ความเสี่ยงและประโยชน์ของการเจาะน้ำไขสันหลังในท่าต่างๆ ในทารกมีอะไรบ้าง

ใจความสำคัญ

• การเจาะน้ำไขสันหลังบ่อยครั้งทำในทารกแรกเกิดที่มีการติดเชื้อรุนแรงแต่ก็อาจทำได้ยาก โดยพบความล้มเหลวถึง 50% ของความพยายามในการเจาะน้ำไขสันหลัง

• เราพบการศึกษาที่เปรียบเทียบท่าที่แตกต่างกันของร่างกายสามท่าในระหว่างการเจาะน้ำไขสันหลัง: ท่านอนตะแคงข้าง (เดคิวบิทัสด้านข้าง) ท่านั่ง และท่านอนคว่ำหน้า (คว่ำ) ในทุกท่าควรเก็บขาทารกไว้และก้มคอไปข้างหน้า (ก้ม)

• มีความแตกต่างกันเพียงเล็กน้อยหรือไม่แตกต่างกันเลยในอัตราความสำเร็จระหว่างท่านั่งและท่านอนตะแคงข้าง และอาจมีโอกาสสำเร็จในท่านอนคว่ำมากกว่าท่านอนตะแคงข้าง อาจมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ในท่านอนตะแคงข้างมากกว่าท่านั่ง

การเจาะน้ำไขสันหลังคืออะไร

การเจาะน้ำไขสันหลังส่วนเอวหรือที่เรียกกันทั่วไปว่าการเจาะน้ำไขสันหลังเป็นขั้นหัตถการที่ทำการสอดเข็มเข้าไปในกระดูกสันหลัง การเจาะน้ำไขสันหลังสามารถทำได้ด้วยหลายเหตุผลและทุกช่วงวัย หัตถการนี้มักทำบ่อยในทารกแรกเกิดเพื่อหาภาวะติดเชื้อที่รุนแรง รวมถึงการติดเชื้อที่ส่งผลต่อสมองและกระดูกสันหลัง เพื่อให้ได้น้ำไขสันหลัง (ของเหลวที่บริเวณเยื่อหุ้มสมองและไขสันหลัง) หรือเพื่อให้ยา เนื่องจากหัตถการนี้เกี่ยวข้องกับการสอดเข็ม การเจาะน้ำไขสันหลังอาจทำให้เกิดอาการเจ็บปวดและไม่สบายตัว

อาจใช้ท่าต่างๆกันในการเจาะน้ำไขสันหลัง เด็กอาจนอนตะแคงข้าง (lateral decubitus) นั่ง หรือนอนคว่ำ (คว่ำ) ในทุกท่าควรให้เด็กเก็บขาไว้และก้มคอไปข้างหน้า (ก้ม)

เราต้องการค้นหาอะไร

เราต้องการทราบว่าการจัดท่าต่างๆ ของร่างกายในทารกแรกเกิดอาจส่งผลต่อโอกาสความสำเร็จในการเจาะน้ำไขสันหลังครั้งแรกหรือไม่ จำนวนครั้งในการเจาะน้ำไขสันหลังเพื่อให้สำเร็จ และจำนวนครั้งของเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ เช่น หัวใจเต้นช้า ระดับออกซิเจนในเลือดต่ำ และภาวะหยุดหายใจ (จำนวนครั้งของการไม่หายใจ) นอกจากนี้เรายังหาด้วยว่าเวลาที่ใช้ในการเจาะน้ำไขสันหลังมีความแตกต่างกันหรือไม่ ความเจ็บปวดและไม่สบายตัวระหว่างการเจาะน้ำไขสันหลัง ความจำเป็นที่ต้องใช้ยาแก้ปวดหรือยาระงับประสาทเพื่อทำการเจาะน้ำไขสันหลัง ภาวะเลือดออกและฟกช้ำจากการเจาะน้ำไขสันหลัง และอัตราการติดเชื้อที่เกี่ยวข้องกับการเจาะน้ำไขสันหลัง

