ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แอนโดรเจน (dehydroepiandrosterone หรือ testosterone) สำหรับผู้หญิงที่ใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์

ใจความสำคัญ

ผู้หญิงที่ได้รับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ (ART) ได้แก่ การปฏิสนธินอกร่างกาย (IVF) หรือการฉีดอสุจิเข้าเซลล์ไซโตพลาสซึม (ICSI) ซึ่งได้รับการระบุว่าตอบสนองได้ไม่ดีควรพิจารณาการรักษาล่วงหน้าหรือการรักษาร่วมกับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (T)

ประเด็นคืออะไร

ดีไฮโดรอิพิแอนโดรสเตอโรน (DHEA) และเทสโทสเตอโรน (T) เป็นฮอร์โมนที่เรียกว่าแอนโดรเจน เป็นเวลาหลายปีแล้วที่ฮอร์โมนสังเคราะห์เหล่านี้ถูกนำมาใช้ก่อนการรักษาด้วย ART เพื่อเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ของผู้หญิง เชื่อกันว่าแอนโดรเจนจะช่วยเพิ่มโอกาสในการมีลูกได้ผ่านปริมาณและคุณภาพของไข่ที่เพิ่มขึ้น

เหตุใดสิ่งนี้จึงสำคัญ

โดยทั่วไปแล้วแอนโดรเจน (DHEA และ T) มักถูกจ่ายโดยแพทย์เพื่อเป็นการรักษาเสริม (เพิ่มเติม) สำหรับ ART และผู้ป่วยร้องขอให้ใช้ยาเหล่านี้ มีการศึกษาคุณภาพและผลลัพธ์ที่แตกต่างกันจำนวนมากเพื่อดูว่าการรักษาก่อนหรือการรักษาร่วมกับแอนโดรเจนช่วยเพิ่มผลการรักษาด้วย ART หรือไม่

เราต้องการค้นหาอะไร

เราต้องการทราบว่า androgens (DHEA หรือ T) ที่เป็นการรักษาแบบเสริมที่ดีกว่ายาหลอก (การรักษาแบบ 'หลอก') หรือไม่มีการรักษาหรือการรักษาที่ออกฤทธิ์แบบอื่นใดเพื่อปรับปรุง:

- อัตราการเกิดมีชีพ/การตั้งครรภ์ต่อเนื่อง ('การเกิดมีชีพ' หมายถึง การคลอดบุตรในครรภ์ที่มีชีวิตหลังจากอายุครรภ์ครบ 20 สัปดาห์ 'การตั้งครรภ์ต่อเนื่อง' หมายถึง หลักฐานของถุงขณะตั้งครรภ์ที่มีการเต้นของหัวใจของทารกในครรภ์ที่ 12 สัปดาห์ หรือหลังจากนั้น, ยืนยันด้วยอัลตราซาวนด์);

- อัตราการแท้งบุตร (หมายถึงจำนวนการตั้งครรภ์ที่แท้งก่อนอายุครรภ์ 20 สัปดาห์)

- การตั้งครรภ์ทางคลินิก (หมายถึงหลักฐานของถุงการตั้งครรภ์ขณะตั้งครรภ์ที่มีการทำงานของหัวใจของทารกในครรภ์หลังจากตั้งครรภ์ได้ 6 สัปดาห์ ยืนยันโดยอัลตราซาวนด์)

เรายังต้องการทราบว่าแอนโดรเจน (DHEA หรือ T) ที่ใช้ร่วมกับวิธี ART ส่งผลต่อความเสี่ยงของ:

- ผลข้างเคียงต่อผู้หญิง รวมทั้งการตั้งครรภ์นอกมดลูกและภาวะแทรกซ้อนในระหว่างการตั้งครรภ์หรือการคลอดบุตร

- ผลข้างเคียงต่อทารกในครรภ์ รวมถึงความผิดปกติของทารกในครรภ์

เราทำอะไรไปแล้วบ้าง

เราค้นหาการศึกษาที่ตีพิมพ์และไม่ได้ตีพิมพ์ทั้งหมดที่เปรียบเทียบแอนโดรเจน (DHEA หรือ T) ในฐานะการรักษาเสริมกับการรักษาอื่น ๆ ยาหลอก หรือการไม่รักษาใด ๆ ในสตรีที่เข้ารับการรักษา ART เราเปรียบเทียบและสรุปผลการศึกษาและจัดอันดับตามความเชื่อมั่นของหลักฐานโดยพิจารณาจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น วิธีการศึกษาและขนาดการศึกษา

