ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สารขับธาตุเหล็กในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน

ความเป็นมา

ความเสียหายของสมองหลังจากเกิดโรคหลอดเลือดสมองมีความซับซ้อน มีทั้งความเสียหายที่เกิดในทันทีและที่เกิดตามมาในภายหลัง ซึ่งการเพิ่มขึ้นของระดับธาตุเหล็กในบริเวณที่เกิดเลือดออกอาจเชื่อมโยงกับความเสียหายของสมองที่เกิดในเวลาต่อมา ดังนั้น การลดความเป็นพิษของธาตุเหล็กจึงอาจเป็นหนึ่งในวิธีรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง โดยสารขับธาตุเหล็ก (Iron-chelating drugs) สามารถดักจับธาตุเหล็กส่วนเกินในกระแสเลือดและในเนื้อเยื่อเฉพาะที่ และอาจลดการสะสมของธาตุเหล็กและการบาดเจ็บของสมองที่จากธาตุเหล็กได้ สนับสนุนโดยการศึกษาในสัตว์ทดลองที่พบว่าสารขับธาตุเหล็กสามารถป้องกันเซลล์สมองหลังจากเกิดโรคหลอดเลือดสมองได้

ช่วงเวลาที่สืบค้น

การสืบค้นดำเนินการเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2019

ลักษณะการศึกษา

ผู้วิจัยได้พบการศึกษา 2 รายการ โดยมีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 333 คน ซึ่งศึกษาประสิทธิผลทางคลินิกของการบำบัดด้วยคีเลชั่นเหล็ก (Iron chelation therapy) ด้วย deferoxamine สำหรับโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน การศึกษาทั้งสองสนใจผลลัพธ์ในผู้ที่มีเลือดออกในสมองซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน

ผลการศึกษาที่สำคัญ

ด้วยข้อจำกัดที่ไม่สามารถรวมผลลัพธ์ของทั้งสองการศึกษาได้ ข้อมูลที่ได้จึงไม่แสดงความแตกต่างในแง่ของผลลัพธ์ทางระบบประสาทที่ดีระหว่างทั้งสองกลุ่ม การศึกษาทั้งสองรายงานว่าการให้ deferoxamine มีความปลอดภัยในทางคลินิก และการบวมน้ำ (Oedema) รอบก้อนเลือดออกในสมองลดลงเล็กน้อยในกลุ่มที่ได้รับ deferoxamine ในการศึกษาหนึ่ง แต่ไม่พบผลลัพธ์ดังกล่าวในอีกการศึกษา

ความน่าเชื่อถือของหลักฐาน

ความเชื่อมั่นของหลักฐานสำหรับการใช้ deferoxamine ในการเพิ่มผลลัพธ์ทางระบบประสาทสำหรับภาวะเลือดออกในสมองอยู่ในระดับต่ำ ตัดสินจากการศึกษาขนาดเล็กสองฉบับที่มีการติดตามผลในระยะสั้นและมีความแตกต่างในการวัดผล อีกทั้งข้อมูลเรื่องผลข้างเคียงค่อนข้างจำกัด ดังนั้น ผลดีของการบำบัดด้วยคีเลชั่นเหล็กในผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดสมองตีบหรือเลือดออกในชั้น subarachnoid (subarachnoid haemorrhage) จึงยังไม่ทราบแน่ชัด

บทนำ

โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับสองและเป็นสาเหตุสำคัญของภาวะทุพพลภาพทั่วโลก การศึกษาทางคลินิกและในสัตว์ย้อนหลังได้แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการป้องกันระบบประสาทของสารขับธาตุเหล็ก (Iron chelators) ในผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดสมองขาดเลือดหรือเลือดออกในสมอง บทความนี้เป็นการอัปเดต Cochrane Review ที่ตีพิมพ์ในปี 2012

วัตถุประสงค์

เพื่อประเมินประสิทธิผลและความปลอดภัยของสารขับธาตุเหล็กในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน (Acute stroke)

วิธีการสืบค้น

ผู้วิจัยสืบค้นใน Cochrane Stroke Group Trials Register (2 กันยายน 2019), Cochrane Central Register of Controlled Trials (CENTRAL) (The Cochrane Library 2019, Issue 9; 2 กันยายน 2019), MEDLINE Ovid (2 กันยายน 2019), Embase Ovid (2 กันยายน 2019) และ Science Citation Index (2 กันยายน 2019) นอกจากนี้ยังค้นหาการทดลองที่ลงทะเบียนว่ากำลังดำเนินการอยู่ด้วย

เกณฑ์การคัดเลือก

ผู้วิจัยได้รวมการศึกษาแบบ randomised controlled trials (RCTs) ของการให้สารขับธาตุเหล็กกับการไม่ให้สารขับธาตุเหล็กหรือยาหลอกสำหรับการรักษาโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันรวมถึงภาวะเลือดออกในชั้น subarachnoid (Subarachnoid haemorrhage)

