ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

การผ่าตัดผ่านกล้องสำหรับรักษาอาการปวดและภาวะมีบุตรยากที่เกี่ยวข้องกับภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่

ที่มาและความสำคัญของปัญหา

ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ คือ การปรากฏของเนื้อเยื่อที่ปกติแล้วจะอยู่ที่โพรงมดลูกแต่กลับไปอยู่ในบริเวณอื่นที่ไม่ใช่โพรงมดลูก เช่น รังไข่ ท่อนำไข่ (ท่อที่เชื่อมระหว่างรังไข่และมดลูก) และอุ้งเชิงกราน อาจทำให้เกิดความเจ็บปวด ภาวะมีบุตรยาก และอาการอื่น ๆ ซึ่งทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลง ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่มีวิธีการรักษาหลายวิธี หนึ่งในนั้นคือการผ่าตัดแบบส่องกล้อง เพื่อกำจัดรอยโรคที่มองเห็นได้ของ ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ผู้ทบทวนวรรณกรรม ได้ประเมินหลักฐานที่ใช้การผ่าตัดผ่านกล้องเพื่อรักษาอาการปวดและภาวะมีบุตรยากในสตรีที่มีภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ เทคนิคการผ่าตัดแบบส่องกล้องรวมถึงการทำลายรอยโรค (เช่นการเผาไหม้) และการตัดออก ซึ่งเป็นการตัดรอยโรคออก

ลักษณะของการศึกษา

เรารวบรวมการศึกษาเชิงทดลองได้ 14 การศึกษา (โดยมีผู้เข้าร่วมการศึกษาจำนวน 1563 คน ) การศึกษาดำเนินการในประเทศออสเตรเลีย แคนาดา อียิปต์ ฝรั่งเศสอิตาลี อิหร่าน และสหราชอาณาจักร การเปรียบเทียบที่พบมากที่สุด คือ การผ่าตัดผ่านกล้องเพื่อไปทำลายหรือตัดเนื้อเยื่อ เปรียบเทียบกับ การส่องกล้องเพื่อตรวจวินิจฉัย การศึกษาเพียง 6 จากทั้งหมด 14 การศึกษา ที่รายงานแหล่งของเงินทุน หลักฐานที่มีอยู่เป็นปัจจุบันจนถึงเดือนเมษายน 2020

ผลลัพธ์หลัก

เราไม่แน่ใจว่าการผ่าตัดผ่านกล้องจะช่วยลดอาการเจ็บปวดโดยรวมได้หรือไม่เมื่อเทียบกับการส่องกล้องตรวจวินิจฉัยเท่านั้น น่าเสียดายที่ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับการเกิดมีชีพของทารก อย่างไรก็ตามเราพบว่าการผ่าตัดผ่านกล้องอาจเพิ่มอัตราการตั้งครรภ์ภายในมดลูก เมื่อเทียบกับการส่องกล้องตรวจวินิจฉัยเท่านั้น เราไม่แน่ใจว่า การผ่าตัดผ่านกล้องเพื่อตัดรอยโรคออกจะมีประสิทธิภาพมากกว่า การทำลายเยื่อบุโพรงมดลูกเพื่อบรรเทาอาการปวดหรือไม่ แม้ว่าผลลัพธ์นี้จะมาจากการศึกษาเพียงการศึกษาเดียวก็ตาม ไม่มีหลักฐานเพียงพอเกี่ยวกับผลข้างเคียงที่จะช่วยให้ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับความปลอดภัย

คุณภาพของหลักฐาน

คุณภาพของหลักฐานอยู่ในระดับปานกลางถึงต่ำมากโดยคำนึงถึงประสิทธิผลของการผ่าตัดผ่านกล้อง จำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมในด้านนี้ และการศึกษาเหล่านี้ควรนำเสนอผลลัพธ์ที่เฉพาะเจาะจงสำหรับการรักษาภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (เช่น ชุดของผลลัพธ์หลัก (core outcome set) ที่พัฒนาโดยผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสุขภาพ นักวิจัย และสตรีที่เป็นโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่) และเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์

บทนำ

ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) มีความสัมพันธ์ต่ออาการปวดและภาวะมีบุตรยาก การรักษาด้วยการผ่าตัดมีเป้าหมายเพื่อกำจัดรอยโรคที่มองเห็นได้ของ endometriosis และฟื้นฟูลักษณะทางกายวิภาคให้กลับมาเป็นเช่นเดิม

วัตถุประสงค์

เพื่อประเมินประสิทธิผลและความปลอดภัยของการผ่าตัดผ่านกล้องในการรักษาอาการปวดและภาวะมีบุตรยากซึ่งมีสาเหตุจากภาวะ endometriosis

