ยากระตุ้นทั่วไปชนิดใดดีที่สุดสำหรับทารกคลอดก่อนกำหนดที่หยุดหายใจขณะหลับ (apnea)

ใจความสำคัญ

• คาเฟอีนและสารอื่นๆ ที่คล้ายคลึงกันอยู่ในกลุ่มของสารกระตุ้นที่เรียกว่าเมทิลแซนทีน มักใช้เพื่อป้องกันและรักษาภาวะหยุดหายใจ เมื่อหยุดหายใจซ้ำๆ ในทารกแรกเกิด

• คาเฟอีนอาจส่งผลให้ความถี่ของการเสียชีวิตในทารกที่คลอดก่อนกำหนดมีความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยเมื่อเทียบกับเมทิลแซนทีนอื่นๆ

• จำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทารกที่คลอดก่อนกำหนดมาก เนื่องจากทารกเหล่านี้มีแนวโน้มการพยากรณ์โรคที่แย่ที่สุด

ภาวะหยุดหายใจในทารกคลอดก่อนกำหนดคืออะไร

ภาวะหยุดหายใจในทารกคลอดก่อนกำหนดคือเมื่อใด ทารกที่คลอดก่อนเวลาที่กำหนด (ทารกคลอดก่อนกำหนด) หยุดหายใจเป็นเวลา 20 วินาทีหรือนานกว่านั้นระหว่างการนอนหลับ ทารกคลอดก่อนกำหนดมากกว่าครึ่งหนึ่งมีภาวะหยุดหายใจ ทารกคลอดก่อนกำหนด โดยเฉพาะผู้ที่เกิดก่อนอายุครรภ์ 28 สัปดาห์ (อายุครรภ์) มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต โรคปอด และสมองผิดปกติมากกว่าทารกที่เกิดในช่วงครบกำหนดคลอด ตัวอย่างเช่น ทารกเหล่านี้บางคนมีความบกพร่องทางสติปัญญา ตาบอด หรือหูหนวก

การหยุดหายใจในทารกคลอดก่อนกำหนดได้รับการรักษาอย่างไร

โดยทั่วไปแล้วภาวะหยุดหายใจในทารกคลอดก่อนกำหนดจะรักษาได้ด้วยเมทิลแซนทีน ซึ่งเป็นสารที่พบปริมาณมากในชา กาแฟ และช็อกโกแลต เมทิลแซนทีนมี 3 ประเภท ได้แก่ คาเฟอีน อะมิโนฟิลลีน และธีโอฟิลลีน พวกมันทำหน้าที่เป็นตัวกระตุ้นเล็กน้อยเพื่อเร่งระบบของร่างกายและทำให้หายใจง่ายขึ้น เมื่อให้แก่ทารกที่คลอดก่อนกำหนด จุดมุ่งหมายคือเพื่อให้การหายใจดีขึ้นและลดจำนวนครั้งการหยุดหายใจและความจำเป็นในการใช้เครื่องช่วยหายใจ (เครื่องช่วยหายใจ)

เราต้องการค้นหาอะไร

เราต้องการทราบว่าคาเฟอีนดีกว่าอะมิโนฟิลลีนหรือธีโอฟิลลีนในทารกคลอดก่อนกำหนดสำหรับ:

• การป้องกันการเสียชีวิตก่อนออกจากโรงพยาบาล;

• พัฒนาการในระยะยาวดีขึ้นเมื่ออายุ 18 ถึง 24 เดือน

เรายังต้องการทราบว่ายาเหล่านี้เกี่ยวข้องกับผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์หรือไม่

เราทำอะไร

เราค้นหาการศึกษาที่ศึกษาคาเฟอีนเปรียบเทียบกับอะมิโนฟิลลีนหรือธีโอฟิลลีนในทารกที่คลอดก่อนกำหนด เราเปรียบเทียบและสรุปผลการศึกษาและให้คะแนนความเชื่อมั่นของหลักฐาน โดยพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ เช่น วิธีการศึกษาและขนาดการศึกษา

