ความเป็นมา
หลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองบริเวณช่องท้อง (abdominal aortic aneurysm; AAA) เป็นโรคที่มีอาการบวมหรือขยายตัวเฉพาะที่ของหลอดเลือดขนาดใหญ่ที่ส่งเลือดไปที่ช่องท้อง (ท้อง) กระดูกเชิงกรานและขา ผู้ป่วยที่มีหลอดเลือดแดงช่องท้องโป่งพองจะเสี่ยงต่อการเสียชีวิตกะทันหันเพราะหลอดเลือดแดงใหญ่ในช่องท้องแตก เมื่อตรวจพบแล้ว แนะนำให้ทำการรักษาเมื่อ AAA มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางมากกว่าประมาณ 5 ซม. ปัจจุบันการรักษาส่วนใหญ่ใช้หลอดเลือดเทียมวางภายในหลอดเลือดโป่งพองโดยใช้เครื่องเอกซเรย์เป็นตัวช่วยระบุตำแหน่งความผิดปกติ (การผ่าตัดใส่หลอดเลือดเทียมผ่านทางหลอดเลือดแดง (endovascular aneurysm repair); EVAR)
เมื่อมีการวางผนังหลอดเลือดใหม่อาจเกิดการรั่วที่ขอบของหลอดเลือดเทียมหรือเกิดการไหลย้อนกลับของเลือดเข้ามาใน AAA sac จากแขนงของหลอดเลือด เราเรียกสิ่งเหล่านี้ว่าการเกิด endoleak ซึ่ง endoleaks มักเกิดขึ้นภายหลังการทำ EVAR โดยเกิดขึ้นในผู้ป่วยประมาณ 40% ในระหว่างการติดตามการรักษา endoleak อาจมีความเกี่ยวข้องกับการแตกของหลอดเลือดโป่งพองในภายหลัง (late aneurysm rupture) ดังนั้นการตรวจวินิจฉัยและเฝ้าติดตามจึงเป็นสิ่งสำคัญ การอัลตราซาวนด์ (ใช้คลื่นเสียงความถี่สูง) การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (ใช้รังสีเอกซ์) และการสแกนด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (ใช้สนามแม่เหล็กแรงสูงและคลื่นวิทยุ) ล้วนมีการใช้ในการตรวจวินิจฉัยและเฝ้าติดตามการเกิด endoleak ในบางกรณีมีการฉีดสารทึบรังสี (contrast) เข้าไปในหลอดเลือดดำเพื่อเพิ่มความแม่นยำของการอัลตราซาวนด์ (contrast-enhanced ultrasound)
ลักษณะของการศึกษา
เราได้รวบรวมหลักฐานล่าสุด (ถึงกรกฎาคม 2016) และดำเนินการวิเคราะห์เมตต้าตามวิธีการที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการวิจัยเกี่ยวกับการวินิจฉัย เรารวบรวมการศึกษา 42 ฉบับ มีผู้เข้าร่วม 4220 คนในงานวิจัยที่เป็นการทบทวนวรรณกรรมนี้
ผลการศึกษาที่สำคัญ
การวิเคราะห์เพื่อวัดความไว (การทดสอบนั้นจะระบุคนที่เกิด endoleak ได้ถูกต้องเพียงใด) และความจำเพาะ (การทดสอบนั้นจะระบุคนที่ไม่มี endoleak ได้ถูกต้องเพียงใด) ค่าประมาณความแม่นยำโดยสรุปคือ ความไว 82% (66% ถึง 91% ช่วงความเชื่อมั่น 95%) และความจำเพาะ 93% (87% ถึง 96% ช่วงความเชื่อมั่น 95%) สำหรับการอัลตราซาวนด์โดยไม่ใช้สารทึบรังสี และมีความไว 94% (ช่วงความเชื่อมั่น 95% 85% ถึง 98% ) และความจำเพาะ 95% (ช่วงความเชื่อมั่น 95% 90% ถึง 98% ) สำหรับการอัลตราซาวนด์โดยใช้สารทึบรังสี การใช้สารทึบรังสีช่วยเพิ่มความไวของการอัลตราซาวนด์ได้อย่างมีนัยสำคัญ จากผลลัพธ์เหล่านี้เราคาดว่าจะสามารถระบุผู้ที่มี endoleaks ได้ถูกต้องจากการทำ contrast-enhanced ultrasound 94%
คุณภาพของหลักฐานงานวิจัย
การศึกษาที่ประเมินการใช้ contrast-enhanced ultrasound ใช้ระเบียบวิธีวิจัยที่ดีกว่าการศึกษาที่ประเมินการใช้ ultrasound เพียงอย่างเดียว