วิธีการสืบค้น

การทบทวนวรรณกรรมนี้ใช้กลยุทธ์การสืบค้นที่พัฒนาโดย Cochrane Gynecology and Fertility Group ซึ่งรวมถึงการค้นหางานวิจัยที่ลงทะเบียนไว้ในฐานข้อมูลเฉพาะทางนรีเวชวิทยาและการเจริญพันธุ์ของ Cochrane Gynecology and Fertility Group, CENTRAL, MEDLINE, Embase, PsycINFO, CINAHL, รายการอ้างอิงสำหรับการทดลองที่เกี่ยวข้องและการลงทะเบียนการทดลองตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงเดือนเมษายน 2020

เกณฑ์การคัดเลือก

เราเลือกการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มเปรียบเทียบ (RCTs) ซึ่งเปรียบเทียบประสิทธิภาพและความปลอดภัยของการผ่าตัดผ่านกล้อง กับ วิธีการแทรกแซงอื่น ๆ ที่ทำผ่านการส่องกล้องหรือใช้หุ่นยนต การรักษาแบบองค์รวมหรือการรักษาทางการแพทย์ หรือการส่องกล้องตรวจเพื่อการวินิจฉัยเท่านั้น

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล

ผู้ทบทวรวรรณกรรมสองคนได้ทำการคัดเลือกการศึกษา ประเมินคุณภาพการศึกษา และการคัดลอกข้อมูลที่เกี่ยวข้องโดยอิสระต่อกัน หากมีข้อโต้แย้งระหว่างผู้ทบทวนวรรณกรรมสองคนข้อโต้แย้งดังกล่าวจะได้รับข้อสรุปจากผู้ทบทวนวรรณกรรมคนที่สาม เรารวบรวมข้อมูลสำหรับชุดผลลัพธ์หลักที่กำหนดไว้สำหรับภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ผลลัพธ์หลัก ได้แก่ ความเจ็บปวดโดยรวม และการเกิดมีชีพของทารก เราประเมินคุณภาพของหลักฐานที่ได้โดยวิธีการของ GRADE

ผลการวิจัย

เรารวบรวมการศึกษาเชิงทดลองได้ 14 การศึกษา มีจำนวนผู้หญิงทั้งหมด 1563 คนที่เป็นโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ พบการศึกษาเชิงทดลองจำนวน 4 การศึกษา เปรียบเทียบการผ่าตัดผ่านกล้องและจี้ทำลายหรือตัดรอยโรคออกให้ได้มากที่สุดเมื่อ กับ การส่องกล้องเพื่อตรวจวินิจฉัยเพียงอย่างเดียว มี 2 การศึกษา เปรียบเทียบการผ่าตัดผ่านกล้องและตัดรอยโรคออให้ได้มากที่สุด กับ การส่องกล้องเพื่อตรวจวินิจฉัยเพียงอย่างเดียว มี 1 การศึกษา เปรียบเทียบการผ่าตัดผ่านกล้องและจี้ทำลายหรือตัดรอยโรคออก กับ การผ่าตัดผ่านกล้องและจี้ทำลายหรือตัดรอยร่วมกับการยกมดลูก มี 2 การศึกษา เปรียบเทียบการผ่าตัดผ่านกล้องและจี้ทำลายและตัดเส้นประสาทมดลูก กับ การส่องกล้องตรวจวินิจฉัยเพียงอย่างเดียว มี 1 การศึกษา เปรียบเทียบการผ่าตัดผ่านกล้องและจี้ทำลาย กับ การส่องกล้องตรวจวินิจฉัยและให้ gonadotropin-releasing hormone (GnRH) analogues มี 2 การศึกษา เปรียบเทียบการผ่าตัดผ่านกล้องและจี้ทำลาย กับ การผ่าตัดผ่านกล้องและตัดรอยโรคออก มี 1 การศึกษา เปรียบเทียบการผ่าตัดผ่านกล้องและจี้ทำลายหรือตัดรอยโรคออกด้วย helium thermal coagulator กับ การผ่าตัดผ่านกล้องและจี้ทำลายหรือตัดรอยโรคออกด้วย electrodiathermy มี 1 การศึกษา เปรียบเทียบการผ่าตัดผ่านกล้องที่พยายามอนุรักษ์ภาวะเจริญพันธุ์ของผู้ป่วย กับ การผ่าตัดลำไส้ใหญ่และทวารหนักแบบส่องกล้องของ endometriosis ที่แทรกเข้าไปในทวารหนัก ข้อจำกัดทั่วไปในการศึกษาเชิงทดลองที่พบ คือ ขาดการอธิบายที่ชัดเจนในขั้นตอนการปกปิด ความล้มเหลวในการอธิบายวิธีการสุ่มตัวอย่างและการจัดผู้เข้าร่วมการศึกษาเข้ากลุ่มโดยสุ่มอย่างปกปิด และการรายงานข้อมูลผลลัพธ์ที่ไม่ดี

