ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

การหลีกเลี่ยงขวดนม ในระยะเริ่มต้นของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ในทารกคลอดก่อนกำหนด

คำถามของการทบทวนวรรณกรรม: ในทารกคลอดก่อนกำหนดที่มารดาต้องการให้นมลูก การใช้ขวดนมขัดขวางความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หรือไม่

ความเป็นมา: ทารกคลอดก่อนกำหนดจะเริ่มให้นมทางสายยาง และเมื่อโตขึ้น ก็สามารถดูดนมได้ จำนวนครั้งของการดูดนมในแต่ละวันจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นเมื่อทารกเติบโตขึ้น แม่ที่คลอดลูกก่อนกำหนด อาจไม่อยู่ในโรงพยาบาลทุกครั้งที่ทารกต้องการ เพื่อความสะดวก มักใช้ขวดนมในการป้อนนมแม่หรือนมผสม มีคำแนะนำว่า การใช้ขวดนมอาจขัดขวางความสำเร็จของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

ลักษณะการศึกษา: เราพบการศึกษาทดลองที่เข้าเกณฑ์ 7 การศึกษา (จำนวนทารกคลอดก่อนกำหนด 1152 คน) การศึกษาทดลองเหล่านี้มีขนาดเล็กถึงปานกลาง และส่วนใหญ่มีปัญหากับการออกแบบงานวิจัยหรือวิธีการดำเนินการวิจัย การสืบค้นล่าสุดถึง 24 กันยายน ค.ศ.2020

ผลลัพธ์ที่สำคัญ: 5 การศึกษา (ซึ่งรวมถึงการศึกษาทดลองที่ใหญ่ที่สุด 2 การศึกษา) ใช้การป้อนนมด้วยถ้วย และอีกหนึ่งการศึกษาใช้สายยาง อีก 1 การศึกษา ใช้จุกนมที่ออกแบบมาเป็นพิเศษที่เลียนแบบการดูดนมแม่มากกว่าการป้อนขวดนมแบบธรรมดา การศึกษาทดลองส่วนใหญ่ทำในประเทศที่มีรายได้สูง เพียง 2 การศึกษาที่ทำในประเทศรายได้ปานกลาง ไม่มีการศึกษาทดลองในประเทศรายได้ต่ำ โดยรวมแล้ว หากไม่ให้นมจากขวด (โดยใช้จุกนมแบบธรรมดา) ทารกมักมีโอกาสมากกว่า ที่จะได้รับนมแม่อย่างเดียวหรืออย่างน้อยก็ได้นมแม่ร่วมกับนมผสม เมื่อออกจากโรงพยาบาล และที่ 3 และ 6 เดือนหลังออกจากโรงพยาบาล การศึกษาโดยใช้จุกนมที่ออกแบบมาเป็นพิเศษนั้น ไม่มีความแตกต่างในผลลัพธ์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ดังนั้นการใช้ถ้วยเพียงอย่างเดียวหรือการให้นมด้วยสายยางอย่างเดียว สามารถช่วยเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ อย่างไรก็ตาม ด้วยปัญหาคุณภาพการศึกษาทดลองให้นมด้วยสายยางอย่างเดียว ทำให้เกิดความไม่มั่นใจว่า การให้นมด้วยสายยาง จะเพิ่มความสำเร็จการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เราพบว่า ไม่มีหลักฐานในเรื่องผลประโยชน์หรืออันตราย สำหรับผลลัพธ์อื่นใด รวมถึงระยะเวลาพักรักษาตัวในโรงพยาบาลหรือการเพิ่มของน้ำหนักตัวทารก

สรุป: การใช้ถ้วยแทนขวดนม จะเพิ่มความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในทารกคลอดก่อนกำหนด ทั้งเรื่องการเลี้ยงด้วยนมแม่อย่างเดียวและร่วมกับนมผสม อีกทั้งเพิ่มระยะเวลาจนถึง 6 เดือนหลังออกจากโรงพยาบาล ควรทำการศึกษาทดลองที่มีคุณภาพสูงเพิ่มเติมในวิธีการให้นมทางสายยางอย่างเดียว

