โพรไบโอติกส์สำหรับรักษาอาการท้องผูกเรื้อรังในเด็ก

จุดมุ่งหมายของการทบทวนวรรณกรรมนี้คืออะไร

จุดมุ่งหมายของ Cochrane Review นี้คือการค้นหาว่าสามารถใช้โพรไบโอติกส์ในการรักษาอาการท้องผูกเรื้อรังที่ไม่สามารถอธิบายทางกายภาพในเด็กได้หรือไม่ (อายุ 0 ถึง 18 ปี)

เราวิเคราะห์ข้อมูลจาก 14 การศึกษา เพื่อตอบคำถามนี้

ใจความสำคัญ

เราไม่สามารถสรุปผลได้เมื่อเปรียบเทียบโพรไบโอติกส์กับยาหลอกในเรื่องความถี่ของการถ่ายอุจจาระในเด็กที่รักษาอาการท้องผูกเรื้อรังโดยไม่มีคำอธิบายทางกายภาพ ความสำเร็จในการรักษาระหว่างทั้ง 2 กลุ่มอาจไม่แตกต่างกัน

ความถี่ของการถ่ายอุจจาระหรือการรักษาอาจไม่แตกต่างกันเมื่อเปรียบเทียบโพรไบโอติกส์ และยาระบายกับการใช้ยาระบายเพียงอย่างเดียว

เราไม่สามารถสรุปผลได้เมื่อเปรียบเทียบโพรไบโอติกส์กับแมกนีเซียมออกไซด์สำหรับความถี่ของการถ่ายอุจจาระหรือการรักษาที่ประสบความสำเร็จ

อาจมีความถี่ในการถ่ายอุจจาระสูงขึ้นในเด็กที่ได้รับการรักษาด้วยผลิตภัณฑ์ synbiotic เปรียบเทียบกับยาหลอก

อาจไม่มีความแตกต่างกันในผู้เข้าร่วมที่ถอนตัวจากการศึกษาเนื่องจากเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์เมื่อเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกส์กับยาหลอก

เราไม่สามารถสรุปผลด้านความปลอดภัยของการเปรียบเทียบอื่นๆ ได้ เนื่องจากมีคนจำนวนน้อยที่ถอนตัวจากการศึกษานี้

การทบทวนวรรณกรรมนี้ได้ศึกษาเกี่ยวกับอะไร

เด็กมักมีอาการท้องผูกเป็นเวลานาน และเมื่อไม่พบสาเหตุทางกายภาพ เราเรียกว่า 'อาการท้องผูกที่ไม่ทราบสาเหตุ'

มีคนแนะนำว่าผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกส์และ synbiotic อาจช่วยปรับปรุงอาการในเด็กเหล่านี้ได้ โพรไบโอติกส์คือผลิตภัณฑ์ที่มีแบคทีเรียที่มีชีวิตซึ่งได้รับการเสนอว่าเป็นประโยชน์ต่อระบบย่อยอาหาร Synbiotics ยังรวมถึงสารอาหารที่สนับสนุนการเจริญเติบโตของแบคทีเรียเหล่านี้

ขณะนี้ยังไม่มีความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่าจะจริงหรือไม่ หรือจะใช้ผลิตภัณฑเหล่านี้อย่างดีที่สุดอย่างไร

ผลลัพธ์หลักของการทบทวนวรรณกรรมนี้คืออะไร

เราค้นหาการศึกษาวิจัยแบบสุ่มที่มีกลุ่มเปรียบเทียบ (การศึกษาที่ผู้เข้าร่วมได้รับมอบหมายให้เข้าร่วมกลุ่มการรักษากลุ่มใดกลุ่มหนึ่งจากสองกลุ่มหรือมากกว่าโดยใช้วิธีการสุ่ม) เปรียบเทียบการรักษาด้วยโพรไบโอติกส์หรือ synbiotic กับการรักษาอื่นๆ (เช่น การรักษาหลอก/ยาหลอก) ในเด็กที่มีอาการท้องผูกเรื้อรังที่ไม่มี คำอธิบายทางกายภาพ เราพบ 14 การทดลอง รวมผู้เข้าร่วมทั้งหมด 1127 คน ซึ่งมีอายุต่ำกว่า 18 ปี เราได้ข้อสรุปดังต่อไปนี้

