ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

การฝึกควบคุมการปัสสาวะเพื่อรักษาภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินในผู้ใหญ่

เราต้องการค้นหาอะไร

เราต้องการเปรียบเทียบประสิทธิผลของการฝึกควบคุมการปัสสาวะเทียบกับการรักษาอื่นๆ สำหรับผู้ใหญ่ที่มีภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน (OAB)

ความเป็นมา

OAB เป็นภาวะเรื้อรังทั่วไปที่เกี่ยวข้องกับการปัสสาวะบ่อยในเวลากลางวัน การปัสสาวะระหว่างการนอนหลับ และการกระตุ้นให้ปัสสาวะกะทันหันโดยมีหรือไม่มีภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ (การปัสสาวะไหลโดยไม่ได้ตั้งใจ) ความผิดปกติดังกล่าวทำให้คุณภาพชีวิตลดลงและส่งผลให้เกิดภาระทางเศรษฐกิจที่สำคัญต่อสังคม การฝึกควบคุมการปัสสาวะเป็นพฤติกรรมบำบัดที่กำหนดเป้าหมายการรักษาและใช้เทคนิคในการปรับเปลี่ยนการตอบสนองที่ไม่เหมาะสมต่อความเร่งด่วนของการปัสสาวะ จุดมุ่งหมายคือเพื่อปรับปรุงอาการ OAB โดยลดการกระตุ้นให้ปัสสาวะบ่อย แม้ว่าหลักเกณฑ์ทางคลินิกจะแนะนำให้มีการฝึกควบคุมการปัสสาวะเพื่อรักษา OAB แต่ก็ไม่มีการทบทวนเพื่อประเมินประสิทธิภาพอย่างเป็นระบบ

เราทำอะไร

เราค้นหาการศึกษาที่ตรวจสอบการฝึกควบคุมการปัสสาวะด้วยวิธีการ (interventions) 7 ประการต่อไปนี้: 1. เปรียบเทียบกับการไม่รักษา, 2. เทียบกับยาที่เรียกว่า anticholinergics, 3. เทียบกับยาที่เรียกว่า β3-adrenoceptor agonists, 4. เทียบกับการฝึกกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน (PFMT; การเสริมสร้างกล้ามเนื้อบริเวณกระเพาะปัสสาวะ ทวารหนัก และช่องคลอด หรือ องคชาต), 5. ใช้การควบคุมการปัสสาวะร่วมกับยาต้านโคลิเนอร์จิก เทียบกับยาต้านโคลิเนอร์จิคเพียงอย่างเดียว, 6. ใช้การควบคุมการปัสสาวะร่วมกับ β3-adrenoceptor agonists เทียบกับ β3-adrenoceptor agonists เพียงอย่างเดียว และ 7. ใช้การควบคุมการปัสสาวะร่วมกับ PFMT เทียบกับ PFMT เพียงอย่างเดียว

เราพบอะไร

เราพบการศึกษาที่เข้าเกณฑ์ 15 ฉบับ เกี่ยวข้องกับผู้เข้าร่วม 2007 คน ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง การศึกษาเปรียบเทียบการฝึกควบคุมการปัสสาวะกับการเปรียบเทียบ 3 รายการ: การไม่รักษา ยาต้านโคลิเนอร์จิค และ PFMT ในผู้ใหญ่ที่มี OAB ไม่มีการศึกษาใดที่ตรวจสอบการเปรียบเทียบอีก 4 รายการ การศึกษา 7 ฉบับ ได้รับทุนสนับสนุนจากสาธารณะ การศึกษา 2 ฉบับ ได้รับทุนจากบริษัทยา การศึกษา 6 ฉบับ ไม่ได้บอกแหล่งเงินทุน

ผลการศึกษาที่สำคัญ

การฝึกควบคุมการปัสสาวะเทียบกับการไม่รักษา : การฝึกควบคุมการปัสสาวะอาจรักษาให้หายหรือทำให้อาการดีขึ้นจากภาวะ OAB ได้ แต่เราไม่แน่ใจอย่างมากเกี่ยวกับผลลัพธ์ การฝึกควบคุมการปัสสาวะอาจลดจำนวนครั้งท่ีกลั้นปัสสาวะไม่ได้ เราไม่พบการศึกษาที่จะช่วยตอบคำถามของเราเกี่ยวกับผลลัพธ์อื่นๆ

