ผลการลดความดันโลหิตของยา beta-blockers ที่มีฤทธิ์ partial agonist มีความสม่ำเสมอหรือแปรเปลี่ยนไปตามแต่ละช่วงเวลาของวัน

คำถามของการทบทวนวรรณกรรม

การทบทวนนี้เพื่อตอบคำถามว่า ผลการลดความดันโลหิตของยา beta-blockers ที่มีฤทธิ์ partial agonist มีความสม่ำเสมอหรือแปรเปลี่ยนไปตามแต่ละช่วงเวลาของวัน ในผู้ใหญ่ที่มีความดันโลหิตสูง (ค่าความดันโลหิตตัวบนมากกว่า 140 มม.ปรอท หรือค่าความดันโลหิตตัวล่างมากกว่า 90 มม.ปรอท หรือทั้งสองอย่าง)

ความเป็นมา

ความดันโลหิตสูง (Hypertension) พบได้บ่อยในประชากรทั่วไป และหากไม่ได้รับการรักษาจะเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองและโรคหัวใจ โดยธรรมชาติแล้ว ค่าความดันโลหิตของแต่ละคนจะแปรเปลี่ยนไปแต่ละช่วงเวลาของวัน โดยมีค่าต่ำที่สุดในเวลากลางคืน ค่อยๆ เพิ่มขึ้นก่อนที่เราจะตื่นนอน จากนั้นจะลดลงเรื่อย ๆ ในระหว่างวัน การเปลี่ยนแปลงรูปแบบของความดันโลหิตที่ผิดไปจากนี้ พบว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจโดยไม่ขึ้นกับระดับความดันโลหิตที่เพิ่มขึ้น

Beta-blockers เป็นยาที่ใช้ในการรักษาความดันโลหิตสูงอย่างแพร่หลาย ซึ่งในปัจจุบัน เราไม่ทราบว่ายา beta-blockers ช่วยลดความดันโลหิตในระดับที่ต่างกันในแต่ละช่วงเวลาของวันหรือไม่ และแตกต่างกันอย่างไรเมื่อเทียบกับยารักษาความดันโลหิตสูงชนิดอื่น การทบทวนครั้งนี้ได้มุ่งเน้นไปที่ยา beta-blockers ที่มีฤทธิ์ partial agonist (เป็นสารที่ทั้งกระตุ้นและยับยั้งตัวรับของมัน)

ช่วงเวลาที่สืบค้น

ผู้วิจัยได้สืบค้นการศึกษาที่มีอยู่และรวบรวมการศึกษาที่เกี่ยวข้องจนถึงเดือนมิถุนายน 2020

ลักษณะของการศึกษา

ผู้วิจัยสืบค้นการศึกษาที่วัดผลการลดความดันโลหิตของยา beta-blockers ที่มีฤทธิ์ partial agonist ทั้งหมด 6 ตัว ในช่วงเวลาที่ต่างกันตลอดระยะเวลา 24 ชั่วโมง ซึ่งวัดโดยอุปกรณ์วัดความดันโลหิตแบบติดตามตัว (ambulatory monitoring) ซึ่งจะวัดความดันโลหิตโดยอัตโนมัติด้วยระยะเวลาสม่ำเสมอ

ผลลัพธ์สำคัญ

ผู้วิจัยได้รวบรวมการศึกษาทั้งหมด 7 ฉบับ มีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 121 คน ที่ศึกษายา beta-blockers ที่มีฤทธิ์ partial agonist 3 ใน 6 ตัว (acebutolol, pindolol และ bopindolol) พบว่ายา beta-blockers เหล่านี้ช่วยลดความดันโลหิตและอัตราการเต้นของหัวใจในตอนกลางวันและตอนเย็นได้มากกว่าตอนกลางคืน ซึ่งปัจจุบัน เรายังไม่ทราบถึงประโยชน์และโทษของรูปแบบการลดความดันโลหิตรูปแบบนี้ ตัวอย่างเช่น ผลกระทบต่อการลดการเกิดโรคหลอดเลือดสมองและโรคหัวใจ

