ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

การฝึกหายใจในผู้ป่วยหอบหืด

ความเป็นมา

หอบหืดเป็นโรคทางปอด โรคหอบหืดเกิดได้สองสาเหตุ จากการอักเสบของทางเดินหายใจ (ร่างกายมีการตอบสนองต่อการบาดเจ็บหรือติดเชื้อ) และสาเหตุจากหลอดลมตีบ (เรียกว่าทางเดินหายใจมีการอุดตัน) หลอดลมตีบเกิดขึ้นได้จากการตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นอาการหอบหืด เช่น ขนสัตว์หรือขนฝุ่นหรือละอองเกสร

โรคหอบหืดเป็นโรคทั่วไปมีอยทั่วโลกและเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สําคัญจากค่าใช้จ่ายด้านการดูแลสุขภาพสูงกับโรงพยาบาลและยา การออกกําลังกายหายใจมีการใช้ในการรักษาคนที่มีโรคหอบหืดเป็นวิธีการควบคุมอาการของโรคหอบหืดโดยไม่ต้องยา คนฝึกหายใจรูปแบบต่าง ๆ เพื่อเปลี่ยนวิธีการหายใจของพวกเขา

คำถามของการทบทวนวรรณกรรม

เราต้องการศึกษาผลของการฝึกหายใจต่อผู้ใหญ่ที่เป็นหอบหืด เรามีความสนใจอย่างมากเกี่ยวกับการฝึกหายใจเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิต (ผลลัพธ์์หลัก) และช่วยรักษาอาการหอบหืด, ภาวะหายใจเร็ว และการทำงานของปอด (ผลลัพธ์รอง)

ผลการศึกษาที่สำคัญ

เราสืบค้นการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม คือมีการสุ่มเข้ากลุ่มฝึกหายใจ หรือกลุ่มควบคุม กลุ่มผู้ที่ได้รับการดูแลผู้ป่วยหอบหืดตามปกติเป็นกลุ่มควบคุม

เราพบการศึกษา 22 เรื่อง ผู้เข้าร่วม 2880 คน มีภาวะหอบหืดระดับน้อยถึงปานกลาง มีศึกษาการหายใจวิธีต่าง ๆ กัน การศึกษา 14 เรื่องใช้โยคะ การศึกษา 4 เรื่อง ใช้วิธีฝึกหายใจใหม่ การศึกษา 1 เรื่อง ใช้วิธีฝึกการหายใจแบบ Buteyko การศึกษา 1 เรื่อง ใช้วิธีฝึกการหายใจแบบ Buteyko ร่วมกับวิธี pranayama การศึกษา 1 เรื่อง ใช้วิธีฝึกการหายใจแบบ Papworth และ การศึกษา 1 เรื่องใช้วิธีฝึกหายใจโดยใช้กล้ามเนื้อกะบังลม การศึกษา 20 เรื่องเปรียบเทียบระหว่างการฝึกหายใจกับการดูแลผู้ป่วยหอบหืดตามปกติ และ การศึกษา 2 เรื่อง เปรียบเทียบระหว่างการฝึกหายใจกับการให้ความรู้เกี่ยวกับหอบหืด การศึกษาประเมินคุณภาพชีวิต, อาการโรคหอบหืดและอาการหายใจเร็ว, จำนวนครั้งที่เกิดอาการกำเริบเฉียบพลัน (flare-ups), การทำงานของปอด (การทดสอบการหายใจ) และการนัดหมายแพทย์ทั่วไป (GP)