การรักษาด้วยการส่องกล้อง เทียบกับ การส่องกล้องเพื่อตรวจวินิจฉัย

เราไม่มั่นใจต่อผลของการรักษาด้วยการส่องกล้องต่อคะแนนความเจ็บปวดในภาพรวมเมื่อเทียบกับการส่องกล้องเพื่อตรวจวินิจฉัยในช่วงหกเดือน (mean difference (MD) 0.90, 95% confidence interval (CI) 0.31 ถึง 1.49; 1 การศึกษา, ผู้เข้าร่วม 16 คน; หลักฐานคุณภาพต่ำมาก) และที่ 12 เดือน (MD 1.65, 95% CI 1.11 ถึง 2.19; 1 การศึกษา, ผู้เข้าร่วม 16 คน; หลักฐานคุณภาพต่ำมาก) โดยที่ค่าบวก หมายถึง การบรรเทาอาการปวด (ยิ่งคะแนนสูงก็ยิ่งบรรเทาอาการปวดได้มากขึ้น) และค่าลบ สะท้อนถึงความเจ็บปวดที่เพิ่มขึ้น (คะแนนยิ่งต่ำความเจ็บปวดก็ยิ่งเพิ่มขึ้น) ไม่มีการศึกษาใดเลยที่ประเมินผลลัพธ์การเกิดมีชีพของทารก

เราไม่มั่นใจต่อผลของการรักษาด้วยการส่องกล้องต่อคุณภาพชีวิต เมื่อเทียบกับ การส่องกล้องเพื่อตรวจวินิจฉัยเท่านั้น: ค่าดัชนี EuroQol-5D ที่หกเดือน (MD 0.03, 95% CI –0.12 ถึง 0.18; 1 การศึกษา, ผู้เข้าร่วม 39 คน; หลักฐานคุณภาพต่ำ), ผลการประเมินองค์ประกอบสุขภาพจิตจากแบบประเมิน 12-item Short Form (SF-12) (MD 2.30, 95% CI –4.50 ถึง 9.10; 1 การศึกษา, ผู้เข้าร่วม 39 คน; หลักฐานคุณภาพต่ำ) และผลการประเมินองค์ประกอบด้านสุขภาพร่างกายจากแบบประเมิน SF-12 (MD 2.70, 95% CI –2.90 ถึง 8.30; 1 การศึกษา, ผู้เข้าร่วม 39 คน; หลักฐานคุณภาพต่ำ) การรักษาด้วยการส่องกล้องอาจช่วยเพิ่มอัตราการตั้งครรภ์ในมดลูกได้เมื่อเทียบกับการส่องกล้องตรวจวินิจฉัยเท่านั้น (odds ratio (OR) 1.89, 95% CI 1.25 ถึง 2.86; 3 การศึกษา, ผู้เข้าร่วม 528 คน; I 2 = 0%; หลักฐานคุณภาพปานกลาง) เราไม่แน่ใจว่าผลของการรักษาด้วยการส่องกล้อง เมื่อเทียบกับ การส่องกล้องเพื่อตรวจวินิจฉัยการตั้งครรภ์นอกมดลูก (MD 1.18, 95% CI 0.10 ถึง 13.48; 1 การศึกษา, ผู้เข้าร่วม 100 คน; หลักฐานคุณภาพต่ำ) และการแท้ง (MD 0.94, 95% CI 0.35 ถึง 2.54; 2 การศึกษา, ผู้เข้าร่วม 112 คน; หลักฐานคุณภาพต่ำ) มีการรายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์อย่างจำกัด ไม่มีการรายงานผลลัพธ์ในการต้องเปลี่ยนวิธีการผ่าตัดเป็นแบบ laparotomy ในทั้งสองกลุ่ม (1 การศึกษา, ผู้เข้าร่วม 341 คน )

การผ่าตัดผ่านกล้องและการตัดกระแสประสาทมดลูก เทียบกับ การส่องกล้องเพื่อตรวจวินิจฉัย

เราไม่แน่ใจถึงผลของการผ่าตัดผ่านกล้องและการตัดเส้นประสาทมดลูกต่อเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ (โดยเฉพาะการบาดเจ็บของหลอดเลือด) เมื่อเทียบกับการส่องกล้องตรวจวินิจฉัยอย่างเดียว (OR 0.33, 95% CI 0.01 ถึง 8.32; 1 การศึกษา, ผู้เข้าร่วม 141 คน; หลักฐานคุณภาพต่ำ) ไม่มีการศึกษาใดที่พิจารณาถึงคะแนนความเจ็บปวดในภาพรวม (ที่ 6 และ 12 เดือน) รวมถึงผลลัพธ์การเกิดมีชีพของทารก คุณภาพชีวิต การตั้งครรภ์ในมดลูกทีได้รับการยืนยันโดยอัลตราซาวนด์ การตั้งครรภ์นอกมดลูกและการแท้งบุตร