ความน่าเชื่อถือของหลักฐาน

มีงานวิจัยเพียงไม่กี่ฉบับที่เข้าเกณฑ์ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมการวิจัยในจำนวนไม่มาก ผู้วิจัยตัดสินว่าการศึกษาส่วนใหญ่มีความเสี่ยงของการมีอคติสูงหรือไม่ชัดเจน โดยรวมแล้วผู้วิจัยตัดสินความเชื่อมั่นของหลักฐานว่าอยู่ในระดับต่ำมากในทุกๆ ผลลัพธ์ที่รายงาน การศึกษาเพิ่มเติมในอนาคตมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบที่สำคัญต่อการประมาณประสิทธิภาพของยาดังกล่าวและอาจเปลี่ยนแปลงข้อสรุป

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

ยังไม่มีหลักฐานที่เพียงพอที่จะสรุปได้ถึงระดับความผันแปรของฤทธิ์การลดความดันโลหิตรายชั่วโมงของ BBPAA ตลอดช่วงเวลา 24 ชั่วโมง ในผู้ใหญ่ที่มีความดันโลหิตสูงปฐมภูมิ (essential hypertension) มีหลักฐานความน่าเชื่อถือต่ำมากแสดงให้เห็นว่า BBPAA ได้แก่ acebutalol, pindolol และ bopindolol ช่วยลดความดันโลหิตในตอนกลางวันและตอนเย็นได้มากกว่าตอนกลางคืน อย่างไรก็ตาม จำนวนการศึกษาและผู้เข้าร่วมการวิจัยที่รวมอยู่ในการทบทวนนี้มีน้อยมาก ทำให้ลดระดับความเชื่อมั่นของผลลัพธ์ดังกล่าว เราต้องการการศึกษาเพิ่มเติมในกลุ่มประชากรที่มากขึ้น โดยมีการบันทึกเวลาที่รับประทานยาอย่างแม่นยำและมีการรายงานส่วนค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานของ BP และ HR ในแต่ละชั่วโมง

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

Beta-blockers เป็นยาที่ใช้ในการรักษาความดันโลหิตสูงอย่างแพร่หลาย แต่เราไม่ทราบว่าฤทธิ์ในการลดความดันโลหิต (BP) ของยา beta-blockers จะแตกต่างกันไปในแต่ละช่วงเวลาของวันหรือไม่ การทบทวนวรรณกรรมครั้งนี้ได้มุ่งเน้นไปที่คลาสย่อยของ beta-blockers ที่มีฤทธิ์ partial agonist (beta-blockers with partial agonist activity; BBPAA)

วัตถุประสงค์: 

เพื่อประเมินระดับความผันแปรของประสิทธิภาพการลดความดันโลหิตรายชั่วโมงของ BBPAA ตลอดช่วงเวลา 24 ชั่วโมง ในผู้ใหญ่ที่มีความดันโลหิตสูงปฐมภูมิ (essential hypertension)

วิธีการสืบค้น: 

ทาง Cochrane Hypertension Information Specialist ได้สืบค้นการศึกษาจากฐานข้อมูลต่อไปนี้จนถึงเดือนมิถุนายน 2020: the Cochrane Hypertension Specialised Register, CENTRAL 2020 ฉบับที่ 5, MEDLINE Ovid, Embase Ovid, the World Health Organization International Clinical Trial Registry Platform และ ClinicalTrials.gov นอกจากนี้ผู้วิจัยยังได้ติดต่อคณะผู้วิจัยที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับงานที่ตีพิมพ์เพิ่มเติมและงานที่ยังไม่ได้เผยแพร่ ทั้งนี้ ไม่มีข้อจำกัดด้านภาษาในการสืบค้น

เกณฑ์การคัดเลือก: 