การศึกษาจำนวนมากสนใจศึกษาตามจุดประสงค์หลักของเรา, คุณภาพชีวิต ผลการวิจัยแสดงถึงคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นหลัง 3 ดือนในกลุ่มฝึกการหายใจ เราพบว่าการฝึกหายใจอาจไม่ช่วยให้อาการของโรคหอบหืดดีขึ้น อย่างไรก็ตาม การฝึกหายใจได้ลดอาการ หายใจเร็ว เมื่อวัดจาก 4 ถึง 6 เดือนหลังจากเริ่มการฝึกหายใจ การทดสอบการทำงานของปอดหนึ่งครั้ง พบว่าร้อยละการทำนายของ FEV1 (ปริมาณอากาศที่สามารถสูดเข้าปอดในหนึ่งวินาที) แสดงให้เห็นผลดีของการฝึกหายใจ

ความน่าเชื่อถือของหลักฐาน

เรามีความมั่นใจในระดับปานกลางเกี่ยวกับประโยชน์ของการฝึกหายใจ อย่างไรก็ตาม เราพบความแตกต่างบางประการระหว่างการศึกษาในแง่ของประเภทของการฝึกหายใจ, จำนวนผู้เข้าร่วม, จำนวนและระยะเวลาของการฝึกจนเสร็จสมบูรณ์ ผลการศึกษาและการนำเสนอข้อมูลทางสถิติ

บทสรุป

การฝึกหายใจอาจมีผลในเชิงบวกต่อคุณภาพชีวิต อาการหายใจเร็วและการทำงานของปอดในผู้ใหญ่ที่มีโรคหอบหืดเล็กน้อยถึงปานกลาง

หลักฐานที่มีอยู่เป็นปัจจุบันจนถึงเดือนเมษายน 2019

บทนำ

การฝึกหายใจถูกนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลกเพื่อรักษาผู้ป่วยโรคหอบหืดโดยไม่ใช้ยา แบบฝึกหัดการหายใจ มีจุดมุ่งหมายเพื่อควบคุมอาการของโรคหอบหืด ตามวิธีการของ Papworth, เทคนิคการหายใจของ Buteyko, การหายใจแบบโยคะ การหายใจแบบใช้กะบังลมลึกหรือวิธีการอื่นที่คล้ายกัน การฝึกหายใจมักจะเน้นที่ระดับปริมาตรอากาศที่ไหลเข้าออกจากปอดผู้ป่วย ต่อการหายใจหนึ่งครั้ง และผ่อนคลาย การออกกำลังกายที่บ้าน การปรับรูปแบบการหายใจ การหายใจทางจมูก การหายใจควบคุมลมหายใจ การฝึกหายใจโดยใช้ทรวงอกและท้อง

วัตถุประสงค์

เพื่อประเมินหลักฐานด้านประสิทธิภาพของการฝึกหายใจในผู้ป่วยโรคหอบหืด

วิธีการสืบค้น

เราทำการสืบคุ้นการศึกษาที่เกี่ยวข้องจาก Cochrane Library, MEDLINE, Embase, PsycINFO, CINAHL และ AMED และทำการสืบค้นวารสารทางเดินหายใจและจากบทคัดย่อของการประชุม นอกจากนี้เรารวมการศึกษาแบบทดลองที่ลงทะเบียนและรายการเอกสารอ้างอิงของบทความ

การค้นหาวรรณกรรมล่าสุดวันที่ 4 เมษายน 2019

เกณฑ์การคัดเลือก

เรารวมการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุมในผู้ใหญ่ที่เป็นโรคหอบหืด กลุ่มทดลองได้รับการฝึกหายใจเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมที่ได้รับข้อมูลโรคหอบหืด หรือไม่มีกลุ่มควบคุม

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล

ผู้ทบทวนวรรณกรรมสองคน ได้ประเมินคุณภาพของการศึกษาวิจัยและรวบรวมข้อมูลอย่างเป็นอิสระต่อกัน เราใช้ซอฟต์แวร์ Review Manager 5 วิเคราะห์ข้อมูลตามโมเดลแบบสุ่ม (random-effects model) เรานำเสนอผลของตัวแปรต่อเนื่องด้วยค่าความต่างระหว่างค่าเฉลี่ย (MD) และช่วงเชื่อมั่น 95% CIs เราประเมินความหลากหลายโดย forest plots เราใช้Chi2 test โดยมีนัยสำคัญทางสถิติ (P-value) ที่ 0.10 และ I2 มีค่ามากกว่า 50% ซึ่งแสดงถึงระดับของการมี heterogeneity สูง ผลลัพธ์หลักคือคุณภาพชีวิต