การฝึกควบคุมการปัสสาวะเทียบกับการใช้ยาต้านโคลิเนอร์จิค : การฝึกควบคุมการปัสสาวะอาจรักษให้หายาหรือดีขึ้นของอาการ OAB ได้มากกว่าการใช้ยาต้านโคลิเนอร์จิค เราไม่ทราบว่าการฝึกควบคุมการปัสสาวะส่งผลต่อผลลัพธ์อื่นๆ หรือไม่ และเราพบว่าไม่มีการศึกษาที่จะช่วยตอบคำถามของเราเกี่ยวกับความพึงพอใจที่ผู้ป่วยรายงาน

การฝึกควบคุมการปัสสาวะเทียบกับ PFMT : การฝึกควบคุมการปัสสาวะอาจสร้างความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยต่อคุณภาพชีวิตหรือจำนวนครั้งที่กลั้นปัสสาวะไม่ได้ต่อ 24 ชั่วโมง การศึกษาเดียวที่พิจารณาผลข้างเคียงรายงานว่าไม่มีเหตุการณ์ใดๆเกิดขึ้น ไม่ชัดเจนว่าการฝึกควบคุมการปัสสาวะส่งผลต่อจำนวนครั้งของการปัสสาวะหรือไม่ เราไม่พบการศึกษาที่วัดผลลัพธ์อื่นๆ

ข้อจำกัดของหลักฐานคืออะไร

การศึกษาที่นำเข้าส่วนใหญ่ถูกจำกัดเนื่องจากมีผู้เข้าร่วมจำนวนน้อยและการรายงานรายละเอียดการศึกษาที่ไม่ดี ซึ่งนำไปสู่ความไม่แน่นอนในหลักฐาน หลักฐานในปัจจุบันไม่เพียงพอที่จะแสดงให้เห็นประสิทธิผลของการฝึกควบคุมการปัสสาวะเพื่อรักษา OAB และจำเป็นต้องมีการศึกษาที่ออกแบบมาอย่างดีเพิ่มเติมเพื่อให้ได้ข้อสรุปที่แน่ชัด

การทบทวนวรรณกรรมนี้เป็นปัจจุบันแค่ไหน

หลักฐานเป็นข้อมูลถึงวันที่ 6 พฤศจิกายน 2022

บทนำ

กระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน (overactive bladder; OAB) เป็นภาวะเรื้อรังและน่ารำคาญที่พบบ่อย การฝึกควบคุมการปัสสาวะถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวางว่าเป็นการรักษาขั้นแรกสำหรับ OAB แต่ประสิทธิภาพการรักษาด้วยวิธีนี้มีการประเมินอย่างเป็นระบบสำหรับภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ มากกว่าการประเมิน OAB เพียงอย่างเดียว

วัตถุประสงค์

เพื่อประเมินประโยชน์และผลเสียของการฝึกควบคุมการปัสสาวะในการรักษาผู้ใหญ่ที่มีภาวะ OAB เปรียบเทียบกับการไม่รักษา การใช้ anticholinergics, β3-adrenoceptor agonists หรือการฝึกกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน (pelvic floor muscle training; PFMT) เพียงอย่างเดียวหรือร่วมกัน

วิธีการสืบค้น

เราใช้วิธีการค้นหาแบบมาตรฐานและครอบคลุมตามวิธีการของ Cochrane วันที่ค้นหาล่าสุดคือ 6 พฤศจิกายน 2022

เกณฑ์การคัดเลือก

เรารวมการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุมที่เกี่ยวข้องกับผู้ใหญ่อายุ 18 ปีขึ้นไปที่มีภาวะ OAB ที่ไม่ได้เกิดจากความผิดปกติของระบบประสาท เราไม่รวมการศึกษาของผู้เข้าร่วมที่มีอาการเกิดจากปัจจัยภายนอกระบบทางเดินปัสสาวะ (เช่น ความผิดปกติทางระบบประสาท ความบกพร่องทางสติปัญญา โรคทางนรีเวช)

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล

เราใช้วิธีตามมาตรฐานของ Cochrane ผลลัพธ์หลักของเราคือ 1. การรักษาหายหรืออาการดีขึ้นที่ผู้เข้าร่วมรายงาน 2. คุณภาพชีวิตที่เกี่ยวข้องกับอาการที่มี(QoL) และ 3. เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ ผลลัพธ์รอง ได้แก่ 4. ความพึงพอใจที่ผู้เข้าร่วมรายงาน 5. จำนวนครั้งที่กลั้นปัสสาวะไม่ได้ 6. จำนวนครั้งของการปัสสาวะเล็ดทันทีที่ปวดปัสสาวะ และ 7. จำนวนครั้งของการถ่ายปัสสาวะ เพื่อวัตถุประสงค์ของการทบทวนนี้ เราพิจารณาช่วงเวลาสองจุด: ทันทีหลังการรักษา (ระยะแรก) และอย่างน้อย 2 เดือนหลังการรักษา (ระยะปลาย) เราใช้ GRADE เพื่อประเมินความเชื่อมั่นของหลักฐานสำหรับแต่ละผลลัพธ์

