กิจกรรมที่ปรับแต่งเฉพาะบุคคลสำหรับผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมที่อาศัยอยู่ในสถานดูแลระยะยาว

การแปลนี้ไม่ทันสมัย โปรด คลิกที่นี่ เพื่อดูฉบับภาษาอังกฤษล่าสุดของการทบทวนนี้

ความเป็นมา

คนที่เป็นโรคสมองเสื่อมที่อาศัยอยู่ในบ้านพักคนชรา หรือสถานดูแลผู้สูงอายุมักไม่ค่อยมีกิจกรรมทำ กิจกรรมที่มีอยู่อาจไม่มีความหมายสำหรับพวกเขา หากบุคคลที่มีภาวะสมองเสื่อมมีโอกาสที่จะมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่ตรงกับความสนใจและความชอบส่วนตัวของเขาหรือของเธอ การได้ทำกิจกรรมเหล่านี้อาจทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ลดพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการเกิดอันตราย เช่นการอยู่ไม่นิ่ง หรือพฤติกรรมก้าวร้าว และมีผลในเชิงบวกอื่นๆ

วัตถุประสงค์ของการทบทวนนี้

เราต้องการศึกษาผลของการนำเสนอกิจกรรมต่างๆ ที่ถูกปรับให้มีความสอดคล้องกับความสนใจเฉพาะของผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมที่อาศัยอยู่ในบ้านพักคนชรา

การศึกษาที่ถูกเลือกมาทบทวนวรรณกรรมนี้

ในเดือนมิถุนายน 2017 เราสืบค้นการทดลองที่เสนอโปรแกรมกิจกรรมให้ผู้เข้าร่วมวิจัยบางคนตามความสนใจของแต่ละบุคคล (กลุ่มทดลอง) และได้เปรียบเทียบกับผู้เข้าร่วมวิจัยคนอื่นๆ ที่ไม่ได้รับการเสนอกิจกรรมเหล่านี้ (กลุ่มควบคุม)

เราพบการศึกษา 8 รายการ มีผู้เข้าร่วมวิจัยที่มีภาวะสมองเสื่อมที่อาศัยอยู่ในบ้านพักคนชราจำนวนทั้งหมด 957 คน การศึกษา 7 รายการ เป็นการศึกษาแบบ randomized controlled trials (RCTs) ซึ่งหมายความว่าได้มีการสุ่มว่าผู้เข้าร่วมวิจัยอยู่ในกลุ่มทดลองหรือกลุ่มควบคุม การศึกษา 1 รายการ ไม่ได้รับการสุ่ม ซึ่งทำให้มีความเสี่ยงสูงที่จะได้ผลลัพธ์ที่มีอคติ จำนวนผู้เข้าร่วมการศึกษาวิจัยในการทบทวนวรรณกรรมฉบับนี้อยู่ระหว่าง 25 ถึง 180 คน พวกเขาทั้งหมดมีภาวะสมองเสื่อมในระดับปานกลางหรือรุนแรง และเกือบทั้งหมดมีพฤติกรรมที่ท้าทายบางอย่างในช่วงระยะเริ่มต้นการทดลอง การศึกษาใช้เวลาตั้งแต่ 10 วัน ถึง 9 เดือน ในการศึกษาทั้งหมด กลุ่มตัวอย่างที่อยู่ในกลุ่มทดลองได้รับแผนการทำกิจกรรมเป็นรายบุคคล กิจกรรมส่วนใหญ่จัดขึ้นในช่วงเวลาเฉพาะที่ดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ที่ผ่านการฝึกอบรม แต่มีหนึ่งการศึกษาที่บุคลากรทางการพยาบาลได้รับการฝึกอบรมเป็นผู้จัดกิจกรรมในระหว่างการให้การดูแลประจำวันตามปกติ กิจกรรมที่นำเสนอในการศึกษาต่างๆ ไม่ได้แตกต่างกันมากนัก แต่จำนวนกิจกรรมต่อสัปดาห์และระยะเวลาของแต่ละครั้งแตกต่างกันไป ในการศึกษาห้าเรื่อง กลุ่มควบคุมได้รับการดูแลตามปกติในบ้านพักคนชรา ในการศึกษาสามเรื่อง กลุ่มควบคุมมีการทำกิจกรรมที่แตกต่างกันซึ่งไม่ได้ปรับให้เหมาะกับแต่ละบุคคล มีหนึ่งการศึกษาที่มีกลุ่มควบคุมทั้งสองประเภท

