ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

การใช้ salbutamol (albuterol) ในการดูแลภาวะหายใจเร็วชั่วคราวของทารกแรกเกิด

คำถามของการทบทวนวรรณกรรม: Salbutamol ช่วยลดระยะเวลาของการให้ออกซิเจนและการช่วยหายใจในทารกแรกเกิดที่มีอาการหายใจเร็วชั่วคราวหรือไม่

ความเป็นมา: ภาวะหายใจเร็วชั่วคราวของทารกแรกเกิด (transient tachypnea of the newborn) คือ การมีอัตราการหายใจที่เร็ว (มากกว่า 60 ครั้งต่อนาที) และมีอาการแสดงของภาวะหายใจลำบาก (respiratory distress); โดยทั่วไปจะพบภายในสองชั่วโมงแรกหลังคลอดของทารกที่อายุครรภ์ตั้งแต่ 34 สัปดาห์ขึ้นไป แม้ว่าภาวะหายใจเร็วชั่วคราวของทารกแรกเกิดมักจะดีขึ้นโดยไม่ต้องได้รับการรักษา แต่พบว่ามีความสัมพันธ์กับกลุ่มอาการหลอดลมตีบ (wheezing syndromes) ในวัยเด็กตอนปลาย ส่วนแนวคิดในการใช้ salbutamol สำหรับภาวะหายใจเร็วชั่วคราวของทารกแรกเกิดนั้น อ้างอิงจากการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่ายา β-agonists เช่น epinephrine (หรือ adrenaline) สามารถเร่งอัตราการระบายของเหลวจากโพรงเล็กๆ (ถุงลม) ภายในปอดได้ การทบทวนนี้จึงได้รายงานและวิเคราะห์อย่างละเอียดถึงหลักฐานที่มีอยู่เกี่ยวกับประสิทธิผลของ salbutamol ในการดูแลภาวะหายใจเร็วชั่วคราวของทารกแรกเกิด

ลักษณะการศึกษา: ในการสืบค้นเอกสารทางการแพทย์ที่เสร็จสมบูรณ์จนถึงเดือนเมษายน 2020 ผู้วิจัยพบการทดลองทางคลินิก 7 รายงาน (ทารกแรกเกิด 498 คน) ที่เปรียบเทียบ salbutamol กับยาหลอก โดยมีการศึกษา 6 รายการประเมินการให้ยา salbutamol รูปแบบละอองฝอย (nebulized) เพียงหนึ่งครั้ง และมีการศึกษาอีก 1 ฉบับประเมินการให้ยาสองครั้งที่ขนาดยาแตกต่างกัน ผู้วิจัยพบการทดลองเพิ่มเติมอีก 5 โครงการที่ยังอยู่ระหว่างดำเนินการ

ผลลัพธ์ที่สำคัญ: ผู้วิจัยไม่มั่นใจว่าการให้ยา salbutamol จะช่วยลดระยะเวลาของการให้ออกซิเจน, ระยะเวลาของอาการหายใจเร็ว, ความจำเป็นในการใช้แรงดันทางเดินหายใจบวกอย่างต่อเนื่อง (continuous positive airway pressure; CPAP) และความจำเป็นในการใช้เครื่องช่วยหายใจหรือไม่ แต่พบว่า salbutamol อาจลดระยะเวลานอนโรงพยาบาลได้เล็กน้อย

ความน่าเชื่อถือของหลักฐาน อยู่ในระดับต่ำในแง่ของระยะเวลาการนอนโรงพยาบาล, และอยู่ในระดับต่ำมากสำหรับ ระยะเวลาการรักษาด้วยออกซิเจน, ระยะเวลาที่หายใจเร็ว, ความจำเป็นในการใช้ CPAP และ ความจำเป็นในการใช้เครื่องช่วยหายใจ เนื่องจากข้อมูลจากการศึกษามีค่อนข้างน้อยและมีความน่าเชื่อถือต่ำ ผู้วิจัยจึงไม่สามารถระบุได้ว่า salbutamol มีความปลอดภัยหรือมีประสิทธิผลในการรักษาอาการหายใจเร็วชั่วคราวของทารกแรกเกิด