• ความสำเร็จในการรักษาอาจไม่แตกต่างกันเมื่อเปรียบเทียบโพรไบโอติกส์กับยาหลอก
• เราไม่สามารถสรุปได้ว่าความถี่ของการถ่ายอุจจาระมีความแตกต่างกันหรือไม่
• ความสำเร็จในการรักษาอาจไม่แตกต่างกันเมื่อเปรียบเทียบโพรไบโอติกส์และยาระบายกับยาระบายเพียงอย่างเดียว
• เราไม่สามารถสรุปผลความถี่ของการถ่ายอุจจาระหรือความสำเร็จในการรักษาเมื่อเปรียบเทียบโพรไบโอติกส์กับแมกนีเซียมออกไซด์
• Synbiotics อาจดีกว่ายาหลอกในการปรับปรุงความถี่ของการถ่ายอุจจาระ
• อาจไม่มีความแตกต่างในจำนวนคนที่ถอนตัวจากการทดลองเนื่องจากผลข้างเคียงเมื่อเปรียบเทียบโพรไบโอติกส์กับยาหลอก หรือ โพรไบโอติกส์ และยาระบายกับยาระบายเพียงอย่างเดียว
• เรามีความเชื่อมั่นในหลักฐานที่จำกัด เนื่องจากการศึกษาได้รวบรวมเด็กจำนวนเล็กน้อย และเนื่องจากขาดรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการบางอย่างที่ใช้

การวิเคราะห์ทั้งหมดมีข้อ จำกัด เนื่องจากความแตกต่างในโพรไบโอติกส์เฉพาะหรือการรักษาที่เปรียบเทียบ จำนวนเด็กที่รวมอยู่ในการศึกษาน้อยและที่สำคัญที่สุดคือการใช้การวัดความสำเร็จที่แตกต่างกัน ซึ่งหมายความว่าการรวมการศึกษาเป็นเรื่องยาก ดังนั้นความสามารถโดยรวมของการทบทวนนี้ในการตอบคำถามหลักจึงมีจำกัด

ขั้นตอนถัดไปคืออะไร

จำเป็นต้องมีการศึกษาในอนาคตเพื่อค้นหาว่าโพรไบโอติกส์มีประโยชน์ต่ออาการท้องผูกในวัยเด็กอย่างไร นักวิจัยจำเป็นต้องเห็นพ้องกันว่าโพรไบโอติกส์ควรเป็นทางเลือกแรกในการรักษา เป็นส่วนเสริมของการรักษาอื่นๆ หรือไม่ ทางเลือกที่ 2 หลังจากการรักษาอื่นๆ ล้มเหลว

การวิจัยในอนาคตควรวัดรายการเดียวกัน (เรียกว่าชุดผลลัพธ์หลัก) เพื่อให้แน่ใจว่าผลลัพธ์เหล่านี้สามารถสนับสนุนการทบทวนในอนาคตได้

การทบทวนวรรณกรรมนี้ทันสมัยแค่ไหน?

การทบทวนวรรณกรรมนี้เป็นข้อมูลล่าสุดจนถึงเดือนมิถุนายน 2021

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

มีหลักฐานไม่เพียงพอที่จะสรุปได้ว่าโพรไบโอติกส์มีประสิทธิภาพในการรักษาอาการท้องผูกเรื้อรังในเด็กที่ไม่สามารถอธิบายทางกายภาพได้สำเร็จหรือเปลี่ยนความถี่ของการถ่ายอุจจาระหรือไม่ หรือมีความแตกต่างในการถอนตัวเนื่องจากเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์เมื่อเทียบกับยาหลอกหรือไม่ มีหลักฐานที่จำกัดจาก 1 การศึกษาที่ชี้ให้เห็นว่าผลิตภัณฑ์ synbiotic อาจมีแนวโน้มมากกว่ายาหลอกที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในการรักษา โดยไม่มีความแตกต่างในการถอนตัวเนื่องจากเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์

มีหลักฐานไม่เพียงพอที่จะสรุปประสิทธิภาพหรือความปลอดภัยเกี่ยวกับการใช้โพรไบโอติกส์ ร่วมกับหรือเปรียบเทียบกับวิธีการอื่นๆ ที่รายงาน การศึกษาส่วนใหญ่ที่นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ร้ายแรงรายงานว่าไม่มีเหตุการณ์เกิดขึ้น 2 การศึกษาไม่ได้รายงานผลลัพธ์นี้

