ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ยาสมุนไพรจีนชนิดรับประทานและชนิดใช้ภายนอกสำหรับโรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ในเด็กและผู้ใหญ่

โรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ (Atopic eczema หรือเรียกสั้นๆ ว่า โรคผิวหนังอักเสบ) เป็นโรคผิวหนังที่พบได้บ่อย ซึ่งเกิดการเปลี่ยนแปลงของผิวหนังทำให้มีรอยแดง การตกสะเก็ด อาการบวม และผิวหนังหนาตัวขึ้น อันเนื่องมาจากการเกาเรื้อรัง โรคนี้ส่งผลกระทบต่อการนอนหลับ ความเชื่อมั่นในตนเอง และคุณภาพชีวิต ความชุกของโรคผิวหนังอักเสบได้เพิ่มสูงขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

การทบทวนวรรณกรรมของ Cochrane ฉบับก่อนหน้าที่ตีพิมพ์ในปี 2004 พบหลักฐานบางส่วนที่ชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ที่เป็นไปได้ของการใช้ยาสมุนไพรจีน (CHM) ชนิดรับประทานสำหรับโรคผิวหนังอักเสบ อย่างไรก็ตาม ผลลัพธ์จากการศึกษาเพียง 4 ฉบับที่นำมาวิเคราะห์นั้นยังไม่สามารถสรุปผลได้อย่างชัดเจนและจำเป็นต้องมีการปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน (โดยงานวิจัยทั้งสี่ฉบับดังกล่าวไม่ได้ถูกนำมารวมไว้ในการปรับปรุงครั้งนี้ เนื่องจากเป็นการศึกษาวิจัยผลิตภัณฑ์ที่ถูกถอนออกจากตลาดไปแล้วตั้งแต่ปี 2004) นอกเหนือจากการปรับปรุงข้อมูลของการทบทวนวรรณกรรมฉบับเดิมแล้ว เรายังได้ขยายขอบเขตการทบทวนครั้งนี้เพื่อประเมินผลของยาสมุนไพรจีนชนิดใช้ภายนอกสำหรับโรคผิวหนังอักเสบด้วย เราได้จัดทำระเบียบวิธีวิจัย (protocol) ฉบับใหม่ขึ้นเพื่อขยายขอบเขตของการทบทวนวรรณกรรมนี้

การทบทวนวรรณกรรมนี้รวบรวมงานวิจัยแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม (RCTs) จำนวน 28 ฉบับ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมวิจัยเป็นเด็กและผู้ใหญ่รวม 2306 คน โดยในจำนวนนี้ มี 4 ฉบับที่เปรียบเทียบยาสมุนไพรจีนกับยาหลอก, 22 ฉบับเปรียบเทียบกับยาแผนปัจจุบัน, และอีก 2 ฉบับเปรียบเทียบกับการใช้ยาสมุนไพรจีนชนิดรับประทานเพียงอย่างเดียว

การศึกษาส่วนใหญ่ที่นำมารวบรวมรายงานว่า กลุ่มที่ได้รับยาสมุนไพรจีน (CHM) มีจำนวนผู้เข้าร่วมวิจัยที่หายจากโรคและมีอาการดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญมากกว่า อีกทั้งยังมีอาการคันน้อยกว่ากลุ่มควบคุม ในการเปรียบเทียบระหว่างยาสมุนไพรจีนกับยาแผนปัจจุบัน แม้ว่าผลด้านอัตราประสิทธิผลโดยรวมของยาสมุนไพรจีนจะสูงกว่า แต่ผลลัพธ์ดังกล่าวตั้งอยู่บนหลักฐานที่มีคุณภาพต่ำมาก การศึกษา 1 ฉบับรายงานว่า คะแนนคุณภาพชีวิต (QoL) ในกลุ่มที่ได้รับยาสมุนไพรจีนดีกว่ากลุ่มที่ได้รับยาหลอก หลังจากใช้ยาสมุนไพรจีนชนิดรับประทานเป็นเวลา 12 สัปดาห์ เราได้ประเมินว่าการศึกษาส่วนใหญ่มีความเสี่ยงของการมีอคติในระดับสูง จึงถือว่ามีคุณภาพไม่ดี และยังพบความไม่สอดคล้องกันอย่างมากระหว่างผลการศึกษาต่างๆ ดังนั้น ผลลัพธ์เชิงบวกใดๆ ของยาสมุนไพรจีนจึงต้องตีความด้วยความระมัดระวัง

