คุณควรไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพบ่อยแค่ไหน

ทำไมต้องตรวจสุขภาพฟัน

การตรวจสุขภาพฟันช่วยให้ช่องปากของคุณแข็งแรงและช่วยให้ทันตแพทย์ตรวจดูว่าคุณมีปัญหาเกี่ยวกับฟันหรือไม่ ช่วยให้ทันตแพทย์ของคุณจัดการกับปัญหาใด ๆ ได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ หรือที่ดีกว่านั้นคือช่วยในการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคต การปล่อยให้ปัญหาไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้ยากต่อการรักษาในอนาคต

เกิดอะไรขึ้นในการตรวจสุขภาพ

ในการตรวจสุขภาพแต่ละครั้งทันตแพทย์ของคุณมักจะ:

· ตรวจฟัน เหงือก และปากของคุณ

· ถามเกี่ยวกับสุขภาพโดยทั่วไปของคุณ และถามคุณว่ามีปัญหาเกี่ยวกับฟัน ปาก หรือเหงือกตั้งแต่การตรวจสุขภาพครั้งล่าสุด

· แนะนำคุณเกี่ยวกับพฤติกรรมการทำความสะอาดฟัน และการรับประทานอาหาร การสูบบุหรี่ และการดื่มแอลกอฮอล์

· หากเหมาะสม แนะนำการรักษาที่จำเป็นสำหรับปัญหาทางทันตกรรม

หลังจากตรวจสุขภาพฟัน ทันตแพทย์จะแนะนำวันตรวจสุขภาพครั้งต่อไป ตามธรรมเนียม จะแนะนำให้ตรวจสุขภาพทุก 6 เดือน อย่างไรก็ตามบางคนมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดปัญหาทางทันตกรรมและอาจต้องตรวจสุขภาพบ่อยขึ้นในขณะที่บางคนอาจไม่จำเป็นต้องตรวจสุขภาพบ่อยนัก

ทำไมเราถึงทำการทบทวนวรรณกรรมนี้

การตรวจสุขภาพทุก 6 เดือนอาจช่วยให้ช่องปากของคุณแข็งแรงและหลีกเลี่ยงปัญหาทางทันตกรรมในอนาคต แต่อาจนำไปสู่การรักษาทางทันตกรรมที่ไม่จำเป็น อย่างไรก็ตาม การตรวจสุขภาพฟันน้อยครั้งลงอาจทำให้ปัญหาทางทันตกรรมแย่ลงและนำไปสู่การรักษาและดูแลที่ยากและมีค่าใช้จ่ายในการรักษาที่แพง

เราต้องการหาช่วงเวลาที่ดีที่สุดระหว่างการตรวจสุขภาพฟัน

เราได้ทำอะไร

เราสืบค้นการศึกษาแบบสุ่มที่มีการควบคุม ซึ่งคนได้รับการสุ่มตามช่วงเวลาที่ต่างกันระหว่างการตรวจ การศึกษาแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุมมักให้หลักฐานที่น่าเชื่อถือมากที่สุด

วันที่สืบค้นข้อมูล: เรารวบรวมหลักฐานที่เผยแพร่ถึง 17 มกราคม 2020

สิ่งที่เราพบ

เราพบการศึกษา 2 รายการกับผู้ร่วม 1736 คนที่ตรวจสุขภาพฟันเป็นประจำ การศึกษา 1 รายการ ดำเนินการในคลินิกทันตกรรมสาธารณะในนอร์เวย์ในเด็กและผู้ใหญ่อายุต่ำกว่า 20 ปี โดยเปรียบเทียบการตรวจสุขภาพทุก 12 เดือนและ 24 เดือนและประเมินผลลัพธ์หลังจาก 2 ปี

