วิธีการดูแลรักษาด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศสุขภาพ (eHealth) สำหรับผู้ที่เป็นโรคไตเรื้อรัง

ปัญหาคืออะไร

โรคไตเรื้อรัง (Chronic kidney disease (CKD)) เป็นภาวะที่การทำงานของไตลดลงในช่วงระยะเวลาหนึ่ง การที่จะให้ผู้ที่เป็นโรคไตเรื้อรังยังมีความเป็นอยู่ที่ดีนั้นจำเป็นต้องปฎิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ในเรื่องอาหารเชิงซ้อน วิถีชีวิต การใช้ยา และบ่อยครั้งจำเป็นต้องรับบริการทางการแพทย์จากผู้เชี่ยวชาญ ผู้ที่เป็นโรคไตเรื้อรังรุนแรงบางคนอาจจำเป็นต้องล้างไตหรือรักษาด้วยการปลูกถ่ายไต ผู้ป่วยที่สามารถจัดการโรคนี้ได้ด้วยตนเองนั้นช่วยปรับปรุงคุณภาพชีวิตและช่วยให้มีชีวิตที่ยืนยาวยิ่งขึ้น อีกทั้งลดค่าใช้จ่ายในทางการแพทย์อีกด้วย วิธีการดูแลรักษาด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศสุขภาพ (eHealth) อาจช่วยเพิ่มความสามารถของผู้ป่วยในการดูแลตนเองและปรับปรุงการดูแลรักษาของการให้บริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข วิธีการดูแลรักษาด้วย eHealth หมายถึง "การให้บริการและการส่งต่อข้อมูล หรือส่งเสริมสุขภาพผ่านอินเตอร์เน็ตและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง" อย่างไรก็ตาม ยังมีงานวิจัยเพียงเล็กน้อยที่ประเมินผลกระทบของการดูแลรักษาด้วย eHealth ในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง

เราทำอะไร

เรามุ่งเน้นไปที่การทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม (RCT) ซึ่งศึกษาในผู้ที่เป็นโรคไตเรื้อรัง (รวมถึงก่อนการฟอกเลือด การฟอกเลือดหรือการปลูกถ่ายไต) และเปรียบเทียบการดูแลรักษาด้วย eHealth กับการดูแลรักษาตามปกติ

เราค้นพบอะไร

เราพบการศึกษา 43 เรื่อง ที่มีผู้เข้าร่วมโครงการ 6617 คนที่เป็นโรคไตเรื้อรัง ซึ่งได้รับการประเมินว่าการดูแลรักษาด้วย eHealth ช่วยปรับปรุงการดูแลผู้ป่วยและผลลัพธ์ด้านสุขภาพหรือไม่ การดูแลรักษาด้วย eHealth ใช้ชนิดของเทคโนโลยีที่แตกต่างกัน เช่น โทรเวช (Telehealth) จอภาพอิเล็กทรอนิก (Electronic monitors) แอปพลิเคชันมือถือหรือแท็บเล็ตข้อความตัวอักษรหรืออีเมล เว็บไซต์ และดีวีดีหรือวิดีโอ การดูแลรักษาถูกจำแนกตามเจตจำนงของผู้เข้าร่วมโครงการ ได้แก่ การศึกษา ระบบเตือนความจำ การตรวจสอบตนเอง การให้คำปรึกษาด้านพฤติกรรม การช่วยตัดสินใจทางคลินิก และการดูแลรักษาแบบผสมผสาน เราแบ่งผลลัพธ์ออกเป็น 9 ด้าน ได้แก่ การบริโภคอาหาร คุณภาพชีวิต การควบคุมความดันโลหิต การรับประทานยา ผลการตรวจเลือด การวิเคราะห์ต้นทุน พฤติกรรม กิจกรรมทางกาย และผลลัพธ์สุดท้ายทางคลินิก เช่น การเสียชีวิต เราพบว่ายังมีความไม่แน่นอนว่าการใช้การดูแลรักษาด้วย eHealth ช่วยปรับปรุงผลลัพธ์ทางคลินิกและผลลัพธ์โดยยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง เมื่อเทียบกับการดูแลรักษาตามปกติ คุณภาพของการศึกษาที่นำเข้ามีคุณภาพต่ำ ซึ่งหมายความว่าเราไม่สามารถมั่นใจได้ว่าการศึกษาในอนาคตจะพบผลลัพธ์ในทำนองเดียวกัน

บทสรุป

เราไม่แน่ใจว่าการใช้การดูแลรักษาด้วย eHealth จะช่วยปรับปรุงผลลัพธ์สำหรับผู้ที่เป็นโรคไตเรื้อรัง เราต้องการการศึกษาที่มีขนาดใหญ่และมีคุณภาพดีเพื่อช่วยให้เข้าใจผลกระทบของ eHealth ต่อสุขภาพของผู้ที่เป็นโรคไตเรื้อรัง