บทนำ

ภาวะหายใจเร็วชั่วคราวของทารกแรกเกิด (transient tachypnea of the newborn) มีลักษณะคือ มีอาการหายใจเร็วร่วมกับภาวะหายใจลำบาก โดยทั่วไปภาวะนี้จะพบภายในสองชั่วโมงแรกหลังคลอดของทารกที่คลอดครบกำหนดและทารกเกิดก่อนกำหนดเล็กน้อย (late preterm) แม้ว่าส่วนใหญ่อาการมักจะดีขึ้นโดยไม่ต้องได้รับการรักษา แต่พบว่ามีความสัมพันธ์กับกลุ่มอาการหลอดลมตีบ (wheezing syndromes) ในวัยเด็กตอนปลาย ส่วนเหตุผลในการใช้ salbutamol (albuterol) สำหรับภาวะหายใจเร็วชั่วคราวของทารกแรกเกิดอ้างอิงจากการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่า β-agonists สามารถเร่งอัตราการระบายของเหลวในถุงลมปอดได้ การทบทวนวรรณกรรมนี้เผยแพร่ครั้งแรกในปี 2016 และปรับปรุงในปี 2020

วัตถุประสงค์

เพื่อประเมินว่า salbutamol ได้ผลและปลอดภัยในการรักษาภาวะหายใจเร็วชั่วคราวของทารกแรกเกิดในทารกที่คลอดเมื่ออายุครรภ์ตั้งแต่ 34 สัปดาห์ขึ้นไป เมื่อเทียบกับยาหลอก หรือการไม่ได้รับการรักษาใดๆ หรือการใช้ยาชนิดอื่นใด

วิธีการสืบค้น

ผู้วิจัยสืบค้นจากฐานข้อมูล Cochrane Central Register of Controlled Trials (CENTRAL; 2020, Issue 4) ใน Cochrane Library, PubMed (1996 ถึงเมษายน 2020), Embase (1980 ถึงเมษายน 2020); และ CINAHL (1982 ถึงเมษายน 2020) โดยไม่มีข้อจำกัดด้านภาษา และยังสืบค้นในบทคัดย่อของการประชุมใหญ่ในสาขานี้ (Perinatal Society of Australia New Zealand and Pediatric Academic Society) ตั้งแต่ปี 2000 ถึง 2020 และทะเบียนการทดลองทางคลินิก

เกณฑ์การคัดเลือก

การทดลองแบบ randomized controlled trials, quasi-randomized controlled trials และ cluster trials ที่เปรียบเทียบ salbutamol กับยาหลอก หรือการไม่ได้รับการรักษาใดๆ หรือการใช้ยาชนิดอื่นใดที่ให้กับทารกที่คลอดเมื่ออายุครรภ์ 34 สัปดาห์ขึ้นไปและอายุน้อยกว่าสามวัน ที่มีภาวะหายใจเร็วชั่วคราวของทารกแรกเกิด

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล

ผู้วิจัยใช้วิธีการมาตรฐานของ Cochrane สำหรับการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล โดยผลลัพธ์หลักในการทบทวนนี้ ได้แก่ ระยะเวลาของการให้ออกซิเจน, ความจำเป็นในการใช้ความดันทางเดินหายใจเป็นบวกอย่างต่อเนื่อง (continuous positive airway pressure; CPAP) และความจำเป็นในการใช้เครื่องช่วยหายใจ ผู้วิจัยประเมินความน่าเชื่อถือของหลักฐานโดยวิธี GRADE