ผลการวิจัย

เรารวมการทดลอง 15 ฉบับ กับผู้เข้าร่วม 2007 คน ผู้เข้าร่วมการทดลองเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง (89.3%) เราประเมินความเสี่ยงของการมีอคติของผลลัพธ์สำหรับผลลัพธ์หลักและผลลัพธ์รอง ซึ่งในการศึกษาทั้งหมดมีความคล้ายคลึงกันและส่วนใหญ่มีความเสี่ยงของการมีอคติสูง และไม่มีผลลัพธ์ใดเลยที่มีความเสี่ยงของการมีอคติต่ำ ความเชื่อมั่นของหลักฐานอยู่ในระดับต่ำถึงต่ำมาก โดยมีปานกลางในบางผลลัพธ์

การฝึกควบคุมการปัสสาวะ เปรียบเทียบกับการไม่รักษา: การศึกษา 3 ฉบับที่มีผู้เข้าร่วม 92 คน เปรียบเทียบการฝึกควบคุมการปัสสาวะกับการไม่รักษา หลักฐานมีความไม่แน่นอนอย่างมากเกี่ยวกับผลกระทบของการฝึกควบคุมการปัสสาวะต่อการหายจากอาการหรืออาการดีขึ้นในระยะเริ่มต้น (อัตราส่วนความเสี่ยง (RR) 17.00, 95% ช่วงความเชื่อมั่น (CI) 1.13 ถึง 256.56; การศึกษา 1 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 18 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก) การฝึกควบคุมการปัสสาวะอาจลดจำนวนครั้งที่กลั้นปัสสาวะไม่ได้ (Mean Difference (MD) −1.86, 95% CI −3.47 ถึง −0.25; การศึกษา 1 ฉบับ ผู้เข้าร่วม 14 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) ไม่มีการศึกษาที่วัด QoL ที่เกี่ยวข้องกับอาการและภาวะ จำนวนเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ ความพึงพอใจที่ผู้เข้าร่วมรายงาน จำนวนครั้งของการปัสสาวะเล็ดทันทีที่ปวดปัสสาวะ หรือจำนวนครั้งของการปัสสาวะในระยะแรก

การฝึกควบคุมการปัสสาวะเทียบกับการใช้ยาต้านโคลิเนอร์จิก: การศึกษา 7 ฉบับ (ผู้เข้าร่วม 602 คน) ตรวจสอบผลของการฝึกควบคุมการปัสสาวะเทียบกับการรักษาด้วยยาต้านโคลิเนอร์จิค การฝึกควบคุมการปัสสาวะอาจมีประสิทธิผลมากกว่าการใช้ยาต้านโคลิเนอร์จิกในการหายหรืออาการดีขึ้นในระยะแรก (RR 1.37, 95% CI 1.10 ถึง 1.70; การศึกษา 4 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 258 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) หลักฐานมีความไม่แน่นอนอย่างมากเกี่ยวกับผลกระทบของการฝึกควบคุมการปัสสาวะต่อ QoL ที่เกี่ยวข้องกับอาการหรือภาวะ (standardized Mean Difference (SMD) −0.06, 95% CI −0.89 ถึง 0.77; การศึกษา 2 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 117 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก) แม้ว่าหลักฐานจะมีความไม่แน่นอนมาก แต่มีเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ในกลุ่มการฝึกควบคุมการปัสสาวะน้อยกว่าในกลุ่มยาต้านโคลิเนอร์จิคส์ (RR 0.03, 95% CI 0.01 ถึง 0.17; การศึกษา 3 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 187 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก) หลักฐานมีความไม่แน่นอนอย่างมากเกี่ยวจำนวนครั้งที่กลั้นไม่ได้ต่อ 24 ชั่วโมง (MD 0.36, 95% CI −0.27 ถึง 1.00; การศึกษา 2 ฉบับ ผู้เข้าร่วม 117 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก) จำนวนครั้งที่ปัสสาวะเล็ดทันทีที่ปวดปัสสาวะต่อ 24 ชั่วโมง (MD 0.70, 95% CI -0.62 ถึง 2.02; การศึกษา 2 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 92 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก) และจำนวนครั้งของการปัสสาวะต่อ 24 ชั่วโมง (MD −0.35, 95% CI −1.90 ถึง 1.20; การศึกษา 3 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 175 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก) ไม่มีการศึกษาใดที่วัดความพึงพอใจที่ผู้เข้าร่วมรายงานในระยะแรก