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล

ผู้ทบทวนวรรณกรรมทั้งสองคนคัดเลือกการศึกษาโดยเป็นอิสระต่อกัน และผู้วิจัยได้นำรายงานฉบับเต็มของงานวิจัยที่อาจเกี่ยวข้องกับการศึกษามาประเมินเพื่อคัดเข้าสู่การทบทวนวรรณกรรม โดยใช้เครื่องมือ “Risk of Bias” ของ Cochrane และประเมินความน่าเชื่อถือของหลักฐานโดยวิธี GRADE

ผลการวิจัย

มีการศึกษา RCT 2 รายการ (ผู้เข้าร่วม 333 คน) ที่ได้รับการคัดเลือกซึ่งทั้งสองการศึกษาเปรียบเทียบสารขับธาตุเหล็ก deferoxamine กับยาหลอก ในผู้ป่วยเลือดออกในสมองที่เกิดขึ้นเอง (Spontaneous intracerebral haemorrhage) ผู้วิจัยประเมินว่าการศึกษาหนึ่งมีความเสี่ยงของการมีอคติ และอีกการศึกษามีความเป็นไปได้ที่จะมีอคติ

ด้วยข้อมูลที่จำกัดและแตกต่างกันจึงไม่สามารถนำผลลัพธ์มาทำ meta-analysis ได้ ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าการให้ deferoxamine อาจส่งผลเพียงเล็กน้อยหรือไม่แตกต่างกันในอัตราตาย (8% ในกลุ่มยาหลอกเทียบกับ 8% ในกลุ่ม deferoxamine ที่ 180 วัน; 1 RCT, 291 คน; หลักฐานที่มีความเชื่อมั่นต่ำ) RCTs ทั้งสองชี้ให้เห็นว่าผลลัพธ์ทางระบบประสาทที่ดี (modified Rankin Scale score 0 ถึง 2) ที่ 30, 90 และ 180 วัน อาจต่างกันเพียงเล็กน้อยหรือไม่แตกต่างกันเลยระหว่างทั้งสองกลุ่ม (ยาหลอกเทียบกับ deferoxamine: 67% เทียบกับ 57% ที่ 30 วันและ 36% เทียบกับ 45% ที่ 180 วัน; RCT 2 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 333 คน; หลักฐานที่มีความเชื่อมั่นต่ำ) RCT หนึ่งฉบับชี้ให้เห็นว่าการใช้ deferoxamine อาจไม่เพิ่มจำนวนเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ขั้นร้ายแรงหรืออัตราเสียชีวิต (ยาหลอกเทียบกับ deferoxamine: 33% เทียบกับ 27% ที่ 180 วัน; risk ratio 0.81, 95% confidence interval 0.57 ถึง 1.16; RCT 1 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 291 คน; หลักฐานที่มีความเชื่อมั่นต่ำ) แต่ไม่พบข้อมูลการเสียชีวิตภายในระยะที่ศึกษา Deferoxamine อาจส่งผลที่แตกต่างกันเพียงเล็กน้อยหรือไม่แตกต่างกันเลยในแง่ของการเปลี่ยนแปลงของคะแนน National Institute of Health Stroke Scale จากค่าพื้นฐานถึง 90 วัน (ยาหลอกเทียบกับ deferoxamine: 13 ถึง 4 เทียบกับ 13 ถึง 3; P = 0.37; RTCs 2 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 333 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำ) Deferoxamine อาจลดอาการบวมน้ำรอบก้อนเลือดออกในสมองได้เล็กน้อยใน 15 วัน (ยาหลอกเทียบกับ deferoxamine; 1.91 เทียบกับ 10.26; P = 0.042; RTCs 2 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 333 คน; หลักฐานมีความน่าเชื่อถือต่ำ ไม่มีการศึกษาใดที่รายงานถึงผลลัพธ์ด้านคุณภาพชีวิต

ข้อสรุปของผู้วิจัย

ผู้วิจัยได้สืบค้นพบ RCT 2 รายการ ที่เข้าเกณฑ์เพื่อนำมาทบทวนต่อ แต่ยังไม่สามารถแสดงให้เห็นถึงผลประโยชน์ใด ๆ สำหรับการใช้สารขับธาตุเหล็กในภาวะเลือดออกในสมองที่เกิดขึ้นเอง ดังนั้น ผลดีของการบำบัดด้วยคีเลชั่นเหล็กในผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดสมองตีบหรือเลือดออกในชั้น subarachnoid (subarachnoid haemorrhage) จึงยังไม่ทราบแน่ชัด

บันทึกการแปล

ผู้แปล นพ.จักรพงศ์ รู้ปิติวิริยะ วันที่ 14 ธันวาคม 2020

Citation
Van der Loo LE, Aquarius R, Teernstra O, Klijn CJM, Menovsky T, van Dijk JM, Bartels R, Boogaarts HD. Iron chelators for acute stroke. Cochrane Database of Systematic Reviews 2020, Issue 11. Art. No.: CD009280. DOI: 10.1002/14651858.CD009280.pub3.