เราทำอะไรไปแล้วบ้าง

เราค้นหาการศึกษาที่เปรียบเทียบการจัดท่าต่างๆ ของร่างกายขณะทำการเจาะน้ำไขสันหลังในทารกแรกเกิด เราเปรียบเทียบและสรุปผลการศึกษาและให้คะแนนความเชื่อมั่นของหลักฐาน โดยพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ เช่น วิธีการศึกษาและขนาดการศึกษา

เราพบอะไร

เราพบการศึกษา 5 ฉบับ มีทารก 1476 คนที่ได้รับการเจาะน้ำไขสันหลัง มีเพียงการศึกษาเดียวที่มีทารก 171 คน ตรวจสอบทารกในท่านอนคว่ำ การศึกษาอื่นๆ เปรียบเทียบเด็กที่อยู่ในท่านอนตะแคงข้างและท่านั่ง การศึกษา 4 ฉบับตรวจสอบทารกที่ได้รับการเจาะน้ำไขสันหลังแบบปกติ ในขณะที่การศึกษา 1 ฉบับ ตรวจสอบการให้ยาระงับความรู้สึกโดยการให้ยาทางไขสันหลังในทารกที่เข้ารับการผ่าตัด การทดลองที่เล็กที่สุดมีผู้เข้าร่วม 26 คน ในขณะที่การทดลองที่ใหญ่ที่สุดมี 1082 คน การศึกษานี้รวมทารกอายุประมาณ 5 ชั่วโมงถึง 5 สัปดาห์ โดยอายุครรภ์เฉลี่ย (นับจากประจำเดือนครั้งสุดท้ายของมารดา) อยู่ระหว่าง 31 ถึง 41 สัปดาห์ การศึกษาประกอบด้วยเด็กผู้ชาย 864 คน เด็กผู้หญิง 580 คน และไม่ระบุเพศ 32 คน การทดลอง 2 ฉบับ ดำเนินการในสหรัฐอเมริกา และมีการดำเนินการในสเปน จีน และสหราชอาณาจักร ประเทศละ 1 การทดลอง การศึกษา 1 ฉบับ ได้รับทุนสาธารณะ ในขณะที่การศึกษา 4 ฉบับไม่ได้ระบุแหล่งเงินทุน

เราไม่พบการศึกษาใดที่รายงานจำนวนครั้งในการพยายามเจาะน้ำไขสันหลังทั้งหมด หรือจำนวนทารกที่ประสบภาวะหยุดหายใจสำหรับการเปรียบเทียบใด เราพบว่าไม่มีการศึกษาที่รายงานจำนวนครั้งของอัตราการเต้นของหัวใจเต้นช้า ระดับออกซิเจนในเลือดต่ำ เวลาที่ใช้ในการเจาะน้ำไขสันหลัง หรือ จำนวนครั้งการหยุดหายใจในช่วงเวลาสั้นๆ เพื่อเปรียบเทียบระหว่างท่านอนตะแคงกับท่านอนคว่ำ

เมื่อเปรียบเทียบการเจาะน้ำไขสันหลังในทารกที่อยู่ในท่านอนตะแคงข้างและท่านั่ง เราพบว่าโอกาสการเจาะน้ำไขสันหลังสำเร็จในครั้งแรกอาจมีความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย มีแนวโน้มว่าจะมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอัตราการเต้นของหัวใจช้าและระดับออกซิเจนในเลือดต่ำในท่านอนตะแคงข้าง อาจมีความแตกต่างเล็กน้อยหรือไม่มีเลยในด้านจำนวนครั้งของการหยุดหายใจ และเราไม่แน่ใจว่าท่าใดจะเร็วกว่าหรือไม่

เมื่อเปรียบเทียบการการเจาะน้ำไขสันหลังในทารกในท่านอนตะแคงข้างและท่านอนคว่ำ อาจมีโอกาสสำเร็จในการเจาะน้ำไขสันหลังในครั้งแรกน้อยกว่าหากทารกอยู่ในท่านอนตะแคงข้าง

