต่างๆ สำหรับการเจริญเติบโตของปอด เปรียบเทียบกับการให้สารลดแรงตึงผิวเพื่อป้องกันในทารกที่มีความเสี่ยงสูงทั้งหมดหรือการรักษาด้วยสารลดแรงตึงผิวที่ให้กับทารกที่มีอาการหายใจลำบากที่ได้รับการวินิจฉัยตามเกณฑ์ทางคลินิกและรังสีวิทยา

เราเปรียบเทียบและสรุปผลการศึกษาและให้คะแนนความเชื่อมั่นของหลักฐาน โดยพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ เช่น วิธีการศึกษาและขนาดการศึกษา

เราพบอะไร

เราพบการศึกษา 3 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับทารกคลอดก่อนกำหนด 562 ราย ที่ได้รับการรักษาด้วยสารลดแรงตึงผิวตามคำแนะนำของ rapid tests หรือตามหลักเกณฑ์ทางคลินิกและภาพเอ็กซ์เรย์หรืออัลตราซาวนด์

ผลลัพธ์หลักของการทบทวนนี้แสดงให้เห็นว่า ยังไม่แน่ใจอย่างมากว่าการรักษาด้วยสารลดแรงตึงผิวที่ได้รับคำแนะนำโดย rapid tests เพื่อประเมินการขาดสารลดแรงตึงผิวเมื่อเปรียบเทียบกับการบำบัดด้วยสารลดแรงตึงผิวที่ให้แก่ทารกที่มีอาการหายใจลำบากที่ได้รับการวินิจฉัยตามเกณฑ์ทางคลินิกและรังสีวิทยา มีผลต่อการเสียชีวิตก่อนออกจากโรงพยาบาลหรือไม่

การรักษาด้วยสารลดแรงตึงผิวที่ได้รับคำแนะนำจากการตรจ rapid tests สำหรับการขาดสารลดแรงตึงผิวอาจส่งผลแตกต่างกันเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยในการเกิดโรคปอดเรื้อรังจากการเกิดก่อนกำหนด ความต้องการสารลดแรงตึงผิว และปอดแฟบ

มีการศึกษาที่กำลังดำเนินอยู่ขนาดใหญ่สองเรื่องที่ประเมินการใฃ้อัลตราซาวนด์ช่วยในการให้สารลดแรงตึงผิวด้วย(การศึกษา 1 ฉบับ) และการประเมินการทำงานของปอดร่วมกับการประเมินทางคลินิกสำหรับการรักษาด้วยสารลดแรงตึงผิว (การศึกษา 1 ฉบับ)

ข้อจำกัดของหลักฐานคืออะไร

เราไม่มั่นใจในหลักฐานเนื่องจากมีการศึกษาไม่เพียงพอที่จะแน่ใจเกี่ยวกับผลของผลลัพธ์ของเรา สุดท้ายนี่ ไม่ใช่ทุกการศึกษาที่ให้ข้อมูลในสิ่งที่เราสนใจ

หลักฐานนี้เป็นปัจจุบันแค่ไหน

หลักฐานเป็นปัจจุบันถึงเดือนตุลาคม 2022

บทนำ

การบริหารการให้สารลดแรงตึงผิวจากภายนอกหลายชนิดแสดงให้เห็นว่าลดการบาดเจ็บของปอดและอาการปอดแตก และเพิ่มการรอดชีวิตในทารกคลอดก่อนกำหนดที่มีภาวะการหายใจลำบาก (RDS) ไม่มีความเห็นที่ตรงกันเกี่ยวกับเกณฑ์ขั้นต่ำสำหรับการให้สารลดแรงตึงผิว เพื่อให้สารลดแรงตึงผิวได้ทันท่วงทีและหลีกเลี่ยงการรักษาที่มากเกินไป รวมถึงพิจารณาถึงความรุกล้ำของการให้และค่าใช้จ่ายด้วย การทดสอบอย่างรวดเร็วเพื่อประเมินการเจริญเติบโตของปอด ซึ่งรวมถึง click test, lamellar body counts และ stable mocrobubble test อาจใช้เพื่อระบุทารกที่ต้องการใช้สารลดแรงตึงผิว