จำเป็นต้องมีการศึกษาในอนาคตเพื่อยืนยันประสิทธิภาพ แต่การวิจัยต้องการคำแนะนำเกี่ยวกับบริบทที่ดีที่สุดสำหรับโพรไบโอติกส์ในการศึกษาดังกล่าว โดยพิจารณาจากตำแหน่งที่ควรได้รับการพิจารณาอย่างดีที่สุดในลำดับชั้นการรักษาที่มีศักยภาพ และควรสอดคล้องกับชุดผลลัพธ์หลักเพื่อสนับสนุนการตีความผลการวิจัยในอนาคต

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

อาการท้องผูกที่ไม่ทราบสาเหตุหมายถึงอาการท้องผูกเรื้อรังที่ไม่มีสาเหตุที่สามารถระบุได้ เป็นสาเหตุสำคัญของการเจ็บป่วยในเด็ก โดยคิดเป็น 25% ของการไปพบแพทย์ระบบทางเดินอาหารในเด็ก ผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกส์อาจเปลี่ยนแปลง microbiome ในลำไส้ได้อย่างเพียงพอและส่งเสริมสรีรวิทยาของลำไส้ตามปกติในลักษณะที่ช่วยบรรเทาอาการท้องผูกที่ไม่ทราบสาเหต การศึกษาหลายฉบับพยายามหาคำตอบเกี่ยวกับสมมติฐานนี้ เช่นเดียวกับบทบาทของ โพรไบโอติกส์ในความผิดปกติของลำไส้อื่นๆไม่ทราบสาเหตุ ดังนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องมีการทบทวนวรรณกรรมโดยมุ่งเน้นเพื่อประเมินหลักฐานจนถึงปัจจุบัน

วัตถุประสงค์: 

เพื่อประเมินประสิทธิภาพและความปลอดภัยของโพรไบโอติกส์สำหรับการจัดการอาการท้องผูกเรื้อรังโดยไม่มีคำอธิบายทางกายภาพในเด็ก

วิธีการสืบค้น: 

เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2021 เราค้นหา CENTRAL, MEDLINE, Embase, CINAHL, AMED, WHO ICTR และ ClinicalTrials.gov โดยไม่มีข้อจำกัดด้านภาษา วันที่ สถานะการตีพิมพ์ หรือประเภทเอกสาร

เกณฑ์การคัดเลือก: 

เรารวมการศึกษาวิจัยแบบสุ่มที่มีกลุ่มเปรียบเทียบ (RCTs) ที่ประเมินผลิตภัณฑ์ probiotics (รวมถึง synbiotics) เปรียบเทียบกับยาหลอก ไม่มีการรักษาหรือผลิตภัณฑ์การรักษาอื่นใดในผู้ที่มีอายุระหว่าง 0 ถึง 18 ปีที่มีการวินิจฉัยอาการท้องผูกที่ไม่ทราบสาเหตุตามเกณฑ์ที่เป็นเอกฉันท์ (เช่น Rome IV)

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

เราใช้ขั้นตอนวิธีการมาตรฐานที่ Cochrane กำหนด

ผลการวิจัย: 

เรารวม 14 การศึกษา (ผู้เข้าร่วมแบบสุ่ม 1127 คน): 12 การศึกษา ประเมินโพรไบโอติกส์ในการรักษาอาการท้องผูกที่ไม่ทราบสาเหตุ ในขณะที่ 2 การศึกษาตรวจสอบผลิตภัณฑ์ synbiotic

3 การศึกษาเปรียบเทียบโพรไบโอติกส์กับยาหลอกในเรื่องความถี่ของการถ่ายอุจจาระเมื่อสิ้นสุดการศึกษา แต่เราไม่ได้รวมข้อมูลเนื่องจากมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญมากที่ไม่สามารถอธิบายได้ 4 การศึกษาเปรียบเทียบโพรไบโอติกส์กับยาหลอกในเรื่องความสำเร็จในการรักษา อาจไม่มีความแตกต่างในการดีขึ้น/การรักษาที่ประสบความสำเร็จโดยรวม (RR 1.29, 95% CI 0.73 ถึง 2.26; ผู้เข้าร่วม 313 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) 5 การศึกษาเปรียบเทียบโพรไบโอติกส์กับยาหลอกในการถอนตัวเนื่องจากเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ โดยผลรวมที่บ่งชี้ว่าอาจไม่มีความแตกต่าง (RR 0.64, 95% CI 0.21 ถึง 1.95; ผู้เข้าร่วม 357 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ)

