ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

การเปลี่ยนแปลงตารางเวลาของคนทำงานเพื่อปรับปรุงคุณภาพการนอนหลับและระยะเวลา และลดความง่วงนอน

ใจความสำคัญ

• มีหลักฐานจำกัดว่าการเปลี่ยนแปลงตารางกะทำให้คุณภาพการนอนหลับดีขึ้น เพิ่มระยะเวลาการนอนหลับ หรือลดอาการง่วงนอน
• จำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อหาข้อสรุปที่ชัดเจนมากขึ้นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงตารางกะในเรื่องการนอนหลับและความง่วงนอน

อะไรที่สามารถทำได้เพื่อปรับปรุงการนอนหลับของคนงานกะ

การทำงานเป็นกะมักนำไปสู่การนอนหลับที่ไม่เพียงพอซึ่งอาจส่งผลต่อความตื่นตัวของพนักงาน โดยส่งผลร้ายแรงต่อสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงาน การเปลี่ยนตารางการทำงานเป็นกะเป็นวิธีหนึ่งที่อาจลดผลที่ไม่พึงประสงค์จากการทำงานเป็นกะ

เราต้องการค้นหาอะไร

เราต้องการทราบว่าการปรับเปลี่ยนตารางกะใดที่ปรับปรุงการนอนหลับในวันพักผ่อนและลดความง่วงในที่ทำงาน

เราทำอะไร

เราค้นหาการศึกษาที่ประเมินคุณลักษณะต่อไปนี้ของตารางกะ

• ตารางกะเปลี่ยนแปลง (หมุนเวียน) หรือคงเดิม
• การเปลี่ยนแปลงกะจะเป็นแบบสม่ำเสมอหรือไม่สม่ำเสมอ
• ทิศทางการหมุนกะ (เช้าถึงบ่ายถึงกลางคืน หรือกลางคืนถึงบ่ายถึงเช้า)
• ความเร็วในการหมุน
• ระยะเวลาของกะ
• ระยะเวลาการเริ่มต้นกะ
• การกระจายตารางกะ (กะน้อยลงโดยมีจำนวนชั่วโมงมากขึ้น หรือกะมากขึ้นโดยมีจำนวนชั่วโมงน้อยลง)
• เวลาพักระหว่างกะ
• แยกกะ (ขัดจังหวะ)
• พนักงานมีกะ on-call หรือไม่
• พนักงานมีส่วนร่วมในการจัดตารางกะหรือไม่

เราพบอะไร

เรารวบรวมการศึกษา 11 ฉบับ มีผู้เข้าร่วม 2125 คน การศึกษา 1 ฉบับดำเนินการในห้องปฏิบัติการ เราไม่รวมผลลัพธ์ของการศึกษานี้เมื่อทำการสรุปผล การศึกษาส่วนใหญ่ตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงในคุณลักษณะหนึ่งของตารางกะ ในขณะที่บางการศึกษาตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงใน 2 คุณลักษณะ การศึกษา 4 ฉบับตรวจสอบผลของการเปลี่ยนแปลงทิศทางของการหมุนกะ การศึกษา 3 ฉบับตรวจสอบความเร็วของการหมุนเวียน การศึกษา 5 ฉบับตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงระยะเวลากะ และการศึกษา 1 ฉบับตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงในการกระจายวันหยุด

การหมุนไปข้างหน้าเมื่อเทียบกับการหมุนย้อนกลับอาจไม่ส่งผลต่อระยะเวลาการนอนหลับหรือคุณภาพการนอนหลับในวันพักผ่อน แต่อาจช่วยลดความง่วงในที่ทำงานได้ อย่างไรก็ตาม ผลลัพธ์ทั้งหมดนี้มีความไม่เชื่อมั่นอย่างมาก

การหมุนกะที่เร็วกว่าเมื่อเทียบกับการหมุนกะที่ช้ากว่าอาจไม่ส่งผลต่อคุณภาพการนอนหลับในวันหยุด การหมุนเร็วขึ้นอาจลดระยะเวลาการนอนหลับในวันพัก แต่ยังอาจลดความง่วงในที่ทำงานด้วย อย่างไรก็ตาม หลักฐานสำหรับผลลัพธ์ทั้งสองนั้นไม่เชื่อมั่นมาก

การศึกษา 2 ฉบับศึกษาการทำงานสัปดาห์ละ 80 ชั่วโมงในกลุ่มแพทย์ พบว่าตารางที่มีกะไม่เกิน 16 ชั่วโมง เมื่อเทียบกับตารางที่มีระยะเวลากะไม่จำกัด (รวมถึงกะ 24 ถึง 28 ชั่วโมง) อาจเพิ่มระยะเวลาการนอนหลับในวันพัก และอาจส่งผลให้ความง่วงในที่ทำงานลดลงเล็กน้อย