คุณภาพของการศึกษาและคุณภาพของการรายงานมีความหลากหลายซึ่งส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผลลัพธ์ที่เราศึกษา

ผลการศึกษาที่สำคัญ

การเสนอกิจกรรมที่ปรับให้เหมาะกับแต่ละบุคคลสำหรับผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมในบ้านพักคนชราอาจปรับปรุงพฤติกรรมที่ท้าทายเล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับการดูแลตามปกติ แม้ว่าเราจะไม่พบหลักฐานว่ากลุ่มที่ได้รับการทำกิจกรรมที่เหมาะสมแต่ละบุคคลจะดีกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับการปรับแต่งให้เหมาะสมแต่ละบุคคล ในการศึกษา 1 รายการ เจ้าหน้าที่รายงานว่าคนในกลุ่มที่ได้รับกิจกรรมที่ออกแบบเฉพาะบุคคลมีคุณภาพชีวิตที่แย่กว่ากลุ่มควบคุมเล็กน้อย กิจกรรมเฉพาะบุคคลอาจมีผลเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยต่ออารมณ์ด้านลบที่ผู้เข้าร่วมวิจัยแสดงออกมา เนื่องจากคุณภาพของหลักฐานบางอย่างต่ำมาก เราจึงไม่สามารถสรุปผลใดๆ เกี่ยวกับผลต่ออารมณ์เชิงบวก การแสดงอารมณ์ การมีส่วนร่วม (การมีส่วนร่วมกับสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวพวกเขา) หรือคุณภาพการนอนหลับของผู้เข้าร่วมวิจัยได้ มีเพียงการศึกษา 2 รายการ ที่กล่าวถึงการศึกษาผลข้างเคียงที่อาจเป็นอันตราย แต่ไม่ได้รายงานผลดังกล่าว ไม่มีการศึกษาใดรายงานผลต่อปริมาณของยาที่ผู้เข้าร่วมวิจัยได้รับ หรือผลต่อผู้ดูแล

ข้อสรุป

เราสรุปได้ว่าการเสนอกิจกรรมในแต่ละครั้งให้กับผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมระดับเล็กน้อยถึงปานกลางที่อาศัยอยู่ในบ้านพักคนชราได้ทำ อาจช่วยในการจัดการกับพฤติกรรมเสี่ยงที่จะเกิดอันตราย อย่างไรก็ตาม เราไม่พบหลักฐานใดๆ ที่สนับสนุนแนวคิดที่ว่ากิจกรรมจะมีประสิทธิผลมากขึ้น หากปรับให้เข้ากับความสนใจของแต่ละคน จำเป็นต้องมีการวิจัยที่มีคุณภาพที่ดีเพิ่มเติมก่อนที่เราจะมั่นใจเกี่ยวกับผลของกิจกรรมที่ปรับให้เหมาะกับแต่ละบุคคล

