ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

การเปรียบเทียบระหว่างการอัลตราซาวน์กับการตรวจ CT scan เพื่อตรวจหา endoleak ภายหลังการรักษาโรคหลอดเลือดแดงใหญ่ในช่องท้องโป่งพองผ่านวิธีการสวนหลอดเลือด

ความเป็นมา

หลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองบริเวณช่องท้อง (abdominal aortic aneurysm; AAA) เป็นโรคที่มีอาการบวมหรือขยายตัวเฉพาะที่ของหลอดเลือดขนาดใหญ่ที่ส่งเลือดไปที่ช่องท้อง (ท้อง) กระดูกเชิงกรานและขา ผู้ป่วยที่มีหลอดเลือดแดงช่องท้องโป่งพองจะเสี่ยงต่อการเสียชีวิตกะทันหันเพราะหลอดเลือดแดงใหญ่ในช่องท้องแตก เมื่อตรวจพบแล้ว แนะนำให้ทำการรักษาเมื่อ AAA มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางมากกว่าประมาณ 5 ซม. ปัจจุบันการรักษาส่วนใหญ่ใช้หลอดเลือดเทียมวางภายในหลอดเลือดโป่งพองโดยใช้เครื่องเอกซเรย์เป็นตัวช่วยระบุตำแหน่งความผิดปกติ (การผ่าตัดใส่หลอดเลือดเทียมผ่านทางหลอดเลือดแดง (endovascular aneurysm repair); EVAR)

เมื่อมีการวางผนังหลอดเลือดใหม่อาจเกิดการรั่วที่ขอบของหลอดเลือดเทียมหรือเกิดการไหลย้อนกลับของเลือดเข้ามาใน AAA sac จากแขนงของหลอดเลือด เราเรียกสิ่งเหล่านี้ว่าการเกิด endoleak ซึ่ง endoleaks มักเกิดขึ้นภายหลังการทำ EVAR โดยเกิดขึ้นในผู้ป่วยประมาณ 40% ในระหว่างการติดตามการรักษา endoleak อาจมีความเกี่ยวข้องกับการแตกของหลอดเลือดโป่งพองในภายหลัง (late aneurysm rupture) ดังนั้นการตรวจวินิจฉัยและเฝ้าติดตามจึงเป็นสิ่งสำคัญ การอัลตราซาวนด์ (ใช้คลื่นเสียงความถี่สูง) การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (ใช้รังสีเอกซ์) และการสแกนด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (ใช้สนามแม่เหล็กแรงสูงและคลื่นวิทยุ) ล้วนมีการใช้ในการตรวจวินิจฉัยและเฝ้าติดตามการเกิด endoleak ในบางกรณีมีการฉีดสารทึบรังสี (contrast) เข้าไปในหลอดเลือดดำเพื่อเพิ่มความแม่นยำของการอัลตราซาวนด์ (contrast-enhanced ultrasound)

ลักษณะของการศึกษา

เราได้รวบรวมหลักฐานล่าสุด (ถึงกรกฎาคม 2016) และดำเนินการวิเคราะห์เมตต้าตามวิธีการที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการวิจัยเกี่ยวกับการวินิจฉัย เรารวบรวมการศึกษา 42 ฉบับ มีผู้เข้าร่วม 4220 คนในงานวิจัยที่เป็นการทบทวนวรรณกรรมนี้

