สารยับยั้ง Leukotriene (Leukotriene inhibitors) สำหรับโรคหลอดลมฝอยอักเสบในทารกและเด็กเล็ก

คำถามของการทบทวนวรรณกรรม
เราได้ทบทวนหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับผลของสารยับยั้ง Leukotriene ต่อผลทางคลินิกในทารกและเด็กเล็กที่ป่วยเป็นโรคหลอดลมฝอยอักเสบ

ความเป็นมา
หนี่งในโรคทางเดินหายใจในทารกที่พบบ่อยคือหลอดลมฝอยอักเสบ การอักเสบของทางเดินหายใจเล็กๆในปอด โรคหลอดลมฝอยอักเสบเกิดจากเชื้อไวรัสหลายชนิด เช่น อาร์เอสวี (RSV: Respiratory Syncytial Virus) ไข้หวัดใหญ่ (Influenza) อาการของโรคมีทั้ง น้ำมูกไหล หายใจหวีด ไอและจาม โรคนี้ทำให้เจ็บป่วยและอาจทำให้ต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล สารยับยั้ง Leukotriene ที่เข้าใจว่าลดการอักเสบของหลอดลม จึงน่าจะลดอาการอักเสบของหลอดลมในโรคหลอดลมฝอยอักเสบได้ด้วย เราได้ทบทวนหลักฐานการศึกษาในการทดลองแบบสุ่ม เพื่อดูว่าการใช้ สารยับยั้ง Leukotriene จะดีกว่ายาหลอก ในเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปีที่ป่วยเป็นโรคหลอดลมฝอยอักเสบหรือไม่

ลักษณะของการศึกษา
อ้างอิงจากหลักฐานที่มีอยู่จนถึงพฤษภาคม ค.ศ. 2014 สามารถสืบค้นการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม 5 การศึกษา (ผู้เข้าร่วม 1296 คน ซึ่งเป็นเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี) เปรียบเทียบ Montelukust (สารยับยั้ง Leukotriene) กับยาหลอกในทารกและเด็กเล็กที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยโรคหลอดลมฝอยอักเสบ

ผลลัพธ์หลัก
ผลลัพธ์หลักคือระยะเวลาในการอยู่โรงพยาบาลและการเสียชีวิตจากทุกสาเหตุ ผลลัพธ์ทุติยภูมิ ได้แก่ คะแนนความรุนแรงทางคลินิก ร้อยละของวันที่ปลอดอาการ ร้อยละของเด็กที่ต้องการการช่วยหายใจ หายใจหวีดซ้ำซาก (recurrent wheezing) ความอิ่มตัวของออกซิเจน อัตราการหายใจและผลข้างเคียงทางคลินิก

ผลของ montelukast ต่อระยะเวลาในการอยู่โรงพยาบาลและคะแนนความรุนแรงทางคลินิกไม่แน่นอน เนื่องจากมีความแตกต่างกันอย่างมาก (Heterogeneity) ระหว่างการศึกษา และมีช่วงความเชื่อมั่นของผลกระทบ (estimated effects) ที่กว้าง ข้อมูลเกี่ยวกับวันที่ปลอดอาการ (symptom-free days) และอุบัติการณ์ของหายใจหวีดซ้ำซาก (recurrent wheezing) มาจากการศึกษาเดียวเท่านั้นและการวิเคราะห์ของการศึกษาเหล่านี้ไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม การวิจัยศึกษาหนึ่งในเด็ก 952 คนรายงานการเสียชีวิต 2 รายในกลุ่มที่ได้สารยับยั้ง leukotriene แต่การเสียชีวิตผู้ป่วยทั้งสองไม่เกี่ยวข้องกับยาในการทดลอง ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับเปอร์เซ็นต์ของเด็กที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ความอิ่มตัวของออกซิเจนและอัตราการหายใจ สุดท้ายการศึกษา 3 รายการ รายงานว่ามีอาการไม่พึงประสงค์ ได้แก่ ท้องร่วง หายใจหวีดหลังได้รับยา และมีผื่นขึ้น ไม่มีความแตกต่างระหว่างกลุ่มที่เข้าการศึกษา

คุณภาพของหลักฐาน
สำหรับระยะเวลาการอยู่โรงพยาบาลและคะแนนความรุนแรงทางคลินิก เราประเมินคุณภาพของหลักฐานว่าอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากความไม่สอดคล้องและความไม่แม่นยำ ที่เกิดจากขนาดตัวอย่างที่มีจำนวนน้อยและช่วงความเชื่อมั่นที่กว้าง ซึ่งไม่สามารถตัดประเด็นว่าไม่มีผลกระทบหรืออันตรายใดๆ โดยรวมแล้ว หลักฐานในปัจจุบันไม่สามารถสรุปอย่างชัดเจนเกี่ยวกับผลลัพธ์และความปลอดภัยของสารยับยั้ง leukotriene ในทารกและเด็กเล็กที่เป็นโรคหลอดลมฝอยอักเสบ