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

การเสนอกิจกรรมที่ปรับให้เหมาะกับแต่ละบุคคลโดยเฉพาะสำหรับผู้ที่เป็นโรคสมองเสื่อมในสถานการดูแลระยะยาวอาจช่วยปรับปรุงพฤติกรรมที่ท้าทายได้เล็กน้อย หลักฐานจากการศึกษาหนึ่งเรื่องชี้ให้เห็นว่าอาจเกี่ยวข้องกับการลดคุณภาพชีวิตเล็กน้อยในกรณีที่ผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ประเมินผู้ป่วย แต่อาจมีผลเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยต่อคุณภาพชีวิตในกรณีที่ผู้สูงอายุประเมินตนเอง เรานำเสนอข้อกังวลเกี่ยวกับความถูกต้องของการประเมินคุณภาพชีวิตในกรณีที่มีภาวะสมองเสื่อมขั้นรุนแรง กิจกรรมที่ปรับให้เหมาะกับแต่ละบุคคลอาจมีผลกระทบเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยต่อผลกระทบเชิงลบ และเราไม่แน่ใจว่ากิจกรรมดังกล่าวจะสามารถพัฒนาอารมณ์หรืออารมณ์ด้านบวก ไม่มีหลักฐานว่าการทำกิจกรรมมีแนวโน้มที่จะมีประสิทธิผลมากขึ้นหากอยู่บนฐานตามแบบจำลองทางทฤษฎีที่เฉพาะเจาะจงมากกว่าแบบอื่น การค้นพบของเราทำให้เราไม่สามารถให้คำแนะนำเกี่ยวกับกิจกรรมเฉพาะหรือความถี่และระยะเวลาในการออกแบบกิจกรรมได้ การวิจัยเพิ่มเติมควรเน้นไปที่วิธีการเลือกกิจกรรมที่เหมาะสมและมีความหมายสำหรับผู้ที่อยู่ในระยะต่างๆ ของภาวะสมองเสื่อม

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

ผู้ที่เป็นโรคสมองเสื่อมซึ่งได้รับการดูแลในสถานดูแลระยะยาวมักไม่ทำกิจกรรมที่มีความหมาย กิจกรรมที่ปรับแต่งให้เหมาะกับความสนใจและความชอบของแต่ละบุคคลอาจเป็นแนวทางหนึ่งในการเพิ่มคุณภาพชีวิตและลดพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจเป็นอันตราย

วัตถุประสงค์: 

เพื่อประเมินผลของกิจกรรมที่ปรับแต่งเฉพาะบุคคลต่อผลลัพธ์ทางจิตสังคมสำหรับผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมที่อาศัยอยู่ในสถานดูแลระยะยาวในชุมชน

เพื่ออธิบายองค์ประกอบของรูปแบบกิจกรรมที่ใช้ในการทดลอง

เพื่ออธิบายเงื่อนไขที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของกิจกรรมที่ปรับแต่งเฉพาะบุคคลในบริบทของสถานดูแลระยะยาวในชุมชน

วิธีการสืบค้น: 

เราสืบค้นจาก ALOIS, Cochrane Dementia and Cognitive Improvement Group's Specialized Register เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2017 โดยใช้คำต่างๆ ดังนี้: personally tailored OR individualized OR individualised OR individual OR person-centred OR meaningful OR personhood OR involvement OR engagement OR engaging OR identity เรายังทำการค้นหาเพิ่มเติมใน MEDLINE (Ovid SP), Embase (Ovid SP), PsycINFO (Ovid SP), CINAHL (EBSCOhost), Web of Science (ISI Web of Science), ClinicalTrials.gov และองค์การอนามัยโลก (WHO ) ICTRP เพื่อให้แน่ใจว่าการสืบค้นของการทบทวนวรรณกรรมเป็นปัจจุบันและครอบคลุมมากที่สุด

เกณฑ์การคัดเลือก: 

เรารวมการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม และการทดลองทางคลินิกที่มีกลุ่มควบคุมที่ได้รับการนำเสนอกิจกรรมที่ปรับแต่งเฉพาะบุคคล กิจกรรมทั้งหมดประกอบด้วย การประเมินความสนใจในปัจจุบันหรือในอดีตของผู้เข้าร่วมวิจัย หรือกิจกรรมที่ผู้ร่วมวิจัยชอบ กิจกรรมที่มีความเฉพาะนำมาใช้เป็นพื้นฐานสำหรับวางแผนกิจกรรมของแต่ละบุคคล กลุ่มควบคุมได้รับการดูแลตามปกติหรือได้รับการให้ทำกิจกรรมที่ไม่ได้มีการปรับแต่งให้เหมาะสมเฉพาะบุคคล

