การรองพื้นโพรงฟันก่อนการบูรณะฟันหลังด้วยวัสดุบูรณะสีเหมือนฟัน

คำถามของการทบทวนวรรณกรรม

การทบทวนวรรณกรรมนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการรองพื้นโพรงฟันก่อนการบูรณะฟันหลัง class I และ class II ด้วยวัสดุสีเหมือนฟัน ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่

ที่มาและความสำคัญของปัญหา

ฟันผุเป็นโรคหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม โรคฟันผุจะทำให้สูญเสียโครงสร้างของฟันเกิดเป็นโพรงฟันขึ้น มีวิธีการและวัสดุหลายชนิดในการบูรณะโพรงฟันที่เสียหายจากโรคฟันผุ หนึ่งในวัสดุบูรณะสีเหมือนฟันที่เป็นที่นิยมคือ เรซินคอมโพสิต วัสดุบูรณะฟันชนิดนี้มีการใช้งานมากขึ้นและเป็นทางเลือกหนึ่งเพื่อลดการใช้อะมัลกัมที่เกิดจากการผสมโลหะผสมอัลลอยเข้ากับปรอท

ตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 นิยมรองพื้นโพรงฟันด้วยวัสดุรองพื้นก่อนการบูรณะฟันด้วยวัสดุบูรณะ เพื่อป้องกันภยันตรายต่อเนื้อเยื่อในฟัน อันเกิดจากตัววัสดุบูรณะและการนำความร้อนของวัสดุบูรณะที่สามารถนำความร้อนความเย็นได้มากกว่าโครงสร้างของฟัน แม้ว่าวัสดุบูรณะเรซินคอมโพสิตจะมีคุณสมบัติการนำความร้อนใกล้เคียงกับโครงสร้างของฟันธรรมชาติ แต่บางครั้งก็ยังพบอาการเสียวฟันหลังการบูรณะด้วยเรซินคอมโพสิตโดยเฉพาะเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิในช่องปาก

ลักษณะของการศึกษา

การทบทวนวรรณกรรมนี้ดำเนินการโดยทีมวิจัย Cochrane Oral Health ทบทวนวรรณกรรมถึงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2018

รวบรวมการศึกษาจำนวน 8 เรื่อง มีผู้เข้าร่วมการศึกษากว่า 700 คน โดยมีการศึกษา 2 เรื่อง ดำเนินการในประเทศสหรัฐอเมริกา การศึกษา 2 เรื่อง ดำเนินการในประเทศไทย การศึกษา 2 เรื่อง ดำเนินการในประเทศเยอรมัน การศึกษา 1 เรื่องดำเนินการในประเทศซาอุดิอาระเบียและการศึกษาอีก 1 เรื่องดำเนินการในประเทศตุรกี ซึ่งงานวิจัยเหล่านี้ได้ทำการศึกษาเปรียบเทียบการใช้วัสดุรองพื้นก่อนการบูรณะฟันหลัง class I และ class II เรซินคอมโพสิต 1 ใน 2 ของการศึกษาในสหรัฐอเมริกาทำการทดลองในคลินิกทันตกรรม ส่วนการศึกษาอื่น ๆ ถูกทำขึ้นในโรงเรียนสอนทันตแพทย์ การศึกษาทั้งหมดทำในกลุ่มตัวอย่างผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 15 ปี

ผลการศึกษาที่สำคัญ

พบว่ามีหลักฐานทางงานวิจัยน้อยมากที่แสดงว่าการรองพื้นโพรงฟันช่วยลดอาการเสียวฟันหลังการบูรณะฟันแท้ class I และ class II เรซินคอมโพสิต ในผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 15 ปี ไม่พบหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่ามีความแตกต่างของการคงอยู่ของวัสดุบูรณะในกลุ่มที่ทำและไม่ทำการรองพื้นโพรงฟัน และไม่มีรายงานผลอันไม่พึงประสงค์ใด ๆ

คุณภาพของหลักฐาน

จากการทบทวนวรรณกรรมนี้ไม่สามารถให้ข้อสรุปที่ชัดเจนเกี่ยวกับผลของการรองพื้นโพรงฟันได้ เนื่องจากหลักฐานมีคุณภาพต่ำและขาดความน่าเชื่อถือในการประเมินผล นอกจากนี้ ยังไม่มีหลักฐานที่แสดงถึงความแตกต่างของการคงอยู่ของวัสดุบูรณะในกลุ่มที่ทำและไม่ทำการรองพื้นโพรงฟัน

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

จากหลักฐานการวิจัยมีคุณภาพต่ำและไม่สอดคล้องกันเกี่ยวกับผลต่ออาการเสียวฟันหลังการบูรณะฟันหลัง Class I และ Class II ด้วยเรซินคอมโพสิต ในเด็กและผู้ใหญ่ที่มีอายุมากกว่า 15 ปี และไม่พบหลักฐานที่แสดงถึงความแตกต่างของการคงอยู่ของวัสดุบูรณะที่ทำและไม่ทำการรองพื้นโพรงฟัน