ผลการศึกษาที่สำคัญ

การวิเคราะห์เพื่อวัดความไว (การทดสอบนั้นจะระบุคนที่เกิด endoleak ได้ถูกต้องเพียงใด) และความจำเพาะ (การทดสอบนั้นจะระบุคนที่ไม่มี endoleak ได้ถูกต้องเพียงใด) ค่าประมาณความแม่นยำโดยสรุปคือ ความไว 82% (66% ถึง 91% ช่วงความเชื่อมั่น 95%) และความจำเพาะ 93% (87% ถึง 96% ช่วงความเชื่อมั่น 95%) สำหรับการอัลตราซาวนด์โดยไม่ใช้สารทึบรังสี และมีความไว 94% (ช่วงความเชื่อมั่น 95% 85% ถึง 98% ) และความจำเพาะ 95% (ช่วงความเชื่อมั่น 95% 90% ถึง 98% ) สำหรับการอัลตราซาวนด์โดยใช้สารทึบรังสี การใช้สารทึบรังสีช่วยเพิ่มความไวของการอัลตราซาวนด์ได้อย่างมีนัยสำคัญ จากผลลัพธ์เหล่านี้เราคาดว่าจะสามารถระบุผู้ที่มี endoleaks ได้ถูกต้องจากการทำ contrast-enhanced ultrasound 94%

คุณภาพของหลักฐานงานวิจัย

การศึกษาที่ประเมินการใช้ contrast-enhanced ultrasound ใช้ระเบียบวิธีวิจัยที่ดีกว่าการศึกษาที่ประเมินการใช้ ultrasound เพียงอย่างเดียว

บทนำ

ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดแดงใหญ่ในช่องท้องโป่งพองที่ได้รับการรักษาด้วยวิธีการใส่หลอดเลือดเทียมผ่านทางหลอดเลือดแดง (endovascular aneurysm repair; EVAR) จำเป็นต้องได้รับการเฝ้าระวังทางการแพทย์ตลอดชีวิตเพื่อตรวจหา endoleak ที่อาจเกิดขึ้น endoleak คือการเกิดการไหลเวียนของเลือดอย่างต่อเนื่องภายในหลอดเลือดโป่งพองในช่องท้องภายหลังการทำ EVAR เอกซเรย์คอมพิวเตอร์หลอดเลือด (CT angiography) ถือเป็นมาตรฐานสูงสุดสำหรับการตรวจหา endoleak การตรวจอัลตราซาวนด์แบบดูเพล็กซ์ (colour duplex ultrasound; CDUS) และการตรวจอัลตราซาวนด์ช่องท้องโดยใช้สารทึบรังสี (contrast-enhanced CDUS; CE-CDUS) เป็นการตรวจที่มีการรุกล้ำน้อยกว่าแต่ความแม่นยำน้อยกว่าการตรวจ CT scan

วัตถุประสงค์

เพื่อวัดความแม่นยำในการวินิจฉัยระหว่าง colour duplex ultrasound (CDUS) และ contrast-enhanced-colour duplex ultrasound (CE-CDUS) ในแง่ของความไวและความจำเพาะในการตรวจหา endoleak ภายหลังการทำ EVAR

วิธีการสืบค้น

เราค้นหา MEDLINE, Embase, LILACS, ISI Conference Proceedings, Zetoc และการลงทะเบียนงานวิจัยในเดือนมิถุนายน ปี 2016 โดยไม่มีข้อจำกัดด้านภาษาและไม่ใช้การกรองข้อมูลเพื่อเพิ่มความไวให้สูงสุด

เกณฑ์การคัดเลือก

การศึกษาการวินิจฉัยแบบตัดขวางที่ประเมินผู้ได้รับการทำ EVAR โดยการอัลตราซาวนด์ (มีหรือไม่มีสารทึบรังสี) และการทำ CT scan เป็นระยะๆ