ข้อจำกัดของหลักฐานคืออะไร

ความเชื่อมั่นของข้อมูลที่เราพบมีข้อจำกัดเนื่องจากจำนวนการศึกษามีน้อยในการตรวจสอบคำถามแต่ละข้อสำหรับการเปรียบเทียบแต่ละครั้ง นอกจากนี้ การศึกษาบางส่วนยังใช้วิธีการที่อาจก่อให้เกิดข้อผิดพลาดในผลลัพธ์อีกด้วย ในบางการศึกษา ผู้วิจัยอาจทราบว่าทารกอยู่ในท่าใด นอกจากนี้ ไม่มีการศึกษาใดที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลลัพธ์ทั้งหมดที่เรามุ่งเป้าในการค้นหา และความแตกต่างที่รายงานระหว่างกลุ่มค่อนข้างน้อย

หลักฐานนี้เป็นปัจจุบันแค่ไหน

หลักฐานเป็นปัจจุบันจนถึงมกราคม 2023

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

เมื่อเปรียบเทียบกับท่านั่ง ท่านอนตะแคงข้างอาจส่งผลให้มีความแตกต่างในการเจาะน้ำไขสันหลังได้สำเร็จในครั้งแรกเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย ไม่มีการศึกษาใดรายงานจำนวนครั้งของการพยายามเจาะน้ำไขสันหลังทั้งหมดซึ่งได้กำหนดไว้ในการทบทวนวรรณกรรมนี้ นอกจากนี้ ทารกที่อยู่ในท่านั่งยังมีโอกาสเกิดภาวะหัวใจเต้นช้าและภาวะขาดออกซิเจนได้น้อยกว่าท่านอนตะแคงข้าง และอาจมีความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยในการเกิดภาวะหยุดหายใจ ท่านอนตะแคงข้างส่งผลให้เวลาในการเจาะน้ำไขสันหลังแตกต่างกันเล็กน้อยหรือไม่มีเลยเมื่อเทียบกับท่านั่ง ระดับความเจ็บปวดในระหว่างและหลังการทำหัตถการได้มีการรายงานโดยใช้ระดับคะแนนความเจ็บปวดที่ไม่รวมอยู่ในเครื่องมือที่กำหนดไว้ล่วงหน้าสำหรับการประเมินความเจ็บปวดเนื่องจากมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอคติ ผู้เข้าร่วมการศึกษาส่วนใหญ่เป็นทารกแรกเกิดครบกำหนด ดังนั้นจึงเป็นข้อจำกัดในการนำผลลัพธ์เหล่านี้ไปใช้กับทารกคลอดก่อนกำหนด

เมื่อเปรียบเทียบกับท่านอนคว่ำ พบว่าท่านอนตะแคงข้างอาจลดความสำเร็จในการเจาะไขสันหลังในครั้งแรก มีเพียงการศึกษาเดียวเท่านั้นที่รายงานการเปรียบเทียบนี้ และไม่ได้ประเมินผลข้างเคียง

การวิจัยเพิ่มเติมที่สำรวจอันตรายและประโยชน์ และผลต่อประสบการณ์ความเจ็บปวดของผู้ป่วยในการเจาะน้ำไขสันหลังในท่าต่างๆ ระหว่างการเจาะน้ำไขสันหลังโดยใช้เครื่องมือให้คะแนนระดับความเจ็บปวดที่ผ่านการตรวจสอบแล้วอาจเพิ่มระดับความเชื่อมั่นในข้อสรุปของเรา