ผลการวิจัย

การศึกษา 7 ฉบับได้รวมเอาทารก 498 คนที่เข้าเกณฑ์การคัดเลือก การศึกษาทั้งหมดได้เปรียบเทียบระหว่างการพ่นละอองฝอยของ salbutamol กับน้ำเกลือ (normal saline) มี 4 การศึกษาที่ให้ salbutamol เพียงครั้งเดียว; มี 2 การศึกษาที่มีการให้ยา 3 ถึง 4 ครั้ง; มี 1 การศึกษาที่จะให้ยาเพิ่มเติมหากจำเป็น ความน่าเชื่อถือของหลักฐานอยู่ในระดับต่ำในแง่ของระยะเวลานอนโรงพยาบาล และต่ำมากในแง่ของผลลัพธ์อื่นๆ ในส่วนของผลลัพธ์หลักของการทบทวนนี้ มีการศึกษา 4 รายการ (ทารก 338 คน) รายงานระยะเวลาของการให้ออกซิเจน (mean difference (MD) -19.24 ชั่วโมง, 95% confidence interval (CI) -23.76 ถึง -14.72); การศึกษา 1 รายการ (ทารก 46 คน) รายงานความจำเป็นในการใช้ CPAP (risk ratio (RR) 0.73, 95% CI 0.38 ถึง 1.39; risk difference (RD) -0.15, 95% CI -0.45 ถึง 0.16) และการศึกษา 3 รายการ (ทารก 254 ราย) รายงานความจำเป็นในการใช้เครื่องช่วยหายใจ (RR 0.60, 95% CI 0.13 ถึง 2.86; RD -0.01, 95% CI -0.05 ถึง 0.03) นอกจากนี้มีรายงานว่าทั้งระยะเวลานอนโรงพยาบาล (4 การศึกษา; ทารก 338 คน) และระยะเวลาในการช่วยหายใจ (2 การศึกษา; ทารก 228 คน) สั้นกว่าในกลุ่ม salbutamol (MD -1.48, 95% CI -1.8 ถึง -1.16; MD -9.24, 95% CI -14.24 ถึง -4.23 ตามลำดับ) การศึกษา 1 ฉบับ (ทารก 80 คน) รายงานระยะเวลาของการใช้เครื่องช่วยหายใจและการเกิดลมในช่องเยื่อหุ้มปอด (pneumothorax) แต่ไม่สามารถดึงข้อมูลเหล่านี้ได้ เนื่องจากความไม่ชัดเจนของการรายงานหน่วยการวัดผล และจำนวนเหตุการณ์ที่ไม่ชัดเจน ตามลำดับ) นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาอีก 5 โครงการที่กำลังดำเนินอยู่

ข้อสรุปของผู้วิจัย

มีหลักฐานค่อนข้างจำกัดที่จะสรุปข้อดีข้อเสียของ salbutamol ในการรักษาภาวะหายใจเร็วชั่วคราวของทารกแรกเกิด ผู้วิจัยไม่มั่นใจว่าการให้ยา salbutamol จะช่วยลดระยะเวลาของการให้ออกซิเจน, ระยะเวลาของอาการหายใจเร็ว, ความจำเป็นในการใช้ CPAP และความจำเป็นในการใช้เครื่องช่วยหายใจหรือไม่ แต่พบว่า salbutamol อาจลดระยะเวลานอนโรงพยาบาลได้เล็กน้อย นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาอีก 5 โครงการที่กำลังดำเนินอยู่ เนื่องจากข้อมูลจากการศึกษามีค่อนข้างน้อยและมีความน่าเชื่อถือต่ำ ผู้วิจัยจึงไม่สามารถระบุได้ว่า salbutamol มีความปลอดภัยหรือมีประสิทธิผลในการรักษาอาการหายใจเร็วชั่วคราวของทารกแรกเกิด

บันทึกการแปล

ผู้แปล นพ.จักรพงศ์ รู้ปิติวิริยะ วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2021

Citation
Moresco L, Bruschettini M, Macchi M, Calevo MG. Salbutamol for transient tachypnea of the newborn. Cochrane Database of Systematic Reviews 2021, Issue 2. Art. No.: CD011878. DOI: 10.1002/14651858.CD011878.pub3.