ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

วิธีการรักษามะเร็งช่องปากและมะเร็งคอหอยหลังช่องปาก: การฉายรังสี

มะเร็งช่องปากปกติจะพบในระยะแรกและรักษาด้วยการผ่าตัดและการฉายรังสี มะเร็งคอหอยอาจพบในระยะลุกลามและรักษาด้วยการฉายรังสี ทั้งการผ่าตัดและการฉายรังสีอาจส่งผลให้มีการผิดรูปผิดร่างไปจากเดิมและความสามารถในการกิน การดื่ม และ การพูด ลดลง ความก้าวหน้าล่าสุดแสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงการฉายรังสีแบบใดทำให้ความอยู่รอดภาพรวมดีขึ้นได้ วิธีการฉายรังสีแบบใหม่เรียกว่า accelerated fractionation หรือ hyperfractionation อย่างไรก็ตามการรักษาเหล่านั้นอาจส่งผลให้ผลข้างเคียงเพิ่มขึ้น

บทนำ

การจัดการมะเร็งช่องปากและมะเร็งคอหอยระยะลุกลามเป็นปัญหาและแต่ก่อนต้องอาศัยการผ่าตัดและการฉายรังสี ซึ่งทั้งสองอย่างนี้มีผลข้างเคียงอย่างมาก การฉายรังสีมีใช้กันมาตั้งแต่ปี 1950 และวิธีเดิมมักให้ยาเป็นรายวันเพียงครั้งเดียว วิธีการแบ่งขนาดยาทั้งหมดหรือแบ่งเป็นส่วนนี้ได้รับการปรับปรุงตลอดหลายปีที่ผ่านมา และมีวิธีต่างๆ มากมายที่ได้รับการพัฒนาโดยมีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มอัตราการรอดชีวิตในขณะที่ยังคงรักษาความเป็นพิษที่ยอมรับได้

วัตถุประสงค์

เพื่อตรวจสอบว่าแผนการฉายรังสีรักษาแบบใดสำหรับมะเร็งช่องปากและมะเร็งคอหอยที่ส่งผลให้อัตราการรอดชีวิตโดยรวมเพิ่มขึ้น การรอดชีวิตโดยปราศจากโรค การรอดชีวิตโดยปราศจากการลุกลาม และการควบคุมบริเวณเฉพาะจุด

วิธีการสืบค้น

ค้นฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ต่อไปนี้: the Cochrane Oral Health Group's Trials Register (ถึง 28 กรกฎาคม 2010), CENTRAL ( The Cochrane Library 2010, ฉบับที่ 3), MEDLINE via OVID (1950 ถึง 28 กรกฎาคม 2010) และ EMBASE via OVID (1980 ถึง 28 กรกฎาคม 2010) ไม่มีข้อจำกัดเกี่ยวกับภาษาหรือวันที่เผยแพร่

เกณฑ์การคัดเลือก

การทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม (RCT) ซึ่งผู้เข้าร่วมมากกว่า 50% มีเนื้องอกปฐมภูมิในช่องปากหรือคอหอย และเปรียบเทียบวิธีการรักษาด้วยการฉายรังสีตั้งแต่ 2 วิธีขึ้นไป การฉายรังสีเทียบกับการรักษาแบบอื่น หรือการฉายรังสีแบบเสริมกับการรักษาแบบอื่นๆ

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล

การดึงข้อมูลและการประเมินความเสี่ยงของอคติดำเนินการอย่างอิสระโดยผู้เขียนสองคนขึ้นไป เราติดต่อผู้ทำการศึกษาวิจัย หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ข้อมูลเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ถูกรวบรวมจากการทดลองที่ถูกเผยแพร่

ผลการวิจัย

มีการศึกษาทดลอง 30 ฉบับ ประกอบไปด้วยผู้เข้าร่วมโครงการวิจัย 6535 ราย การทดลอง 17 ฉบับ เปรียบเทียบรูปแบบของรังสีรักษาแบบเปลี่ยนแปลงการแบ่งส่วน (hyperfractionation/accelerated) กับรังสีรักษาแบบเดิม การทดลอง 3 ฉบับ เปรียบเทียบวิธีการการแบ่งส่วนที่แตกต่างกัน การทดลอง 1 ฉบับเปรียบเทียบระยะเวลาของการฉายรังสี การทดลอง 5 ฉบับประเมินการรักษาด้วยนิวตรอน และการทดลอง 4 ฉบับ ประเมินการเพิ่มการรักษาด้วยรังสีก่อนการผ่าตัด รวมการทดลองของการฉายรังสีรักษาแบบแบ่งเป็นส่วนใดๆ ที่มีการเปลี่ยนแปลงเปรียบเทียบกับการแบ่งส่วนการรักษาแบบเดิม แสดงให้เห็นว่าอัตราการเสียชีวิตทั้งหมดลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (อัตราส่วนอันตราย (HR) 0.86, ช่วงความเชื่อมั่น 95% (CI) 0.76 ถึง 0.98) นอกจากนี้ ในการเปลี่ยนแปลงการแบ่งส่วนแสดงให้เห็นถึงผลลัพธ์ของการควบคุมตำแหน่งเฉพาะที่ (HR 0.79, 95% CI 0.70 ถึง 0.89) มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ไม่มีการแสดงความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติของความอยู่รอดโดยปราศจากโรค

ไม่มีการแสดงความแตกต่างที่มีนัยสำคัญทางสถิติสำหรับการเปรียบเทียบอื่นๆ

ข้อสรุปของผู้วิจัย

การปรับเปลี่ยนการบำบัดด้วยรังสีแบบเป็นส่วนมีความสัมพันธ์กับการรอดชีวิตโดยรวมดีขึ้นและการควบคุมตำแหน่งเฉพาะจุดในผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งช่องปากและมะเร็งคอหอย วิธีการที่แม่นยำกว่าในการรายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์มีความจำเป็นเพื่อที่จะประเมินประสิทธิภาพของวิธีการฉายรังสีทางคลินิคที่แตกต่างกันอย่างแท้จริง

บันทึกการแปล

แปลโดย ฎลกร จำปาหวาย

Citation
Glenny A-M, Furness S, Worthington HV, Conway DI, Oliver R, Clarkson JE, Macluskey M, Pavitt S, Chan KKW, Brocklehurst P, The CSROC Expert Panel. Interventions for the treatment of oral cavity and oropharyngeal cancer: radiotherapy. Cochrane Database of Systematic Reviews 2021, Issue 11. Art. No.: CD006387. DOI: 10.1002/14651858.CD006387.pub2.