ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

การทำกิจกรรมการฝึกอบรมด้านการรู้คิด/ทางปัญญา (cognitive) สำหรับผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมและ ผู้ที่เป็นโรคพาร์คินสันที่มีความบกพร่องทางการรู้คิดในระดับเล็กน้อย

คำถามของการทบทวนวรรณกรรม

เราต้องการทราบว่าการฝึกอบรมด้านการรู้คิดมีประสิทธิผลในการพัฒนาการรู้คิด (การคิด) ในผู้ที่เป็นโรคสมองเสื่อมจากพาร์คินสันหรือ มีความบกพร่องทางการรู้คิดในระดับเล็กน้อยหรือไม่

ความเป็นมา

ประมาณ 60% ถึง 80% ของผู้ที่เป็นโรคพาร์คินสัน (PD) จะมีความบกพร่องทางการรู้คิดในระดับหนึ่ง ซึ่งหมายความว่าพวกเขาอาจมีปัญหาในการคิดและการใช้เหตุผล ความจำ ภาษา หรือการรับรู้ หากปัญหาเหล่านี้รุนแรงมากอาจส่งผลต่อความสามารถในการทำกิจกรรมประจำวันของบุคคลนั้น บุคคลนั้นจะมีภาวะสมองเสื่อมจากโรคพาร์คินสัน (PDD) หากมีคนมีปัญหาด้านการรู้คิด แต่กิจกรรมประจำวันของพวกเขาไม่ได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ แสดงว่าเขาหรือเธอเป็นโรคพาร์คินสันที่มีความบกพร่องในการรู้คิดในระดับเล็กน้อย (PD-MCI) การฝึกการรู้คิด/ทางปัญญาที่เกี่ยวข้องกับการฝึกทักษะทางการรู้คิด/ทางปัญญา เช่น ความจำ ความสนใจ และ ภาษาผ่านงานที่เฉพาะเจาะจง อาจสามารถช่วยให้ผู้ที่มีภาวะ PDD หรือ PD-MCI มีทักษะทางปัญญาที่ดีขึ้น

สิ่งที่เราทำ

การทบทวนนี้ตรวจสอบว่าการฝึกอบรมการรู้คิดมีประสิทธิผลในการพัฒนาผลลัพธ์เช่นทักษะการรู้คิดโดยรวม ('การรู้คิดที่เป็นสากล') ความจำ ความสนใจ หรือความสามารถในการทำกิจกรรมประจำวันของผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมหรือ MCI หรือไม่ เราสืบค้นวรรณกรรมทางการแพทย์สำหรับการศึกษาวิจัยที่เปรียบเทียบผู้ที่ได้รับกิจกรรมการฝึกอบรมการรู้คิดกับผู้ที่ไม่ได้รับการอบรม ('กลุ่มควบคุม') เรารวมเฉพาะการศึกษาที่มีเกณฑ์การคัดเลือกผู้เข้าร่วมวิจัยเข้ากลุ่มทดลองที่ได้รับการฝึกอบรมการรู้คิดแบบสุ่ม การศึกษาดังกล่าวเรียกว่าการทดลองทางคลินิกแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุมและถือเป็นวิธีการที่ยุติธรรมที่สุดในการทดสอบว่ากิจกรรมการทดลองได้ผลหรือไม่ เราไม่ได้ตรวจสอบการศึกษาประเภทอื่น ๆ