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

จากหลักฐานที่มีอยู่ในปัจจุบัน ไม่สามารถนำสู่ข้อสรุปอย่างชัดเจนเกี่ยวกับผลลัพธ์ของสารยับยั้ง leukotriene ต่อระยะเวลาอยู่โรงพยาบาลหรือคะแนนความรุนแรงทางคลินิก ในทารกและเด็กเล็กที่ป่วยเป็นโรคหลอดลมฝอยอักเสบ คุณภาพของหลักฐานอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากความไม่สอดคล้อง(ไม่สามารถอธิบายระดับความแตกต่างกันทางสถิติที่มาก) และความไม่แม่นยำที่เกิดจากขนาดตัวอย่างที่มีจำนวนน้อยและช่วงความเชื่อมั่นที่กว้าง ซึ่งไม่สามารถตัดประเด็นว่าไม่มีผลกระทบหรืออันตรายใดๆ ข้อมูลเกี่ยวกับวันที่ปลอดอาการและอุบัติการณ์ของการหายใจหวีดซ้ำซากได้มาจากงานวิจัยเพียงการศึกษาเดียวเท่านั้น จึงต้องการการศึกษาที่มีกลุ่มตัวอย่างขนาดใหญ่ เราทราบว่ามีการศึกษาที่ได้ลงทะเบียนไว้ซึ่งอาจมีส่วนในการปรับปรุงการศึกษาเรื่องนี้ต่อไป

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

โรคหลอดลมฝอยอักเสบเป็นการอักเสบเฉียบพลันของหลอดลมเล็กๆส่วนปลายที่พบได้บ่อยในทารกและเด็กเล็ก ซึ่งมักเกิดจากเชื้อ respiratory syncytial virus (RSV) วิธีการรักษาโรคหลอดลมฝอยอักเสบของแพทย์ มีความแตกต่างกัน สะท้อนให้เห็นว่า ขาดหลักฐานที่จะทำให้เกิดแนวทางการรักษาที่เป็นแบบแผนเฉพาะเจาะจง มีรายงานว่า leukotriene pathway มีส่วนเกี่ยวข้องกับพยาธิกำเนิดของโรคหลอดลมฝอยอักเสบ สารยับยั้ง Leukotriene (Leukotriene inhibitors) เช่น montelukast ได้ถูกนำมาใช้รักษาโรคหลอดลมฝอยอักเสบในทารกและเด็กเล็ก แต่อย่างไรก็ตาม ผลจากการทดลองแบบแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม (RCTs: Randomised Controlled Trials) ที่ผ่านมายังไม่สามารถสรุปผลได้อย่างแน่นอน จึงจำเป็นต้องมีการประเมินประสิทธิภาพของสารยับยั้ง Leukotriene ในการรักษาโรคหลอดลมฝอยอักเสบในทารกและเด็กเล็กอย่างละเอียดรอบคอบ

วัตถุประสงค์: 

เพื่อประเมินประสิทธิภาพและความปลอดภับ ของสารยับยั้ง Leukotriene ในการรักษาโรคหลอดลมฝอยอักเสบในทารกและเด็กเล็ก

วิธีการสืบค้น: 

เราสืบค้น CENTRAL (ปี 2014, Issue 5), MEDLINE (ปี 1946 ถึง เมษายนสัปดาหที่ 4 ปี 2014), EMBASE (ปี 1974 ถึงพฤษภาคม 2014), CINAHL (ปี 1981 ถึงพฤษภาคม 2014), LILACS (ปี 1982 ถึงพฤษภาคม 2014), Web of Science (ปี 1985 ถึงพฤษภาคม 2014), WHO ICTRP และ ClinicalTrials.gov (6 พฤษภาคม 2014)

เกณฑ์การคัดเลือก: 

การศุึกษาชนิด RCTs เปรียบเทียบสารยับยั้ง leukotriene กับยาหลอกหรือการรักษาอื่นๆ ในทารกและเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 2 ปีที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคหลอดลมฝอยอักเสบ ผลลัพธ์หลักคือระยะเวลาในการอยู่โรงพยาบาลและการเสียชีวิตจากทุกสาเหตุ ผลลัพธ์ทุติยภูมิ ได้แก่ คะแนนความรุนแรงทางคลินิก ร้อยละของวันที่ปลอดอาการ ร้อยละของเด็กที่ต้องการการช่วยหายใจ หายใจหวีดซ้ำซาก (recurrent wheezing) ความอิ่มตัวของออกซิเจน อัตราการหายใจและผลข้างเคียงทางคลินิก