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

ผู้วิจัย 2 คน ตรวจสอบบทความวิจัยเพื่อนำเข้า ดึงข้อมูลและประเมินคุณภาพระเบียบวิธีการวิจัยของบทความวิจัยทั้งหมดที่นำเข้ามาในการทบทวนนี้อย่างเป็นอิสระต่อกัน ทุกงานวิจัยที่นำมาทบทวน เราได้ประเมินความเสี่ยงของอคติในการเลือกกลุ่มตัวอย่าง อคติในการดำเนินการวิจัย อคติจากการที่กลุ่มตัวอย่างออกจากการศึกษากลางคัน และอคติจากวิธีการประเมินผลลัพธ์ ในกรณีที่ข้อมูลขาดหายเราติดต่อผู้เขียนบทความ

ผลการวิจัย: 

มีการศึกษาทั้งหมด 8 รายการ ที่นำมาทบทวน มีผู้เข้าร่วมวิจัยทั้งหมดจำนวน 957 คน อายุเฉลี่ยของผู้เข้าร่วมการศึกษาอยู่ระหว่าง 78 ถึง 88 ปี และในการศึกษา 7 รายการ ค่าเฉลี่ยคะแนน MMSE คือ 12 หรือต่ำกว่า การศึกษา 7 รายการ เป็นการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม (individually randomised 3 รายการ, parallel group studies, individually randomised cross-over study 1 รายการ และ cluster-randomised trials 3 รายการ) และการศึกษา 1 รายการเป็นการศึกษาทางคลินิกที่ไม่สุ่มตัวอย่าง การศึกษา 5 รายการ ใช้กลุ่มควบคุมที่ได้รับการดูแลตามปกติ การศึกษา 2 รายการ ใช้กลุ่มควบคุมที่มีการทำกิจกรรม (แต่กิจกรรมไม่ได้รับการปรับแต่งให้เหมาะกับแต่ละบุคคล) และ 1 การศึกษากลุ่มควบคุมมีทั้งการให้ทำกิจกรรม และการดูแลตามปกติ กิจกรรมที่ออกแบบเฉพาะบุคคลส่วนใหญ่ผู้เข้าร่วมวิจัยเป็นผู้ทำกิจกรรมเองโดยตรง มี 1 การศึกษาที่เจ้าหน้าที่พยาบาลได้รับการฝึกอบรมเพื่อดำเนินกิจกรรมให้กับผู้ป่วย การเลือกกิจกรรมขึ้นอยู่กับแบบจำลองทางทฤษฎีที่แตกต่างกัน แต่กิจกรรมไม่ได้แตกต่างกันอย่างมาก