ระยะเวลากะที่สั้นกว่า (8 หรือ 10 ชั่วโมง) เมื่อเทียบกับระยะเวลากะที่ยาวกว่า (นานกว่า 2 ถึง 3 ชั่วโมง) อาจไม่ส่งผลต่อคุณภาพการนอนหลับหรือระยะเวลาการนอนหลับในวันพักผ่อน แต่ผลลัพธ์ที่ได้มีความไม่เชื่อมั่นมาก ผลของระยะเวลากะต่ออาการง่วงนอนแตกต่างกันในแต่ละการศึกษา

การเปลี่ยนแปลงการกระจายตารางกะ (เช่น วันหยุดสองวันเทียบกับสี่วันติดต่อกัน) อาจไม่มีผลต่อคุณภาพการนอนหลับหรือระยะเวลาการนอนหลับในวันพัก แต่ผลลัพธ์มีความไม่แน่นอนอย่างมาก

เราไม่พบการศึกษาที่ตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงอื่นๆ ในตารางกะ

โดยรวมแล้ว จำเป็นต้องมีการศึกษาที่มีคุณภาพสูงกว่านี้เพื่อหาข้อสรุปที่ชัดเจนเกี่ยวกับผลของการเปลี่ยนแปลงตารางกะที่มีต่อการนอนหลับและความง่วงนอน ขณะนี้เราไม่สามารถสรุปผลที่เป็นประโยชน์จากหลักฐานที่มีอยู่ได้

ข้อจำกัดหลักของหลักฐาน

การศึกษาที่รวบรวมไว้น้อยเกินไปที่จัดพนักงานให้เปลี่ยนกำหนดการโดยการสุ่ม นอกจากนี้ การศึกษาจำนวนมากยังรวมพนักงานจำนวนน้อยและขาดการวัดการนอนหลับและความง่วงที่เชื่อถือได้

การทบทวนวรรณกรรมนี้เป็นปัจจุบันแค่ไหน

หลักฐานเป็นข้อมูลล่าสุดจนถึงวันที่ 13 ธันวาคม 2020

บทนำ

การทำงานเป็นกะเกี่ยวข้องกับการนอนหลับไม่เพียงพอ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความตื่นตัวของพนักงาน และส่งผลร้ายแรงต่อสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงาน การปรับตารางการทำงานเป็นกะอาจลดผลลัพธ์ด้านอาชีพที่ไม่พึงประสงค์

วัตถุประสงค์

เพื่อประเมินผลของการปรับตารางกะต่อคุณภาพการนอนหลับ ระยะเวลาการนอนหลับ และความง่วงนอนของคนทำงานเป็นกะ

วิธีการสืบค้น

เราค้นหาใน CENTRAL, PubMed, Embase และอีก 8 ฐานข้อมูลอื่นในวันที่ 13 ธันวาคม 2020 และอีกครั้งในวันที่ 20 เมษายน 2022 โดยไม่มีข้อจำกัดด้านภาษา

เกณฑ์การคัดเลือก

เรารวมการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม (RCT) และที่ไม่ใช่ RCT รวมถึง controlled before-after(CBA), interrupted time series และการทดลองแบบ cross-over การทดลองที่เข้าเกณฑ์จะประเมินองค์ประกอบตารางกะต่อไปนี้

• ความถาวรของกะ
• ความสม่ำเสมอของการเปลี่ยนแปลงกะ
• ทิศทางการหมุนกะ
• ความเร็วในการหมุน
• ระยะเวลาของกะ
• ระยะเวลาการเริ่มต้นกะ
• การกระจายตารางกะ
• เวลาพักระหว่างกะ
• การแยกกะ
• การนอนหลับที่ได้รับการป้องกัน
• การมีส่วนร่วมของคนงาน

เรารวมการศึกษาที่ประเมินคุณภาพการนอนหลับนอกกะ ระยะเวลาการนอนหลับนอกกะ หรือการง่วงนอนระหว่างกะ

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล

ผู้ประพันธ์การทบทวนวรรณกรรมสองคนคัดกรองชื่อเรื่องและบทคัดย่อของรายงานที่ได้จากการค้นหา อ่านบทความเต็มของการศึกษาที่อาจเข้าเกณฑ์ และคัดลอกข้อมูลอย่างเป็นอิสระต่อกัน เราประเมินความเสี่ยงของอคติของการศึกษาที่รวบรวมไว้โดยใช้ Cochrane risk of bias tool โดยมีโดเมนเพิ่มเติมเฉพาะสำหรับการศึกษาแบบ non-randomised studies และ cluster-randomised studies ในทุกขั้นตอน เราได้แก้ไขข้อขัดแย้งใดๆ โดยการปรึกษากับผู้ประพันธ์การทบทวนวรรณกรรมคนที่ 3 เรานำเสนอผลลัพธ์แยกตามการออกแบบการศึกษาและรวมการศึกษาที่ clinically homogeneous ใน meta-analyses โดยใช้ random-effects models เราประเมินความเชื่อมั่นของหลักฐานโดยใช้ GRADE