วัตถุประสงค์

เพื่อประเมินผลของการรักษาด้วยสารลดแรงตึงผิวโดยการทดสอบอย่างรวดเร็วสำหรับการขาดสารลดแรงตึงผิวในทารกคลอดก่อนกำหนดที่มีความเสี่ยงหรือมี RDS

การเปรียบเทียบ 1: ในทารกคลอดก่อนกำหนดที่มีความเสี่ยงต่อ RDS การรักษาด้วยสารลดแรงตึงผิวที่พิจารณาจากการทดสอบอย่างรวดเร็ว (Rapid test) สำหรับการขาดสารลดแรงตึงผิว เมื่อเปรียบเทียบกับการให้สารลดแรงตึงผิวเชิงป้องกันแก่ทารกที่มีความเสี่ยงสูงทุกคนจะช่วยลดความจำเป็นในการรักษาด้วยสารลดแรงตึงผิว และป้องกันโรคปอดเรื้อรังในทารกเกิดก่อนกำหนด (bronchopulmonary dysplasia) และการเสียชีวิตหรือไม่

การเปรียบเทียบ 2: ในทารกคลอดก่อนกำหนดที่ต้องการการช่วยหายใจตั้งแต่เนิ่นๆ การรักษาด้วยสารลดแรงตึงผิวที่พิจารณาจาก rapid test สำหรับการขาดสารลดแรงตึงผิว เมื่อเปรียบเทียบกับการรักษาด้วยสารลดแรงตึงผิวที่ให้กับทารกที่มี RDS ที่ได้รับการวินิจฉัยตามเกณฑ์ทางคลินิกและรังสีวิทยา ช่วยลดความจำเป็นในการรักษาด้วยสารลดแรงตึงผิว และป้องกันภาวะปอดเรื้อรังในทารกเกิดก่อนกำหนด (bronchopulmonary dysplasia) และการเสียชีวิตหรือไม่

วิธีการสืบค้น

เราสืบค้นจาก CENTRAL, PubMed, Embase และทะเบียนการทดลองเพิ่มเติมอีก 3 แหล่ง ในเดือนตุลาคม 2022 นอกจากนี้เรายังคัดกรองจากรายการอ้างอิงของการศึกษาที่รวบรวมไว้และจากการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบที่เกี่ยวข้องสำหรับการศึกษาที่ไม่สามารถพบได้จากการค้นหาฐานข้อมูล

เกณฑ์การคัดเลือก

เรารวมการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม (randomized controlled trials; RCTs) และ quasi-RCTs ที่ประเมิน rapid test หลังคลอดเพื่อประเมินการขาดสารลดแรงตึงผิวในทารกที่มีความเสี่ยงสูงต่อ RDS หรือต้องการการช่วยหายใจ

มีการเปรียบเทียบ 2 รายการ: 1) การรักษาด้วยสารลดแรงตึงผิวที่แนะนำโดยการทดสอบอย่างรวดเร็วสำหรับการขาดสารลดแรงตึงผิว เทียบกับการให้สารลดแรงตึงผิวเชิงป้องกันแก่ทารกที่มีความเสี่ยงสูงทุกรายที่คลอดก่อนกำหนดมากมาก (ตั้งครรภ์น้อยกว่า 28 สัปดาห์) และคลอดก่อนกำหนดมาก (ตั้งครรภ์ 28 ถึง 32 สัปดาห์) 2) การรักษาด้วยสารลดแรงตึงผิวเมื่อการตรวจ rapid tests แล้วพบว่าขาดสารลดแรงตึงผิว เทียบกับการรักษาด้วยสารลดแรงตึงผิวสำหรับทารกที่คลอดก่อนกำหนดทุกราย (อายุครรภ์น้อยกว่า 37 สัปดาห์) โดยมีการวินิจฉัย RDS ตามเกณฑ์ทางคลินิกและรังสีวิทยา

