การแทรกแซงที่เริ่มต้นระหว่างการรักษาในโรงพยาบาลเพื่อช่วยให้ผู้คนเลิกสูบบุหรี่

ใจความสำคัญ

- เมื่อผู้ที่สูบบุหรี่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล พวกเขาสามารถเลิกบุหรี่ได้ดีขึ้น หากพวกเขาได้รับคำแนะนำเรื่องการเลิกสูบบุหรี่ที่เริ่มต้นในโรงพยาบาลและดำเนินต่อไปเป็นเวลาอย่างน้อย 1 เดือนหลังจากที่พวกเขากลับบ้าน เมื่อเทียบกับการไม่ได้รับคำปรึกษา

- ยา เช่น แผ่นแปะนิโคตินและวาเรนิลีน ร่วมกับการให้คำปรึกษายังช่วยให้ผู้คนเลิกสูบบุหรี่หลังออกจากโรงพยาบาลได้ การรักษาเหล่านี้ได้ผลดีกว่าการไม่เริ่มให้คำปรึกษาหรือใช้ยาระหว่างการรักษาในโรงพยาบาล

- หลักฐานสนับสนุนโรงพยาบาลและแพทย์ในโรงพยาบาลที่ให้การสนับสนุนผู้ป่วยในการเลิกบุหรี่ในโรงพยาบาลและหลังออกจากโรงพยาบาล และแสดงให้เห็นว่าผู้ป่วยอาจได้รับประโยชน์จากการเริ่มต้นเส้นทางการเลิกบุหรี่ก่อนหรือเมื่อออกจากโรงพยาบาล เพื่อที่จะยังคงเลิกบุหรี่ต่อหลังออกจากโรงพยาบาล

เราต้องการค้นหาอะไร

เราต้องการทราบว่ามาตรการใดที่เป็นประโยชน์ในการสนับสนุนผู้ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่สูบบุหรี่เพื่อเลิกบุหรี่ เป้าหมายหลักของเราคือการค้นหาว่าการรักษาแบบใดที่สามารถช่วยให้ผู้ป่วยที่รักษาในโรงพยาบาลหยุดสูบบุหรี่เป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือน นี่เป็นสิ่งสำคัญเนื่องจากการสูบบุหรี่ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพมากมาย รวมถึงมะเร็ง โรคหัวใจ และโรคปอด คนที่สูบบุหรี่และเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเพื่อรักษาความเจ็บป่วยทางการแพทย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่ อาจยินดีรับคำแนะนำในการเลิกสูบบุหรี่มากกว่า สภาพแวดล้อมของโรงพยาบาลที่ปลอดบุหรี่อาจช่วยให้พวกเขาพยายามไม่สูบบุหรี่ และเริ่มการรักษาเพื่อให้ยังคงไม่สูบบุหรี่หลังจากออกจากโรงพยาบาล

เราทำอะไรบ้าง

เราค้นหาการศึกษาที่พิจารณาการแทรกแซงการเลิกสูบบุหรี่ (การใช้ยาเทียบกับการไม่ใช้ยาหรือยาหลอก และ/หรือการให้คำปรึกษา เทียบกับการไม่มีการให้คำปรึกษา) ที่เริ่มต้นระหว่างการรักษาในโรงพยาบาล ยาเลิกบุหรี่โดยทั่วไปออกฤทธิ์เพื่อลดอาการถอนยาและขจัดความอยากบุหรี่ NRT โดยการให้นิโคตินในระดับต่ำโดยไม่มีสารเคมีที่เป็นพิษ และยา เช่น varenicline และ bupropion ซึ่งไม่มีสารนิโคติน เป็นการกำหนดเป้าหมายโดยตรงที่ศูนย์ให้รางวัลและศูนย์รวมความสุข/ศูนย์การเสพติดในสมอง การให้การรักษาเหล่านี้ก่อนที่บุคคลจะออกจากโรงพยาบาลจะช่วยให้พวกเขาสามารถเริ่มเลิกบุหรี่ได้ก่อน เนื่องจากในโรงพยาบาลเป็นพื้นที่ปลอดบุหรี่ เรามองหาการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุมหรือกึ่งควบคุม ซึ่งการรักษาที่ได้รับจะถูกตัดสินใจโดยการสุ่มหรือกึ่งสุ่ม การศึกษาแบบสุ่มมักให้หลักฐานที่เชื่อถือได้และชัดเจนที่สุดเกี่ยวกับผลของการรักษา