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล

นักวิจัย 2 คู่ได้ดึงข้อมูลและประเมินคุณภาพของการศึกษาที่รวบรวมมาโดยอิสระต่อกัน โดยใช้เครื่องมือ QUADAS 1 นักวิจัยคนที่ 3 เป็นผู้แก้ปัญหากรณีมีความเห็นที่ไม่ตรงกัน หน่วยของการวิเคราะห์คือจำนวนผู้เข้าร่วมสำหรับการวิเคราะห์ข้อมูลดิบและจำนวนการสแกนที่ดำเนินการสำหรับการสังเคราะห์ข้อมูลทุติยภูมิ เราดำเนินการวิเคราะห์เมตต้าเพื่อประเมินความไวและความจำเพาะของ CDUS หรือ CE-CDUS โดยใช้ bivariate model เราวิเคราะห์การทดสอบดัชนีแต่ละรายการแยกกัน เนื่องจากแหล่งข้อมูลอาจเกิดความแตกต่างของแต่ละงานวิจัย เราได้สำรวจปีที่ตีพิมพ์ ลักษณะของผู้เข้าร่วมโครงการ (อายุและเพศ) ทิศทางของการศึกษา (การศึกษาย้อนหลัง, การศึกษาไปข้างหน้า) ประเทศที่ทำวิจัย จำนวนผู้ปฏิบัติงาน CDUS และบริษัทผู้ผลิตอัลตราซาวนด์

ผลการวิจัย

เราระบุการศึกษาหลักจำนวน 42 ฉบับ ที่มีผู้เข้าร่วม 4220 ราย การศึกษาจำนวน 20 ฉบับให้ข้อมูลความแม่นยำโดยอิงตามจำนวนผู้เข้าร่วมแต่ละราย (จำนวน 7 ฉบับให้ข้อมูลในการวิเคราะห์ โดยมีและไม่มีสารทึบรังสี) การศึกษาวิจัยเหล่านี้จำนวน 16 ฉบับ ได้ประเมินความแม่นยำของ CDUS โดยทั่วไป การศึกษาดังกล่าวมีคุณภาพปานกลางถึงต่ำ มีการศึกษาเพียง 3 ฉบับเท่านั้นที่เป็นไปตามรายการ QUADAS ทั้งหมด; ในการศึกษา 6 ฉบับ (40%) ความล่าช้าระหว่างการทดสอบไม่ชัดเจนหรือยาวนานกว่า 4 สัปดาห์; ในการศึกษา 8 ฉบับ (50%) การปกปิดการแบ่งกลุ่มการทดสอบดัชนีหรือมาตรฐานอ้างอิงไม่ได้รับการรายงานอย่างชัดเจนหรือไม่มีการดำเนินการ; และในการศึกษา 2 ฉบับ (12%) การตีความการทดสอบมาตรฐานอ้างอิงไม่ได้รับการรายงานอย่างชัดเจน งานวิจัยจำนวน 11 ฉบับได้ประเมินความแม่นยำของ CE-CDUS การศึกษานี้มีคุณภาพดีกว่าการศึกษาของ CDUS: การศึกษา 5 ฉบับ (45%) เป็นไปตาม QUADAS ทั้งหมด; การศึกษา 4 ฉบับ (36%) ไม่ได้รายงานการแปลผลการตรวจมาตรฐานอ้างอิงแบบปกปิดอย่างชัดเจน; และการศึกษา 2 ฉบับ (18%) ไม่ได้รายงานความล่าช้าระหว่างการทดสอบ 2 ครั้งอย่างชัดเจน

อ้างอิงจากแบบจำลอง ส bivariate model พบว่าค่าประมาณสรุปสำหรับ CDUS คือ 0.82 (ช่วงความเชื่อมั่น 95% (CI) 0.66 ถึง 0.91) สำหรับความไว และ 0.93 (CI 95% 0.87 ถึง 0.96) สำหรับความจำเพาะ ในขณะที่ค่าประมาณสำหรับ CE-CDUS คือ 0.94 (CI 95% 0.85 ถึง 0.98) สำหรับความไวและ 0.95 (CI 95% 0.90 ถึง 0.98) สำหรับความจำเพาะ การวิเคราะห์ถดถอยแสดงให้เห็นว่า CE-CDUS เหนือกว่า CDUS ในแง่ของความไว (LR Chi 2 = 5.08, 1 degree of freedom (df); P = 0.0242 สำหรับการปรับปรุงแบบจำลอง)

