ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

วิธีการเพื่อป้องกันความผิดปกติของเสียงในผู้ใหญ่

บุคคลในอาชีพที่ต้องใช้เสียงเป็นหลัก เช่น ครู มีความเสี่ยงต่อการเกิดความผิดปกติของเสียงมากกว่า ความหมายของความผิดปกติของเสียงและสาเหตุที่เป็นไปได้รวมถึงวิธีการป้องกันที่ดีที่สุดยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ นอกจากนี้ยังไม่มีข้อตกลงว่าวิธีใดที่ดีที่สุดในการประเมินเสียง แม้ว่าหลายคนจะถือว่าการประเมินคุณภาพเสียง (โดยที่ผู้ตัดสินผู้เชี่ยวชาญจะฟังการบันทึกเสียงของผู้เข้าร่วมและตัดสินระดับความผิดปกติของเสียงด้วยตนเอง) เป็นมาตรฐานการวัดผลก็ตาม การฝึกเสียงใช้เพื่อป้องกันความผิดปกติของเสียง การฝึกเสียงมักประกอบด้วยเทคนิคการรักษาแบบ 'โดยตรง' และ 'โดยอ้อม' ร่วมกัน เทคนิคการรักษาโดยตรงมุ่งเน้นไปที่การเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาพื้นฐานที่จำเป็นต่อการปรับปรุงเทคนิคของแต่ละบุคคลในการใช้ระบบเสียง และอาจมีจุดมุ่งหมายเพื่อเปลี่ยนแปลงการปิดสายเสียง (การหดสายเสียงเข้า) รูปแบบการหายใจหรือการสั่นพ้อง ระดับเสียงหรือความตึงของการออกเสียง ในทางปฏิบัติ หมายถึง การฝึกฝนเรื่องการวางท่าทางที่ถูกต้อง เทคนิคการหายใจ และการทำเสียงต่างๆ เช่น การฮัมเพลง การร้องเพลงตามจังหวะดนตรี หรือการหาว ในทางกลับกัน เทคนิคการรักษาทางอ้อมจะมุ่งเน้นไปที่การสนับสนุนและการรักษาความผิดปกติของเสียง และอาจเกี่ยวข้องกับกลยุทธ์การผ่อนคลาย การให้คำปรึกษา การอธิบายกายวิภาคและสรีรวิทยาปกติของบริเวณเสียง การอธิบายปัจจัยที่ทำให้เกิดความผิดปกติของเสียง และการดูแลและการอนุรักษ์เสียง

เราดำเนินการค้นคว้าวรรณกรรมอย่างเป็นระบบเกี่ยวกับการป้องกันความผิดปกติของเสียงในผู้ใหญ่ จากนั้นเราจึงประเมินคุณภาพของการศึกษาที่พบและรวมผลลัพธ์เหล่านั้นเข้าด้วยกัน เราพบการศึกษาวิจัย 6 ฉบับที่ตรงตามเกณฑ์การคัดเลือกของเรา การศึกษา 4 ฉบับดำเนินการในครู 1 ฉบับดำเนินการในนักศึกษาฝึกสอน และ 1 ฉบับดำเนินการในนักขายทางโทรศัพท์

เราไม่พบหลักฐานใดๆ ว่าการฝึกเสียงโดยตรงหรือโดยอ้อมหรือทั้ง 2 วิธีร่วมกันจะมีประสิทธิผลในการช่วยให้การทำงานของเสียงดีขึ้นเมื่อวัดโดยใช้ผลลัพธ์ที่รายงานด้วยตนเอง และเมื่อเปรียบเทียบกับการไม่มีการแทรกแซงด้วยวิธีการใดๆ

การศึกษาที่รวบรวมมาทั้งหมดมีขนาดเล็กและมีคุณภาพเชิงวิธีการวิจัยต่ำ เมื่อพิจารณาถึงขอบเขตของปัญหาและการใช้การฝึกเสียงอย่างแพร่หลาย การวิจัยเพิ่มเติมจึงมีความจำเป็น

บทนำ

นี่คือการอัปเดต Cochrane Review ที่เผยแพร่ครั้งแรกใน The Cochrane Library ในฉบับที่ 4 ปี 2007

คุณภาพเสียงที่ไม่ดีอันเนื่องมาจากความผิดปกติของเสียงอาจส่งผลให้คุณภาพชีวิตลดลง ในอาชีพที่มีการใช้เสียงมาก อาจทำให้ต้องขาดงานเป็นช่วงๆ ได้

วัตถุประสงค์

เพื่อประเมินประสิทธิผลของวิธีการที่ใช้เพื่อป้องกันความผิดปกติของเสียงในผู้ใหญ่

วิธีการสืบค้น

เราค้นหาฐานข้อมูลต่างๆ รวมถึง CENTRAL, MEDLINE, EMBASE, CINAHL, PsycINFO และ OSH Update ถึงเดือนมีนาคม 2010

