แอนโดรเจน (dehydroepiandrosterone หรือ testosterone) สำหรับผู้หญิงที่ใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์

ใจความสำคัญ

ผู้หญิงที่ได้รับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ (ART) ได้แก่ การปฏิสนธินอกร่างกาย (IVF) หรือการฉีดอสุจิเข้าเซลล์ไซโตพลาสซึม (ICSI) ซึ่งได้รับการระบุว่าตอบสนองได้ไม่ดีควรพิจารณาการรักษาล่วงหน้าหรือการรักษาร่วมกับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (T)

ประเด็นคืออะไร

ดีไฮโดรอิพิแอนโดรสเตอโรน (DHEA) และเทสโทสเตอโรน (T) เป็นฮอร์โมนที่เรียกว่าแอนโดรเจน เป็นเวลาหลายปีแล้วที่ฮอร์โมนสังเคราะห์เหล่านี้ถูกนำมาใช้ก่อนการรักษาด้วย ART เพื่อเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ของผู้หญิง เชื่อกันว่าแอนโดรเจนจะช่วยเพิ่มโอกาสในการมีลูกได้ผ่านปริมาณและคุณภาพของไข่ที่เพิ่มขึ้น

เหตุใดสิ่งนี้จึงสำคัญ

โดยทั่วไปแล้วแอนโดรเจน (DHEA และ T) มักถูกจ่ายโดยแพทย์เพื่อเป็นการรักษาเสริม (เพิ่มเติม) สำหรับ ART และผู้ป่วยร้องขอให้ใช้ยาเหล่านี้ มีการศึกษาคุณภาพและผลลัพธ์ที่แตกต่างกันจำนวนมากเพื่อดูว่าการรักษาก่อนหรือการรักษาร่วมกับแอนโดรเจนช่วยเพิ่มผลการรักษาด้วย ART หรือไม่

เราต้องการค้นหาอะไร

เราต้องการทราบว่า androgens (DHEA หรือ T) ที่เป็นการรักษาแบบเสริมที่ดีกว่ายาหลอก (การรักษาแบบ 'หลอก') หรือไม่มีการรักษาหรือการรักษาที่ออกฤทธิ์แบบอื่นใดเพื่อปรับปรุง:

- อัตราการเกิดมีชีพ/การตั้งครรภ์ต่อเนื่อง ('การเกิดมีชีพ' หมายถึง การคลอดบุตรในครรภ์ที่มีชีวิตหลังจากอายุครรภ์ครบ 20 สัปดาห์ 'การตั้งครรภ์ต่อเนื่อง' หมายถึง หลักฐานของถุงขณะตั้งครรภ์ที่มีการเต้นของหัวใจของทารกในครรภ์ที่ 12 สัปดาห์ หรือหลังจากนั้น, ยืนยันด้วยอัลตราซาวนด์);

- อัตราการแท้งบุตร (หมายถึงจำนวนการตั้งครรภ์ที่แท้งก่อนอายุครรภ์ 20 สัปดาห์)

- การตั้งครรภ์ทางคลินิก (หมายถึงหลักฐานของถุงการตั้งครรภ์ขณะตั้งครรภ์ที่มีการทำงานของหัวใจของทารกในครรภ์หลังจากตั้งครรภ์ได้ 6 สัปดาห์ ยืนยันโดยอัลตราซาวนด์)

เรายังต้องการทราบว่าแอนโดรเจน (DHEA หรือ T) ที่ใช้ร่วมกับวิธี ART ส่งผลต่อความเสี่ยงของ:

- ผลข้างเคียงต่อผู้หญิง รวมทั้งการตั้งครรภ์นอกมดลูกและภาวะแทรกซ้อนในระหว่างการตั้งครรภ์หรือการคลอดบุตร