การศึกษา 1 ฉบับรายงานการเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่รุนแรง 1 ราย มีการพบเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์เล็กน้อยในการศึกษา 24 ฉบับ รวมถึงภาวะค่าเอนไซม์สูงขึ้นชั่วคราว 3 ราย ซึ่งกลับสู่ภาวะปกติได้ในเวลาไม่นานหลังจากหยุดใช้ยาสมุนไพรจีน

การศึกษาที่รวบรวมมา 8 ฉบับได้รับทุนสนับสนุนจากภาครัฐ

เราไม่พบหลักฐานที่สามารถสรุปได้อย่างชัดเจนว่า ยาสมุนไพรจีนชนิดรับประทานหรือชนิดใช้ภายนอกมีประโยชน์ต่อเด็กหรือผู้ใหญ่ที่เป็นโรคผิวหนังอักเสบ

ยังคงมีความจำเป็นต้องมีงานวิจัยแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม (RCTs) ที่ได้รับการออกแบบมาอย่างดีและมีจำนวนผู้เข้าร่วมวิจัยที่เพียงพอ เพื่อประเมินประสิทธิผลและความปลอดภัยของยาสมุนไพรจีนสำหรับโรคผิวหนังอักเสบ

บทนำ

ยาสมุนไพรจีน (Chinese herbal medicine; CHM) ถูกนำมาใช้รักษาโรคผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้เพิ่มมากขึ้น การทบทวนวรรณกรรมของ Cochrane เวอร์ชันก่อนหน้านี้ที่ตีพิมพ์ในปี 2004 พบหลักฐานบางอย่างที่บ่งชี้ถึงประโยชน์ที่เป็นไปได้ของการรับประทานยาสมุนไพรจีนเพื่อรักษาโรคผิวหนังอักเสบ แต่ผลลัพธ์ยังไม่ชัดเจนและจำเป็นต้องมีการอัปเดตหลักฐาน เราได้ขยายขอบเขตของการทบทวนวรรณกรรมนี้ให้ครอบคลุมถึงการประเมินประสิทธิผลของยาสมุนไพรจีน (CHM) สำหรับโรคผิวหนังอักเสบ ทั้งในรูปแบบยาใช้ภายนอก (ชนิดทา) และยารับประทาน

วัตถุประสงค์

เพื่อประเมินผลของการใช้สมุนไพรจีนชนิดรับประทานและชนิดทาเฉพาะที่สำหรับการรักษาโรคภูมิแพ้ในเด็กและผู้ใหญ่

วิธีการสืบค้น

เราได้ค้นหาฐานข้อมูลต่อไปนี้จนถึงเดือนกันยายน ปี 2012: Cochrane Skin Group Specialised Register, CENTRAL ใน The Cochrane Library (ปี2012, ฉบับที่ 8), MEDLINE (จากปี 1946), EMBASE (จาก ปี 1974), AMED (จาก ปี 1985), LILACS (จากปี 1982) และ CINAHL (จาก ปี 1981) เราค้นหาสิ่งต่อไปนี้ตั้งแต่เริ่มต้น: SCOPUS, HERBMED, ProQuest, CQVIP, CNKI และ Wanfang Data นอกจากนี้ เรายังค้นหาข้อมูลจากทะเบียนการทดลองต่างๆ ตรวจดูเอกสารจากการประชุม ค้นคว้าเพิ่มเติมจากรายการอ้างอิงของงานวิจัยทุกฉบับ (ทั้งที่เลือกและไม่เลือก) รวมทั้งได้ติดต่อผู้เชี่ยวชาญด้านแพทย์แผนจีนโดยตรงเพื่อสอบถามถึงงานวิจัยที่ยังไม่ได้เผยแพร่