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

ปัจจุบันเรซินคอมโพสิตได้รับการยอมรับว่าเป็นวัสดุที่มีประสิทธิภาพในการบูรณะฟันหลัง แม้ว่าเรซินคอมโพสิตมีค่าการนำความร้อนใกล้เคียงกับโครงสร้างของฟัน แต่บางครั้งยังพบอาการเสียวฟันหลังการบูรณะด้วยเรซินคอมโพสิต ในอดีตมีการใช้วัสดุรองพื้นเพื่อป้องกันเนื้อเยื่อในฟันจากความเป็นพิษของวัสดุบูรณะและเพื่อเป็นฉนวนป้องกันการนำความร้อนความเย็นผ่านวัสดุบูรณะเข้าสู่ตัวฟัน อันจะส่งผลให้เกิดอาการเสียวหรือปวดฟัน การทบทวนวรรณกรรมนี้ป็นการปรับปรุงงานทบทวนวรรณกรรม Cochrane ที่เผยแพร่ครั้งแรกในปี 2016

วัตถุประสงค์: 

มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการรองพื้นโพรงฟันก่อนการบูรณะฟันแท้ Class I และ Class II เรซินคอมโพสิต ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่

วิธีการสืบค้น: 

ผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูลของ Cochrane Oral Health ทำการสืบค้นจากฐานข้อมูลต่อไปนี้: Cochrane Oral Health’s Trials Registrer (ถึงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2018) Cochrane Central Register of Controlled Trials (CENTRAL; 2018, Issue 10) Cochrane Library (สืบค้นวันที่ 12 พฤศจิกายน 2018), MEDLINE Ovid (ปี 1946 ถึง วันที่ 12 พฤศจิกายน 2018), Embase Ovid (ปี 1980 ถึง 12 พฤศจิกายน 2018) and LILACS BIREME Virtual Health Library (Latin American and Caribbean Health Science Information database; ปี 1982 ถึง 12 พฤศจิกายน 2018) และทีมวิจัยสืบค้นในฐานข้อมูล ClinicalTrials.gov และ World Health Organization International Clinical Trials Registry Platform สำหรับการทดลองที่กำลังดำเนินการอยู่ โดยการสืบค้นข้อมูลแบบไม่จำกัดภาษาและวันที่ตีพิมพ์ จากฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์

เกณฑ์การคัดเลือก: 

คัดเลือกผลงานวิจัยประเภท randomized controlled trials เพื่อประเมินผลของการรองพื้นโพรงฟันก่อนการบูรณะ class I และ class II ด้วยเรซินคอมโพสิต ในฟันแท้ (ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่) รวบรวมการศึกษาทั้งที่มีการออกแบบการทดลองประเภท parallel และ split-mouth design

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

ใช้วิธีการมาตรฐานที่กำหนดโดย Cochrane สำหรับการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล ผู้วิจัย 2 คน ทำการคัดกรองและประเมินการศึกษาตามเกณฑ์การคัดเข้า โดยผู้วิจัยแต่ละคนประเมินความเสี่ยงของการเกิดอคติของการศึกษาและดึงข้อมูลอย่างเป็นอิสระต่อกัน หากข้อมูลไม่ชัดเจน เราทำการติดต่อเจ้าของการศึกษาเพื่อสอบถามรายละเอียดที่ชัดเจน

ผลการวิจัย: 

การศึกษา 8 เรื่อง มีผู้เข้าร่วมการศึกษากว่า 700 คน เปรียบเทียบการทำและไม่ทำการรองพื้นโพรงฟันก่อนการบูรณะ class I และ class II ด้วยเรซินคอมโพสิต

การศึกษา 7 เรื่อง ประเมินอาการเสียวฟันหลังการบูรณะโดยใช้วิธีการประเมินที่แตกต่างกัน ทุกการศึกษาให้ข้อมูลไม่ชัดเจนและมีความเสี่ยงของการเกิดอคติสูง การศึกษาให้ผลไม่สอดคล้องกันเกี่ยวกับอาการเสียวฟันหลังการบูรณะ (ไม่ว่าด้วยวิธีการประเมินการตอบสนองต่อความเย็น หรือจากอาการของผู้ป่วย) และบางการศึกษาแสดงให้เห็นถึงผลดีของการรองพื้นโพรงฟัน (หลักฐานคุณภาพต่ำ)

มีการศึกษา 4 เรื่อง ที่ประเมินการคงอยู่ของวัสดุบูรณะ ซึ่งการศึกษา 2 เรื่อง มีความเสี่ยงของการเกิดอคติสูง และการศึกษาอีก 2 เรื่อง มีความเสี่ยงการเกิดอคติไม่ชัดเจน ไม่พบความแตกต่างของการเสื่อมสภาพของวัสดุบูรณะระหว่างกลุ่มที่ทำและไม่ทำการรองพื้นโพรงฟันที่ระยะเวลา 1 ปี โดย 3 ใน 4 ของการศึกษาพบว่าไม่เกิดการเสื่อมสภาพของวัสดุบูรณะ; การศึกษาที่ 4 รายงานค่า risk ratio (RR) 1.00 (95% confidence interval (CI) 0.07 ถึง 15.00) (หลักฐานคุณภาพต่ำ) การศึกษา 3 เรื่อง ประเมินการคงอยู่ของวัสดุบูรณะที่ระยะเวลา 2 ปี ก็ไม่พบการเสื่อมสภาพของวัสดุบูรณะทั้งในกลุ่มที่ทำและไม่ทำการรองพื้นโพรงฟัน

และไม่มีรายงานผลอันไม่พึงประสงค์ใด ๆ

บันทึกการแปล: 

แปลโดย ทพ. กิตติศักดิ์ สะนนท์ วันที่ 18 มิถุนายน 2020

Tools
Information