ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

Alendronate ช่วยป้องกันกระดูกหักที่เกิดจากโรคกระดูกพรุนในสตรีวัยหมดประจำเดือนได้หรือไม่

ใจความสำคัญ

• Alendronate ใช้นานถึง 5 ปี อาจป้องกันภาวะกระดูกสันหลังหักในสตรีที่มีความเสี่ยงน้อยต่อภาวะกระดูกหัก หรือในผู้ที่ยังไม่เคยกระดูกสันหลังหักได้

• การใช้ Alendronate นานถึงสามปีในสตรีที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคกระดูกพรุน มีความหนาแน่นของกระดูกต่ำ หรือเคยมีกระดูกสันหลังหักมาก่อน อาจช่วยป้องกันกระดูกสันหลังหักได้

โรคกระดูกพรุนคืออะไร

โรคกระดูกพรุนคือโรคที่ทำให้กระดูกอ่อนแอและเปราะบาง กระดูกเป็นเนื้อเยื่อที่มีชีวิตซึ่งมีการสลายและทดแทนอย่างต่อเนื่อง ในโรคกระดูกพรุน กระดูกเก่าจะสลายเร็วกว่ากระดูกใหม่จะมาแทนที่ เมื่อเป็นเช่นนี้ กระดูกจะสูญเสียแร่ธาตุ (เช่น แคลเซียม) ซึ่งทำให้กระดูกมีโอกาสแตกหักได้ง่ายขึ้นแม้จะได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย เช่น การกระแทกหรือหกล้ม สตรีมีโอกาสเกิดโรคกระดูกพรุนมากขึ้นหลังวัยหมดประจำเดือน

Alendronate คืออะไร

Alendronate เป็น bisphosphonate ซึ่งเป็นยาชนิดหนึ่งที่ออกฤทธิ์ชะลอเซลล์ที่ทำลายกระดูกเก่า

เราต้องการค้นหาอะไร

เรามุ่งหวังที่จะค้นหาว่า alendronate ดีกว่ายาหลอก (ยาที่ไม่ออกฤทธิ์หรือยา 'หลอก') หรือยาอื่นหรือไม่ในการป้องกันหรือลดภาวะกระดูกหักในสตรีวัยหมดประจำเดือน

เราทำอะไรไปบ้าง

เราค้นหาการศึกษาที่เปรียบเทียบ alendronate กับยาหลอกหรือยาต้านกระดูกพรุนชนิดอื่นเพื่อรักษาภาวะกระดูกพรุนในสตรีวัยหมดประจำเดือน เราเปรียบเทียบและสรุปผลการศึกษาและประเมินความเชื่อมั่นของหลักฐาน โดยพิจารณาจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น วิธีการศึกษาและขนาดของการศึกษา

เราพบอะไร

เราพบการศึกษาที่เข้าเกณฑ์ 119 ฉบับ จากการศึกษาเหล่านี้ มี 102 ฉบับที่ให้ข้อมูลที่สามารถใช้งานได้ และมี 40 การศึกษาเปรียบเทียบ alendronate กับยาหลอก (ยาเม็ดหลอก)

ผลการค้นพบที่สำคัญ

ในสตรีที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักน้อยกว่า เนื่องจากมีความหนาแน่นของกระดูกใกล้เคียงกับปกติ หรืออาจยังไม่มีกระดูกหักที่กระดูกสันหลัง การใช้ alendronate นานถึง 5 ปี:

  • อาจป้องกันภาวะกระดูกสันหลังหักทางคลินิกได้ นั่นคือ ภาวะกระดูกสันหลังหักที่บ่งชี้ด้วยอาการและสัญญาณทางคลินิก โดยไม่มีหลักฐานทางรังสีวิทยา

  • อาจป้องกันกระดูกหักส่วนอื่นนอกจากกระดูกสันหลังได้ อย่างไรก็ตาม โดยเฉพาะในกระดูกสะโพกและข้อมือหัก alendronate อาจไม่ก่อให้เกิดความแตกต่าง