เราพบอะไร

เราพบการศึกษา 82 ฉบับ เกี่ยวกับวิธีการเลิกบุหรี่ที่เริ่มต้นในโรงพยาบาลโดยมีผู้เข้าร่วม 42,273 คน การศึกษาเหล่านี้เปรียบเทียบการให้คำปรึกษา (เทียบกับการไม่มีการให้คำปรึกษา) และ/หรือการใช้ยา เช่น การบำบัดทดแทนนิโคติน, varenicline และ bupropion (เทียบกับการไม่ใช้ยาหรือยาหลอก) การศึกษาเกิดขึ้นใน 17 ประเทศ (ออสเตรเลีย เบลเยียม บราซิล แคนาดา จีน เดนมาร์ก ฝรั่งเศส ไอร์แลนด์ อิสราเอล ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ เกาหลีใต้ สเปน ตูนิเซีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา)

ผลลัพธ์หลัก

ผู้คนมีแนวโน้มที่จะหยุดสูบบุหรี่เป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือน หากพวกเขาได้รับคำปรึกษาเรื่องการเลิกสูบบุหรี่ที่เริ่มต้นในโรงพยาบาลและต่อเนื่องเป็นเวลานานกว่า 1 เดือนหลังออกจากโรงพยาบาล มากกว่าการไม่ได้รับคำปรึกษา (การศึกษา 28 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 8234 คน) การให้คำปรึกษาที่สั้นลงและเข้มข้นน้อยลงมีประสิทธิผลน้อยลง นอกจากนี้ ผู้คนยังมีแนวโน้มมากขึ้นที่จะเลิกสูบบุหรี่เป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือนหากเริ่มการบำบัดทดแทนนิโคติน (NRT) ในโรงพยาบาล (การศึกษา 8 เรื่อง, ผู้เข้าร่วม 3838 คน) หรือหากเริ่มใช้ varenicline ในโรงพยาบาล (การศึกษา 4 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 829 คน) มากกว่าเมื่อเทียบกับการไม่ได้รับยาหรือได้รับยาหลอก มีหลักฐานเพียงเล็กน้อยที่แสดงถึงประสิทธิผลของ bupropion ในการช่วยให้เลิกสูบบุหรี่ได้ภายใน 6 เดือน ผู้ที่ได้รับการให้คำปรึกษาในโรงพยาบาลมีแนวโน้มที่จะเลิกสูบบุหรี่ได้มากกว่าหลังจำหน่าย เมื่อใช้ทั้งการให้คำปรึกษาร่วมกับการใช้ยา เมื่อเทียบกับไม่ได้รับการแทรกแทรงใดเลย (การศึกษา 7 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 5610 คน) ท้ายที่สุด มีหลักฐานไม่เพียงพอที่จะแสดงถึงประสิทธิผลของ Quitlines ในการให้การสนับสนุนการเลิกสูบบุหรี่หลังออกจากโรงพยาบาล

หลักฐานมีข้อจำกัดอะไรบ้าง

ผลลัพธ์ของเราอิงจากการศึกษาจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม เราจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อยืนยันการค้นพบบางอย่างของเรา รวมถึง buproprion และ varenicline และการให้คำปรึกษาที่มีความเข้มข้นต่ำ นอกจากนี้เรายังจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อทดสอบว่าการแทรกแซงทางดิจิทัลใช้งานได้หรือไม่ - การแทรกแซงเหล่านี้มีแนวโน้มที่ดีเนื่องจากอาจเข้าถึงได้มากกว่า ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่า การศึกษาบางเรื่องของเรายังมีปัญหาเกี่ยวกับการออกแบบและการดำเนินการ ซึ่งทำให้เรามั่นใจน้อยลงเกี่ยวกับการค้นพบ ผลลัพธ์เหล่านี้อาจเปลี่ยนแปลงได้เมื่อมีหลักฐานเพิ่มเติม