การทบทวนวรรณกรรมนี้แสดงให้เห็นว่าวิธีการอัลตราซาวนด์ทั้ง 2 รูปแบบ (มีหรือไม่มีสารทึบรังสี) มีความจำเพาะสูง ดูเหมือนว่า CE-CDUS เหนือกว่า CDUS ในการวินิจฉัยว่ามี endoleak สำหรับการเฝ้าระวังการเกิด endoleak อาจแนะนำให้ใช้ CE-CDUS เป็นวิธีการวินิจฉัยตามปกติ ตามด้วย CT scan เมื่อผลอัลตราซาวนด์เป็นบวก เพื่อระบุชนิดของ endoleak และวางแผนการรักษาต่อไป
ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดแดงใหญ่ในช่องท้องโป่งพองที่ได้รับการรักษาด้วยวิธีการใส่หลอดเลือดเทียมผ่านทางหลอดเลือดแดง (endovascular aneurysm repair; EVAR) จำเป็นต้องได้รับการเฝ้าระวังทางการแพทย์ตลอดชีวิตเพื่อตรวจหา endoleak ที่อาจเกิดขึ้น endoleak คือการเกิดการไหลเวียนของเลือดอย่างต่อเนื่องภายในหลอดเลือดโป่งพองในช่องท้องภายหลังการทำ EVAR เอกซเรย์คอมพิวเตอร์หลอดเลือด (CT angiography) ถือเป็นมาตรฐานสูงสุดสำหรับการตรวจหา endoleak การตรวจอัลตราซาวนด์แบบดูเพล็กซ์ (colour duplex ultrasound; CDUS) และการตรวจอัลตราซาวนด์ช่องท้องโดยใช้สารทึบรังสี (contrast-enhanced CDUS; CE-CDUS) เป็นการตรวจที่มีการรุกล้ำน้อยกว่าแต่ความแม่นยำน้อยกว่าการตรวจ CT scan
เพื่อวัดความแม่นยำในการวินิจฉัยระหว่าง colour duplex ultrasound (CDUS) และ contrast-enhanced-colour duplex ultrasound (CE-CDUS) ในแง่ของความไวและความจำเพาะในการตรวจหา endoleak ภายหลังการทำ EVAR
เราค้นหา MEDLINE, Embase, LILACS, ISI Conference Proceedings, Zetoc และการลงทะเบียนงานวิจัยในเดือนมิถุนายน ปี 2016 โดยไม่มีข้อจำกัดด้านภาษาและไม่ใช้การกรองข้อมูลเพื่อเพิ่มความไวให้สูงสุด
การศึกษาการวินิจฉัยแบบตัดขวางที่ประเมินผู้ได้รับการทำ EVAR โดยการอัลตราซาวนด์ (มีหรือไม่มีสารทึบรังสี) และการทำ CT scan เป็นระยะๆ
นักวิจัย 2 คู่ได้ดึงข้อมูลและประเมินคุณภาพของการศึกษาที่รวบรวมมาโดยอิสระต่อกัน โดยใช้เครื่องมือ QUADAS 1 นักวิจัยคนที่ 3 เป็นผู้แก้ปัญหากรณีมีความเห็นที่ไม่ตรงกัน หน่วยของการวิเคราะห์คือจำนวนผู้เข้าร่วมสำหรับการวิเคราะห์ข้อมูลดิบและจำนวนการสแกนที่ดำเนินการสำหรับการสังเคราะห์ข้อมูลทุติยภูมิ เราดำเนินการวิเคราะห์เมตต้าเพื่อประเมินความไวและความจำเพาะของ CDUS หรือ CE-CDUS โดยใช้ bivariate model เราวิเคราะห์การทดสอบดัชนีแต่ละรายการแยกกัน เนื่องจากแหล่งข้อมูลอาจเกิดความแตกต่างของแต่ละงานวิจัย เราได้สำรวจปีที่ตีพิมพ์ ลักษณะของผู้เข้าร่วมโครงการ (อายุและเพศ) ทิศทางของการศึกษา (การศึกษาย้อนหลัง, การศึกษาไปข้างหน้า) ประเทศที่ทำวิจัย จำนวนผู้ปฏิบัติงาน CDUS และบริษัทผู้ผลิตอัลตราซาวนด์
เราระบุการศึกษาหลักจำนวน 42 ฉบับ ที่มีผู้เข้าร่วม 4220 ราย การศึกษาจำนวน 20 ฉบับให้ข้อมูลความแม่นยำโดยอิงตามจำนวนผู้เข้าร่วมแต่ละราย (จำนวน 7 ฉบับให้ข้อมูลในการวิเคราะห์ โดยมีและไม่มีสารทึบรังสี) การศึกษาวิจัยเหล่านี้จำนวน 16 ฉบับ ได้ประเมินความแม่นยำของ CDUS โดยทั่วไป การศึกษาดังกล่าวมีคุณภาพปานกลางถึงต่ำ มีการศึกษาเพียง 3 ฉบับเท่านั้นที่เป็นไปตามรายการ QUADAS ทั้งหมด; ในการศึกษา 6 ฉบับ (40%) ความล่าช้าระหว่างการทดสอบไม่ชัดเจนหรือยาวนานกว่า 