ผลการวิจัย

เรารวบรวมการศึกษา 11 ฉบับ มีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 2125 คน การศึกษา 1 ฉบับดำเนินการในห้องปฏิบัติการและไม่ได้รับการพิจารณาเพื่อสรุปผลของวิธีการ การศึกษาที่นำเข้ามาตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงที่แตกต่างกันและเปลี่ยนแปลงหลายครั้งในตารางกะ และมีความแตกต่างกันในเรื่องการวัดผลลัพธ์

การหมุนไปข้างหน้าเทียบกับย้อนกลับ

การทดลอง CBA 3 ฉบับ (ผู้เข้าร่วม 561 คน) ตรวจสอบผลของการหมุนไปข้างหน้าเทียบกับการหมุนย้อนกลับ มีการทดลอง CBA เพียง 1 ฉบับ เท่านั้นที่ให้ข้อมูลเพียงพอสำหรับการวิเคราะห์เชิงปริมาณ โดยให้หลักฐานที่มีความเชื่อมั่นต่ำมากว่าการหมุนไปข้างหน้าเมื่อเทียบกับการหมุนถอยหลังไม่ส่งผลต่อคุณภาพการนอนที่วัดด้วยแบบสอบถามการนอนหลับขั้นพื้นฐานของนอร์ดิก (BNSQ; ความแตกต่างเฉลี่ย (MD) −0.20 คะแนน ช่วงความเชื่อมั่น 95% (CI) −2.28 ถึง 1.89; ผู้เข้าร่วม 62 คน) หรือระยะเวลาการนอนนอกกะ (MD −0.21 ชั่วโมง 95% CI −3.29 ถึง 2.88; ผู้เข้าร่วม 62 คน) อย่างไรก็ตาม ยังมีหลักฐานที่มีความเชื่อมั่นต่ำมากว่าการหมุนไปข้างหน้าช่วยลดอาการง่วงนอนระหว่างกะที่วัดด้วย BNSQ (MD −1.24 คะแนน, 95% CI −2.24 ถึง −0.24; ผู้เข้าร่วม 62 คน)

การหมุนเร็วขึ้นเทียบกับการหมุนที่ช้าลง

การทดลอง CBA 2 ฉบับ และการทดลองแบบ cross-over ที่ไม่สุ่ม 1 ฉบับ (ผู้เข้าร่วม 341 คน) ประเมินการหมุนเวียนกะที่เร็วกว่าเมื่อเทียบกับที่ช้ากว่า เราสามารถทำ meta-analysis ได้จากการศึกษา 2 ฉบับ มีหลักฐานความเชื่อมั่นต่ำว่าไม่มีความแตกต่างในคุณภาพการนอนหลับนอกกะ (standardised mean difference (SMD) −0.01, 95% CI −0.26 ถึง 0.23) และหลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมากว่าการหมุนกะที่เร็วกว่าช่วยลดระยะเวลาการนอนหลับนอกกะ ( SMD −0.26, 95% CI −0.51 ถึง −0.01; การศึกษา 2 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 282 คน) ค่า SMD สำหรับระยะเวลาการนอนหลับแปลเป็นค่า MD นอนน้อยลง 0.38 ชั่วโมงต่อวัน (95% CI −0.74 ถึง −0.01) การศึกษา 1 ฉบับ ให้หลักฐานที่มีความเชื่อมั่นต่ำมากว่าการหมุนเร็วขึ้นช่วยลดอาการง่วงนอนระหว่างกะที่วัดด้วย BNSQ (MD −1.24 คะแนน, 95% CI −2.24 ถึง −0.24; ผู้เข้าร่วม 62 คน)

ระยะเวลากะที่จำกัด (16 ชั่วโมง) เทียบกับระยะเวลากะไม่จำกัด

RCTs 2 ฉบับ (ผู้เข้าร่วม 760 คน) ประเมินการทำงานสัปดาห์ละ 80 ชั่วโมง โดยมีระยะเวลากะรายวันสูงสุด 16 ชั่วโมง เทียบกับสัปดาห์ทำงานโดยไม่มีขีดจำกัดระยะเวลากะรายวัน มีหลักฐานความเชื่อมั่นต่ำว่าขีดจำกัด 16 ชั่วโมงเพิ่มระยะเวลาการนอนหลับนอกกะ (SMD 0.50, 95% CI 0.21 ถึง 0.78 ซึ่งแปลเป็น MD ที่นอนหลับเพิ่มขึ้น 0.73 ชั่วโมงต่อวัน, 95% CI 0.30 ถึง 1.13; RCTs 2 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 760 คน) และหลักฐานความเชื่อมั่นปานกลางที่ขีดจำกัด 16 ชั่วโมงลดความง่วงในระหว่างกะ โดยวัดด้วย Karolinska Sleepiness Scale (SMD −0.29, 95% CI −0.44 ถึง −0.14; ซึ่งแปลเป็น MD ที่น้อยลง 0.37 คะแนน 95% CI −0.55 ถึง −0.17; RCTs 2 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 716 คน)