เราพบอะไร

เรารวบรวม 22 การศึกษา ในการทบทวนของเรา โดยมีทารกแรกเกิดที่คลอดก่อนกำหนดทั้งหมด 1776 คน มี 3 การศึกษา ประเมินการใช้เมทิลแซนทีนในการป้องกันภาวะหยุดหายใจ มี 13 การศึกษาที่ประเมินการใช้เพื่อการรักษาภาวะหยุดหายใจ มี 2 การศึกษาสำหรับการจัดการการถอดท่อช่วยหายใจ (คือ การถอดท่อหลอดลมคอที่ใช้ในการช่วยหายใจของทารก) ใน 3 การศึกษา มีเหตุผลที่แตกต่างกันในการรักษาทารกด้วยเมทิลแซนทีน การศึกษาเกือบทั้งหมด ทารกแรกเกิดมีอายุครรภ์โดยเฉลี่ย 28 ถึง 32 สัปดาห์ และมีน้ำหนักแรกเกิดเฉลี่ยระหว่าง 1000 ถึง 1500 กรัม ไม่มีการศึกษาใดที่มีอายุครรภ์เฉลี่ยน้อยกว่า 28 สัปดาห์หรือน้ำหนักแรกเกิดเฉลี่ยน้อยกว่า 1000 กรัม ในการศึกษาหนึ่งการศึกษา ทารกมีอายุครรภ์โดยเฉลี่ยมากกว่า 32 สัปดาห์ ใน 2 การศึกษา น้ำหนักแรกเกิดเฉลี่ยมากกว่า 1500 กรัม

• สำหรับความถี่ของการเสียชีวิต เราพบว่าการใช้คาเฟอีนอาจให้ผลที่แตกต่างกันเล็กน้อยหรือไม่มีเลยเมื่อเทียบกับเมทิลแซนทีนอื่นๆ
• เมื่อดูความสามารถที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาของสมอง ยังไม่ชัดเจนว่าตัวเลือกใดดีกว่า: คาเฟอีนหรือเมทิลแซนทีนอื่นๆ
• ทารกบางคนที่มีอาการหยุดหายใจจะเกิดโรคปอดในระยะยาว การศึกษาทบทวนของเราระบุว่าการใช้คาเฟอีนกับเมทิลแซนทีนอื่นๆ อาจให้ผลแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยสำหรับโรคปอดในระยะยาว
• ไม่ชัดเจนว่าคาเฟอีนส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์มากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับเมทิลแซนทีนชนิดอื่นหรือไม่
• เราพบว่าอาจไม่มีแตกต่างกันในเรื่องระยะเวลาที่เด็กทารกและครอบครัวต้องอยู่ในโรงพยาบาลในกลุ่มที่ใช้คาเฟอีนเมื่อเทียบกับเมทิลแซนทีนอื่นๆ

ข้อจำกัดของหลักฐานคืออะไร

ความเชื่อมั่นของเราต่อหลักฐานมีความจำกัดเนื่องจากจำนวนทารกที่ศึกษาสำหรับแต่ละผลลัพธ์ที่เราสนใจมีน้อย ทารกทุกคนจะถูกสุ่มเข้ากลุ่มที่ได้รับคาเฟอีนหรือเมทิลแซนทีนชนิดอื่น (อะมิโนฟิลลีนหรือธีโอฟิลลีน) อย่างไรก็ตาม ในการศึกษาจำนวนมาก มีความเป็นไปได้ที่เจ้าหน้าที่ที่ทำงานกับทารกจะทราบว่าทารกได้รับการรักษาแบบใด นอกจากนี้ หลักฐานยังไม่ครอบคลุมผลลัพธ์ทั้งหมดที่เราสนใจ

การทบทวนนี้มีความทันสมัยแค่ไหน

หลักฐานเป็นปัจจุบันถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2023

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

แม้ว่าคาเฟอีนแสดงผลลัพธ์ทางคลินิกที่สำคัญให้ดีขึ้น แต่ในการศึกษาบางการศึกษาที่เปรียบเทียบคาเฟอีนกับเมทิลแซนทีนอื่นๆ พบว่าอาจมีความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยในเรื่องการเสียชีวิต ความผิดปกติของปอดเรื้องรัง และระยะเวลาการนอนโรงพยาบาล หลักฐานมีความไม่แน่นอนอย่างมากเกี่ยวกับผลของคาเฟอีนเมื่อเทียบกับเมทิลแซนทีนอื่นๆ ต่อการพัฒนาการและผลข้างเคียงในระยะยาว

แม้ว่าคาเฟอีนหรือเมทิลแซนทีนอื่นๆ จะใช้กันอย่างแพร่หลายในทารกที่คลอดก่อนกำหนด แต่ก็มีหลักฐานโดยตรงเพียงเล็กน้อยที่สนับสนุนการเลือกว่าควรใช้เมทิลแซนทีนชนิดใด จำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทารกคลอดก่อนกำหนดมากที่อายุครรภ์น้อยกว่า 28 สัปดาห์ ข้อมูลจากการศึกษาที่กำลังดำเนินอยู่จำนวนสี่เรื่องอาจให้หลักฐานเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลของคาเฟอีนหรือเมทิลแซนทีนอื่นๆ