สิ่งที่เราพบ

เราพบการศึกษา 7 เรื่องที่มีการสุ่มผู้เข้าร่วมวิจัยทั้งหมด 225 คนเข้ากลุ่มทดลอง คือได้รับการฝึกอบรมการรู้คิดหรือเข้ากลุ่มควบคุม การทดลองใช้เวลานาน 4 ถึง 8 สัปดาห์ กลุ่มทดลองทั้งหมดที่ได้รับการฝึกอบรมการรู้คิดโดยคอมพิวเตอร์ กลุ่มควบคุมไม่ได้รับการฝึกอบรมการรู้คิดหรือได้รับเฉพาะกิจกรรมที่กำหนดไว้เช่นการฝึกภาษา หรือการเคลื่อนไหว หรือการมีส่วนร่วมในกิจกรรมสันทนาการ เมื่อสิ้นสุดการทดลอง เราไม่พบความแตกต่างระหว่างผู้ที่ได้รับการฝึกอบรมด้านการรู้คิดและผู้ที่อยู่ในกลุ่มควบคุมในผลลัพธ์ด้านการรับรู้ที่เป็นสากล ไม่มีหลักฐานที่น่าเชื่อได้ว่าการทดลองมีประโยชน์ต่อทักษะการรู้คิดที่มีความเฉพาะเจาะจง และไม่มีประโยชน์ต่อกิจกรรมในชีวิตประจำวันหรือคุณภาพชีวิต อย่างไรก็ตามการค้นพบนี้มาจากผู้เข้าร่วมวิจัยจำนวนน้อยและมีจำนวนงานวิจัยที่นำมาทบทวนจำนวนน้อย ความเชื่อถือได้โดยรวมของหลักฐานเชิงประจักษ์อยู่ในระดับต่ำซึ่งหมายความว่าผลการวิจัยที่จะมีการศึกษาเพิ่มเติมในอนาคตอาจได้ผลลัพธ์ที่แตกต่างไปจากผลการทบทวนฉบับนี้

บทสรุป

เราไม่พบหลักฐานที่ดีว่า การฝึกทักษะการรู้คิดมีประโยชน์ต่อผู้ที่เป็นโรคพาร์คินสันและภาวะสมองเสื่อมหรือ MCI การศึกษาที่นำมาทบทวนมีขนาดเล็กและมีข้อบกพร่องที่อาจส่งผลต่อผลการวิจัย ความเชื่อมั่นของผลลัพธ์อยู่ในระดับต่ำและจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมก่อนที่เราจะมั่นใจได้ว่าการฝึกอบรมการรู้คิดได้ผลกับคนกลุ่มนี้หรือไม่

บทนำ

ประมาณ 60% ถึง 80% ของผู้ที่เป็นโรคพาร์คินสัน (PD) มีความบกพร่องทางปัญญาหรือการรู้คิดซึ่งส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของพวกเขา การเสื่อมของการรู้คิดเป็นลักษณะสำคัญของโรคและมักเกิดขึ้นก่อนที่จะเริ่มมีอาการด้านการเคลื่อนไหว การฝึกอบรมการรู้คิดอาจเป็นการบำบัดที่ไม่ใช่การรักษาด้วยยาที่สามารถช่วยรักษาหรือปรับปรุงการรู้คิดและคุณภาพชีวิตของผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อม PD (PDD) หรือความบกพร่องทางสติปัญญาที่ไม่รุนแรง (PD-MCI) ที่เกี่ยวข้องกับ PD

วัตถุประสงค์

เพื่อตรวจสอบว่าการฝึกอบรมการรู้คิด (กำหนดเป้าหมายที่มีองค์ประกอบเดียวหรือหลายองค์ประกอบ) ช่วยเพิ่มทักษะการรู้คิดในผู้ที่มี PDD และ PD-MCI หรือรูปแบบความผิดปกติทางความคิดอื่น ๆ ที่กำหนดไว้อย่างชัดเจนของความบกพร่องทางการรู้คิด/ปัญญาในผู้ที่เป็น PD

วิธีการสืบค้น

เราสืบค้นในฐาน Cochrane Dementia และ Cognitive Improvement Group Trials Register (8 สิงหาคม 2019), จากทะเบียน Cochrane Central Register of Controlled Trials (CENTRAL), MEDLINE, Embase, CINAHL และ PsycINFO เราสืบค้นจากรายการอ้างอิงและฐานข้อมูลที่มีการลงทะเบียนการทดลอง สืบค้นจากบทวิจารณ์ที่เกี่ยวข้องในประเด็นนี้รวมถึงเอกสารที่รวบรวมบทคัดย่อการวิจัยจากที่ประชุมวิชาการ นอกจากนี้เรายังติดต่อผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับข้อมูลและการทดลองที่กำลังดำเนินการ

เกณฑ์การคัดเลือก

เรารวมการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุมโดยผู้เข้าร่วมวิจัยมี PDD หรือ PD-MCI และงานวิจัยเชิงทดลองที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อฝึกอบรมด้านการทำหน้าที่การรู้คิดของสมองแบบทั่วไปหรือแบบเฉพาะเจาะจงโดยกำหนดเป้าหมายไปที่องค์ประกอบเดียวหรือหลายองค์ประกอบของการรู้คิด และเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมที่มีการวางเงื่อนไข การทดลองที่มีหลายองค์ประกอบที่รวมการเคลื่อนไหวหรือองค์ประกอบอื่น ๆ ก็อยู่ในเกณฑ์การคัดเข้าเช่นกัน