ค่าประมาณรวมจาก 3 การศึกษาที่เปรียบเทียบโพรไบโอติกส์กับยาระบายออสโมติกกับยาระบายออสโมติกเพียงอย่างเดียว พบว่าความถี่ในการถ่ายอุจจาระไม่แตกต่างกัน (MD -0.01, 95% CI -0.57 ถึง 0.56; ผู้เข้าร่วม 268 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) 2 การศึกษาเปรียบเทียบโพรไบโอติกส์ร่วมกับยาระบายออสโมติกกับยาระบายออสโมติกเพียงอย่างเดียวในการดีขึ้น/การรักษาสำเร็จโดยรวม และพบว่าอาจไม่มีความแตกต่างระหว่างการรักษา (RR 0.95, 95% CI 0.79 ถึง 1.15; ผู้เข้าร่วม 139 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) 3 การศึกษาเปรียบเทียบโพรไบโอติกส์ร่วมกับยาระบายออสโมติก เทียบกับยาระบายออสโมติกเพียงอย่างเดียวในการถอนตัวเนื่องจากเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ แต่ก็ไม่ชัดเจนว่ามีความแตกต่าง (RR 2.86, 95% CI 0.12 ถึง 68.35; ผู้เข้าร่วม 268 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก)

2 การศึกษาเปรียบเทียบโพรไบโอติกส์กับ magnesium oxide ไม่ชัดเจนว่ามีความแตกต่างในความถี่ของการถ่ายอุจจาระ (MD 0.28, 95% CI -0.58 ถึง 1.14; ผู้เข้าร่วม 36 คน) ความสำเร็จในการรักษา (RR 1.08, 95% CI 0.74 ถึง 1.57; ผู้เข้าร่วม 36 คน) หรือการถอนตัวเนื่องจากเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ (RR 0.50, 95% CI 0.05 ถึง 5.04; ผู้เข้าร่วม 77 คน) ความเชื่อมั่นของหลักฐานสำหรับผลลัพธ์เหล่านี้ต่ำมาก

1 การศึกษา ประเมินบทบาทผลิตภัณฑ์ synbiotic เมื่อเปรียบเทียบกับยาหลอก การรักษาด้วย synbiotics อาจประสบความสำเร็จในการรักษาสูงกว่าเมื่อเทียบกับยาหลอก (RR 2.32, 95% CI 1.54 ถึง 3.47; ผู้เข้าร่วม 155 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) การศึกษารายงานว่าไม่มีการถอนตัวเนื่องจากผลข้างเคียงในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

1 การศึกษาประเมิน synbiotic ร่วมกับพาราฟินเมื่อเปรียบเทียบกับพาราฟินเพียงอย่างเดียว ไม่แน่ใจว่ามีความแตกต่างในความถี่ของการถ่ายอุจจาระ (MD 0.74, 95% CI -0.96, 2.44; ผู้เข้าร่วม 66 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก) หรือความสำเร็จในการรักษา (RR 0.91, 95% CI 0.71 ถึง 1.17; ผู้เข้าร่วม 66 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก) การศึกษารายงานว่าไม่มีการถอนตัวเนื่องจากผลข้างเคียงในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

1 การศึกษาเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์ synbiotic กับพาราฟิน ไม่แน่ใจว่ามีความแตกต่างในความถี่ของการถ่ายอุจจาระ (MD -1.53, 95% CI -3.00, -0.06; ผู้เข้าร่วม 60 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก) หรือความสำเร็จในการรักษา (RR 0.86, 95% CI 0.65, 1.13; ผู้เข้าร่วม 60 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก) การศึกษารายงานว่าไม่มีการถอนตัวเนื่องจากผลข้างเคียงในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

ผลลัพธ์รองทั้งหมดไม่ได้รายงานหรือรายงานในลักษณะที่ไม่สามารถวิเคราะห์ได้

บันทึกการแปล: 

แปลโดย ศ.นพ.ภิเศก ลุมพิกานนท์ ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 11 เมษายน 2022

Tools
Information