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

เมทิลแซนทีน รวมถึงคาเฟอีน ธีโอฟิลลีน และอะมิโนฟิลลีน ทำหน้าที่เป็นตัวกระตุ้นการขับเคลื่อนการหายใจ และลดภาวะหยุดหายใจในคลอดก่อนกำหนด ซึ่งเป็นความผิดปกติที่พบบ่อยในทารกคลอดก่อนกำหนด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีการรายงานว่าคาเฟอีนทำให้ผลลัพธ์ทางคลินิกที่สำคัญดีขึ้น รวมถึงภาวะโรคปอดเรื้อรัง (BPD) และความผิดปกติของพัฒนาการทางระบบประสาท อย่างไรก็ตาม, ยังมีความไม่แน่นอนในแง่ของประสิทธิภาพของคาเฟอีนเมื่อเทียบกับเมทิลแซนทีนอื่นๆ

วัตถุประสงค์: 

เพื่อประเมินผลของคาเฟอีนเปรียบเทียบกับอะมิโนฟิลลีนหรือธีโอฟิลลีนในทารกคลอดก่อนกำหนดที่เสี่ยงต่อภาวะหยุดหายใจ ภาวะหยุดหายใจ หรือในระยะถอดท่อช่วยหายใจ

วิธีการสืบค้น: 

เราค้นหาใน CENTRAL, MEDLINE, Embase, CINAHL, the World Health Organization (WHO) International Clinical Trials Registry Platform (ICTRP) และ Clinicaltrials.gov ในเดือนกุมภาพันธ์ 2023 นอกจากนี้เรายังสืบค้นเอกสารอ้างอิงของการศึกษาที่เกี่ยวข้องเพื่อค้นหาการศึกษาเพิ่มเติม

เกณฑ์การคัดเลือก: 

การศึกษา : การศึกษาแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม (RCTs) และ และ การศึกษาแบบกึ่งสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม (quasi-RCTs)
ผู้เข้าร่วม: ทารกที่เกิดก่อนอายุครรภ์ 34 สัปดาห์สำหรับเพื่อการป้องกันและการถอดท่อช่วยหายใจ และทารกที่เกิดก่อนอายุครรภ์ 37 สัปดาห์สำหรับรับการรักษา
การได้รับยาหรือวิธีการที่ต้องการศึกษาและเปรียบเทียบกับ: คาเฟอีนกับธีโอฟิลลีน หรือคาเฟอีนกับอะมิโนฟิลลีน เรารวมขนาดยาและระยะเวลาการรักษาทั้งหมด

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

เราใช้ระเบียบวิธีการมาตรฐานที่ Cochrane กำหนดไว้ เราประเมินผลการรักษาโดยใช้ fixed-effect model กับอัตราส่วนความเสี่ยง (RR) ส่วนต่างความเสี่ยง (RD) และช่วงความเชื่อมั่น 95% (CI) สำหรับข้อมูลเชิงหมวดหมู่ และค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และผลต่างค่าเฉลี่ยสำหรับข้อมูลที่ต่อเนื่อง เราใช้วิธี GRADE เพื่อประเมินความเชื่อมั่นของหลักฐาน

ผลการวิจัย: 

เรารวบรวมการทดลองทั้งหมด 22 การทดลองของทารกคลอดก่อนกำหนดจำนวน 1776 คน ข้อบ่งชี้ในการรักษาคือการศีกษาการป้องกันภาวะหยุดหายใจ 3 การศีกษา การศีกษาการรักษาภาวะหยุดหายใจ 13 การศึกษา และการศีกษาการจัดการการถอดท่อช่วยหายใจ 3 การศึกษา ใน 3 การศึกษา มีข้อบ่งชี้ในการรักษาหลายประการ และใน 1 การศึกษา ระบุข้อบ่งชี้ในการรักษาไม่ชัดเจน ในการศึกษาที่รวบรวมมา 19 การศีกษา ทารกมีอายุครรภ์เฉลี่ยระหว่าง 28 ถึง 32 สัปดาห์ และน้ำหนักแรกเกิดเฉลี่ยระหว่าง 1000 กรัมถึง 1500 กรัม ผู้เข้าร่วมใน 1การศึกษา มีอายุครรภ์เฉลี่ยมากกว่า 32 สัปดาห์ และ 2 การศึกษา มีผู้เข้าร่วมการศีกษาที่มีน้ำหนักแรกเกิดเฉลี่ยตั้งแต่ 1500 กรัมขึ้นไป