การศึกษาอีก 1 รายการ เป็นการศึกษาในผู้ใหญ่ที่มาสถานปฏิบัติทางทันตกรรม 51 แห่งในสหราชอาณาจักร การศึกษานี้เปรียบเทียบการตรวจสุขภาพทุก 6 เดือน ทุก 24 เดือน และตรวจสุขภาพตามความเสี่ยง (โดยทันตแพทย์เป็นผู้กำหนดเวลาระหว่างการตรวจสุขภาพและขึ้นอยู่กับความเสี่ยงของโรคฟันของแต่ละบุคคล) และประเมินผลลัพธ์หลังจาก 4 ปี

การศึกษาดูว่าช่วงเวลาที่แตกต่างกันระหว่างการตรวจสุขภาพมีผลอย่างไร:

· จำนวนคนที่มีฟันผุ

· จำนวนผิวฟันที่ได้รับผลกระทบจากการผุ

· โรคเหงือก (เปอร์เซ็นต์ของการมีเลือดออกในเหงือก); และ

· คุณภาพชีวิตที่เกี่ยวข้องกับการมีฟันและเหงือกที่แข็งแรง

ไม่มีการศึกษาใดที่วัดถึงผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์อื่น ๆ

ผลของการทบทวนวรรณกรรมคืออะไร

ในผู้ใหญ่มีความแตกต่างเล็กน้อยหรือไม่มีความแตกต่างระหว่างการตรวจสุขภาพฟันทุก 6 เดือนกับการตรวจตามความเสี่ยงในเรื่องฟันผุ (จำนวนผิวฟันที่ได้รับผลกระทบ) โรคเหงือก และคุณภาพชีวิตหลังจาก 4 ปี และอาจมีเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีความแตกต่างในจำนวนคนที่มีฟันผุในระดับปานกลางถึงมาก

อาจมีความแตกต่างเล็กน้อยหรือไม่มีความแตกต่างระหว่างการตรวจสุขภาพฟันทุก 24 เดือน และ 6 เดือนกับการตรวจตามความเสี่ยง ในเรื่องฟันผุ (จำนวนคน และผิวฟันที่ได้รับผลกระทบ) โรคเหงือกและคุณภาพชีวิต และอาจมีความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีความแตกต่างในจำนวนคนที่มีฟันผุในระดับปานกลางถึงมาก

เราไม่พบหลักฐานที่เชื่อถือได้เพียงพอเกี่ยวกับผลของการตรวจสุขภาพ 12 เดือนและ 24 เดือนในเด็กและวัยรุ่นหลังจาก 2 ปี นี่เป็นเพราะปัญหาเกี่ยวกับวิธีการดำเนินการของการศึกษา

ความน่าเชื่อถือจากผลที่ได้นี้เป็นอย่างไร

เราเชื่อมั่นว่าการตรวจสุขภาพทุก 6 เดือน และตามความเสี่ยงในผู้ใหญ่มีความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีความแตกต่างกันสำหรับจำนวนพื้นผิวฟันที่ผุ โรคเหงือก และคุณภาพชีวิต

เราเชื่อมั่นระดับปานกลางว่าการตรวจสุขภาพทุกระหว่างทุก 24 เดือนและทุก 6 เดือนหรือ ตามความเสี่ยงในผู้ใหญ่มีความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีความแตกต่างกันสำหรับจำนวนพื้นผิวฟันที่ผุ โรคเหงือก และคุณภาพชีวิต

บทสรุป

ไม่ว่าผู้ใหญ่จะพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพทุก ๆ 6 เดือนหรือตามช่วงเวลาเฉพาะตามการประเมินความเสี่ยงของโรคฟันโดยทันตแพทย์จะไม่ส่งผลต่อฟันผุ โรคเหงือก หรือคุณภาพชีวิต ระยะเวลาที่นานขึ้น (สูงสุด 24 เดือน) ระหว่างการตรวจสุขภาพอาจไม่ส่งผลเสียต่อผลลัพธ์เหล่านี้

ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานที่เชื่อถือได้เพียงพอเกี่ยวกับความถี่ที่เด็กและวัยรุ่นควรไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพ

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

สำหรับผู้ใหญ่ที่เข้ารับการตรวจสุขภาพฟันในสถานบริการปฐมภูมิจะมีความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่แตกต่างระหว่างการนัดตรวจตามความเสี่ยงและที่ระยะเวลา 6 เดือนในจำนวนพื้นผิวฟันที่มีโรคฟันผุ เลือดออกที่เหงือก และคุณภาพชีวิตที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพช่องปาก ในช่วงระยะเวลาตั้งแต่ 4 ปี (หลักฐานที่มีความเชื่อมั่นสูง) อาจมีความแตกต่างเล็กน้อยหรือไม่มีความแตกต่างระหว่างระยะเวลาการนัดในความชุกของโรคฟันผุระดับปานกลางถึงมาก (หลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง)

เมื่อเปรียบเทียบระยะเวลาการนัดตรวจสุขภาพฟันที่ 24 เดือน 6 เดือน หรือตามความเสี่ยง ในสถานบริการปฐมภูมิสำหรับผู้ใหญ่ มีหลักฐานที่มีความเชื่อมั่นปานกลางถึงสูงว่ามีความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่แตกต่างในจำนวนพื้นผิวฟันที่มีโรคฟันผุ เลือดออกที่เหงือก และคุณภาพชีวิตที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพช่องปาก ที่ระยะเวลา 4 ปี

หลักฐานที่มีอยู่เกี่ยวกับผลของช่วงเวลาการนัดตรวจสุขภาพฟันสำหรับเด็กและวัยรุ่นนั้นไม่แน่นอน

การทดลอง 2 รายการที่เรารวมไว้ในการทบทวนวรรณกรรมไม่ได้ประเมินผลกระทบของวิธีการนัดที่แตกต่างกัน

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

มีการถกเถียงกันอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับความถี่ที่ผู้ป่วยควรเข้ารับการตรวจสุขภาพฟันและผลกระทบต่อสุขภาพช่องปากของช่วงเวลาระหว่างการตรวจสุขภาพ คำแนะนำเกี่ยวกับช่วงเวลาการกลับมาตรวจที่เหมาะสมจะแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ และระบบการดูแลสุขภาพฟัน แต่การตรวจสุขภาพฟันทุก 6 เดือนมักได้รับการสนับสนุนจากผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรมทั่วไปในหลายประเทศที่มีรายได้สูง

การทบทวนวรรณกรรมที่ปรับปรุงนี้ได้เผยแพร่ครั้งแรกในปี 2005 และปรับปรุงในปี 2007 และ 2013

วัตถุประสงค์: 

เพื่อค้นหาช่วงเวลาการกลับมาตรวจสุขภาพช่องปากที่เหมาะสมที่สุดในสถานบริการปฐมภูมิ

วิธีการสืบค้น: 

ผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูลของ Cochrane Oral Health ทำการสืบค้นจากฐานข้อมูลต่อไปนี้: Cochrane Oral Health’s Trials Register (ถึง 17 มกราคม 2020), Cochrane Central Register of Controlled Trials (CENTRAL) (Cochrane Library, 2019, ฉบับที่ 12), MEDLINE Ovid (1946 ถึง 17 มกราคม 2020), และ Embase Ovid (1980 ถึง 17 มกราคม 2020) US National Institutes of Health Trials Registry (ClinicalTrials.gov) และ the World Health Organization International Clinical Trials Registry ได้รับการสืบค้นเพื่อค้นหาการทดลองที่กำลังดำเนินการ ขณะทำการสืบค้นเราไม่กำหนดข้อจำกัดด้านภาษา หรือวันที่ตีพิมพ์

เกณฑ์การคัดเลือก: 

เรารวมการทดลองแบบสุ่มที่มีการควบคุม (RCT) เพื่อประเมินผลของช่วงเวลาการกลับมาตรวจที่แตกต่างกันในการดูแลปฐมภูมิ