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

การเจาะน้ำไขสันหลังเป็นหัตถการที่รุกร้ำซึ่งใช้บ่อยในทารกแรกเกิดเพื่อวัตถุประสงค์ในการวินิจฉัยและการรักษา ประมาณ 1 ใน 2 ของการเจาะน้ำไขสันหลังไม่สำเร็จ ส่งผลให้เกิดผลเสียทั้งระยะสั้นและระยะยาวต่อการจัดการทางคลินิกของผู้ป่วย การจัดท่าที่ใช้บ่อยที่สุดที่ใช้ในการเจาะน้ำไขสันหลังคือให้นอนตะแคงข้างและท่านั่ง และแต่ละท่าในการเจาะหลังสามารถส่งผลต่ออัตราความสำเร็จและความปลอดภัยของการทำหัตถการ อย่างไรก็ตาม ยังไม่เชื่อมั่นว่าท่าการเจาะหลังแบบใดจะให้ผลลัพธ์ของผู้ป่วยได้ดีที่สุด

วัตถุประสงค์: 

เพื่อประเมินประโยชน์และอันตรายของท่านอนตะแคงข้าง ท่านั่ง และท่านอนคว่ำสำหรับการเจาะน้ำไขสันหลังในทารกแรกเกิด

วิธีการสืบค้น: 

เราใช้วิธีการค้นหาแบบมาตรฐานและครอบคลุมตามวิธีการของ Cochrane วันที่ค้นหาล่าสุดคือ 24 มกราคม 2023

เกณฑ์การคัดเลือก: 

เรารวมการทดลองแบบ randomized controlled trials (RCTs) และ quasi-RCTs ที่เกี่ยวข้องกับทารกแรกเกิดที่มีอายุจนถึง 46 สัปดาห์และ 0 วัน นับจากประจำเดือนครั้งสุดท้าย ที่ได้รับการเจาะน้ำไขสันหลังสำหรับข้อบ่งชี้ใดๆ โดยเปรียบเทียบท่าการทำหัตการที่แตกต่างกัน (เช่น ท่านอนตะแคง ท่านั่ง และท่านอนคว่ำ) ในระหว่างการทำหัตถการ

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

เราใช้วิธีตามมาตรฐานของ Cochrane เราใช้ fixed-effect model เพื่อประเมินผล risk ratio (RR) และ risk difference (RD) สำหรับข้อมูลชนิด dichotomous และ mean difference (MD) หรือ standardized mean difference (SMD) สำหรับข้อมูลชนิดต่อเนื่อง โดยมีช่วงความเชื่อมั่น (CIs) 95% ผลลัพธ์หลักของเราคือความสำเร็จในการเจาะน้ำไขสันหลังในครั้งแรก จำนวนความพยายามเจาะน้ำไขสันหลังทั้งหมด และการเกิดภาวะหัวใจเต้นช้า เราใช้ GRADE เพื่อประเมินความเชื่อมั่นของหลักฐานสำหรับแต่ละผลลัพธ์

ผลการวิจัย: 