เกณฑ์การคัดเลือก

การทดลองทางคลินิกแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม (randomised controlled clinical trials; RCT) ประเมินวิธีการที่ใช้เพื่อป้องกันความผิดปกติของเสียงในผู้ใหญ่ สำหรับวิธีการที่มุ่งเน้นไปที่การทำงาน (work-directed interventions) การศึกษาแบบ interrupted time-series และ prospective cohort จึงตรงตามเกณฑ์การคัดเข้าเช่นกัน

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล

ผู้ทบทวนวรรณกรรม 2 คน ดึงข้อมูล และประเมินความเสี่ยงของการมีอคติ อย่างเป็นอิสระต่อกัน เราดำเนินการวิเคราะห์เมตต้า (meta-analysis) เมื่อเหมาะสม

ผลการวิจัย

เราพบการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุมจำนวน 6 ฉบับ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 262 ราย มีการศึกษาทั้งหมด 4 ฉบับศึกษาในครูระดับประถมศึกษาหรืออนุบาล มีการศึกษา 1 ฉบับศึกษาในครูฝึกสอน และ 1 ฉบับศึกษาในนักขายผ่านทางโทรศัพท์ (telemarketers)

การศึกษา 3 ฉบับ พบอาการทางเสียงที่รายงานด้วยตนเองคล้ายกันระหว่างผู้ที่เข้าร่วมการฝึกเสียงโดยตรงและผู้ที่อยู่ในกลุ่มควบคุมที่ไม่ได้รับการแทรกแซงจากวิธีการใด (ค่าความแตกต่างเฉลี่ยมาตรฐาน (SMD) 0.27; ช่วง CI 95% -0.12 ถึง 0.66)

การศึกษา 2 ฉบับ พบอาการทางเสียงที่รายงานด้วยตนเองคล้ายกันระหว่างผู้ที่เข้าร่วมการฝึกเสียงทางอ้อมกับผู้ที่อยู่ในกลุ่มควบคุมที่ไม่ได้รับการแทรกแซงจากวิธีการใด (SMD 0.44; 95% CI -0.03 ถึง 0.92)

การศึกษา 1 ฉบับ พบคะแนนที่คล้ายคลึงกันในดัชนีความพิการของเสียงสำหรับผู้ที่ได้รับการฝึกเสียงโดยตรงและโดยอ้อมร่วมกัน และสำหรับผู้ที่ไม่ได้รับการแทรกแซงจากวิธีการใด การศึกษา 2 ฉบับ ได้เปรียบเทียบการผสมผสานระหว่างการฝึกเสียงโดยตรงและทางอ้อมเทียบกับการฝึกเสียงทางอ้อมเพียงอย่างเดียว การศึกษาทั้ง 2 ฉบับ พบคะแนนที่คล้ายคลึงกันสำหรับความยากในการออกเสียงที่รายงานด้วยตนเอง (ความแตกต่างเฉลี่ย -5.55; 95% CI -23.75 ถึง 12.66) ในทั้ง 2 กลุ่ม

หลักฐานสำหรับการเปรียบเทียบทั้งหมดได้รับการจัดอันดับว่ามีคุณภาพต่ำ

ไม่พบการศึกษาเชิงมุ่งเน้นไปที่งาน ไม่มีการศึกษาใดที่ประเมินประสิทธิผลของการป้องกันในแง่ของการลาป่วยหรือจำนวนความผิดปกติของเสียงที่ได้รับการวินิจฉัย

ข้อสรุปของผู้วิจัย

เราไม่พบหลักฐานใดๆ ว่าการฝึกเสียงโดยตรงหรือโดยอ้อมหรือทั้ง 2 วิธีร่วมกันมีประสิทธิผลในการปรับปรุงการทำงานของเสียงที่รายงานด้วยตนเองเมื่อเปรียบเทียบกับการไม่มีการแทรกแซงด้วยวิธีการใด แนวทางปฏิบัติปัจจุบันในการให้การฝึกอบรมแก่ประชากรกลุ่มเสี่ยงเพื่อป้องกันการเกิดความผิดปกติของเสียงจึงไม่ได้รับการสนับสนุนด้วยหลักฐานที่ชัดเจนว่ามีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องมีการทดลองที่ใหญ่กว่าและมีระเบียบวิธีวิจัยที่ดีขึ้น โดยมีการวัดผลลัพธ์ที่สะท้อนถึงจุดมุ่งหมายของวิธีการที่ใช้ (interventions) ได้ดีขึ้น

บันทึกการแปล

ผู้แปล แพทย์หญิงชุติมา ชุณหะวิจิตร วันที่ 14 พฤศจิกายน 2024

Citation
Ruotsalainen JH, Sellman J, Lehto L, Isotalo LK, Verbeek JH. Interventions for preventing voice disorders in adults. Cochrane Database of Systematic Reviews 2007, Issue 4. Art. No.: CD006372. DOI: 10.1002/14651858.CD006372.pub2.