เกณฑ์การคัดเลือก

เรารวบรวมการศึกษาแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม (RCTs) ทั้งหมดที่ทำในเด็กและผู้ใหญ่ที่เป็นโรคผิวหนังอักเสบ ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบผลการรักษาของยาสมุนไพรจีนกับยาหลอก, การไม่ให้การรักษาใดๆ, การรักษาอื่น ๆ (เช่น การฝังเข็ม) หรือยาแผนปัจจุบัน

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล

ผู้ทบทวน 2 คนได้ทำการคัดเลือกการศึกษาแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม (RCTs), ดึงข้อมูล และประเมินคุณภาพโดยอิสระต่อกัน เราได้ติดต่อผู้ประพันธ์การศึกษาเพื่อขอข้อมูลส่วนที่ขาดหายไป เรารวบรวมข้อมูลเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากการศึกษาที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือก

ผลการวิจัย

มีการศึกษาที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกจำนวน 28 ฉบับ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมการศึกษารวมทั้งสิ้น 2306 คน เราประเมินว่าการศึกษาส่วนใหญ่มีความเสี่ยงของการมีอคติ (risk of bias) ในระดับสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการปกปิดข้อมูลต่อผู้เข้าร่วมการศึกษาและบุคลากร นอกจากนี้ยังพบความไม่สอดคล้องกันอย่างมากระหว่างการศึกษาแต่ละฉบับ ดังนั้น ประสิทธิผลเชิงบวกใดๆ ของยาสมุนไพรจีนจึงต้องได้รับการตีความด้วยความระมัดระวัง เราไม่ได้นำการศึกษา 4 ฉบับจากการทบทวนวรรณกรรมฉบับก่อนหน้ามารวมไว้ในการทบทวนครั้งนี้ เนื่องจากการศึกษาดังกล่าวได้ศึกษาผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพรจีนชนิดหนึ่งซึ่งถูกถอนออกจากตลาดไปแล้วตั้งแต่ปี ค.ศ. 2004

การศึกษา 4 ฉบับ (เป็นการศึกษาแบบยารับประทาน 3 ฉบับ และยาใช้ภายนอก 1 ฉบับ) ได้เปรียบเทียบยาสมุนไพรจีน (CHM) กับยาหลอก ข้อมูลที่รวบรวมจากการศึกษา 2 ฉบับแสดงให้เห็นว่าอัตราประสิทธิผลโดยรวมในกลุ่มยาสมุนไพรจีนนั้นสูงกว่า (risk ratio (RR) 2.09, 95% confidence interval (CI) 1.32 ถึง 3.32; การศึกษา 2 ฉบับ; n = 85) และคะแนนอาการคันตามมาตรวัดแบบเห็นภาพ (VAS) ในกลุ่มยาสมุนไพรจีนต่ำกว่ากลุ่มยาหลอก 1.53 คะแนน (standardised mean difference (SMD), 95% CI -2.64 ถึง -0.41; การศึกษา 2 ฉบับ; n = 94) โดยคะแนน VAS ที่ต่ำกว่าบ่งชี้ว่าอาการคันลดลง การศึกษา 1 ฉบับในผู้เข้าร่วม 85 คนที่เป็นโรคผิวหนังอักเสบระดับปานกลางถึงรุนแรงซึ่งได้รับยาสมุนไพรจีนสูตรรับประทานเป็นเวลา 12 สัปดาห์ รายงานว่าคะแนนคุณภาพชีวิต (QoL) ในกลุ่มยาสมุนไพรจีนต่ำกว่ากลุ่มยาหลอก 2.5 คะแนน (difference in means (MD), 95% CI -4.77 ถึง -0.23; การศึกษา 1 ฉบับ; n = 85) โดยคะแนนที่ต่ำกว่าหมายถึงคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า  