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล

ผู้ทบทวนวรรณกรรม 2 คนทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นอิสระต่อกันในการทำการคัดกรองชื่อเรื่องและบทคัดย่อ และบทความฉบับเต็มตามเกณฑ์การคัดเข้า ผู้ทบทวนวรรณกรรม 2 คนยังดำเนินการอย่างเป็นอิสระต่อกันในการคัดลอกข้อมูลและประเมินคุณภาพของระเบียบวิธีการวิจัย และใช้วีธี GRADE เพื่อประเมินคุณภาพของงานวิจัย

ผลการวิจัย

การศึกษา 7 เรื่องนี้ มีจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 225 คนที่เป็นไปตามเกณฑ์การคัดเข้า การศึกษาทั้ง 7 เรื่องเปรียบเทียบผลของการทดลองการฝึกอบรมการรู้คิดกับกลุ่มควบคุมเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาการรักษาที่มีระยะเวลา 4 ถึง 8 สัปดาห์ การศึกษา 6 เรื่องรวมผู้ที่มี PD ที่อาศัยอยู่ในชุมชน การศึกษาทั้ง 6 เรื่องนี้คัดเลือกผู้ที่มีความบกพร่องทางการรู้คิดองค์ประกอบเดียว (ความสามารถในการจัดการ) หรือหลายองค์ประกอบใน PD การศึกษา 4 เรื่อง มีผู้เข้าร่วมวิจัยที่มี MCI โดยใช้เกณฑ์การวินิจฉัยที่กำหนดไว้ และการศึกษาอีก 2 เรื่องรวมทั้งคนที่มี PD-MCI และคนที่มี PD ที่ไม่ได้มีความบกพร่องทางการรู้คิด มีการศึกษา 1 เรื่อง คัดเลือกผู้ที่มีการวินิจฉัยภาวะสมองเสื่อม PD ที่อาศัยอยู่ในสถานดูแลระยะยาว การทดลองที่มีการฝึกอบรมการรู้คิดใน 3 เรื่องกำหนดเป้าหมายไปที่องค์ประกอบเดียวของการรู้คิด ในขณะที่การศึกษาอีก 4 เรื่อง กำหนดเป้าหมายในหลายๆ องค์ประกอบของการทำหน้าที่การรู้คิด กลุ่มเปรียบเทียบไม่ได้รับการทำกิจกรรมใดๆ เพิ่มหรือมีส่วนร่วมในกิจกรรมสันทนาการ (กีฬา ดนตรี ศิลปะ) ฝึกหัดการพูดหรือภาษา การบำบัดการเคลื่อนไหวผ่านคอมพิวเตอร์ หรือการฟื้นฟูสมรรถภาพการเคลื่อนไหวร่วมกับกิจกรรมสันทนาการ