หลักฐานนี้เป็นปัจจุบันแค่ไหน

หลักฐานเป็นปัจจุบันถึงกันยายน 2022

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

การให้คำปรึกษาเรื่องการเลิกบุหรี่แก่ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลโดยเริ่มต้นในโรงพยาบาลและต่อเนื่องนานกว่า 1 เดือนหลังออกจากโรงพยาบาล ช่วยเพิ่มอัตราการเลิกบุหรี่ เมื่อเทียบกับการไม่มีการแทรกแซงของโรงพยาบาล การให้คำปรึกษาในโรงพยาบาลเท่านั้น โดยไม่มีการสนับสนุนหลังออกจากโรงพยาบาล อาจมีผลกระทบเล็กน้อยต่ออัตราการเลิกบุหรี่ แต่มีหลักฐานที่แน่ชัดน้อยกว่า เมื่อผู้ป่วยทุกรายได้รับการให้คำปรึกษาในโรงพยาบาล หลักฐานที่มีความเชื่อมั่นสูงบ่งชี้ว่าการให้ทั้งการให้คำปรึกษาและเภสัชบำบัดหลังออกจากโรงพยาบาลจะเพิ่มอัตราการเลิกบุหรี่เมื่อเทียบกับการไม่มีมาตรการใดๆ หลังออกจากโรงพยาบาล การเริ่มต้นทดแทน nicotine หรือ varenicline ในผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลช่วยให้ผู้ป่วยเลิกสูบบุหรี่ได้มากกว่ายาหลอกหรือไม่ได้ใช้ยา แม้ว่าหลักฐานของ varenicline จะมีความเชื่อมั่นแค่ระดับปานกลางเนื่องจากความไม่แม่นยำ มีหลักฐานว่ามีประโยชน์น้อยสำหรับ bupropion ในสถานการณ์นี้ หลักฐานบางส่วนของเราถูกจำกัดโดยความไม่แม่นยำ (bupropion เทียบกับยาหลอก และ varenicline เทียบกับยาหลอก) ความเสี่ยงของการมีอคติ และความไม่สอดคล้องกันที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลาย

การวิจัยในอนาคตเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อระบุกลยุทธ์ที่มีประสิทธิผลในการดำเนินการ เผยแพร่ และทำให้มีการใช้สิ่งแทรกแซงต่อไป และเพื่อให้แน่ใจว่าการให้คำปรึกษาในการเลิกบุหรี่และเภสัชบำบัดที่เริ่มต้นในโรงพยาบาลจะยั่งยืนหลังจากการออกจากโรงพยาบาล

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

ในปี 2020 มี 32.6% ของประชากรโลกสูบบุหรี่ การสูบบุหรี่ก่อให้เกิดโรคต่าง ๆ มากมายที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล การเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลอาจทำให้ต้องพยายามที่จะเลิกสูบบุหรี่ การเริ่มต้นการรักษาเพื่อการเลิกบุหรี่ เช่น การใช้ยาและ/หรือการให้คำปรึกษา ในโรงพยาบาลอาจเป็นกลยุทธ์ด้านสุขภาพเชิงป้องกันที่มีประสิทธิผล การรักษาด้วยวิธีเภสัชบำบัด เพื่อลดอาการขาด/ความอยากบุหรี่ และการให้คำปรึกษาจะช่วยเพิ่มทักษะในการเลิกบุหรี่ การทบทวนนี้ปรับปรุงหลักฐานเกี่ยวกับวิธีการเลิกบุหรี่ในผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เพื่อให้เข้าใจวิธีการรักษา วิธีการเลิกบุหรี่ที่มีประสิทธิผลสูงสุดสำหรับผู้สูบบุหรี่ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล

วัตถุประสงค์: 

เพื่อประเมินผลของโปรแกรมการเลิกบุหรี่ทุกประเภทสำหรับผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลแบบเฉียบพลัน

วิธีการสืบค้น: 

เราใช้วิธีการค้นหาแบบมาตรฐานและครอบคลุมของ Cochrane วันที่ค้นหาล่าสุดคือ 7 กันยายน 2022

เกณฑ์การคัดเลือก: 

เรารวมการศึกษาแบบสุ่มและกึ่งสุ่มเกี่ยวกับวิธีการปรับทางพฤติกรรม, วิธีการทางเภสัชวิทยา หรือวิธีการที่ใช้หลายองค์ประกอบ เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเลิกบุหรี่ การแทรกแซงต้องเริ่มต้นในโรงพยาบาล (รวมถึงเมื่อออกจากโรงพยาบาล) และผู้ป่วยต้องสูบบุหรี่มาภายในเดือนที่ผ่านมา เราไม่รวมการศึกษาในศูนย์จิตเวช, ศูนย์สารเสพติด และศูนย์การฟื้นฟูสมรรถภาพ รวมถึงการศึกษาที่ไม่ได้วัดการเลิกบุหรี่ที่เวลา 6 เดือนหรือนานกว่านั้น