คุณภาพของหลักฐาน: เรามีความมั่นใจระดับต่ำถึงปานกลาง ในหลักฐานผลการศึกษาทดลอง

บทนำ

การให้นมสำหรับทารกคลอดก่อนกำหนด มักเริ่มให้นมด้วยสายยาง และเมื่อทารกอายุเพิ่มขึ้น จะเริ่มฝึกให้ดูดนม แม่ของทารกคลอดก่อนกำหนด มักไม่สามารถมาให้ลูกดูดนมแม่ที่โรงพยาบาลได้ตลอดเวลา จึงต้องใช้วิธีการอื่นในการให้นมลูก โดยทั่วไปแล้ว มักจะให้นม (นมแม่ที่บีบเก็บไว้หรือนมผสม) ด้วยขวดนม เป็นหัวข้อที่ถกเถียงกันมาอย่างต่อเนื่องว่า การให้ทารกดูดขวดนมในช่วงที่ฝึกให้ดูดนมแม่ อาจจะส่งผลลบต่อความสำเร็จของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

วัตถุประสงค์

เพื่อตรวจสอบผลของการหลีกเลี่ยงการใช้ขวดนมในช่วงที่ฝึกลูกดูดนมแม่ ต่อความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และเพื่อประเมินความปลอดภัยของการให้นมด้วยวิธีอื่นกับการใช้ขวดนม

วิธีการสืบค้น

มีการพัฒนากลยุทธ์การค้นหาใหม่ เพื่อการปรับปรุงการทบทวนวรรณกรรมให้ทันสมัยครั้งนี้ การค้นหาดำเนินการโดยไม่มีการจำกัดวันเวลาหรือภาษา ซึ่งได้ดำเนินการในเดือนกันยายน ค.ศ. 2021 จากฐานข้อมูล: MEDLINE, CENTRAL, and CINAHL เรายังสืบค้นฐานข้อมูล ISRCTN trial registry และจากเอกสารอ้างอิงของบทความที่ได้มา เพื่อสืบค้นการศึกษาทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม (RCTs: randomised controlled trials) และ quasi-RCTs

เกณฑ์การคัดเลือก

เรารวบรวม RCTs และ quasi-RCTs ที่เปรียบเทียบการหลีกเลี่ยงการใช้ขวดนมเทียบกับการใช้ขวดนมสำหรับทารกคลอดก่อนกำหนดที่มารดาวางแผนจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล

ผู้ทบทวนวรรณกรรมสองคน ประเมินคุณภาพของการศึกษาและดึงข้อมูลอย่างอิสระต่อกัน ถ้าจำเป็น เราจะติดต่อผู้นิพนธ์การศึกษาเพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติม เราใช้แนวทาง GRADE เพื่อประเมินความเชื่อมั่นของหลักฐาน ในส่วนผลลัพธ์จะรวม การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวและการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ร่วมกับนมผสม เมื่อกลับบ้านและที่ 3 และ 6 เดือนหลังจากออกจากโรงพยาบาล ตลอดจนระยะเวลาพักรักษาตัวในโรงพยาบาลและจำนวนครั้งของการติดเชื้อในทารก เราสังเคราะห์ข้อมูลโดยใช้อัตราส่วนความเสี่ยง (RR: risk ratios) ความแตกต่างของความเสี่ยง (RD: risk differences) และความแตกต่างระหว่างค่าเฉลี่ย (MD: mean differences) พร้อมช่วงความเชื่อมั่น 95% (CI: confidence intervals) เราใช้วิธีการ GRADE เพื่อประเมินความเชื่อมั่นของหลักฐาน

ผลการวิจัย

เรารวมการศึกษาทดลอง 7 การศึกษา จำนวนทารกคลอดก่อนกำหนด 1152 คนในการทบทวนวรรณกรรมฉบับปรับปรุงนี้ อีก 3 การศึกษา ยังรอการจำแนกประเภท มี 5 การศึกษา ใช้วิธีป้อนนมด้วยถ้วย, 1 การศึกษา ป้อนด้วยทางสายยาง และอีก 1 การศึกษาใช้จุกนมแบบใหม่ช่วยในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เรารวมการศึกษาเรื่องจุกนมแบบใหม่ในการทบทวนนี้ เนื่องจากจุกนมได้รับการออกแบบเพื่อเลียนแบบให้ใกล้เคียงกับการดูดนมแม่ การทดลองมีขนาดเล็กถึงปานกลาง และ 2 การศึกษา มีความเสี่ยงสูงที่จะมีอคติจากการสูญหายของอาสาสมัคร มีปัญหาเรื่องวิธีป้อนนมด้วยถ้วยใน 1 การศึกษา จากการที่เจ้าหน้าที่หรือผู้ปกครองไม่พอใจวิธีการนี้ (หรือทั้งสองกลุ่ม) แต่อีก 4 การศึกษาที่ใช้วิธีป้อนนมด้วยถ้วยเหมือนกัน ไม่มีรายงานความไม่พอใจหรือเลิกใช้