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

การดูแลรักษาด้วย eHealth อาจช่วยปรับปรุงการจัดการบริโภคโซเดียมในอาหารและการจัดการของเหลวได้ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลเหล่านี้โดยรวมชี้ให้เห็นว่าหลักฐานในปัจจุบันสำหรับการใช้การดูแลรักษาด้วย eHealth ในประชากรผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังมีคุณภาพต่ำ โดยมีผลกระทบที่ไม่ชัดเจนเนื่องจากข้อจำกัดด้านระเบียบวิธีวิจัยและความแตกต่างของรูปแบบ eHealth และประเภทวิธีการดูแลรักษา การทบทวนวรรณกรรมของเราได้เน้นถึงความจำเป็นต้องมีการวิจัยที่มีประสิทธิภาพและมีคุณภาพสูงซึ่งรายงานชุดข้อมูลหลัก (ขั้นต่ำ) เพื่อให้สามารถประเมินผลงานได้อย่างมีความหมาย

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

โรคไตเรื้อรัง (CKD) มีความสัมพันธ์กับการเจ็บป่วยและการเสียชีวิตสูง ซึ่งเพิ่มขึ้นเมื่อโรคไตเรื้อรังดำเนินไปสู่โรคไตระยะสุดท้าย (ESKD) มีความสนใจในการพัฒนาวิธีการใหม่ ๆ ที่มีประสิทธิผลและคุ้มค่าเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มผู้ป่วย ปรับปรุงพฤติกรรม และผลลัพธ์ด้านสุขภาพให้ดีขึ้น โดยทั่วโลกมีการใช้เทคโนโลยีเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยมีความสนใจเพิ่มขึ้นในการใช้วิธีการดูแลรักษาด้วย eHealth เพื่อปรับปรุงการเข้าถึงข้อมูลด้านสุขภาพที่เกี่ยวข้องของผู้ป่วย เพิ่มคุณภาพของการดูแลสุขภาพ และส่งเสริมให้มีพฤติกรรมที่ดีต่อสุขภาพ

วัตถุประสงค์: 

การทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินประโยชน์และอันตรายของการใช้วิธีการดูแลรักษาด้วย eHealth เพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสุขภาพในผู้ที่เป็นโรคไตเรื้อรัง

วิธีการสืบค้น: 

เราสืบค้นในฐานข้อมูล Cochrane Kidney and Transplant Specialised Register จนถึงวันที่ 14 มกราคม 2019 ผ่านการติดต่อกับผู้เชี่ยวชาญด้านสารสนเทศโดยใช้คำค้นที่เกี่ยวข้องกับการทบทวนวรรณกรรมนี้ การศึกษาที่ลงทะเบียนถูกพบโดยการสืบค้นในฐานข้อมูลดังนี้ CENTRAL, MEDLINE และ EMBASE, เอกสารการประชุมวิชาการ, the International Clinical Trials Register (ICTRP) Search Portal และ ClinicalTrials.gov

เกณฑ์การคัดเลือก: 

การทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม (RCTs) และการวิจัยกึ่งทดลอง (quasi-RCTs) ที่ใช้วิธีการดูแลรักษาด้วย eHealth เพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในผู้ที่เป็นโรคไตเรื้อรังถูกนำเข้ามาในการทบทวนวรรณกรรม ไม่มีข้อจำกัดเกี่ยวกับผลลัพธ์ ภาษา หรือชนิดการตีพิมพ์

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

ผู้ทบทวนวรรณกรรม 2 คนประเมินความเหมาะสมของการศึกษาตามเกณฑ์ ดึงข้อมูล และประเมินความเสี่ยงของการมีอคติอย่างอิสระต่อกัน ความเชื่อมั่นของหลักฐานที่ได้รับการประเมินโดยใช้วิธีการ GRADE

ผลการวิจัย: 