  • อาจไม่มีความแตกต่างกับจำนวนสตรีที่ถอนตัวจากการศึกษาเนื่องจากเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ นั่นคือ เหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์และเป็นอันตราย

  • อาจไม่มีความแตกต่างกับจำนวนสตรีที่ประสบกับอาการไม่พึงประสงค์ที่ร้ายแรง

ในสตรีที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดกระดูกหัก เนื่องจากได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคกระดูกพรุน มีความหนาแน่นของกระดูกต่ำ หรือเคยมีกระดูกสันหลังหักแล้ว การใช้ alendronate นานถึง 3 ปี:

  • อาจป้องกันภาวะกระดูกสันหลังหักทางคลินิกได้

  • อาจป้องกันกระดูกหักส่วนอื่นนอกจากกระดูกสันหลังได้

  • อาจป้องกันกระดูกสะโพกและข้อมือหักได้

  • อาจลดการเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่ร้ายแรงได้;

เราไม่ทราบว่า alendronate ช่วยลดการถอนตัวเนื่องจากเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ในกลุ่มสตรีกลุ่มนี้หรือไม่

การประมาณการที่ดีที่สุดสำหรับสตรีที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักน้อยที่รับยา alendronate หรือยาหลอกมีดังต่อไปนี้

  • ในกรณีกระดูกสันหลังหักทางคลินิก มีหลักฐานชี้ให้เห็นว่าหากสตรี 3 ใน 100 คนที่ใช้ยาหลอกเกิดกระดูกหัก จะมีสตรีเพียง 1 ใน 100 คนที่ใช้ยา alendronate เท่านั้นที่จะเกิดกระดูกหัก

  • หากสตรี 10 ใน 100 คนที่ใช้ยาหลอกมีกระดูกหักบริเวณอื่นนอกเหนือจากกระดูกสันหลัง ผู้ที่ใช้ยา alendronate 8 ใน 100 คนเท่านั้นที่จะมีโอกาสเกิดกระดูกหักดังกล่าว

  • ในกรณีกระดูกสะโพกและข้อมือหัก อาจไม่มีความแตกต่างระหว่าง 2 กลุ่มในจำนวนสตรีที่ประสบกับกระดูกหัก

การประมาณการที่ดีที่สุดสำหรับสตรีที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักสูงที่รับประทานยา alendronate หรือยาหลอกมีดังต่อไปนี้

  • หากสตรี 5 ใน 100 รายที่ใช้ยาหลอกมีอาการกระดูกสันหลังหักทางคลินิก สตรีที่ใช้ยา alendronate 2 ใน 100 รายเท่านั้นที่จะมีโอกาสเกิดอาการดังกล่าว

  • หากสตรี14 คนใน 100 คนที่ใช้ยาหลอกมีกระดูกหักบริเวณอื่นนอกเหนือจากกระดูกสันหลัง ผู้ที่ใช้ยา alendronate เพียง 11 คนใน 100 คนเท่านั้นที่จะมีโอกาสเกิดกระดูกหักดังกล่าว

  • หากสตรี 2 คนใน 100 คนที่ใช้ยาหลอกมีอาการกระดูกสะโพกหัก ผู้ที่ใช้ยา alendronate 1 ใน 100 คนเท่านั้นที่จะมีโอกาสเกิดอาการดังกล่าว

  • หากสตรี 4 คนใน 100 คนที่ใช้ยาหลอกมีกระดูกข้อมือหัก ผู้ที่ใช้ยา alendronate 2 ใน 100 คนเท่านั้นที่จะมีโอกาสเกิดกระดูกข้อมือหัก