เราพบอะไร

เราพบการศึกษา 28 ฉบับ ที่มีผู้หญิงทั้งหมด 3002 คน ผู้เข้าร่วมเป็นสตรีที่มีภาวะมีบุตรยากมากกว่า 1 ปีในการศึกษาที่รวบรวมทั้งหมด การศึกษา 14 ฉบับ ศึกษา DHEA และ 14 ฉบับ ศึกษา T

- T น่าจะช่วยเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์สำเร็จในสตรีที่ได้รับการระบุว่าตอบสนองต่อ IVF ไม่ดี

- DHEA น่าจะมีผลเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยต่อโอกาสการตั้งครรภ์สำเร็จในสตรีที่ได้รับการระบุว่าตอบสนองต่อ IVF ไม่ดี

- แอนโดรเจน (DHEA และ T) อาจไม่ลดโอกาสการแท้งบุตรของผู้หญิง ไม่แน่ใจว่า DHEA และ T เพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์แฝดหรือไม่

หลักฐานมีข้อจำกัดอะไรบ้าง

โดยรวมแล้ว เรามีความมั่นใจในหลักฐานในระดับปานกลางเท่านั้น เนื่องจากผู้เข้าร่วมการศึกษาอาจทราบกลุ่มการรักษาของตนเอง จำนวนของเหตุการณ์มีน้อย และวิธีการศึกษามีการรายงานไม่เพียงพอ ข้อมูลเกี่ยวกับผลข้างเคียงนั้นมีจำกัดมาก และเหตุการณ์ที่มีการรายงานก็เป็นเพียงเรื่องเล็กน้อยเท่านั้น จำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อระบุระยะเวลาที่เหมาะสมในการรักษาด้วย T. การศึกษาในอนาคตควรเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผลข้างเคียงและการตั้งครรภ์แฝด

หลักฐานเป็นปัจจุบันแค่ไหน

การทบทวนวรรณกรรมนี้เป็นการปรับปรุงการทบทวนวรรณกรรมก่อนหน้า หลักฐานเป็นปัจจุบันถึงเดือนมกราคม 2024

บทนำ

ผู้ประกอบวิชาชีพด้านเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ (assisted reproductive technology; ART) ค้นหาการรักษาทางเลือกหรือการรักษาเสริมอย่างต่อเนื่องเพื่อปรับปรุงผลลัพธ์ของ ART การทบทวนวรรณกรรมครั้งนี้เป็นการตรวจสอบการใช้ฮอร์โมนเสริมในรูปแบบสังเคราะห์ของฮอร์โมน์ที่ผลิตตามธรรมชาติสองตัว ได้แก่ ดีไฮโดรเอพิแอนโดรสเตอโรน (dehydroepiandrosterone; DHEA) และฮอร์โมนเทสโทสเทอโรน (testosterone; T) เพื่อใช้ในการช่วยการเจริญพันธุ์

มีการพูดถึงว่าฮอร์โมนสเตียรอยด์เพิ่มอัตราการปฏิสนธิโดยส่งผลเชิงบวกต่อการตอบสนองของฟอลลิคูลาร์ต่อการกระตุ้นโกนาโดโทรฟิน สิ่งนี้อาจนำไปสู่ผลผลิต oocyte ที่มากขึ้น และส่งผลต่อโอกาสในการตั้งครรภ์ที่เพิ่มขึ้น

วัตถุประสงค์

เพื่อประเมินประสิทธิผลและความปลอดภัยของ DHEA และ T ในการรักษาก่อนหรือร่วมกันในสตรีที่มีบุตรยากที่ได้รับการช่วยการเจริญพันธุ์