การให้คาเฟอีนตามข้อบ่งชี้ใดๆ อาจส่งผลให้อัตราการเสียชีวิตจากทุกสาเหตุก่อนออกจากโรงพยาบาลแตกต่างกันน้อยมากหรือไม่ต่างกันเลยเมื่อเทียบกับเมทิลแซนทีนอื่นๆ (RR 1.12, 95% CI 0.68 ถึง 1.84; RD 0.02, 95% CI -0.05 ถึง 0.08; 2 การศึกษา, ทารก 396 ราย; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) การศึกษาเดียวที่รับสมัครทารก 79 คนรายงานผลลัพธ์ที่มีความบกพร่องทางพัฒนาการทางระบบประสาทปานกลางถึงรุนแรงที่อายุ 18 ถึง 26 เดือน ไม่มีความเชื่อมั่นของหลักฐานอย่างมากเกี่ยวกับผลของคาเฟอีนต่อพัฒนาการทางสติปัญญาล่าช้าเมื่อเปรียบเทียบกับเมทิลแซนทีนอื่นๆ (RR 0.17, 95% CI 0.02 ถึง 1.37; RD -0.12, 95% CI -0.24 ถึง 0.01; 1 การศึกษา, ทารก 79 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก) หลักฐานมีความไม่แน่นอนอย่างมากเกี่ยวกับผลของคาเฟอีนต่อพัฒนาการทางภาษาล่าช้าเมื่อเปรียบเทียบกับเมทิลแซนทีนอื่นๆ (RR 0.76, 95% CI 0.37 ถึง 1.58; RD -0.07, 95% CI -0.27 ถึง 0.12; 1 การศึกษา, ทารก 79 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก) หลักฐานมีความไม่แน่นอนอย่างมากเกี่ยวกับผลของคาเฟอีนต่อพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวล่าช้าเมื่อเปรียบเทียบกับเมทิลแซนทีนอื่นๆ (RR 0.50, 95% CI 0.13 ถึง 1.96; RD -0.07, 95% CI -0.21 ถึง 0.07; 1 การศึกษา, ทารก 79 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก) ไม่มีความเชื่อมั่นของหลักฐานอย่างมากเกี่ยวกับผลของคาเฟอีนต่อความบกพร่องทางการมองเห็นและการได้ยินเมื่อเปรียบเทียบกับเมทิลแซนทีนชนิดอื่น เมื่ออายุ 24 เดือน ความบกพร่องทางการมองเห็นพบได้ในทารก 8 ใน 11 ราย และทารก 10 ใน 11 รายในกลุ่มคาเฟอีนและกลุ่มเมทิลแซนทีนอื่นๆ ตามลำดับ ความบกพร่องทางการได้ยินพบได้ในทารก 2 ใน 5 รายและทารก 1 ใน 1 รายในกลุ่มคาเฟอีนและเมทิลแซนทีนอื่น ๆ ตามลำดับ ไม่มีการศึกษาใดรายงานผลลัพธ์เกี่ยวกับโรคสมองพิการ ความพิการทางการเคลื่อนไหว และการพัฒนาทางจิตใจ เมื่อเปรียบเทียบกับเมทิลแซนทีนอื่นๆ คาเฟอีนอาจส่งผลให้เกิดความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยใน BPD/โรคปอดเรื้อรัง ซึ่งหมายถึงการต้องได้รับออกซิเจนที่อายุ 28 วันถึงในช่วงอายุ 36 สัปดาห์นับจากประจำเดือนครั้งสุดท้ายของมารดา (RR 1.40, 95% CI 0.92 ถึง 2.11; RD 0.04, 95% CI -0.01 ถึง 0.09; 3 การศึกษา, ทารก 481 คน หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) หลักฐานมีความไม่แน่นอนอย่างมากเกี่ยวกับผลของคาเฟอีนต่อผลข้างเคียง (หัวใจเต้นเร็ว ความตื่นตระหนก หรือไม่สามารถรับอาหารได้) ส่งผลให้ปริมาณยาลดลงหรือทำให้ระงับการให้เมทิลแซนทีนเมื่อเปรียบเทียบกับเมทิลแซนทีนอื่นๆ (RR 0.17, 95% CI 0.02 ถึง 1.32; RD -0.29 , 95% CI -0.57 ถึง -0.02; 1 การศึกษา, ทารก 30 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก) คาเฟอีนอาจส่งผลต่อระยะเวลาในการอยู่โรงพยาบาลแตกต่างกันเล็กน้อยหรือไม่มีความแตกต่างเลยเมื่อเทียบกับเมทิลแซนทีนอื่นๆ (ค่ามัธยฐาน (ช่วงควอไทล์): คาเฟอีน 43 วัน (27.5 ถึง 61.5 วัน); เมทิลแซนทีนอื่นๆ 39 วัน (28 ถึง 55)) ไม่มีการศึกษารายงานผลลัพพ์ของการชัก

บันทึกการแปล: 

แปลโดย แพทย์หญิงนันท์ธิดา ภัทราประยูร วันที่ 7 ตุลาคม 2023

Tools
Information