เรารวมการศึกษา 5 ฉบับ ผู้เข้าร่วม 1476 คน

เมื่อเปรียบเทียบกับท่านั่ง: ท่านอนตะแคงข้างอาจส่งผลให้มีความแตกต่างในความสำเร็จในการเจาะน้ำไขสันหลังในครั้งแรกเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีความแตกต่างเลย (RR 0.99, 95% CI 0.88 ถึง 1.12; RD 0.00, 95% CI −0.06 ถึง 0.05; I 2 = 47 % และ 46% สำหรับ RR และ RD ตามลำดับ; การศึกษา 2 ฉบับ ทารก 1249 คน, หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) ไม่มีการศึกษาใดรายงานจำนวนครั้งของการพยายามเจาะน้ำไขสันหลังทั้งหมดซึ่งได้กำหนดไว้ในการทบทวนวรรณกรรมนี้ ท่านอนตะแคงข้างมีแนวโน้มที่จะเพิ่มจำนวนครั้งของการเกิดภาวะหัวใจเต้นช้า (RR 1.72, 95% CI 1.08 ถึง 2.76; RD 0.03, 95% CI 0.00 ถึง 0.05; จำนวนครั้งที่ต้องรักษาสำหรับผลลัพธ์ที่เป็นอันตรายเพิ่มเติม 1 ครั้ง (NNTH) = 33; I 2 = ไม่เกี่ยวข้อง และ 69% สำหรับ RR และ RD ตามลำดับ; การศึกษา 3 ฉบับ ทารก 1279 คน หลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง) และภาวะออกซิเจนลดลง (RR 2.10, 95% CI 1.42 ถึง 3.08; RD 0.06, 95% CI 0.03 ถึง 0.09; NNTH = 17; I 2 = ไม่เกี่ยวข้อง (not applicable) และ 96% สำหรับ RR และ RD ตามลำดับ; การศึกษา 2 ฉบับ ทารก 1249 คน, หลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง) ท่านอนตะแคงข้างส่งผลให้เวลาในในการเจาะน้ำไขสันหลังแตกต่างเล็กน้อยหรือไม่มีเลยเมื่อเทียบกับท่านั่ง (I 2 = ไม่เกี่ยวข้อง; การศึกษา 2 ฉบับ ทารก 1102 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นสูง; ในการศึกษา 1 ฉบับ ค่ามัธยฐานและ IQR รายงานเวลาในการ ทำการเจาะน้ำไขสันหลังเป็น 8 (5-13) และ 8 (5-12) ในท่านอนตะแคงข้างและท่านั่งตามลำดับ I 2 = ไม่เกี่ยวข้อง ;การศึกษา 1 ฉบับ ทารก 1082 คน ในการศึกษา 1 ฉบับ: mean difference 2.00, 95% CI −4.98 ถึง 8.98; I 2 = ไม่เกี่ยวข้อง; การศึกษา 1 ฉบับ ทารก 20 คน) ท่านอนตะแคงข้างอาจส่งผลให้จำนวนครั้งการเกิดภาวะหยุดหายใจในระหว่างหัตถการแตกต่างเล็กน้อยหรือไม่มีเลย (RR ไม่สามารถประมาณได้; RD 0.00, 95% CI −0.03 ถึง 0.03; I 2 = ไม่เกี่ยวข้องและ 0% สำหรับ RR และ RD ตามลำดับ; การศึกษา 2 ฉบับ ทารก 197 คน หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) ไม่มีการศึกษาที่รายงานภาวะหยุดหายใจโดยใช้คำนิยามของภาวะหยุดหายใจเป็นของจำนวนครั้งกล่าวคือมีการหยุดหายใจ 1 ครั้งหรือมากกว่าระหว่างการทำหัตถการ

เมื่อเปรียบเทียบกับท่านอนคว่ำ : ท่านอนตะแคงข้างอาจลดความสำเร็จของการเจาะน้ำไขสันหลังในครั้งแรก (RR 0.75, 95% CI 0.63 ถึง 0.90; RD −0.21, 95% CI −0.34 ถึง −0.09; จำนวนที่จำเป็นในการรักษาเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์เพิ่มเติม 1 ครั้ง = 5; I 2 = ไม่เกี่ยวข้อง; การศึกษา 1 ฉบับ ทารก 171 คน, หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) ไม่มีการศึกษาใดรายงานจำนวนครั้งการพยายามเจาะน้ำไขสันหลังทั้งหมด หรือจำนวนครั้งการเกิดภาวะหยุดหายใจ มีการรายงานระดับความเจ็บปวดระหว่างและหลังการทำหัตถการโดยใช้ระดับคะแนนความเจ็บปวดที่ไม่ได้ผ่านการตรวจสอบ ไม่มีการศึกษาใดที่เปรียบเทียบท่านอนตะแคงข้าง กับท่านอนคว่ำที่รายงานผลลัพธ์ที่สำคัญอื่นๆ ของการทบทวนวรรณกรรมนี้

บันทึกการแปล: 

แปลโดย ศ.นพ.ภิเศก ลุมพิกานนท์ ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 2 มกราคม 2024

Tools
Information