เราไม่พบหลักฐานที่ชัดเจนว่าการฝึกอบรมการรู้คิดช่วยเพิ่มการรู้คิดที่เป็นสากล แม้ว่าเมื่อสิ้นสุดการอบรมการฝึกอบรมการรู้คิดจะมีความสัมพันธ์กับค่าคะแนนการรู้คิดที่เป็นสากลที่สูงขึ้น แต่ผลลัพธ์ก็ไม่ชัดเจนและไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ (การทดลอง 6 เรื่องผู้เข้าร่วมวิจัย 178 คน ความแตกต่างของค่าเฉลี่ยมาตรฐาน (SMD) 0.28 ช่วงความเชื่อมั่น 95% (CI) −0.03 ถึง 0.59; หลักฐานมีความเชื่อมั่นในระดับต่ำ) ไม่มีหลักฐานที่แสดงความแตกต่างระหว่างกลุ่มทดลองที่มีการฝึกอบรมการรู้คิดและกลุ่มควบคุมเกี่ยวกับความสามารถในการจัดการ (การทดลอง 5 เรื่อง, ผู้เข้าร่วมวิจัย 112 คน; SMD 0.10, 95% CI −0.28 ถึง 0.48; หลักฐานมีความเชื่อมั่นในระดับต่ำ) หรือการประมวลการมองเห็น (การทดลอง 3 เรื่อง, ผู้เข้าร่วมวิจัย 64 คน; SMD 0.30, 95% CI −0.21 ถึง 0.81; หลักฐานมีความเชื่อในระดับต่ำ) มีหลักฐานที่สนับสนุนว่ากลุ่มที่ได้รับการฝึกอบรมการรู้คิดมีผลต่อความสนใจ (การทดลอง 5 เรื่อง, ผู้เข้าร่วมวิจัย 160 คน; SMD 0.36, 95% CI 0.03 ถึง 0.68; หลักฐานมีความเชื่อมั่นในระดับต่ำ) และความจำต่อสิ่งที่ได้ยิน (การทดลอง 5 เรื่อง, ผู้เข้าร่วมวิจัย 160 คน; SMD 0.37, 95% CI 0.04 ถึง 0.69; หลักฐานมีความเชื่อมั่นในระดับต่ำ) แต่ผลลัพธ์เหล่านี้มีความแน่นอนน้อย เมื่อมีการวิเคราะห์ให้มีความไวโดยการไม่รวมการศึกษาที่มีกลุ่มตัวอย่างขนาดเล็กที่มีความบกพร่องการรู้คิด ไม่พบความแตกต่างระหว่างการทดลองและกลุ่มควบคุมในกิจกรรมในชีวิตประจำวัน (การทดลอง 3 เรื่อง ผู้เข้าร่วมวิจัย 67 คน; SMD 0.03, 95% CI −0.47 ถึง 0.53; หลักฐานมีความเชื่อถือได้ในระดับต่ำ) หรือคุณภาพชีวิต (การทดลอง 5 เรื่อง, ผู้ร่วมวิจัย 147 คน; SMD −0.01, 95% CI −0.35 ถึง 0.33; หลักฐานมีความเชื่อมั่นในระดับต่ำ) มีข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์น้อยมาก เราถือว่าความเชื่อมั่นของหลักฐานสำหรับผลลัพธ์ทั้งหมดอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากความเสี่ยงของการมีอคติในการศึกษาที่นำมาทบทวนและความไม่ชัดเจนของผลลัพธ์

เราพบว่ามีการทดลองที่กำลังดำเนินการวิจัยจำนวน 6 เรื่อง ที่รับสมัครผู้เข้าร่วมวิจัยที่เป็น PD-MCI แต่ไม่มีการทดลองที่กำลังดำเนินการอยู่ในการศึกษาการฝึกอบรมการรู้คิดสำหรับผู้ที่มี PDD

ข้อสรุปของผู้วิจัย

การทบทวนนี้ไม่พบหลักฐานว่าผู้ที่มี PD-MCI หรือ PDD ที่ได้รับการฝึกอบรมด้านการรู้คิดเป็นเวลา 4 ถึง 8 สัปดาห์ มีการพัฒนาทักษะการรู้คิดเพิ่มมากขึ้นเมื่อสิ้นสุดการทดลอง อย่างไรก็ตามข้อสรุปนี้มาจากการศึกษาจำนวนน้อยที่มีผู้เข้าร่วมเพียงไม่กี่คน ข้อจำกัดของการออกแบบการวิจัย การจัดการในการดำเนินการวิจัย และผลลัพธ์ที่ไม่ชัดเจน จำเป็นต้องมีการศึกษาการฝึกอบรมการรู้คิดที่มีความเข้มงวดในการวิจัย แสดงให้เห็นถึงประสิทธิผลของการฝึกอบรมการรู้คิดที่มีอำนาจการทดสอบเพียงพอก่อนที่จะเป็นข้อสรุปประสิทธิผลของการฝึกอบรมการรู้คิดสำหรับผู้ที่มี PDD และ PD-MCI การศึกษาควรใช้เกณฑ์ในการวินิจฉัยความบกพร่องการรู้คิดที่เป็นทางการ และมีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการศึกษาครั้งต่อไปเพื่อทดสอบประสิทธิภาพของการฝึกอบรมการรู้คิดในผู้ที่มี PDD

บันทึกการแปล

สมพร รุ่งเรืองกลกิจ วันที่ 9 เมษายน 2021

Citation
Orgeta V, McDonald KR, Poliakoff E, Hindle JVincent, Clare L, Leroi I. Cognitive training interventions for dementia and mild cognitive impairment in Parkinson’s disease. Cochrane Database of Systematic Reviews 2020, Issue 2. Art. No.: CD011961. DOI: 10.1002/14651858.CD011961.pub2.