การศึกษา 7 ฉบับ รายงานค่าภายใต้เงื่อนไขก่อนและหลังการใช้สารทึบรังสี ความไวก่อนใช้สารทึบรังสีคือ 0.67 (95% CI 0.47 ถึง 0.83) และหลังใช้สาบทึบรังสีคือ 0.97 (95% CI 0.92 ถึง 0.99) ความไวในการใช้สารทึบรังสีเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (LR Chi 2 = 13.47, 1 df; P = 0.0002 สำหรับการปรับปรุงแบบจำลอง)

การทดสอบแบบถดถอยแสดงให้เห็นหลักฐานของอคติอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติของผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับปีที่ตีพิมพ์และคุณภาพของการศึกษาภายในผู้เข้าร่วมรายบุคคลตามการศึกษา CDUS ค่าประมาณความไวนั้นสูงกว่าในการศึกษาวิจัยที่ตีพิมพ์ก่อนปี 2006 มากกว่าค่าประมาณที่ได้จากการศึกษาวิจัยที่ตีพิมพ์ในปี 2006 หรือหลังจากนั้น (P < 0.001) และการศึกษาวิจัยที่ตัดสินว่ามีคุณภาพต่ำหรือไม่ชัดเจนนั้นให้ค่าประมาณความไวที่สูงกว่า เมื่อนำการทดสอบแบบถดถอยมาใช้กับการศึกษา CE-CDUS แบบรายการศึกษา ไม่พบรายการใดเลย เช่น ทิศทางของการออกแบบการศึกษา คุณภาพ และอายุ ที่เป็นแหล่งที่มาของความแตกต่างกันของแต่ละงานวิจัย

การศึกษาจำนวน 22 ฉบับ ให้ข้อมูลความแม่นยำโดยอิงตามจำนวนการสแกนที่ดำเนินการ (โดย 4 ฉบับให้ข้อมูลโดยใช้และไม่ใช้สารทึบรังสี) การวิเคราะห์การศึกษาที่ให้ข้อมูลตามการสแกนแสดงผลลัพธ์ที่คล้ายคลึงกัน การประมาณค่าโดยสรุปสำหรับ CDUS (การศึกษา 18 ฉบับ) แสดงให้เห็นว่ามีค่าความไว 0.72 (95% CI 0.55 ถึง 0.85) และค่าความจำเพาะ 0.95 (95% CI 0.90 ถึง 0.96) ในขณะที่การประมาณค่าโดยสรุปสำหรับ CE-CDUS (การศึกษา 8 ฉบับ) มีค่าความไว 0.91 (95% CI 0.68 ถึง 0.98) และค่าความจำเพาะ 0.89 (95% CI 0.71 ถึง 0.96)

ข้อสรุปของผู้วิจัย

การทบทวนวรรณกรรมนี้แสดงให้เห็นว่าวิธีการอัลตราซาวนด์ทั้ง 2 รูปแบบ (มีหรือไม่มีสารทึบรังสี) มีความจำเพาะสูง ดูเหมือนว่า CE-CDUS เหนือกว่า CDUS ในการวินิจฉัยว่ามี endoleak สำหรับการเฝ้าระวังการเกิด endoleak อาจแนะนำให้ใช้ CE-CDUS เป็นวิธีการวินิจฉัยตามปกติ ตามด้วย CT scan เมื่อผลอัลตราซาวนด์เป็นบวก เพื่อระบุชนิดของ endoleak และวางแผนการรักษาต่อไป

บันทึกการแปล

แปลโดย นางสาวเพทายฟ้า คงคารัตน์ นักศึกษาแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล Edit โดย พ.ญ. ผกากรอง ลุมพิกานนท์ 25 พฤศจิกายน 2024

Citation
Abraha I, Luchetta ML, De Florio R, Cozzolino F, Casazza G, Duca P, Parente B, Orso M, Germani A, Eusebi P, Montedori A. Ultrasonography for endoleak detection after endoluminal abdominal aortic aneurysm repair. Cochrane Database of Systematic Reviews 2017, Issue 6. Art. No.: CD010296. DOI: 10.1002/14651858.CD010296.pub2.