การผ่าตัดผ่านกล้องและจี้ทำลาย เทียบกับ การผ่าตัดผ่านกล้องและตัดรอยโรคออก

มีหลักฐานไม่เพียงพอที่จะระบุว่าความเจ็บปวดโดยรวมมีความแตกต่างกันหรือไม่โดยวัดที่ 12 เดือน สำหรับการผ่าตัดผ่านกล้องและจี้ทำลาย เทียบกับ การผ่าตัดผ่านกล้องและตัดรอยโรคออก (MD 0.00, 95% CI –1.22 ถึง 1.22; 1 การศึกษา, ผู้เข้าร่วม 103 คน; หลักฐานคุณภาพต่ำมาก) ไม่มีการศึกษาใดที่พิจารณาถึงผลลัพธ์คะแนนความเจ็บปวดโดยรวมในช่วงหกเดือน การคลอดที่มีชีวิต คุณภาพชีวิต การตั้งครรภ์ในมดลูกที่ได้รับการยืนยันโดยอัลตราซาวนด์ การตั้งครรภ์นอกมดลูก การแท้งบุตรและเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์

Helium thermal coagulator เทียบกับ electrodiathermy

เราไม่แน่ใจว่า helium thermal coagulator เมื่อเทียบกับ electrodiathermy ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตจากการประเมินด้วยแบบประเมิน 30-item Endometriosis Health Profile (EHP-30) ที่เก้าเดือน โดยมีรายละเอียดดังนี้: ความเจ็บปวด (MD 6.68, 95% CI –3.07 ถึง 16.43; 1 การศึกษา, ผู้เข้าร่วม 119 คน; หลักฐานคุณภาพต่ำมาก) การควบคุมและการไร้อำนาจ (MD 4.79, 95% CI –6.92 ถึง 16.50; 1 การศึกษา, 119 ผู้เข้าร่วม; หลักฐานคุณภาพต่ำมาก), สุขภาวะทางอารมณ์ (MD 6.17, 95% CI - 3.95 ถึง 16.29; 1 RCT, 119 ผู้เข้าร่วม; หลักฐานคุณภาพต่ำมาก) และการสนับสนุนทางสังคม (MD 5.62, 95% CI –6.21 ถึง 17.45; 1 การศึกษา, ผู้เข้าร่วม 119 คน; หลักฐานคุณภาพต่ำมาก) ไม่มีการรายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ ไม่มีการศึกษาใดที่พิจารณาถึงผลลัพธ์คะแนนความเจ็บปวดโดยรวม (ที่ 6 และ 12 เดือน) การคลอดที่มีชีวิต การตั้งครรภ์ในมดลูกทีได้รับการยืนยันโดยอัลตราซาวด์ การตั้งครรภ์นอกมดลูกและการแท้งบุตร

ข้อสรุปของผู้วิจัย

เรายังไม่แน่ใจว่า เมื่อเทียบระหว่าง การส่องกล้องตรวจวินิจฉัยเท่านั้น กับ การผ่าตัดผ่านกล้อง จะช่วยลดความเจ็บปวดโดยรวมจากการเป็น endometriosis ในระดับเล็กน้อยถึงรุนแรง ไม่มีการรายงานข้อมูลเกี่ยวกับการเกิดมีชีพของทารก มีหลักฐานคุณภาพปานกลางแสดงว่าการผ่าตัดผ่านกล้องช่วยเพิ่มอัตราการตั้งครรภ์ในมดลูกที่ยืนยันได้โดยอัลตราซาวนด์เมื่อเทียบกับการส่องกล้องตรวจวินิจฉัยเท่านั้น ไม่พบการศึกษาที่ประเมินผลของการเกิดมีชีพของทารกสำหรับการเปรียบเทียบใด ๆ จำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อพิจารณาการจัดการชนิดย่อยต่างๆ ของ endometriosis และเปรียบเทียบการแทรกแซงแบบส่องกล้องกับวิถีชีวิตและการแทรกแซงทางการแพทย์ ไม่มีหลักฐานเพียงพอเกี่ยวกับผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้นที่จะทำให้มีข้อสรุปเกี่ยวกับเรื่องความปลอดภัย

บันทึกการแปล

ผู้แปล พญ.วิลาสินี หน่อแก้ว ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น วันที่ 21 พฤศจิกายน 2020

Citation
Bafort C, Beebeejaun Y, Tomassetti C, Bosteels J, Duffy JMN. Laparoscopic surgery for endometriosis. Cochrane Database of Systematic Reviews 2020, Issue 10. Art. No.: CD011031. DOI: 10.1002/14651858.CD011031.pub3.