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

เราใช้ระเบียบวิธีการทำงานมาตราฐาน Cochrane Collaboration methodological practices ผู้เขียนสองคนที่ทำงานอย่างอิสระ ในการประเมินความเหมาะสมของการศึกษาวิจัยและรวบรวมข้อมูล เช่นข้อมูลทั่วไปลักษณะของผู้เข้าร่วม การรักษาและผลลัพธ์ เราประเมินความเสี่ยงของการมีอคติ (risk of bias) และให้คะแนนในคุณภาพของหลักฐาน เราใช้ซอฟต์แวร์ Review Manager เพื่อรวบรวมผลลัพธ์และเลือกใช้ random-effects models ในการวิเคราะห์ meta-analysis

ผลการวิจัย: 

เรารวมงานวิจัยได้ 5 การศึกษา จำนวนผู้เข้าร่วม 1296 คน ซึ่งเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปีที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยโรคหลอดลมฝอยอักเสบ งานวิจัย 2 การศึกษาที่มีความเสี่ยงต่ออคติต่ำได้เทียบการใช้ Montelukast ขนาด 4 มก.ต่อวัน ตั้งแต่แรกรับเข้ารักษาจนกลับบ้านเทียบกับการใช้ยาหลอก ทั้งสองงานวิจัยเลือก ระยะเวลาในการอยู่โรงพยาบาลเป็นผลลัพธ์หลักและคะแนนความรุนแรงทางคลินิกเป็นผลรอง อย่างไรก็ตามผลของสารยับยั้ง leukotriene ต่อระยะเวลาในการอยู่โรงพยาบาล และคะแนนความรุนแรงทางคลินิกยังไม่แน่นอน เนื่องจากมีความแตกต่างกันอย่างมากระหว่างผลการศึกษาและช่วงความเชื่อมั่นที่กว้างของผลประมาณการ ระยะเวบาอยู่โรงพยาบาล: ความแตกต่างของค่าเฉลี่ย (MD: mean difference) -0.95 วัน 95% ช่วงความเชื่อมั่น (CI) -3.08 ถึง 1.19 ค่า P = 0.38 หลักฐานคุณภาพต่ำ; คะแนนความรุนแรงทางคลินิกในวันที่สอง: ความแตกต่างของค่าเฉลี่ย (MD) -0.57, 95% CI -2.37 to 1.23, P value = 0.53, หลักฐานคุณภาพต่ำ; คะแนนความรุนแรงทางคลินิกในวันที่สาม: ความแตกต่างของค่าเฉลี่ย (MD) 0.17, 95%CI -1.93 to 2.28, P value = 0.87, หลักฐานคุณภาพต่ำ; การศึกษาอีก 3 รายการเปรียบเทียบการให้ Montelukast เป็นเวลาหลายสัปดาห์เพื่อป้องกันอาการต่อเนื่องหลังหลอดลมฝอยอักเสบเทียบกันยาหลอก เราประเมินงานวิจัยหนึ่งว่ามีความเสี่ยงต่อการเกิดอคติในระดับต่ำ ในขณะที่เราประเมินอีกสองงานวิจัยว่ามีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอคติเนื่องจากการออกจากการทดลองของอาสาสมัคร เนื่องจากมีความแตกต่างทางคลินิกอย่างมีนัยสำคัญในด้านความรุนแรงของโรค ระยะเวลาในการรักษา การวัดผลลัพธ์และระยะเวลาในการประเมิน เราจึงไม่รวบรวมผล การวิเคราะห์ของการศึกษาเหล่านี้ไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญระหว่างกลุ่มที่ได้ สารยับยั้ง leukotriene กับกลุ่มควบคุม ในด้านวันที่ปลอดอาการและอุบัติการณ์ของการเกิดหายใจหวีดซ้ำซาก การวิจัยศึกษาหนึ่งในเด็ก 952 คนรายงานการเสียชีวิต 2 รายในกลุ่มที่ได้สารยับยั้ง leukotriene แต่การเสียชีวิตผู้ป่วยทั้งสองไม่เกี่ยวข้องกับยาในการทดลอง ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับเปอร์เซ็นต์ของเด็กที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ความอิ่มตัวของออกซิเจนและอัตราการหายใจ สุดท้ายการศึกษา 3 รายการ รายงานว่ามีอาการไม่พึงประสงค์ ได้แก่ ท้องร่วง หายใจหวีดหลังได้รับยา และมีผื่นขึ้น ไม่มีความแตกต่างระหว่างกลุ่มที่เข้าการศึกษา

บันทึกการแปล: 

แปลโดย นายแพทย์โยธี ทองเป็นใหญ่ หน่วยโรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา Nov 4, 2020

Tools
Information