ผลการวิจัย

ในการปรับปรุงนี้ เรารวมการศึกษาใหม่ 9 เรื่อง (ผู้เข้าร่วม 1910 คน) ทำให้มีการศึกษาทั้งหมด 22 เรื่อง ผู้เข้าร่วมการศึกษา 2880 คน การศึกษา 14 เรื่องทดลองใช้โยคะ การศึกษา 4 เรื่อง ใช้วิธีฝึกหายใจใหม่ การศึกษา 1 เรื่อง ใช้วิธีฝึกการหายใจแบบ Buteyko การศึกษา 1 เรื่อง ใช้วิธีฝึกการหายใจแบบ Buteyko ร่วมกับวิธี pranayama การศึกษา 1 เรื่อง ใช้วิธีฝึกการหายใจแบบ Papworth และ การศึกษา 1 เรื่องใช้วิธีฝึกหายใจโดยใช้กล้ามเนื้อกะบังลม อย่างไรก็ตาม เราพบความแตกต่างบางประการระหว่างการศึกษาในแง่ของประเภทของการฝึกหายใจ, จำนวนผู้เข้าร่วม, จำนวนและระยะเวลาของการฝึกจนเสร็จสมบูรณ์ ผลการศึกษาและการนำเสนอข้อมูลทางสถิติ ความรุนแรงของโรคหอบหืดในผู้เข้าร่วมจากการศึกษารวมอยู่ในระดับเล็กน้อยถึงปานกลางและกลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยนอกเท่านั้น การศึกษา 20 เรื่องเปรียบเทียบการฝึกหายใจกับการดูแลปกติและการศึกษา 2 เรื่องเปรียบเทียบกับกลุ่มให้ข้อมูลเรื่องโรคหอบหืด ใช้ Meta-analysis สำหรับผลลัพธ์หลักคือคุณภาพชีวิต และผลลัพธ์รองคืออาการโรคหอบหืดอาการหายใจเร็ว และตัวแปรการทำงานของปอด ประเมินความเสี่ยงของการมีอคติจากรายงานด้านระเบียบวิธีที่ไม่สมบูรณ์ของการศึกษาส่วนใหญ่ ในการทบทวนนี้เราไม่ได้รวบรวมผลข้างเคียงจากการศึกษา

การฝึกหายใจเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม

สำหรับคุณภาพชีวิตวัดจากแบบสอบถาม Asthma Quality of Life Questionnaire (AQLQ) การวิเคราะห์ meta-analysis แสดงให้เห็นว่ากลุ่มฝึกหายใจคุณภาพชีวิตที่ 3 เดือนดีขึ้น (MD 0.42, 95% CI 0.17 ถึง 0.68; การศึกษา 4 เรื่อง, ผู้เข้าร่วม 974 คน หลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง) และในเวลา 6 เดือนค่า OR เท่ากับ 1.34 สำหรับสัดส่วนของผู้ที่มี AQLQ ดีขึ้นอย่างน้อย 0.5 หน่วย, (95% CI 0.97 ถึง 1.86; การศึกษา 1 เรื่อง, ผู้เข้าร่วม 655 คน) สำหรับอาการของโรคหอบหืดวัดโดย Asthma Control Questionnaire (ACQ) การวิเคราะห์ meta-analysis ไม่เกิน 3 เดือนสรุปไม่ได,้ MD -0.15 หน่วย (95% CI −2.32 ถึง 2.02; การศึกษา 1 เรื่อง, ผู้เข้าร่วม 115 คน; และผลการศึกษาคล้ายกันที่มากกว่า 6 เดือน (MD -0.08 หน่วย 95% CI −0.22 ถึง 0.07; การศึกษา 1 เรื่อง 449 ผู้เข้าร่วม) สำหรับอาการหายใจเร็ววัดโดยแบบสอบถาม Nijmegen (จาก 4 ่ถึง 6 เดือน) meta-analysis แสดงว่าการฝึกหายใจทำให้อาการหายใจเร็วลดลง (MD −3.22, 95% CI −6.31 ถึง −0.13; การศึกษา 2 เรื่อง, ผู้เข้าร่วม 118 คน หลักฐานความเชื่อมั่นระดับปานกลาง ) แต่ไม่ปรากฏใน 6 เดือน (MD 0.63, 95% CI -0.90 ถึง 2.17; การศึกษา 2 เรื่อง, 521 คน) Meta-analyses สำหรับปริมาตรของอากาศที่เป่าออกมาได้ใน 1 วินาที (FEV1) ที่วัดได้ที่ 3 เดือนนั้นไม่สามารถสรุปได้ MD −0.10 L, (95% CI −0.32 ถึง 0.12; การศึกษา 4 เรื่อง, ผู้เข้าร่วม 252 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นระดับต่ำมาก) อย่างไรก็ตามสำหรับ FEV1 % พบว่ากลุ่มฝึกหายใจจะดีกว่า (MD 6.88%, 95% CI 5.03 ถึง 8.73; การศึกษา 5 เรื่อง, ผู้เข้าร่วม 618 คน)

การฝึกหายใจเปรียบเทียบกับการให้ความรู้เรื่องหอบหืด

สำหรับคุณภาพชีวิต มีการศึกษา 1 เรื่อง วัดโดย AQLQ พบว่าไม่สามารถสรุปได้ที่ 3 เดือน (MD 0.04, 95% CI -0.26 ถึง 0.34; การศึกษา 1 เรื่อง, ผู้เข้าร่วม 183 คน) เมื่อประเมินจาก 4 ถึง 6 เดือน พบว่าการฝึกหายใจให้ผลดีกว่า (MD 0.38, 95% CI 0.08 ถึง 0.68; การศึกษา 1 เรื่อง, ผู้เข้าร่วม 183 คน) อาการหายใจเร็วที่วัดโดยแบบสอบถาม Nijmegen นั้นไม่สามารถสรุปได้ที่ 3 เดือน (MD −1.24, 95% CI −3.23 ถึง 0.75; การศึกษา 1 เรื่อง, ผู้เข้าร่วม 183 คน) แต่พบว่ากลุ่มการฝึกหายใจได้ผลดีกว่าตั้งแต่ 4 ถึง 6 เดือน (MD −3.16, 95% CI) −5.35 ถึง -0.97; การศึกษา 1 เรื่อง, ผู้เข้าร่วม 183 คน)

ข้อสรุปของผู้วิจัย

การฝึกหายใจอาจมีผลในเชิงบวกต่อคุณภาพชีวิต อาการหายใจเร็วและการทำงานของปอด เนื่องจากความแตกต่างของระเบียบวิธีวิจัยของการศึกษาที่รวบรวม และการศึกษาที่มีระเบียบวิธีวิจัยไม่ดี คุณภาพของหลักฐานสำหรับผลการศึกษาจึงมีความเชื่อมั่นในระดับปานกลางถึงต่ำมากตามเกณฑ์การให้คะแนนของ GRADE นอกจากนี้ ยังจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมถึงรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการรักษาและการวัดผลการศึกษาอีกด้วย

บันทึกการแปล

แปลโดย เพียงจิตต์ ธารไพรสาณฑ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที 27 เมษายน 2019

Citation
Santino TA, Chaves GSS, Freitas DA, Fregonezi GAF, Mendonça KMPP. Breathing exercises for adults with asthma. Cochrane Database of Systematic Reviews 2020, Issue 3. Art. No.: CD001277. DOI: 10.1002/14651858.CD001277.pub4.