กะสั้นกว่าเทียบกับยาวกว่า

RCT 1 ฉบับ และการทดลองแบบ cross-over แบบไม่สุ่ม 1 ฉบับ (ผู้เข้าร่วม 692 คน) ประเมินระยะเวลากะที่สั้นกว่า (8 ถึง 10 ชั่วโมง) เทียบกับระยะเวลากะที่นานกว่า (นานกว่า 2 ถึง 3 ชั่วโมง) มีหลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมากว่าคุณภาพการนอนหลับไม่แตกต่างกัน (SMD −0.23, 95% CI −0.61 ถึง 0.15 ซึ่งแปลเป็น MD ที่ต่ำกว่า 0.13 คะแนน ในระดับ 1 ถึง 5; การศึกษา 2 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 111 คน) หรือ ระยะเวลาการนอนหลับนอกกะ (SMD 0.18, 95% CI −0.17 ถึง 0.54; ซึ่งแปลเป็น MD ที่นอนหลับน้อยลง 0.26 ชั่วโมงต่อวัน; การศึกษา 2 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 121 คน) RCT และการศึกษา cross-over แบบไม่สุ่มพบว่ากะที่สั้นลงช่วยลดความง่วงนอนระหว่างกะ ในขณะที่การศึกษา CBA พบว่าไม่มีผลต่อความง่วงนอน

ตารางกะที่บีบอัดมากขึ้นเมื่อเทียบกับตารางกะที่กระจายมากขึ้น

RCT 1 ฉบับ และ การทดลอง CBA 1 ฉบับ (ผู้เข้าร่วม 346 คน) ประเมินตารางกะที่บีบอัดมากกว่าเมื่อเทียบกับตารางกะที่กระจายมากขึ้น การทดลอง CBA ให้หลักฐานที่มีความเชื่อมั่นต่ำมากว่าไม่มีความแตกต่างระหว่างกลุ่มในด้านคุณภาพการนอนหลับนอกกะ (MD 0.31 คะแนน, 95% CI −0.53 ถึง 1.15) และระยะเวลาการนอนหลับนอกกะ (MD 0.52 ชั่วโมง, 95% CI −0.52 ถึง 1.56)

ข้อสรุปของผู้วิจัย

การหมุนไปข้างหน้าและเร็วขึ้นอาจช่วยลดอาการง่วงนอนระหว่างกะ และอาจไม่สร้างความแตกต่างให้กับคุณภาพการนอนหลับ แต่หลักฐานยังไม่แน่นอนอย่างมาก หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมากบ่งชี้ว่าระยะเวลาการนอนหลับนอกกะลดลงเมื่อการหมุนเร็วขึ้น หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำบ่งชี้ว่าการทำงานประจำสัปดาห์โดยมีระยะเวลากะจำกัดที่ 16 ชั่วโมงจะเพิ่มระยะเวลาการนอนหลับ และมีหลักฐานความเชื่อมั่นปานกลางสำหรับการลดความง่วงนอนน้อยที่สุด การเปลี่ยนแปลงระยะเวลากะและการบีบอัดสัปดาห์ทำงานไม่ส่งผลต่อการนอนหลับหรือความง่วง แต่หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำมาก ไม่มีหลักฐานสำหรับการเปลี่ยนแปลงตารางกะอื่นๆ มีความจำเป็นที่จะต้องมีการศึกษาที่มีคุณภาพสูงมากขึ้น (โดยเฉพาะ RCT) สำหรับวิธีการตามตารางกะทั้งหมดเพื่อสรุปผลเกี่ยวกับผลของการปรับตารางกะที่มีต่อการนอนและความง่วงนอนของคนทำงานเป็นกะ

บันทึกการแปล

แปลโดย ศ.นพ.ภิเศก ลุมพิกานนท์ ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 29 กันยายน 2023

Citation
Hulsegge G, Coenen P, Gascon GM, Pahwa M, Greiner B, Bohane C, Wong IS, Liira J, Riera R, Pachito DV. Adapting shift work schedules for sleep quality, sleep duration, and sleepiness in shift workers. Cochrane Database of Systematic Reviews 2023, Issue 9. Art. No.: CD010639. DOI: 10.1002/14651858.CD010639.pub2.