การหลีกเลี่ยงการใช้ขวดนม อาจเพิ่มจำนวนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว เมื่อออกจากโรงพยาบาล (RR 1.47, 95% CI 1.19 ถึง 1.80; 6 การศึกษา, ทารก 1,074 คน; หลักฐานที่มีความเชื่อมั่นต่ำ) และอาจเพิ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ (อย่างเดียวหรือร่วมกับนมผสม) เมื่อออกจากโรงพยาบาล (RR 1.11, 95% CI 1.06 ถึง 1.16; 6 การศึกษา, ทารก 1138 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง) การหลีกเลี่ยงการใช้ขวดนม อาจเพิ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวครบ 3 เดือนหลังออกจากโรงพยาบาล (RR 1.56, 95% CI 1.37 ถึง 1.78; 4 การศึกษา, ทารก 986 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง) และอาจเพิ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวครบ 6 เดือนหลังออกจากโรงพยาบาล (RR 1.64, 95% CI 1.14 ถึง 2.36; 3 การศึกษา, ทารก 887 คน; หลักฐานที่มีความเชื่อมั่นต่ำ)

การหลีกเลี่ยงการใช้ขวดนม อาจเพิ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ (อย่างเดียวหรือร่วมกับนมผสม) ที่ 3 เดือนหลังออกจากโรงพยาบาล (RR 1.31, 95% CI 1.01 ถึง 1.71; 5 การศึกษา, ทารก 1063 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) และที่ 6 เดือนหลังออกจากโรงพยาบาล (RR 1.25, 95% CI 1.10 ถึง 1.41; 3 การศึกษา, ทารก 886 คน; หลักฐานที่มีความเชื่อมั่นต่ำ) ผลลัพธ์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ผลดีอย่างชัดเจนตลอดทุกช่วงเวลาสำหรับการป้อนนมด้วยสายยางอย่างเดียว และวิธีป้อนนมด้วยถ้วยได้ผลดีทั้งหมด ยกเว้นผลการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ (อย่างเดียวหรือร่วมกับนมผสม) ที่ 3 เดือนหลังออกจากโรงพยาบาล แต่ผลลัพธ์นี้ไม่พบในกลุ่มจุกนมแบบใหม่ ไม่มีประโยชน์หรืออันตรายอื่น ๆ รวมถึงระยะเวลาการรักษาในโรงพยาบาล (MD 2.25 วัน, 95% CI −3.36 ถึง 7.86; 4 การศึกษา, ทารก 1004 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) หรือจำนวนครั้งของการติดเชื้อในทารกแต่ละคน (RR 0.70, 95% CI 0.35 ถึง 1.42; 3 การศึกษา, ทารก 500 คน หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ)

ข้อสรุปของผู้วิจัย

การหลีกเลี่ยงการใช้ขวดนมในทารกคลอดก่อนกำหนดที่ต้องการได้นมเสริม อาจช่วยให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ประสบความสำเร็จมากขึ้นเมื่อออกจากโรงพยาบาลและอาจเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ทั้งอย่างเดียวและร่วมกับนมผสม ที่ 6 เดือนหลังออกจากโรงพยาบาล หลักฐานส่วนใหญ่ที่แสดงให้เห็นประโยชน์คือการป้อนนมด้วยถ้วย มีเพียงการศึกษาเดียวที่ใช้วิธีให้นมทางสายยาง เราไม่แน่ใจว่าวิธีการเสริมนมด้วยสายยางอย่างเดียว จะช่วยเพิ่มผลลัพธ์ในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หรือไม่ จำเป็นต้องมีการศึกษาที่มีความแน่นอนสูง เพิ่มเติมอีก เพื่อการประเมินเรื่องนี้

บันทึกการแปล

แปลโดย นพ.โยธี ทองเป็นใหญ่ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา Dr.Yothi Tongpenyai MD., M.Sc.; Mar 14, 2022

Citation
Allen E, Rumbold AR, Keir A, Collins CT, Gillis J, Suganuma H. Avoidance of bottles during the establishment of breastfeeds in preterm infants. Cochrane Database of Systematic Reviews 2021, Issue 10. Art. No.: CD005252. DOI: 10.1002/14651858.CD005252.pub5.