เรานำเข้าการศึกษา 43 เรื่อง มีผู้เข้าร่วมโครงการ 6617 คนที่ประเมินผลกระทบของการดูแลรักษาด้วย eHealth ในผู้ที่เป็นโรคไตเรื้อรัง การศึกษาที่นำเข้ามีความแตกต่างกันในแง่ของรูปแบบ eHealth ที่ใช้ ประเภทของวิธีการดูแลรักษา ประชากรผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่ศึกษา และผลลัพธ์ที่ประเมิน การศึกษาส่วนใหญ่ (การศึกษา 39 เรื่อง) ดำเนินการศึกษาในประชากรผู้ใหญ่ โดย การศึกษา 16 (37%) เรื่องดำเนินการศึกษาในผู้ที่ล้างไต การศึกษา 11 (26%) เรื่อง ดำเนินการศึกษาในกลุ่มประชากรก่อนการล้างไต การศึกษา 15 (35%) เรื่อง ดำเนินการศึกษาในผู้รับการปลูกถ่าย และอีกการศึกษา 1(2%) เรื่อง ดำเนินการศึกษาในผู้สมัครปลูกถ่าย เราพบวิธีการใช้ eHealth ที่แตกต่างกัน 6 แบบ ได้แก่ โทรเวช; แอปพลิเคชันมือถือหรือแท็บเล็ต ข้อความหรืออีเมล จอภาพอิเล็กทรอนิก อินเทอร์เน็ต / เว็บไซต์; และวิดีโอหรือดีวีดี การศึกษาจำนวน 3 เรื่องใช้วิธีการดูแลรักษาด้วย eHealth แบบผสมผสาน วิธีการดูแลรักษาถูกจำแนกออกเป็น 6 ประเภท ได้แก่ การให้ความรู้ ระบบเตือนความจำ การตรวจสอบตนเอง การให้คำปรึกษาด้านพฤติกรรม การช่วยตัดสินใจทางคลินิก และการดูแลรักษาแบบผสมผสาน เราพบ 98 ผลลัพธ์ซึ่งแบ่งออกเป็น 9 ด้าน: ความดันโลหิต (การศึกษา 9 เรื่อง); ค่าทางชีวเคมี (การศึกษา 6 เรื่อง); ผลลัพธฺ์สุดท้ายทางคลินิก (การศึกษา 16 เรื่อง); การบริโภคอาหาร (การศึกษา 3 เรื่อง); คุณภาพชีวิต (การศึกษา 9 เรื่อง); ความสม่ำเสมอในการรับประทานยา (การศึกษา 10 เรื่อง); พฤติกรรม (การศึกษา 7 เรื่อง); การออกกำลังกาย ( การศึกษา 1 เรื่อง); และความคุ้มทุน (การศึกษา 7 เรื่อง)

มีเพียง 3 ผลลัพธ์เท่านั้นที่สามารถวิเคราะห์เมตต้า (Meta-analysis) ได้ เนื่องจากมีความแตกต่างกันอย่างมากในประชากรที่ศึกษาและรูปแบบ eHealth ที่ใช้ เราพบน้ำหนักตัวที่เพิ่มระหว่างการฟอกเลือด (interdialytic weight gain) ลดลง 0.13 กิโลกรัม (การศึกษา 4 เรื่อง ผู้เข้าร่วมโครงการ 335 คน: MD -0.13, 95% CI -0.28 ถึง 0.01; I2 = 0%) และปริมาณโซเดียมในอาหารลดลง 197 มก. / วัน (การศึกษา 2 เรื่อง ผู้เข้าร่วมโครงการ 181 คน: MD -197, 95% CI -540.7 ถึง 146.8; I2 = 0%). ผลลัพธ์ของทั้งการจัดการโซเดียมในอาหารและของเหลว ได้รับการจัดระดับหลักฐานในระดับต่ำเนื่องจากมีความเสี่ยงสูงหรือไม่ชัดเจนของความเสี่ยงของการมีอคติและความไม่เที่ยงตรง (การเพิ่มของน้ำหนักตัวที่เพิ่มระหว่างการฟอกเลือด) และความเสี่ยงที่สูงหรือไม่ชัดเจนของความเสี่ยงของการมีอคติและความไม่แม่นยำ (การบริโภคโซเดียมในอาหาร) การศึกษา 3 เรื่องรายงานการเสียชีวิต (ผู้เข้าร่วมโครงการ 2799 คน เสียชีวิต 146 คน) โดยมีผู้เสียชีวิต 45 คน / 1,000 คน เมื่อเทียบกับการดูแลมาตรฐานที่มีผู้เสียชีวิต 61 คน / 1,000 คน (RR 0.74, CI 0.53 ถึง 1.03; P = 0.08) เรายังไม่แน่ใจว่าการใช้วิธีการดูแลรักษาด้วย eHealth นอกเหนือจากการดูแลตามปกติจะส่งผลกระทบต่อจำนวนผู้เสียชีวิตหรือไม่ เพราะความน่าเชื่อถือของหลักฐานนี้มีระดับต่ำเนื่องจากมีความเสี่ยงของการมีอคติสูงหรือไม่ชัดเจน ความไม่คล้ายคลึงกันของหลักฐานทางตรงระหว่างคู่เปรียบเทียบ (Indirectness) และความไม่แม่นยำ (imprecision)

บันทึกการแปล: 

แปลโดย นายอนุวัตน์ เพ็งพุฒ นักวิชาการสาธารณสุขปฏิบัติการ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอห้วยเม็ก จังหวัดกาฬสินธุ์ วันที่ 13 สิงหาคม 2020

Tools
Information