การผ่าตัดและการสวนหลอดเลือดสำหรับการรักษาภาวะการฉีกเซาะของผนังหลอดเลือดแดงที่คอที่มีอาการ

คำถามของการทบทวนวรรณกรรม

การทบทวนนี้จัดทำขึ้นเพื่อตรวจสอบว่าการผ่าตัดหรือการสวนหลอดเลือด เช่น การใส่ขดลวด (stent) เพิ่มเติมจากยากันเลือดแข็งตัวจะช่วยเพิ่มผลลัพธ์ในผู้ที่มีภาวะการฉีกเซาะของผนังหลอดเลือดแดงที่คอ (cervical artery dissection) ที่ซึ่งการรักษาด้วยยากันเลือดแข็งตัวเพียงอย่างเดียวไม่ช่วยให้อาการดีขึ้นอย่างต่อเนื่องหรือทำให้อาการของโรคหลอดเลือดสมองแย่ลง ผลลัพธ์ที่ต้องการประเมินคือ ความเสียหายของสมองอย่างถาวร และความพิการในระยะยาวจากโรคหลอดเลือดสมอง

ความเป็นมา

การฉีกเซาะของผนังหลอดเลือดแดงที่คอ (cervical artery dissection) เป็นการฉีกขาดของผนังหลอดเลือดที่ส่งเลือดไปเลี้ยงสมอง ซึ่งประกอบด้วยหลอดเลือด 2 ชุด คือ หลอดเลือดแดง carotid ซ้าย-ขวาข้างละ 1 เส้น และหลอดเลือดแดง vertebral ซ้าย-ขวาข้างละ 1 เส้น เมื่อเกิดการฉีกขาดในผนังของหลอดเลือดแดงเหล่านี้มักทำให้เกิดลิ่มเลือดขึ้น ซึ่งสามารถแตกออกจากผนังหลอดเลือดและไหลไปยังสมองเกิดเป็นโรคหลอดเลือดสมอง (stroke) ได้ การรักษามาตรฐานในภาวะนี้คือ การให้ยากันเลือดแข็งตัวและยาลดการเกิดลิ่มเลือด อย่างไรก็ตาม บางครั้งผู้ป่วยยังคงมีอาการของโรคหลอดเลือดสมองและอาจแย่ลงแม้จะใช้ยาในขนาดสูงสุดแล้วก็ตาม

วันที่สืบค้น

ผู้วิจัยทำการทบทวนวรรณกรรมอย่างละเอียดและครอบคลุมเพื่อค้นหาการทดลองทางคลินิกซึ่งสามารถช่วยตอบคำถามนี้ได้ หลักฐานที่มีอยู่เป็นปัจจุบันจนถึงเดือนมีนาคม 2020

ลักษณะของการศึกษา

ผู้วิจัยสนใจการศึกษาที่ดำเนินการตามวัตถุประสงค์และออกแบบมาโดยเฉพาะเพื่อเปรียบเทียบระหว่างการผ่าตัดหรือการสวนหลอดเลือดกับการให้ยาเพียงอย่างเดียว

ผลลัพธ์ที่สำคัญ

ผู้วิจัยไม่พบการศึกษาใดๆ ที่เข้าเกณฑ์ของการทบทวน ดังนั้น จึงไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดที่แสดงว่าการผ่าตัดหรือการสวนหลอดเลือดจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยที่ยังคงมีอาการของโรคหลอดเลือดสมองแม้จะได้รับยาแล้วก็ตาม ผู้วิจัยพบรายงานจำนวนมากจากกลุ่มแพทย์ที่มีประสบการณ์ที่บอกว่าผลการผ่าตัดและการสวนหลอดเลือดนั้นปลอดภัย อย่างไรก็ตาม ผู้วิจัยไม่พบหลักฐานว่ารายงานเหล่านั้นจะสามารถใช้กับโรงพยาบาลและทีมคลินิกอื่นๆ ได้หรือไม่ ดังนั้นจำเป็นต้องมีการศึกษาขนาดใหญ่ที่มีการดำเนินการอย่างดีเพื่อตอบคำถามนี้ี

ความน่าเชื่อถือของหลักฐาน

ไม่มีหลักฐานคุณภาพดีในการแนะนำแพทย์เกี่ยวกับการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับผู้ที่มีการฉีกเซาะของผนังหลอดเลือดแดงที่คอที่ยังคงมีอาการอยู่แม้จะได้รับยาที่เหมาะสมแล้วก็ตาม