ข้อจำกัดของหลักฐานคืออะไร

สำหรับผลการค้นพบส่วนใหญ่ ความเชื่อมั่นของเราที่มีต่อหลักฐานนั้นต่ำ เพราะเป็นไปได้ที่สตรีในการศึกษาวิจัยและนักวิจัยที่ประเมินผลลัพธ์จะทราบว่าสตรีเหล่านั้นได้รับการรักษาแบบใด นอกจากนี้ หลักฐานบางส่วนมุ่งเน้นไปที่ขนาดโดยเฉพาะของ alendronate ในขณะที่คำถามที่เราต้องการคำตอบนั้นกว้างกว่านั้น สุดท้าย สำหรับผลลัพธ์ของการเกิดกระดูกหักบางกรณี หลักฐานมาจากเพียงไม่กี่ราย

หลักฐานเป็นปัจจุบันแค่ไหน

หลักฐานมีอยู่ปัจจุบันถึงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2023 นี่คือการปรับปรุงการทบทวนวรรณกรรม Cochrane ที่เผยแพร่ครั้งแรกในปี 2008

วัตถุประสงค์

เพื่อประเมินประโยชน์และอันตรายของ alendronate ในการป้องกันปฐมภูมิและทุติยภูมิสำหรับภาวะกระดูกหักจากกระดูกพรุนในสตรีวัยหมดประจำเดือนที่มีความเสี่ยงต่อกระดูกหักต่ำและสูงตามลำดับ

วิธีการสืบค้น

เราค้นหา Evidence-Based Medicine Reviews (ซึ่งรวมถึง CENTRAL), MEDLINE, Embase, ทะเบียนการทดลอง 2 แหล่ง เว็บไซต์ของหน่วยงานอนุมัติยา และบรรณานุกรมของการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบที่เกี่ยวข้อง เพื่อค้นหาการศึกษาที่รวมอยู่ในการทบทวนวรรณกรรมนี้ วันที่ค้นหาล่าสุดคือวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2023 เราไม่ได้กำหนดข้อจำกัดใด ๆ เกี่ยวกับภาษา วันที่ รูปแบบการตีพิมพ์ หรือผลลัพธ์ที่รายงาน

ข้อสรุปของผู้วิจัย

สำหรับการป้องกัน)ปฐมภูมิ เมื่อเทียบกับยาหลอก alendronate 10 มก./วันอาจช่วยลดอาการกระดูกสันหลังหักและไม่ใช่กระดูกสันหลังหักได้ แต่ก็อาจไม่ทำให้เกิดความแตกต่างมากนักหรือแทบไม่มีเลยกับอาการกระดูกสะโพกหักและข้อมือหัก การหยุดยาเนื่องจากเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ และเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่ร้ายแรง สำหรับการป้องกันทุติยภูมิ alendronate อาจช่วยลดการหักของกระดูกสันหลังทางคลินิก และอาจลดการเกิดการหักของกระดูกที่ไม่ใช่กระดูกสันหลัง กระดูกสะโพกและกระดูกข้อมือ รวมถึงเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่ร้ายแรงได้ เมื่อเทียบกับยาหลอก หลักฐานยังคงไม่เชื่อมั่นมากเกี่ยวกับผลของ alendronate ต่อการถอนตัวเนื่องจากเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์

แหล่งทุน

การทบทวนวรรณกรรม Cochrane นี้ไม่ได้รับเงินทุนสนับสนุนโดยเฉพาะ

การลงทะเบียน

การทบทวนวรรณกรรมนี้เป็นการปรับปรุงการทบทวนวรรณกรรมครั้งก่อน (DOI: 10.1002/14651858.CD001155).

บันทึกการแปล

แปลโดย ศ.นพ.ภิเศก ลุมพิกานนท์ สาขาวิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2025

Citation
Wells GA, Hsieh SC, Peterson J, Zheng C, Kelly SE, Shea B, Tugwell P. Alendronate for the primary and secondary prevention of osteoporotic fractures in postmenopausal women. Cochrane Database of Systematic Reviews 2025, Issue 1. Art. No.: CD001155. DOI: 10.1002/14651858.CD001155.pub3.