สารลดแรงตึงผิวสําหรับภาวะเลือดออกในปอดในทารกแรกเกิด

ภาวะเลือดออกในปอด พบได้บ่อยในทารกเกิดก่อนกำหนด (อายุครรภ์น้อยกว่า 37 สัปดาห์) เนื่องจากทารกเกิดก่อนกำหนดมักมีโรคปอดรุนแรง (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง่ ภาวะหายใจลำบากในทารกเกิดก่อนกำหนดจากการขาดสารลดแรงตึงผิว) และการใช้เครื่องช่วยหายใจ ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเลือดออกในปอด ได้แก่ การเกิดก่อนกำหนด การเจริญเติบโตผิดปกติในครรภ์ ปัญหาด้านการหายใจ การไหลเวียนเลือดผิดปกติของหลอดเลือดที่เชื่อมระหว่างหลอดเลือดในปอดและหลอดเลือดแดงใหญ่ (patent ductus arteriosus [PDA]) ภาวะเลือดออกผิดปกติ การต้องใช้เครื่องช่วยหายใจและการรักษาด้วยสารลดแรงตึงผิว สาเหตุของภาวะเลือดออกในปอด เกิดจากการที่มีการเพิ่มขึ้นของการไหลเวียนของเลือดไปปอดอย่างรวดเร็วผ่านทางหลอดเลือด PDA มีบางการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่าการให้สารลดแรงตึงผิว ให้ผลดีในการรักษาภาวะเลือดออกในปอดในทารก อย่างไรก็ตาม ไม่พบการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มเปรียบเทียบในการทบทวนวรรณกรรมนี้ ดังนั้นจึงไม่สามารถให้คำแนะนำสำหรับการใช้สารลดแรงตึงผิวในการรักษาภาวะเลือดออกในปอดในทารกได้ การศึกษาวิจัยเพิ่มเติมจึงเป็นสิ่งจำเป็น

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

ไม่พบการศึกษาแบบ randomised หรือ quasi-randomised trials ที่ศึกษาถึงผลของสารลดแรงตึงผิวในภาวะเลือดออกในปอดในทารกแรกเกิด ดังนั้นจังไม่สามาถสรุปผลจากการศึกษาดังกล่าวได้ จึงควรมีการทำการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อศึกษาผลของการใช้สารลดแรงตึงผิวสําหรับการรักษาของภาวะเลือดออกในปอดในทารกแรกเกิด

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

อุบัติการณ์ของภาวะเลือดอกในปอดในทารกแรกเกิดในช่วงระหว่างปี คศ.1960 และ คศ.1970 เท่ากับ 1.3 ต่อการเกิดมีชีพ 1,000 ราย โดยมักพบภาวะนี้ในทารกครบกำหนดที่มีความเจ็บป่วยอยู่เดิม ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเลือดออกในปอด ได้แก่ ความรุนแรงของการเจ็บป่วย การเจริญเติบโตผิดปกติในครรภ์ การไหลเวียนเลือดผิดปกติของหลอดเลือด PDA ภาวะเลือดออกผิดปกติ และ การต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ปัจจุบัน ภาวะเลือดออกในปอด เกิดขึ้นได 3% ถึง 5% ของทารกเกิดก่อนกำหนดที่ได้รับการช่วยหายใจจากภาวะหายใจลำบากจากการขาดสารลดแรงตึงผิว และมักจะพบมี PDA ร่วมด้วย โดยทารกเหล่านี้มักได้รับสารลดแรงตึงผิวทางท่อช่วยหายใจ สาเหตุของภาวะเลือดออกในปอด เชื่อว่าเกิดจากการลดลงของความดันในปอดอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดการไหลเวียนของเลือดจากหลอดเลือดแดงใหญไปยังหลอดเลือดปอดผ่าน PDA ทำให้เลือดไปเลี้ยงปอดมากขึ้น มีการรายงานผู้ปวยและมีการศึกษาแบบไปข้างหน้าที่ไม่มีกลุ่มควบคุม ที่แสดงให้เห็นว่าสารลดแรงตึงผิวในปอดให้ผลดีในการรักษาภาวะเลือดออกในปอดได้

วัตถุประสงค์: 

เพื่อศึกษาผลของการรักษาด้วยสารลดแรงตึงผิวในปอด เมื่อเทียบกับยาหลอก หรือไม่ให้การรักษา ต่อการเสียชีวิตและภาวะทุพพลภาพในทารกที่มีภาวะเลือดออกในปอด

วิธีการสืบค้น: 

ในการทบทวนครั้งนี้ ผู้วิจัยได้สืบค้นข้อมูลจาก The Cochrane Library ฉบับ 2, 2012; MEDLINE EMBASE; CINAHL; Clinicaltrials.gov; Controlled-trials.com; proceedings (2000 ถึง 2011) of the Annual Meetings of the Pediatric Academic Societies (Abstracts2View) และ Web of Science เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2012

เกณฑ์การคัดเลือก: 

Randomised หรือ quasi-randomised controlled trials ที่ศึกษาถึงผลของสารลดแรงตึงผิวในการรักษาภาวะเลือดออกในปอดในทารกเกิดก่อนกำหนด (< 37 สัปดาห์) หรือครบกำหนดที่ใส่ท่อช่วยหายใจ ทารกที่ถูกรวบรวมเข้างานวิจัยเป็นทารกที่มีอายุครรภ์ถึง 44 สัปดาห์หลังเกิด การให้การรักษาในการศึกษานี้ ได้แก่ การให้สารลดแรงตึงผิวทางท่อช่วยหายใจ (ชนิดธรรมชาติหรือสังเคราะห์ก็ได้ และไม่คํานึงถึงปริมาณที่ให้) โดยเปรียบเทียบกับยาหลอกหรือการไม่มีการให้ยาใด ๆ

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

การศึกษาที่ได้รับการคัดเลือกหลังจากการสืบค้นข้อมูล จะถูกวิเคราะห์เพื่อหา risk ratio, risk difference, number needed to treat to benefit or to harm สำหรับข้อมูล dichotomous outcomes และ mean difference สำหรับข้อมูลชนิดต่อเนื่อง ด้วยความเชื่อมั่น 95% ในการวิเคราะห์เมตต้า จะใช้การวิเคราะห์แบบ fixed-effect model ความเสี่ยงต่อการเกิดอคติจะถูกประเมินโดยผู้ทบทวนวรรณกรรม การทดสอบความไม่เป็นเอกพันธ์ุ์ โดยรวมถึงสถิติ I2 จะถูกนำมาใช้ในการประเมินและรายงานความเหมาะสมของการรวบรวมข้อมูล

ผลการวิจัย: 

ไม่พบการทดลองที่เข้าเกณฑ์คัดเข้า

บันทึกการแปล: 

แปลโดย ผศ.พญ.ดิษจี ลุมพิกานนท์ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช

Tools
Information