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

ผู้ประพันธ์การทบทวนวรรณกรรม 2 คน คัดกรองผลการสืบค้นตามเกณฑ์การคัดแยก คัดลอกข้อมูลและประเมินความเสี่ยงของการมีอคติโดยอิสระและซ้ำกัน เราติดต่อผู้นิพนธ์การศึกษาเพื่อขอคำชี้แจงหรือข้อมูลเพิ่มเติมในกรณีที่จำเป็นและเป็นไปได้ เราแสดงการประมาณของผลลัพท์เป็นความแตกต่างเฉลี่ย (MD) โดยมีช่วงความเชื่อมั่น 95% (CIs) สำหรับผลลัพธ์ที่ต่อเนื่องและอัตราส่วนความเสี่ยง (RR) และ 95%CI สำหรับผลลัพธ์ที่เป็นแบบ dichotomous เราได้ประเมินความเชื่อมั่นของหลักฐานที่ได้โดยวิธีการของเกรด (GRADE)

ผลการวิจัย: 

เราได้รวมการศึกษา 2 รายการพร้อมข้อมูลจากผู้เข้าร่วม 1736 คน การศึกษา 1 รายการ ทำในคลินิกบริการทันตกรรมสาธารณะในนอร์เวย์และเกี่ยวข้องกับผู้เข้าร่วมที่อายุต่ำกว่า 20 ปีซึ่งเป็นผู้เข้ารับบริการตามนัดด้านทันตกรรมเป็นประจำ เป็นการเปรียบเทียบการนัดที่ช่วงเวลา 12 เดือนกับการนัดที่ช่วงเวลา 24 เดือนและวัดผลลัพธ์ที่สองปี อีก 1 การศึกษา จัดทำขึ้นในการปฏิบัติทางทันตกรรมทั่วไปของสหราชอาณาจักรและเกี่ยวข้องกับผู้ใหญ่ซึ่งเป็นผู้เข้ารับการรักษาประจำ ซึ่งได้รับการกำหนดว่าได้เข้ารับการตรวจทางทันตกรรมอย่างน้อยหนึ่งครั้งในช่วงสองปีที่ผ่านมา โดยเปรียบเทียบผลของการนัดช่วงเวลาการนัด 6 เดือน 24 เดือน และนัดตามความเสี่ยง จากนั้นวัดผลลัพธ์ที่ 4 ปี ผลลัพธ์หลักที่เราพิจารณาคือโรคฟันผุ เลือดออกที่เหงือกและคุณภาพชีวิตที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพช่องปาก การศึกษาทั้ง 2 รายการไม่ได้วัดผลข้างเคียงอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้น

การนัดตรวจ 24 เดือนเทียบกับ 12 เดือนและ ติดตามผลที่ 2 ปี

เนื่องจากหลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำมาก จากการทดลอง 1 รายการ จึงยังไม่ชัดเจนว่ามีความแตกต่างที่สำคัญในการมีฟันผุระหว่างการนัดตรวจที่ 24 เดือนหรือ 12 เดือน สำหรับเด็กอายุ 3 ถึง 5 ปีที่มีฟันน้ำนม ความแตกต่างเฉลี่ย (MD) จำนวนฟันผุถอนอุดในฟันน้ำนม (decayed, missing, and filled tooth surfaces: DMFS) คือ 0.90 (95% CI −0.16 ถึง 1.96 ผู้เข้าร่วม 58 คน) สำหรับเด็กอายุ 16 ถึง 20 ปี ที่มีฟันแท้ MD ของ DMFS ที่เพิ่มขึ้นคือ 0.86 (95% CI −0.03 ถึง 1.75; ผู้เข้าร่วม 127 คน) การทดลองไม่ได้ประเมินผลลัพธ์ทางคลินิกอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทบทวนวรรณกรรมนี้