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

เราใช้วิธีตามมาตรฐานของ Cochrane การวัดผลลัพธ์หลักคือ การงดสูบบุหรี่อย่างน้อย 6 เดือนหลังออกจากโรงพยาลาลหรือนับตั้งแต่เริ่มต้นการให้สิ่งแทรกแซง เราใช้คำจำกัดความที่เข้มงวดที่สุดของการเลิกบุหรี่ โดยเลือกใช้อัตราที่ได้รับการตรวจสอบทางชีวเคมีถ้ารายงาน เราใช้ GRADE เพื่อประเมินความเชื่อมั่นของหลักฐาน

ผลการวิจัย: 

เรารวมการศึกษา 82 ฉบับ (RCTs 74 ฉบับ) ที่รวมผู้เข้าร่วม 42,273 คนในการทบทวน (การศึกษา 71 ฉบับ ผู้เข้าร่วม 37,237 คนรวมอยู่ในการวิเคราะห์อภิมาน); มีการศึกษาใหม่ 36 ฉบับสำหรับการปรับปรุงการทบทวนวรรณกรรมครั้งนี้ เราจัดอันดับการศึกษา 10 ฉบับว่ามีความเสี่ยงของการมีอคติโดยรวมต่ำ (ความเสี่ยงต่ำในทุกโดเมนที่ประเมิน), การศึกษา 48 ฉบับมีความเสี่ยงของการมีอคติโดยรวมสูง (ความเสี่ยงสูงในอย่างน้อย 1 โดเมน) และการศึกษาอีก 24 ฉบับที่เหลือมีความเสี่ยงของการมีอคติที่ไม่ชัดเจน

การให้คำปรึกษาเรื่องการเลิกบุหรี่เทียบกับการไม่ให้คำปรึกษา จัดกลุ่มตามความเข้มข้นของการแทรกแซง

ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่ได้รับคำปรึกษาเรื่องการเลิกบุหรี่ที่เริ่มในโรงพยาบาลและต่อเนื่องนานมากกว่า 1 เดือนหลังออกจากโรงพยาบาล มีอัตราการเลิกบุหรี่สูงกว่าผู้ป่วยที่ไม่ได้รับคำปรึกษาในโรงพยาบาลหรือหลังเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล (risk ratio (RR) 1.36, 95% ช่วงความเชื่อมั่น ( CI) 1.24 ถึง 1.49; การศึกษา 28 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 8234 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นสูง) ในแง่ที่แน่นอน นี่อาจมีผู้เลิกบุหรี่เพิ่มขึ้น 76 คนในผู้เข้าร่วมทุก ๆ 1000 คน (95% CI 51 ถึง 103) หลักฐานไม่แน่นอน (ความเชื่อมั่นต่ำมาก) เกี่ยวกับผลของการให้คำปรึกษาที่มีความเข้มข้นน้อยกว่าหรือระยะเวลาสั้นกว่า (การให้คำปรึกษาในโรงพยาบาลเท่านั้น ≤ 15 นาที: RR 1.52, 95% CI 0.80 ถึง 2.89; การศึกษา 2 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 1417 คน; และการให้คำปรึกษาในโรงพยาบาลร่วมกับการให้คำปรึกษาช่วยเหลือติดตามผลเป็นเวลา ≤ 1 เดือน: RR 1.04, 95% CI 0.90 ถึง 1.20; การศึกษา 7 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 4627 คน) เปรียบเทียบกับไม่มีการให้คำปรึกษา มีหลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง ถูกจำกัดด้วยความไม่แน่ชัดว่าการให้คำปรึกษาในการเลิกบุหรี่อย่างน้อย 15 นาทีในโรงพยาบาลโดยไม่มีการให้คำปรึกษาช่วยเหลือหลังออกจากโรงพยาบาล ส่งผลให้อัตราการเลิกบุหรี่สูงกว่าการไม่ได้รับคำปรึกษาในโรงพยาบาล (RR 1.27, 95% CI 1.02 ถึง 1.58; การศึกษา 12 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 4432 คน)