- ผลข้างเคียงต่อทารกในครรภ์ รวมถึงความผิดปกติของทารกในครรภ์

เราทำอะไรไปแล้วบ้าง

เราค้นหาการศึกษาที่ตีพิมพ์และไม่ได้ตีพิมพ์ทั้งหมดที่เปรียบเทียบแอนโดรเจน (DHEA หรือ T) ในฐานะการรักษาเสริมกับการรักษาอื่น ๆ ยาหลอก หรือการไม่รักษาใด ๆ ในสตรีที่เข้ารับการรักษา ART เราเปรียบเทียบและสรุปผลการศึกษาและจัดอันดับตามความเชื่อมั่นของหลักฐานโดยพิจารณาจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น วิธีการศึกษาและขนาดการศึกษา

เราพบอะไร

เราพบการศึกษา 28 ฉบับ ที่มีผู้หญิงทั้งหมด 3002 คน ผู้เข้าร่วมเป็นสตรีที่มีภาวะมีบุตรยากมากกว่า 1 ปีในการศึกษาที่รวบรวมทั้งหมด การศึกษา 14 ฉบับ ศึกษา DHEA และ 14 ฉบับ ศึกษา T

- T น่าจะช่วยเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์สำเร็จในสตรีที่ได้รับการระบุว่าตอบสนองต่อ IVF ไม่ดี

- DHEA น่าจะมีผลเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยต่อโอกาสการตั้งครรภ์สำเร็จในสตรีที่ได้รับการระบุว่าตอบสนองต่อ IVF ไม่ดี

- แอนโดรเจน (DHEA และ T) อาจไม่ลดโอกาสการแท้งบุตรของผู้หญิง ไม่แน่ใจว่า DHEA และ T เพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์แฝดหรือไม่

หลักฐานมีข้อจำกัดอะไรบ้าง

โดยรวมแล้ว เรามีความมั่นใจในหลักฐานในระดับปานกลางเท่านั้น เนื่องจากผู้เข้าร่วมการศึกษาอาจทราบกลุ่มการรักษาของตนเอง จำนวนของเหตุการณ์มีน้อย และวิธีการศึกษามีการรายงานไม่เพียงพอ ข้อมูลเกี่ยวกับผลข้างเคียงนั้นมีจำกัดมาก และเหตุการณ์ที่มีการรายงานก็เป็นเพียงเรื่องเล็กน้อยเท่านั้น จำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อระบุระยะเวลาที่เหมาะสมในการรักษาด้วย T. การศึกษาในอนาคตควรเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผลข้างเคียงและการตั้งครรภ์แฝด

หลักฐานเป็นปัจจุบันแค่ไหน

การทบทวนวรรณกรรมนี้เป็นการปรับปรุงการทบทวนวรรณกรรมก่อนหน้า หลักฐานเป็นปัจจุบันถึงเดือนมกราคม 2024

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

การรักษาล่วงหน้าด้วย T น่าจะทำให้ดีขึ้น และการรักาาล่วงหน้าด้วย DHEA น่าจะให้ผลลัพธ์เพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย อัตราการเกิดมีชีพและการตั้งครรภ์ทางคลินิกในสตรีที่ทำเด็กหลอดแก้วซึ่งได้รับการระบุว่าเป็นผู้ตอบสนองไม่ดี DHEA และ T อาจไม่ลดอัตราการแท้งบุตรในสตรีที่ได้รับการทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) ผลกระทบของ DHEA และ T ต่อการตั้งครรภ์แฝดยังไม่แน่นอน จำเป็นต้องมีการวิจัยเพื่อระบุระยะเวลาที่เหมาะสมที่สุดในการรักษาด้วย T การศึกษาในอนาคตควรรวมถึงการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์และการตั้งครรภ์แฝด

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

ผู้ประกอบวิชาชีพด้านเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ (assisted reproductive technology; ART) ค้นหาการรักษาทางเลือกหรือการรักษาเสริมอย่างต่อเนื่องเพื่อปรับปรุงผลลัพธ์ของ ART การทบทวนวรรณกรรมครั้งนี้เป็นการตรวจสอบการใช้ฮอร์โมนเสริมในรูปแบบสังเคราะห์ของฮอร์โมน์ที่ผลิตตามธรรมชาติสองตัว ได้แก่ ดีไฮโดรเอพิแอนโดรสเตอโรน (dehydroepiandrosterone; DHEA) และฮอร์โมนเทสโทสเทอโรน (testosterone; T) เพื่อใช้ในการช่วยการเจริญพันธุ์