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล

เราใช้วิธีตามมาตรฐานของ Cochrane เราใช้แบบจำลองผลกระทบคงที่ที่มีอัตราส่วนความเสี่ยง (risk ratio; RR) และส่วนต่างความเสี่ยง (risk difference; RD) โดยมีช่วงความเชื่อมั่น 95% (confidence intervals; CIs) สำหรับข้อมูลแบบสองทางเลือก ผลลัพธ์หลักของเราคือ การเสียชีวิตของทารกแรกเกิด, การเสียชีวิตก่อนออกจากโรงพยาบาล, BPD และรวมถึงการเสียชีวิตจาก BPD เราใช้ GRADE เพื่อประเมินความเชื่อมั่นของหลักฐาน

ผลการวิจัย

เรารวบรวม RCTs 3 ฉบับที่ลงทะเบียนทารกแรกเกิด 562 คนในการทบทวนวรรณกรรมครั้งนี้

ไม่มีการศึกษาเปรียบเทียบการรักษาด้วยสารลดแรงตึงผิวโดยการทดสอบอย่างรวดเร็วสำหรับการขาดสารลดแรงตึงผิว เทียบกับการให้สารลดแรงตึงผิวเพื่อป้องกันกับทารกที่มีความเสี่ยงสูงทุกคน

การเปรียบเทียบการรักษาด้วยสารลดแรงตึงผิวที่ได้รับคำแนะนำโดยการทดสอบอย่างรวดเร็วสำหรับการขาดสารลดแรงตึงผิวกับการรักษาด้วยสารลดแรงตึงผิวที่มอบให้กับทารกที่มี RDS ที่ได้รับการวินิจฉัยตามเกณฑ์ทางคลินิกและรังสีวิทยา

ไม่มีการศึกษารายงานการเสียชีวิตของทารกแรกเกิด เมื่อเปรียบเทียบกับการบำบัดด้วยสารลดแรงตึงผิวที่ให้แก่ทารกที่มี RDS ที่ได้รับการวินิจฉัยตามเกณฑ์ทางคลินิกและรังสีวิทยา หลักฐานมีความไม่แน่นอนอย่างมากเกี่ยวกับผลของการรักษาด้วยสารลดแรงตึงผิว โดยใช้การทดสอบอย่างรวดเร็วสำหรับการขาดสารลดแรงตึงผิวต่อการเสียชีวิตก่อนออกจากโรงพยาบาล: RR 1.25, 95% CI 0.65 ถึง 2.41, RD 0.01, 95% CI -0.03 ถึง 0.05, ผู้เข้าร่วม 562 คน, การศึกษา 3 ฉบับ; I² สำหรับ RR และ RD = 75% และ 43% ตามลำดับ; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก การบำบัดด้วยสารลดแรงตึงผิวที่ได้รับคำแนะนำโดยการทดสอบอย่างรวดเร็วสำหรับการขาดสารลดแรงตึงผิวอาจส่งผลให้เกิดโรคปอดเรื้อรังในทารกเกิดก่อนกำหนดต่างกันเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย: RR 0.90, 95% CI 0.61 ถึง 1.32, RD -0.02, 95% CI -0.08 ถึง 0.04, ผู้เข้าร่วม 562 คน, การศึกษา 3 ฉบับ; I² สำหรับ RR และ RD = 0%; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ ไม่มีการศึกษารายงานผลรวมของโรคปอดเรื้อรังในทารกเกิดก่อนกำหนดหรือการเสียชีวิต การรักษาด้วยสารลดแรงตึงผิวที่ใฃ้การตรวจ rapid tests เพื่อประเมินการขาดสารลดแรงตึงผิวอาจส่งผลให้การใช้สารลดแรงตึงผิวมีความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีความแตกต่างเลย (RR 0.97, 95% CI 0.85 ถึง 1.11, RD -0.02, 95% CI -0.10 ถึง 0.06, ผู้เข้าร่วม 562 คน, การศึกษา 3 ฉบับ, I² สำหรับ RR และ RD = 63% และ 65% ตามลำดับ หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) และ pneumothorax ใดๆ (RR 0.53, 95% CI 0.15 ถึง 1.92, RD -0.01, 95% CI -0.04 ถึง 0.01, ผู้เข้าร่วม 506 คน, การศึกษา 2 ฉบับ, I² สำหรับ RR และ RD = 0% หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) เปรียบเทียบกับการรักษาด้วยสารลดแรงตึงผิวที่ให้แก่ทารกที่มี RDS ที่ได้รับการวินิจฉัยตามเกณฑ์ทางคลินิกและรังสีวิทยา ไม่มีการศึกษารายงานความบกพร่องทางพัฒนาการทางระบบประสาทปานกลางถึงรุนแรง