เภสัชบำบัดเทียบกับยาหลอกหรือการไม่มีเภสัชบำบัด

การรักษาโดยการสารทดแทนนิโคตินช่วยให้ผู้ป่วยเลิกบุหรี่ได้มากกว่ายาหลอกหรือไม่ได้รับยาเลย (RR 1.33, 95% CI 1.05 ถึง 1.67; การศึกษา 8 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 3838 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นสูง) ในแง่ที่แน่นอน นี่อาจเท่ากับว่ามีผู้ที่เลิกบุหรี่เพิ่มเติม 62 คนต่อผู้เข้าร่วม 1000 คน (95% CI 9 ถึง 126) มีหลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง ถูกจำกัดโดยความไม่แม่นยำ (เนื่องจาก CI ครอบคลุมความเป็นไปได้ที่ไม่มีความแตกต่าง) ว่า varenicline ช่วยให้ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเลิกบุหรี่ได้มากกว่ายาหลอกหรือไม่ได้รับยาเลย (RR 1.29, 95% CI 0.96 ถึง 1.75; การศึกษา 4 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 829 คน) หลักฐานสำหรับ บูโพรพิออนมีความเชื่อมั่นต่ำ; การประมาณการแบบจุดบ่งชี้ถึงประโยชน์เล็กน้อยที่ดีที่สุด แต่ CIs กว้างและครอบคลุมความเป็นไปได้ของโทษที่มีนัยสำคัญทางคลินิกและของประโยชน์ที่มีนัยสำคัญทางคลินิก (RR 1.11, 95% CI 0.86 ถึง 1.43, การศึกษา 4 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 872 คน)

การแทรกแซงขณะอยู่ในโรงพยาบาลเท่านั้นเปรียบเทียบกับการแทรกแซงที่ดำเนินต่อไปหลังจากออกจากโรงพยาบาล

ผู้ป่วยที่ได้รับทั้งการให้คำปรึกษาในการเลิกบุหรี่และการรักษาด้วยยาหลังจำหน่ายมีอัตราการเลิกบุหรี่สูงกว่าผู้ป่วยที่ได้รับการให้คำปรึกษาในโรงพยาบาล แต่ไม่ได้รับการสนับสนุนหลังออกจากโรงพยาบาล (RR 1.23, 95% CI 1.09 ถึง 1.38; การศึกษา 7 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 5610 คน; หลักฐานความชื่อมั่นสูง) ในแง่ที่แน่นอน นี่อาจเท่ากับผู้เลิกบุหรี่เพิ่มเติม 34 คนต่อผู้เข้าร่วม 1000 คน (95% CI 13 ถึง 55) สิ่งแทรกแซงหลังออกจากโรงพยาบาลที่ให้คำปรึกษาแบบเรียลไทม์โดยไม่ต้องใช้ยา (RR 1.23, 95% CI 0.95 ถึง 1.60, การศึกษา 8 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 2299 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) และผู้ที่ให้คำปรึกษาที่ไม่ได้กำหนดไว้โดยไม่ต้องใช้ยา (RR 0.97, 95% CI 0.83 ถึง 1.14) ; การศึกษา 2 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 1598 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก) อาจมีผลเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีผลเลยเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม

การให้คำแนะนำเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์เทียบกับกลุ่มควบคุม

เพื่อให้การสนับสนุนหลังออกจากโรงพยาบาล โรงพยาบาลอาจส่งต่อผู้ป่วยไปยังสายการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์ตามชุมชน การเปรียบเทียบทั้งสองที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแทรกแซงเหล่านี้มี CIs ที่กว้างซึ่งครอบคลุมทั้งอันตรายที่เป็นไปได้และผลประโยชน์ที่เป็นไปได้ และได้รับการตัดสินว่ามีความเชื่อมั่นต่ำมากเนื่องจากความไม่แม่นยำ ความไม่สอดคล้องกัน และความเสี่ยงของการเกิดอคติ (การให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์หลังออกจากโรงพยาบาลเทียบกับสายด่วนเลิกบุหรี่: RR 1.23, 95% CI 1.00 ถึง 1.51; การศึกษา 3 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 3260 คน; การส่งต่อไปสายด่วนเลิกบุหรี่กับกลุ่มควบคุม: RR 1.17, 95% CI 0.70 ถึง 1.96; การศึกษา 2 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 1870 คน)

บันทึกการแปล: 

แปลโดย แพทย์หญิงวิลาสินี หน่อแก้ว โรงพยาบาลมะเร็งอุบลราชธานี Edit โดย พ.ญ. ผกากรอง ลุมพิกานนท์ 6 มกราคม 2025

Tools
Information