การนัดตรวจตามความเสี่ยงเทียบกับการนัดตรวจทุก 6 เดือนโดยติดตามผลที่ 4 ปี

เราพบหลักฐานที่มีความเชื่อมั่นสูงจากการทดลอง 1 รายการในผู้ใหญ่ว่ามีความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่แตกต่างกันระหว่างระยะเวลาการนัดตรวจตามความเสี่ยงและที่เวลา 6 เดือนสำหรับผลลัพธ์: จำนวนผิวฟันที่มีโรคฟันผุ (ICDAS 1 ถึง 6; MD 0.15, 95% CI −0.77 ถึง 1.08; ผู้เข้าร่วม 1478 คน); สัดส่วนของจุดที่มีเลือดออกที่เหงือก (MD 0.78%, 95% CI −1.17% ถึง 2.73%; ผู้เข้าร่วม 1472 คน); คุณภาพชีวิตที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพช่องปาก (MD ใน OHIP-14 คะแนน −0.35, 95% CI −1.02 ถึง 0.32; ผู้เข้าร่วม 1551 คน) อาจมีความแตกต่างเล็กน้อยหรือไม่มีความแตกต่างในความชุกของโรคฟันผุระดับปานกลางถึงมาก (ICDAS 3 ถึง 6) ระหว่างกลุ่ม (RR 1.04, 95% CI 0.99 ถึง 1.09) ผู้เข้าร่วม 1478 คน หลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง

การนัดตรวจทุก 24 เดือนเทียบกับการนัดตรวจทุก 6 เดือนโดยติดตามผลที่ 4 ปี

เราพบหลักฐานที่มีความเชื่อมั่นสูงจากการทดลอง 1 รายการในผู้ใหญ่ว่ามีความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่แตกต่างกันระหว่างระยะเวลาการนัดตรวจที่เวลา 24 และ 6 เดือนสำหรับผลลัพธ์: จำนวนผิวฟันที่มีโรคฟันผุ (MD -0.60, 95% CI -2.54 ถึง 1.34; ผู้เข้าร่วม 271 คน); เปอร์เซ็นของจุดที่มีเลือดออกที่เหงือก (MD -0.91%, 95% CI −5.02% ถึง 3.20%; ผู้เข้าร่วม 271 คน) อาจมีความแตกต่างเล็กน้อยหรือไม่มีความแตกต่างในความชุกของโรคฟันผุในระดับปานกลางถึงมากระหว่างกลุ่ม (RR 1.05, 95% CI 0.92 ถึง 1.20) ผู้เข้าร่วม 271 คน หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ เราพบหลักฐานที่มีความเชื่อมั่นสูงว่าคุณภาพชีวิตที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพช่องปากระหว่างกลุ่มมีน้อยหรือไม่มีความแตกต่างกัน (MD ในคะแนน OHIP-14 −0.24, 95% CI −1.55 ถึง 1.07; ผู้เข้าร่วม 305 คน)

การนัดตรวจตามความเสี่ยงเทียบกับการนัดตรวจทุก 24 เดือนโดยติดตามผลที่ 4 ปี

เราพบหลักฐานที่มีความเชื่อมั่นปานกลาง จากการทดลอง 1 รายการในผู้ใหญ่ ว่ามีความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่แตกต่างกันระหว่างระยะเวลาการนัดตรวจตามความเสี่ยงและที่เวลา 24 เดือนสำหรับผลลัพธ์: ความชุกของโรคฟันผุระดับปานกลางถึงรุนแรง (RR 1.06, 95% CI 0.95 ถึง 1.19; ผู้เข้าร่วม 279 คน); จำนวนผิวฟันที่มีฟันผุ (MD 1.40%, 95% CI −0.69 ถึง 3.49; ผู้เข้าร่วม 279 คน) เราพบหลักฐานที่มีความแน่นอนสูงว่าไม่มีความแตกต่างที่สำคัญระหว่างกลุ่มในเปอร์เซ็นต์ของตำแหน่งที่มีเลือดออกที่เหงือก (MD −0.07%, 95% CI −4.10% ถึง 3.96%, ผู้เข้าร่วม 279 คน); หรือคุณภาพชีวิตที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพช่องปาก (MD ในคะแนน OHIP-14 −0.37, 95% CI −1.69 ถึง 0.95; ผู้เข้าร่วม 298 คน)

บันทึกการแปล: 

ผู้แปล ศ.นพ ภิเศก ลุมพิกานนท์ ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2020

Tools
Information