มีการเปรียบเทียบยาสมุนไพรจีน (CHM) กับยาแผนปัจจุบันในการศึกษา 22 ฉบับ และอีกหนึ่งกลุ่มการทดลองจากงานวิจัยแบบควบคุมคู่ขนาน 4 กลุ่มการทดลอง โดยในจำนวนนี้เป็นการใช้ยารับประทาน 5 ฉบับ, ยาใช้ภายนอก 6 ฉบับ, และใช้ทั้งยารับประทานและยาใช้ภายนอกร่วมกัน 12 ฉบับ อัตราประสิทธิผลโดยรวมในกลุ่มยาสมุนไพรจีนสูงกว่ากลุ่มเปรียบเทียบ (RR 1.43, 95% CI 1.27 ถึง 1.61; การศึกษา 21 ฉบับ; n = 1868; หลักฐานมีความเชื่อมั่นระดับต่ำมาก) และคะแนนอาการคัน (VAS) ในกลุ่มยาสมุนไพรจีนต่ำกว่า 0.83 คะแนน (SMD, 95% CI -1.43 ถึง -0.22; การศึกษา 7 ฉบับ; n = 465)

การศึกษา 2 ฉบับเปรียบเทียบการใช้ยาสมุนไพรจีนทั้งชนิดรับประทานและชนิดใช้ภายนอกร่วมกัน กับการใช้ยาสมุนไพรจีนสูตรเดียวกันในรูปแบบรับประทานเพียงอย่างเดียว ในการศึกษา 1 ฉบับ อัตราประสิทธิผลโดยรวมไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (RR 1.13, 95% CI 0.78 ถึง 1.63; การศึกษา 1 ฉบับ; n = 20) ในการศึกษาอีก 1 ฉบับ คะแนนอาการคัน (VAS) ในกลุ่มยาสมุนไพรจีนต่ำกว่ากลุ่มควบคุม 1.05 คะแนน (MD, 95% CI -1.75 ถึง -0.35; การศึกษา 1 ฉบับ; n = 23)

ในด้านผลข้างเคียง มีการศึกษา 4 ฉบับที่ไม่ได้รายงานข้อมูลเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ใดๆ การศึกษาอีก 24 ฉบับที่เหลือได้รายงานการเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์เล็กน้อย ซึ่งอาการเหล่านั้นหายไปได้เองในเวลาไม่นานหลังจากหยุดใช้ยาสมุนไพรจีน มีผู้เข้าร่วมการศึกษา 1 รายถอนตัวออกจากการทดลอง เนื่องจากอาการของโรคกำเริบขึ้นหลังจากได้รับการรักษาด้วยยาสมุนไพรจีน

การศึกษา 8 ฉบับได้รับทุนสนับสนุนจากภาครัฐ

ข้อสรุปของผู้วิจัย

เราไม่พบหลักฐานที่สามารถสรุปได้อย่างชัดเจนว่า ยาสมุนไพรจีนทั้งในรูปแบบรับประทานและยาใช้ภายนอก สามารถลดความรุนแรงของโรคผิวหนังอักเสบในเด็กหรือผู้ใหญ่ได้

ยังคงมีความจำเป็นต้องมีการศึกษาแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม (RCTs) ที่ได้รับการออกแบบมาอย่างดีและมีจำนวนผู้เข้าร่วมวิจัยที่เพียงพอ เพื่อประเมินประสิทธิผลและความปลอดภัยของยาสมุนไพรจีนในการจัดการกับโรคผิวหนังอักเสบ

บันทึกการแปล

ผู้แปล แพทย์หญิงชุติมา ชุณหะวิจิตร วันที่ 16 มิถุนายน 2025

Citation
Gu S, Yang AWH, Xue CCL, Li CG, Pang C, Zhang W, Williams HC. Chinese herbal medicine for atopic eczema. Cochrane Database of Systematic Reviews 2013, Issue 9. Art. No.: CD008642. DOI: 10.1002/14651858.CD008642.pub2.