การฝึกควบคุมการปัสสาวะ เปรียบเทียบกับ PFMT: การศึกษา 3 ฉบับ ที่มีผู้เข้าร่วม 203 คน เปรียบเทียบการฝึกควบคุมการปัสสาวะกับ PFMT หลักฐานมีความไม่แน่นอนอย่างมากเกี่ยวกับผลกระทบที่แตกต่างกันระหว่างการฝึกควบคุมการปัสสาวะและ PFMT ต่อ QoL ที่เกี่ยวข้องกับอาการและภาวะในระยะแรก (SMD 0.10, 95% CI −0.19 ถึง 0.40; การศึกษา 2 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 178 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก) ไม่มีเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ในทั้งสองกลุ่มในระยะแรก (การศึกษา 1 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 97 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง) หลักฐานไม่แน่นอนเกี่ยวกับผลกระทบต่อจำนวนครั้งที่กลั้นปัสสาวะไม่ได้ต่อ 24 ชั่วโมง (MD 0.02, 95% CI −0.35 ถึง 0.39, การศึกษา 1 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 81 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) และมีความไม่แน่นอนอย่างมากเกี่ยวกับจำนวนครั้งของการปัสสาวะต่อ 24 ชั่วโมง (MD 0.10, 95% CI −1.44 ถึง 1.64; การศึกษา 1 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 81 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก) ไม่มีการศึกษาที่วัดการหายหลังการรักษาหรืออาการดีขึ้น ความพึงพอใจที่ผู้เข้าร่วมรายงาน หรือจำนวนครั้งที่ปัสสาวะเล็ดทันทีที่ปวดปัสสาวะในระยะแรก

แม้ว่าเราจะสนใจในการศึกษาที่ตรวจสอบการฝึกควบคุมการปัสสาวะเทียบกับ β3-adrenoceptor agonists, หรือการฝึกควบคุมกระเพาะปัสสาวะ เมื่อใช้ร่วมกับ β3-adrenoceptor agonists เทียบกับ β3-adrenoceptor agonists เพียงอย่างเดียว และ การฝึกควบคุมการปัสสาวะ เมื่อใช้ร่วมกับ PFMT เทียบกับ PFMT เพียงอย่างเดียว เราไม่พบการศึกษาใดที่เข้าเกณฑ์สำหรับการเปรียบเทียบเหล่านี้

ข้อสรุปของผู้วิจัย

การทบทวนนี้มุ่งเน้นไปที่ผลของการฝึกควบคุมการปัสสาวะเพื่อรักษา OAB อย่างไรก็ตาม หลักฐานส่วนใหญ่มีความเชื่อมั่นต่ำหรือต่ำมาก จากหลักฐานที่มีความเชื่อมั่นต่ำหรือต่ำมาก การฝึกควบคุมการปัสสาวะอาจรักษาให้หายหรืออาการดีขึ้นของ OAB เมื่อเทียบกับการไม่ได้รับการรักษา การฝึกควบคุมการปัสสาวะอาจมีประสิทธิภาพในการรักษาแล้วหายหรืออาการดีขึ้นของ OAB มากกว่ายาต้านโคลิเนอร์จิค และอาจมีเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์น้อยกว่า อาจไม่มีความแตกต่างในด้านประสิทธิภาพหรือความปลอดภัยระหว่างการฝึกควบคุมการปัสสาวะกับ PFMT จำเป็นต้องมีการทดลองที่ออกแบบมาอย่างดีเพิ่มเติมเพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน

บันทึกการแปล

แปลโดย พญ.วิลาสินี หน่อแก้ว โรงพยาบาลมะเร็งอุบลราชธานี Edit โดย พ.ญ. ผกากรอง ลุมพิกานนท์ 25 กันยายน 2024

Citation
Funada S, Yoshioka T, Luo Y, Sato A, Akamatsu S, Watanabe N. Bladder training for treating overactive bladder in adults. Cochrane Database of Systematic Reviews 2023, Issue 10. Art. No.: CD013571. DOI: 10.1002/14651858.CD013571.pub2.