มีการพูดถึงว่าฮอร์โมนสเตียรอยด์เพิ่มอัตราการปฏิสนธิโดยส่งผลเชิงบวกต่อการตอบสนองของฟอลลิคูลาร์ต่อการกระตุ้นโกนาโดโทรฟิน สิ่งนี้อาจนำไปสู่ผลผลิต oocyte ที่มากขึ้น และส่งผลต่อโอกาสในการตั้งครรภ์ที่เพิ่มขึ้น

วัตถุประสงค์: 

เพื่อประเมินประสิทธิผลและความปลอดภัยของ DHEA และ T ในการรักษาก่อนหรือร่วมกันในสตรีที่มีบุตรยากที่ได้รับการช่วยการเจริญพันธุ์

วิธีการสืบค้น: 

เราค้นหาฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ต่อไปนี้จนถึงวันที่ 8 มกราคม 2024: the Gynaecology and Fertility Group (CGF) Specialized Register, CENTRAL, MEDLINE, Embase, PsycINFO และทะเบียนการทดลองสำหรับการทดลองที่กำลังดำเนินอยู่ นอกจากนี้เรายังค้นหาดัชนีอ้างอิง Web of Science, PubMed และ OpenGrey เราค้นหารายการอ้างอิงของการศึกษาที่เกี่ยวข้องและติดต่อผู้เชี่ยวชาญในสาขานั้นสำหรับการศึกษาเพิ่มเติม ไม่มีข้อจำกัดด้านภาษา

เกณฑ์การคัดเลือก: 

การทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม (randomised controlled trials; RCTs) เปรียบเทียบ DHEA หรือ T เป็นวิธีการรักษาเสริมกับการรักษาอื่น ๆ ยาหลอก หรือการไม่รักษาในสตรีที่ได้รับการช่วยเรื่องการเจริญพันธุ์

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

ผู้ทบทวน 2 คนคัดเลือก ดึงข้อมูลจากรายงานการศึกษาที่รวบรวมได้และประเมินความเสี่ยงของอคติอย่างเป็นอิสระต่อกัน เรารวมข้อมูลจากการศึกษาโดยใช้แบบจำลอง fixed-effect models เราคำนวณ odds ratios (ORs) สำหรับผลลัพธ์แบบแบ่งกลุ่มแต่ละรายการ การวิเคราะห์แบ่งชั้นตามประเภทของการรักษา

เราประเมินความเชื่อมั่นของหลักฐานสำหรับการเปรียบเทียบหลักแต่ละรายการโดยใช้วิธี GRADE

ผลการวิจัย: 

เรารวบรวมการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุมได้ 28 รายการ มีสตรี 1533 รายอยู่ในกลุ่มแทรกแซง และ 1469 รายอยู่ในกลุ่มควบคุม นอกเหนือจากการทดลอง 3 ฉบับ ผู้เข้าร่วมการทดลองเป็นผู้หญิงที่ถูกระบุว่า "ตอบสนองไม่ดี" ต่อโปรโตคอลการปฏิสนธิในหลอดแก้ว (IVF) มาตรฐาน การทดลองที่รวบรวมมาเปรียบเทียบการรักษาด้วย T หรือ DHEA กับยาหลอกหรือไม่ได้รับการรักษา

การให้การรักษาก่อนด้วย DHEA เทียบกับยาหลอก/ไม่มีการรักษา:

DHEA น่าจะให้ผลลัพธ์เพียงเล็กน้อยหรือไม่มีความแตกต่างในอัตราการเกิดมีชีพ/การตั้งครรภ์ต่อเนื่อง (OR 1.30, 95% ช่วงความเชื่อมั่น (CI) 0.95 ถึง 1.76; I² = 16%, 9 RCTs, N = 1433, หลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง ) นี่นี้ชี้ให้เห็นว่าในสตรีที่มีโอกาส 12% ของการเกิดมีชีพ/การตั้งครรภ์ต่อเนื่องด้วยยาหลอกหรือไม่มีการรักษา อัตราการเกิดมีชีพ/การตั้งครรภ์ต่อเนื่องในสตรีที่ใช้ DHEA จะอยู่ระหว่าง 12% ถึง 20% DHEA มีแนวโน้มว่าจะไม่ลดอัตราการแท้งบุตร (OR 0.85, 95% CI 0.53 ถึง 1.37; I² = 0%, 10 RCTs, N = 1601, หลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง )

DHEA น่าจะให้ผลลัพธ์เพียงเล็กน้อยหรือไม่มีความแตกต่างในอัตราการตั้งครรภ์ทางคลินิก (OR 1.18, 95% CI 0.93 ถึง 1.49; I² = 0%, 13 RCTs, N = 1886, หลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง ) นี่นี้ชี้ให้เห็นว่าในสตรีที่มีโอกาส 17% ของการตั้งครรภ์ทางคลินิกด้วยยาหลอกหรือไม่ได้รับการรักษา อัตราการตั้งครรภ์ทางคลินิกในสตรีที่ใช้ DHEA จะอยู่ระหว่าง 16% ถึง 24% เราไม่แน่ใจอย่างมากเกี่ยวกับผลของ DHEA ต่อการตั้งครรภ์แฝด (OR 3.05, 95% CI 0.47 ถึง 19.66; RCTs 7 ฉบับ, N = 463, หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก )

การรักษาก่อนด้วย T เทียบกับยาหลอก/ไม่มีการรักษา:

T น่าจะช่วยเพิ่มอัตราการเกิดมีชีพ (OR 2.53, 95% CI 1.61 ถึง 3.99; I² = 0%, 8 RCTs, N = 716, หลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง ) นี่นี้ชี้ให้เห็นว่าในสตรีที่มีโอกาส 10% ที่จะเกิดมีชีพด้วยยาหลอกหรือไม่ได้รับการรักษา อัตราการเกิดมีชีพในสตรีที่ใช้ T จะอยู่ระหว่าง 15% ถึง 30% T ไม่น่าจะลดอัตราการแท้งบุตร (OR 1.63, 95% CI 0.76 ถึง 3.51; I² = 0%, 9 RCTs, N = 755, หลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง )

T น่าจะเพิ่มอัตราการตั้งครรภ์ทางคลินิก (OR 2.17, 95% CI 1.54 ถึง 3.06; I² = 0%, 13 RCTs, N = 1152, หลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง ) นี่นี้ชี้ให้เห็นว่าในสตรีที่มีโอกาส 12% ของการตั้งครรภ์ทางคลินิกด้วยยาหลอกหรือไม่ได้รับการรักษา อัตราการตั้งครรภ์ทางคลินิกในสตรีที่ใช้ T จะอยู่ระหว่าง 17% ถึง 29% เราไม่แน่ใจอย่างมากเกี่ยวกับผลของ T ต่อการตั้งครรภ์แฝด (OR 2.56, 95% CI 0.59 ถึง 11.20; 5 RCTs, N = 449, หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก )

เราไม่แน่ใจเกี่ยวกับผลของฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนเทียบกับเอสตราไดออลหรือฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนเทียบกับเอสตราไดออล + ยาคุมกำเนิดชนิดรับประทาน

ความเชื่อมั่นของหลักฐานอยู่ในระดับปานกลางถึงต่ำมาก ข้อจำกัดหลักคือการขาดการปกปิดในการศึกษาที่รวบรวมไว้ การรายงานวิธีการศึกษาที่ไม่เพียงพอ และเหตุการณ์และขนาดตัวอย่างน้อยในการศึกษา

ข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์มีน้อย เหตุการณ์ที่รายงานใด ๆ เป็นเรื่องเล้กน้อย

บันทึกการแปล: 

แปลโดย พญ.วิลาสินี หน่อแก้ว โรงพยาบาลมะเร็งอุบลราชธานี Edit โดย พ.ญ. ผกากรอง ลุมพิกานนท์ 2 มกราคม 2025

Tools
Information