4 สัปดาห์; ในการศึกษา 8 ฉบับ (50%) การปกปิดการแบ่งกลุ่มการทดสอบดัชนีหรือมาตรฐานอ้างอิงไม่ได้รับการรายงานอย่างชัดเจนหรือไม่มีการดำเนินการ; และในการศึกษา 2 ฉบับ (12%) การตีความการทดสอบมาตรฐานอ้างอิงไม่ได้รับการรายงานอย่างชัดเจน งานวิจัยจำนวน 11 ฉบับได้ประเมินความแม่นยำของ CE-CDUS การศึกษานี้มีคุณภาพดีกว่าการศึกษาของ CDUS: การศึกษา 5 ฉบับ (45%) เป็นไปตาม QUADAS ทั้งหมด; การศึกษา 4 ฉบับ (36%) ไม่ได้รายงานการแปลผลการตรวจมาตรฐานอ้างอิงแบบปกปิดอย่างชัดเจน; และการศึกษา 2 ฉบับ (18%) ไม่ได้รายงานความล่าช้าระหว่างการทดสอบ 2 ครั้งอย่างชัดเจน
อ้างอิงจากแบบจำลอง ส bivariate model พบว่าค่าประมาณสรุปสำหรับ CDUS คือ 0.82 (ช่วงความเชื่อมั่น 95% (CI) 0.66 ถึง 0.91) สำหรับความไว และ 0.93 (CI 95% 0.87 ถึง 0.96) สำหรับความจำเพาะ ในขณะที่ค่าประมาณสำหรับ CE-CDUS คือ 0.94 (CI 95% 0.85 ถึง 0.98) สำหรับความไวและ 0.95 (CI 95% 0.90 ถึง 0.98) สำหรับความจำเพาะ การวิเคราะห์ถดถอยแสดงให้เห็นว่า CE-CDUS เหนือกว่า CDUS ในแง่ของความไว (LR Chi 2 = 5.08, 1 degree of freedom (df); P = 0.0242 สำหรับการปรับปรุงแบบจำลอง)
การศึกษา 7 ฉบับ รายงานค่าภายใต้เงื่อนไขก่อนและหลังการใช้สารทึบรังสี ความไวก่อนใช้สารทึบรังสีคือ 0.67 (95% CI 0.47 ถึง 0.83) และหลังใช้สาบทึบรังสีคือ 0.97 (95% CI 0.92 ถึง 0.99) ความไวในการใช้สารทึบรังสีเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (LR Chi 2 = 13.47, 1 df; P = 0.0002 สำหรับการปรับปรุงแบบจำลอง)
การทดสอบแบบถดถอยแสดงให้เห็นหลักฐานของอคติอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติของผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับปีที่ตีพิมพ์และคุณภาพของการศึกษาภายในผู้เข้าร่วมรายบุคคลตามการศึกษา CDUS ค่าประมาณความไวนั้นสูงกว่าในการศึกษาวิจัยที่ตีพิมพ์ก่อนปี 2006 มากกว่าค่าประมาณที่ได้จากการศึกษาวิจัยที่ตีพิมพ์ในปี 2006 หรือหลังจากนั้น (P < 0.001) และการศึกษาวิจัยที่ตัดสินว่ามีคุณภาพต่ำหรือไม่ชัดเจนนั้นให้ค่าประมาณความไวที่สูงกว่า เมื่อนำการทดสอบแบบถดถอยมาใช้กับการศึกษา CE-CDUS แบบรายการศึกษา ไม่พบรายการใดเลย เช่น ทิศทางของการออกแบบการศึกษา คุณภาพ และอายุ ที่เป็นแหล่งที่มาของความแตกต่างกันของแต่ละงานวิจัย
การศึกษาจำนวน 22 ฉบับ ให้ข้อมูลความแม่นยำโดยอิงตามจำนวนการสแกนที่ดำเนินการ (โดย 4 ฉบับให้ข้อมูลโดยใช้และไม่ใช้สารทึบรังสี) การวิเคราะห์การศึกษาที่ให้ข้อมูลตามการสแกนแสดงผลลัพธ์ที่คล้ายคลึงกัน การประมาณค่าโดยสรุปสำหรับ CDUS (การศึกษา 18 ฉบับ) แสดงให้เห็นว่ามีค่าความไว 0.72 (95% CI 0.55 ถึง 0.85) และค่าความจำเพาะ 0.95 (95% CI 0.90 ถึง 0.96) ในขณะที่การประมาณค่าโดยสรุปสำหรับ CE-CDUS (การศึกษา 8 ฉบับ) มีค่าความไว 0.91 (95% CI 0.68 ถึง 0.98) และค่าความจำเพาะ 0.89 (95% CI 0.71 ถึง 0.96)
แปลโดย นางสาวเพทายฟ้า คงคารัตน์ นักศึกษาแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล Edit โดย พ.ญ. ผกากรอง ลุมพิกานนท์ 25 พฤศจิกายน 2024