ผู้วิจัยพยายามที่จะรวบรวมการศึกษาแบบ randomised และ non-randomised ทั้งหมดที่ประเมินผลรายชั่วโมงของ BBPAA โดยเครื่องมือวัดความดันโลหิตแบบติดตามตัว (ambulatory monitoring) โดยมีการติดตามอย่างน้อยสามสัปดาห์

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

ผู้ทบทวนงานวิจัยสองคนได้เลือกและดึงข้อมูลจากรายงานการศึกษาที่รวบรวมได้อย่างเป็นอิสระต่อกัน และประเมินความเชื่อมั่นของหลักฐานโดยวิธี GRADE approach ผลลัพธ์ที่รวมอยู่ในการทบทวนครั้งนี้ ได้แก่ ความดันโลหิต systolic และ diastolic ประจำชั่วโมง (SBP และ DBP) และอัตราการเต้นของหัวใจ (HR) ซึ่งวัดโดยใช้อุปกรณ์ตรวจวัดความดันโลหิตแบบติดตามตัว (ambulatory BP monitoring; ABPM) ตลอด 24 ชั่วโมง

ผลการวิจัย: 

มีงานวิจัย BBPAA แบบ non-randomised baseline controlled trials 14 ฉบับที่เข้าเกณฑ์การคัดเลือก แต่มีเพียง 7 การศึกษา (ผู้เข้าร่วม 121 คน) ที่รายงานข้อมูล BP รายชั่วโมงซึ่งอาจรวมอยู่ในการวิเคราะห์ meta-analysis โดย Beta-blockers ที่ศึกษา ได้แก่ acebutalol, pindolol และ bopindolol ผู้วิจัยตัดสินว่าการศึกษาส่วนใหญ่มีความเสี่ยงสูงหรือไม่ชัดเจนในการมี selection bias, attrition bias และ reporting bias โดยรวมแล้วผู้วิจัยตัดสินความเชื่อมั่นของหลักฐานว่าอยู่ในระดับต่ำมากในทุกๆ ผลลัพธ์ที่รายงาน

ผู้วิจัยวิเคราะห์และนำเสนอข้อมูลตามแต่ละชั่วโมงหลังการให้ยา หลักฐานความน่าเชื่อถือต่ำมากแสดงให้เห็นว่าค่าเฉลี่ยของการลดลดของ BP และ HR ในแต่ละชั่วโมง ค่อยๆ มีค่าลดลงเมื่อเวลาผ่านไป กล่าวคือ ตลอดระยะเวลา 24 ชั่วโมง ระดับของ SBP ที่ลดลงในแต่ละชั่วโมงอยู่ระหว่าง -3.68 มม.ปรอท ถึง -17.74 มม.ปรอท (7 การศึกษา, ผู้เข้าร่วม 121 คน), ระดับ DBP ที่ลดลงในแต่ละชั่วโมงอยู่ระหว่าง -2.27 มม.ปรอท ถึง -9.34 มม.ปรอท (7 การศึกษา, ผู้เข้าร่วม 121 คน) และการลด HR ในแต่ละชั่วโมงอยู่ระหว่าง -0.29 ครั้ง/นาที ถึง -10.29 ครั้ง/นาที (4 การศึกษา, ผู้เข้าร่วม 71 คน) และเมื่อเปรียบเทียบระหว่างช่วงเวลา 8 ชั่วโมงสามช่วงที่ตรงกับช่วงกลางวัน, ช่วงเย็น และตอนกลางคืน พบว่า BBPAA มีประสิทธิภาพในการลด BP และ HR ในเวลากลางคืนน้อยกว่าในช่วงกลางวันและตอนเย็น อย่างไรก็ตาม เนื่องจากผลลัพธ์เหล่านี้มาจากหลักฐานที่มีความเชื่อมั่นต่ำมาก การวิจัยเพิ่มเติมจึงมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบที่สำคัญต่อการประมาณผลลัพธ์ของยาดังกล่าว และอาจทำให้ข้อสรุปเปลี่ยนไป

บันทึกการแปล: 

แปลโดย นพ.จักรพงศ์ รู้ปิติวิริยะ

Tools
Information