วิธีการสืบค้น

เราค้นหาฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ต่อไปนี้จนถึงวันที่ 8 มกราคม 2024: the Gynaecology and Fertility Group (CGF) Specialized Register, CENTRAL, MEDLINE, Embase, PsycINFO และทะเบียนการทดลองสำหรับการทดลองที่กำลังดำเนินอยู่ นอกจากนี้เรายังค้นหาดัชนีอ้างอิง Web of Science, PubMed และ OpenGrey เราค้นหารายการอ้างอิงของการศึกษาที่เกี่ยวข้องและติดต่อผู้เชี่ยวชาญในสาขานั้นสำหรับการศึกษาเพิ่มเติม ไม่มีข้อจำกัดด้านภาษา

เกณฑ์การคัดเลือก

การทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม (randomised controlled trials; RCTs) เปรียบเทียบ DHEA หรือ T เป็นวิธีการรักษาเสริมกับการรักษาอื่น ๆ ยาหลอก หรือการไม่รักษาในสตรีที่ได้รับการช่วยเรื่องการเจริญพันธุ์

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล

ผู้ทบทวน 2 คนคัดเลือก ดึงข้อมูลจากรายงานการศึกษาที่รวบรวมได้และประเมินความเสี่ยงของอคติอย่างเป็นอิสระต่อกัน เรารวมข้อมูลจากการศึกษาโดยใช้แบบจำลอง fixed-effect models เราคำนวณ odds ratios (ORs) สำหรับผลลัพธ์แบบแบ่งกลุ่มแต่ละรายการ การวิเคราะห์แบ่งชั้นตามประเภทของการรักษา

เราประเมินความเชื่อมั่นของหลักฐานสำหรับการเปรียบเทียบหลักแต่ละรายการโดยใช้วิธี GRADE

ผลการวิจัย

เรารวบรวมการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุมได้ 28 รายการ มีสตรี 1533 รายอยู่ในกลุ่มแทรกแซง และ 1469 รายอยู่ในกลุ่มควบคุม นอกเหนือจากการทดลอง 3 ฉบับ ผู้เข้าร่วมการทดลองเป็นผู้หญิงที่ถูกระบุว่า "ตอบสนองไม่ดี" ต่อโปรโตคอลการปฏิสนธิในหลอดแก้ว (IVF) มาตรฐาน การทดลองที่รวบรวมมาเปรียบเทียบการรักษาด้วย T หรือ DHEA กับยาหลอกหรือไม่ได้รับการรักษา

การให้การรักษาก่อนด้วย DHEA เทียบกับยาหลอก/ไม่มีการรักษา:

DHEA น่าจะให้ผลลัพธ์เพียงเล็กน้อยหรือไม่มีความแตกต่างในอัตราการเกิดมีชีพ/การตั้งครรภ์ต่อเนื่อง (OR 1.30, 95% ช่วงความเชื่อมั่น (CI) 0.95 ถึง 1.76; I² = 16%, 9 RCTs, N = 1433, หลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง ) นี่นี้ชี้ให้เห็นว่าในสตรีที่มีโอกาส 12% ของการเกิดมีชีพ/การตั้งครรภ์ต่อเนื่องด้วยยาหลอกหรือไม่มีการรักษา อัตราการเกิดมีชีพ/การตั้งครรภ์ต่อเนื่องในสตรีที่ใช้ DHEA จะอยู่ระหว่าง 12% ถึง 20% DHEA มีแนวโน้มว่าจะไม่ลดอัตราการแท้งบุตร (OR 0.85, 95% CI 0.53 ถึง 1.37; I² = 0%, 10 RCTs, N = 1601, หลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง )

DHEA น่าจะให้ผลลัพธ์เพียงเล็กน้อยหรือไม่มีความแตกต่างในอัตราการตั้งครรภ์ทางคลินิก (OR 1.18, 95% CI 0.93 ถึง 1.49; I² = 0%, 13 RCTs, N = 1886, หลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง ) นี่นี้ชี้ให้เห็นว่าในสตรีที่มีโอกาส 17% ของการตั้งครรภ์ทางคลินิกด้วยยาหลอกหรือไม่ได้รับการรักษา อัตราการตั้งครรภ์ทางคลินิกในสตรีที่ใช้ DHEA จะอยู่ระหว่าง 16% ถึง 24% เราไม่แน่ใจอย่างมากเกี่ยวกับผลของ DHEA ต่อการตั้งครรภ์แฝด (OR 3.05, 95% CI 0.47 ถึง 19.66; RCTs 7 ฉบับ, N = 463, หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก )

การรักษาก่อนด้วย T เทียบกับยาหลอก/ไม่มีการรักษา:

T น่าจะช่วยเพิ่มอัตราการเกิดมีชีพ (OR 2.53, 95% CI 1.61 ถึง 3.99; I² = 0%, 8 RCTs, N = 716, หลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง ) นี่นี้ชี้ให้เห็นว่าในสตรีที่มีโอกาส 10% ที่จะเกิดมีชีพด้วยยาหลอกหรือไม่ได้รับการรักษา อัตราการเกิดมีชีพในสตรีที่ใช้ T จะอยู่ระหว่าง 15% ถึง 30% T ไม่น่าจะลดอัตราการแท้งบุตร (OR 1.63, 95% CI 0.76 ถึง 3.51; I² = 0%, 9 RCTs, N = 755, หลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง )

T น่าจะเพิ่มอัตราการตั้งครรภ์ทางคลินิก (OR 2.17, 95% CI 1.54 ถึง 3.06; I² = 0%, 13 RCTs, N = 1152, หลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง ) นี่นี้ชี้ให้เห็นว่าในสตรีที่มีโอกาส 12% ของการตั้งครรภ์ทางคลินิกด้วยยาหลอกหรือไม่ได้รับการรักษา อัตราการตั้งครรภ์ทางคลินิกในสตรีที่ใช้ T จะอยู่ระหว่าง 17% ถึง 29% เราไม่แน่ใจอย่างมากเกี่ยวกับผลของ T ต่อการตั้งครรภ์แฝด (OR 2.56, 95% CI 0.59 ถึง 11.20; 5 RCTs, N = 449, หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก )

เราไม่แน่ใจเกี่ยวกับผลของฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนเทียบกับเอสตราไดออลหรือฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนเทียบกับเอสตราไดออล + ยาคุมกำเนิดชนิดรับประทาน

ความเชื่อมั่นของหลักฐานอยู่ในระดับปานกลางถึงต่ำมาก ข้อจำกัดหลักคือการขาดการปกปิดในการศึกษาที่รวบรวมไว้ การรายงานวิธีการศึกษาที่ไม่เพียงพอ และเหตุการณ์และขนาดตัวอย่างน้อยในการศึกษา

ข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์มีน้อย เหตุการณ์ที่รายงานใด ๆ เป็นเรื่องเล้กน้อย

ข้อสรุปของผู้วิจัย

การรักษาล่วงหน้าด้วย T น่าจะทำให้ดีขึ้น และการรักาาล่วงหน้าด้วย DHEA น่าจะให้ผลลัพธ์เพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย อัตราการเกิดมีชีพและการตั้งครรภ์ทางคลินิกในสตรีที่ทำเด็กหลอดแก้วซึ่งได้รับการระบุว่าเป็นผู้ตอบสนองไม่ดี DHEA และ T อาจไม่ลดอัตราการแท้งบุตรในสตรีที่ได้รับการทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) ผลกระทบของ DHEA และ T ต่อการตั้งครรภ์แฝดยังไม่แน่นอน จำเป็นต้องมีการวิจัยเพื่อระบุระยะเวลาที่เหมาะสมที่สุดในการรักษาด้วย T การศึกษาในอนาคตควรรวมถึงการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์และการตั้งครรภ์แฝด

บันทึกการแปล

แปลโดย พญ.วิลาสินี หน่อแก้ว โรงพยาบาลมะเร็งอุบลราชธานี Edit โดย พ.ญ. ผกากรอง ลุมพิกานนท์ 2 มกราคม 2025

Citation
Naik S, Lepine S, Nagels HE, Siristatidis CS, Kroon B, McDowell SJohn. Androgens (dehydroepiandrosterone or testosterone) for women undergoing assisted reproduction. Cochrane Database of Systematic Reviews 2024, Issue 6. Art. No.: CD009749. DOI: 10.1002/14651858.CD009749.pub3.