เราพบ RCT ขนาดใหญ่ 2 ฉบับที่กำลังดำเนินอยู่

ข้อสรุปของผู้วิจัย

ไม่มีการศึกษาเปรียบเทียบการรักษาด้วยสารลดแรงตึงผิวจากการตรวจ rapid tests สำหรับการขาดสารลดแรงตึงผิว เทียบกับการให้สารลดแรงตึงผิวเพื่อป้องกันกับทารกที่มีความเสี่ยงสูงทุกคน มีหลักฐานความเชื่อมั่นต่ำถึงต่ำมากจากการศึกษา 3 ฉบับเกี่ยวกับการบำบัดด้วยสารลดแรงตึงผิว โดยพิจารณาจากการตรวจ rapid tests สำหรับการขาดสารลดแรงตึงผิว เทียบกับการบำบัดด้วยสารลดแรงตึงผิวที่ให้กับทารกที่มี RDS ที่ได้รับการวินิจฉัยตามเกณฑ์ทางคลินิกและรังสีวิทยา ไม่มีการศึกษาที่รายงานการเสียชีวิตของทารกแรกเกิด ผลลัพธ์เชิงประกอบ 'โรคปอดเรื้อรังจากการคลอดก่อนกำหนดหรือการเสียชีวิต' หรือผลลัพธ์ด้านพัฒนาการทางระบบประสาท เมื่อเปรียบเทียบกับการบำบัดด้วยสารลดแรงตึงผิวที่ให้แก่ทารกที่มี RDS ที่ได้รับการวินิจฉัยตามเกณฑ์ทางคลินิกและรังสีวิทยา หลักฐานมีความไม่แน่นอนอย่างมากเกี่ยวกับผลของการรักษาด้วยสารลดแรงตึงผิว โดยได้รับคำแนะนำจากการตรวจ rapid test สำหรับการขาดสารลดแรงตึงผิวต่อการเสียชีวิตก่อนออกจากโรงพยาบาล: การรักษาด้วยสารลดแรงตึงผิวที่ได้รับคำแนะนำจากการตรจ rapid tests สำหรับการขาดสารลดแรงตึงผิวอาจส่งผลให้เกิดโรคปอดเรื้อรังจากการเกิดก่อนกำหนด การใฃ้สารลดแรงตึงผิว และปอดแตก แตกต่างกันเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย

ข้อค้นพบของการทดลองขนาดใหญ่ที่กำลังดำเนินอยู่ทั้งสองรายการที่พบในการทบทวนนี้มีแนวโน้มที่จะมีผลกระทบสำคัญต่อการสร้างผลกระทบของการรักษาด้วยสารลดแรงตึงผิว โดยได้รับคำแนะนำจากการรวจ rapid tests สำหรับการขาดสารลดแรงตึงผิวในทารกที่คลอดก่อนกำหนด

บันทึกการแปล

แปลโดย พญ.วิลาสินี หน่อแก้ว โรงพยาบาลมะเร็งอุบลราชธานี Edit โดย พ.ญ. ผกากรอง ลุมพิกานนท์ 25 กันยายน 2024

Citation
Sibrecht G, Kearl CR, Borys F, Morariu M, Bruschettini M, Soll R. Surfactant therapy guided by tests for lung maturity in preterm infants at risk of respiratory distress syndrome. Cochrane Database of Systematic Reviews 2023, Issue 10. Art. No.: CD013158. DOI: 10.1002/14651858.CD013158.pub2.