เราพบหลักฐานที่มีคุณภาพระดับต่ำที่บ่งชี้ว่ากิจกรรมที่ปรับแต่งให้มีความเฉพาะกับบุคคลอาจลดพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจเป็นอันตราย (ความแตกต่างของค่าเฉลี่ยมาตรฐาน (SMD) −0.21, ช่วงความเชื่อมั่น 95% (CI) −0.49 ถึง 0.08; I² = 50%; การศึกษา 6 รายการ; ผู้เข้าร่วมวิจัย 439 คน) นอกจากนี้เรายังพบหลักฐานคุณภาพต่ำจากการศึกษาหนึ่งที่ไม่ได้รวมอยู่ในการวิเคราะห์เมตต้าซึ่งบ่งชี้ว่ากิจกรรมที่ปรับให้เหมาะกับบุคคลอาจสร้างความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยกับอาการกระสับกระส่ายทั่วไป พฤติกรรมก้าวร้าว พฤติกรรมที่ไม่ให้ความร่วมมือ พฤติกรรมทางคำพูดเชิงลบและเชิงลบอย่างมาก (ผู้เข้าร่วมวิจัย 180 คน) มีหลักฐานน้อยมากเกี่ยวกับผลลัพธ์หลักอื่นๆ ด้านคุณภาพชีวิต ซึ่งมีการประเมินเพียงการศึกษาเดียว จากการศึกษานี้ เราพบว่าคุณภาพชีวิตที่ให้คะแนนโดยผู้ดูแลแย่ลงเล็กน้อยในกลุ่มที่ได้รับกิจกรรมที่ปรับให้เหมาะกับแต่ละบุคคล (หลักฐานคุณภาพปานกลาง ความแตกต่างเฉลี่ย (MD) −1.93, 95% CI −3.63 ถึง −0.23; ผู้เข้าร่วม 139 คน) สำหรับคุณภาพชีวิตที่ผู้สูงอายุประเมินตนเองโดยได้มาจากผู้เข้าร่วมวิจัยจำนวนน้อย พบว่าค่าคะแนนคุณภาพชีวิตมีความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยระหว่างกลุ่มที่ได้รับกิจกรรมที่ปรับแต่งให้เหมาะกับแต่ละบุคคลและกลุ่มที่ได้รับการดูแลตามปกติ (หลักฐานมีคุณภาพต่ำ, MD 0.26, 95% CI −3.04 ถึง 3.56; ผู้เข้าร่วมวิจัยจำนวน 42 คน) เราพบหลักฐานมีคุณภาพต่ำที่ระบุว่ากิจกรรมที่ปรับแต่งให้เหมาะกับแต่ละบุคคลอาจสร้างความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีความแตกต่างต่อผลกระทบด้านลบ (SMD −0.02, 95% CI −0.19 ถึง 0.14; I² = 0%; การศึกษา 6 รายการ; ผู้เข้าร่วมวิจัย 589 คน) เราพบหลักฐานที่มีคุณภาพต่ำมาก ดังนั้นจึงมีความไม่แน่นอนว่ากิจกรรมที่ปรับแต่งให้เหมาะกับแต่ละบุคคลมีผลต่อผลลัพธ์เชิงบวกหรือไม่ (SMD 0.88, 95% CI 0.43 ถึง 1.32; I² = 80%; การศึกษา 6 รายการ; ผู้เข้าร่วมวิจัย 498 คน); หรือด้านอารมณ์ (SMD −0.02, 95% CI −0.27 ถึง 0.23; I² = 0%; การศึกษา 3 รายการ; ผู้เข้าร่วมวิจัย 247 คน) เราไม่สามารถทำการวิเคราะห์เมตต้าสำหรับการมีส่วนร่วมและผลลัพธ์ที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับ เราพบหลักฐานคุณภาพที่มีระดับต่ำมาก ดังนั้นจึงมีความไม่แน่นอนว่ากิจกรรมที่ปรับให้เหมาะกับแต่ละบุคคลจะช่วยพัฒนาการมีส่วนร่วมหรือผลลัพธ์ที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับ (ผู้เข้าร่วมวิจัย 176 คน และ 139 คน ตามลำดับ) การศึกษา 2 รายการ ที่ตรวจสอบระยะเวลาของผลลัพธ์ของกิจกรรมที่ปรับให้เหมาะกับแต่ละบุคคล ระบุว่าผลลัพธ์จากการทำกิจกรรมยังคงมีอยู่เฉพาะในระหว่างการดำเนินกิจกรรมเท่านั้น การศึกษา 2 รายการ รายงานข้อมูลเกี่ยวกับผลข้างเคียงและไม่พบว่ามีผลข้างเคียงเกิดขึ้น

บันทึกการแปล: 

แปลโดย สมพร รุ่งเรืองกลกิจ ภาควิชาการพยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวช คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 24 มิถุนายน 2021