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

ไม่มี RCTs หรือ CCTs ที่เปรียบเทียบการผ่าตัดหรือการสวนหลอดเลือดกับการรักษามาตรฐาน ดังนั้น จึงยังไม่มีหลักฐานสนับสนุนการใช้วิธีดังกล่าวในการรักษาภาวะการฉีกเซาะของผนังหลอดเลือดแดงที่คอเพิ่มเติมจากการให้ยาต้านเกร็ดเลือดในผู้ที่ยังคงมีอาการทางระบบประสาทเมื่อได้รับยาต้านเกร็ดเลือดเพียงอย่างเดียว

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

การฉีกเซาะของผนังหลอดเลือดแดงที่คอ (Cervical artery dissection; CeAD) คือ การเกิดเลือดออกหรือฉีกขาดหรือทั้งสองอย่างในผนังของหลอดเลือดแดง carotid หรือ vertebral ที่อยู่บริเวณลำคอ และเป็นสาเหตุสำคัญของโรคหลอดเลือดสมองในคนอายุน้อย

วัตถุประสงค์: 

เพื่อประเมินประสิทธิผลของการผ่าตัดและการสวนหลอดเลือดเทียบกับการให้ยาที่ดีที่สุดเพียงอย่างเดียวสำหรับการรักษาภาวะการฉีกเซาะของผนังหลอดเลือดแดงที่คอที่มีอาการ

วิธีการสืบค้น: 

ผู้วิจัยทำการสืบค้นอย่างครอบคลุมใน Cochrane Stroke Group Trials Register (สืบค้นครั้งล่าสุดในเดือนมีนาคม 2020), Cochrane Central Register of Controlled Trials (CENTRAL), 2020, Issue 4, ใน Cochrane Library (สืบค้นเมื่อมีนาคม 2020), MEDLINE (1946 ถึงมีนาคม 2020) และ Embase (1974 ถึงมีนาคม 2020) นอกจากนี้ยังค้นหาการทดลองที่เกี่ยวข้องที่กำลังดำเนินการอยู่และแบบลงทะเบียนการวิจัย (สืบค้นเมื่อมีนาคม 2020), ตรวจสอบรายการอ้างอิงในการศึกษาที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเพื่อหาการศึกษาที่เข้าเกณฑ์เพิ่มเติม และติดต่อผู้เขียนและนักวิจัยในสาขานั้น

เกณฑ์การคัดเลือก: 

การศึกษาที่เข้าเกณฑ์คัดเลือกคือ การทดลองแบบ randomised controlled trials (RCTs) และ controlled clinical trials (CCTs) ของการผ่าตัดหรือการสวนหลอดเลือดสำหรับการรักษา CeAD ที่มีอาการ และสนใจเฉพาะการศึกษาที่มีกลุ่มควบคุมเป็นการให้ยาต้านการแข็งตัวของเลือดหรือยาต้านเกล็ดเลือด ผู้ทบทวนววรณกรรม 2 คนต่างดึงข้อมูลอย่างเป็นอิสระต่อกัน

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

ผลลัพธ์หลัก ได้แก่ โรคหลอดเลือดสมองในข้างที่มีพยาธิสภาพของหลอดเลือด และภาวะทุพพลภาพ ผลลัพธ์รอง ได้แก่ การเสียชีวิต, โรคหลอดเลือดสมองใดๆ, หรือภาวะ transient ischaemic attack, การตีบของหลอดเลือดที่เหลืออยู่ (> 50%), การกลับเป็นซ้ำของการฉีกเซาะของหลอดเลือด, expanding pseudoaneurysm, หรือการมีเลือดออกที่รุนแรง ผู้วิจัยได้วิเคราะห์การศึกษาตามตัวเลือกแรกของการรักษา และวางแผนที่จะประเมินความเสี่ยงของอคติและใช้เกณฑ์ GRADE สำหรับการศึกษาใดๆ ที่นำมาประเมิน

ผลการวิจัย: 

ผู้วิจัยไม่พบ RCT หรือ CCT ที่สมบูรณ์ที่ศึกษาในหัวข้อการวิจัยนี้

บันทึกการแปล: 

ผู้แปล นพ.จักรพงศ์ รู้ปิติวิริยะ วันที่ 15 มีนาคม 2021

Tools
Information