ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

การใช้ยาปฏิชีวนะมีประสิทธิภาพและปลอดภัยหรือไม่ สำหรับการใช้หัตถการช่วยคลอดทางช่องคลอด ?

เราต้องการประเมินจากการศึกษาแบบสุ่มที่มีกลุ่มเปรียบเทียบเพื่อดูว่าการให้ยาปฏิชีวนะในสตรีทุกคนที่คลอดทางช่องคลอดโดยการใช้หัตถการช่วยคลอดสามารถป้องกันการติดเชื้อในมารดาโดยไม่เพิ่มผลเสียต่อทั้งมารดาและทารกได้หรือไม่ การใช้เครื่องดูดสูญญากาศหรือคีมช่วยคลอดศีรษะทารกเป็นหัตถการช่วยคลอดทางช่องคลอด

ปัญหาคืออะไร

สตรีที่ได้รับการช่วยคลอดทางช่องคลอดด้วยเครื่องดูดสูญญากาศหรือคีมช่วยคลอดมีแนวโน้มที่จะเกิดการติดเชื้อหลังคลอดมากกว่าเมื่อเปรียบกับสตรีที่คลอดได้เองทางช่องคลอด สตรีเหล่านี้ยังมีแนวโน้มที่จะกลับเข้ารับการรักษาซ้ำที่โรงพยาบาล สตรีมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นของการติดเชื้อเนื่องจากความจําเป็นในการใส่สายสวนปัสสาวะ, การตรวจภายในหลายครั้ง, การใส่เครื่องมือผ่านเข้าไปในช่องคลอด, และเพิ่มความเสี่ยงของการฉีกขาดของช่องคลอดที่ลึกเนื่องจากการทำหัตถการช่วยคลอด การติดเชื้อแสดงออกได้จากการมีไข้, การติดเชื้อของมดลูกและเนื้อเยื่อรอบๆ, การติดเชื้อบริเวณแผลฝีเย็บหรือการฉีกขาดของช่องคลอดหรือการติดเชื้อของระบบทางเดินปัสสาวะ ผลกระทบเหล่านี้มีผลต่อสภาพร่างกายของมารดาและสามารถส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ทั่วไปอีกด้วย การติดเชื้ออาจเข้าสู่กระแสเลือดและมีผลต่อร่างกายทั้งหมด.

ทำไมเรื่องนี้จึงมีความสำคัญ
การใช้เครื่องดูดสูญญากาศหรือคีมในการช่วยคลอดจะทำให้ใช้เวลาในการคลอดลดลงจากเวลาที่ปากมดลูกเปิดเต็มที่จนถึงเวลาที่ทารกคลอด(ระยะที่สองของการคลอด) โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าระยะนี้ใช้เวลานานหรือมีสัญญาณแสดงว่าทารกในครรภ์อยู่ในสภาวะคับขัน ยาปฏิชีวนะสามารถให้กับมารดาในเวลาที่ทารกคลอดแล้วเพื่อป้องกันหรือลดความเสี่ยงของการติดเชื้อ อย่างไรก็ตามยังคงมีข้อสงสัยเกี่ยวกับประโยชน์ของยาปฏิชีวนะดังกล่าว ยาปฏิชีวนะยังสามารถทําให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์เช่นทำให้แม่มีผื่นหรือท้องเสีย, และอาจมีอยู่ในน้ำนมและส่งผ่านทางน้ำนมไปสู่ทารกได้

ผู้วิจัยพบหลักฐานเชิงประจักษ์อะไรบ้าง

เราสืบค้นหลักฐานการศึกษาแบบสุ่มที่มีกลุ่มเปรียบเทียบในเดือนกรกฎาคม ปีค.ศ. 2019 เรารวบรวมการศึกษาสองการศึกษาที่ตีพิมพ์ในปี 1989 และ 2019 การศึกษาที่เก่ากว่าได้ทำในสหรัฐอเมริกาและการศึกษาล่าสุดทำที่หน่วยสูติศาสตร์ในสหราชอาณาจักร สตรี 3813 คนที่ได้รับการทำหัตถการช่วยคลอดทางช่องคลอดถูกรวบรวมในการศึกษานี้ การศึกษาในสหรัฐอเมริกาทำในสตรี 393 คน และเปรียบเทียบการให้ยา cefotetan 2 กรัมทางหลอดเลือดดํา หลังจากหนีบสายสะดือแล้ว เปรียบเทียบกับการไม่ได้ให้การรักษาใดๆ อีกการศึกษาทำในสตรี 3420 ราย การศึกษานี้เปรียบเทียบการให้ยา amoxicillin และยา clavulanic acid ทางหลอดเลือดดํา กับการให้ยาหลอก ความน่าเชื่อถือของหลักฐานมีความแตกต่างกันจากระดับความเชื่อมั่นสูงไปจนถึงต่ํา, ความเชื่อมั่นที่ต่ำถูกปรับลดเนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับผลผลการศึกษาไม่แม่นยํา, เหตุการณ์น้อยและการรายงานการศึกษาเพียงการศึกษาเดียวที่รายงานจํานวนของผลการวิจัยที่พบ

ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันที่ให้เพื่อลดหรือป้องกันการติดเชื้อ ลดจํานวนสตรีที่ติดเชื้อบริเวณแผลฝีเย็บหรือแผลฉีกขาดลงได้ครึ่งหนึ่ง ผลการวิจัยเหล่านี้รวมถึงการติดเชื้อแผลตื้นและลึก (หนึ่งการศึกษา, สตรี 3420 ราย; หลักฐานมีความน่าเชื่อถือสูง) หรือแผลแยก (หนึ่งการศึกษา, สตรี 2593 ราย; หลักฐานมีความน่าเชื่อถือปานกลาง) ภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อรุนแรงลดลง (หนึ่งการศึกษา, สตรี 3420 ราย; หลักฐานมีความน่าเชื่อถือสูง) เนื่องจากหลักฐานที่มี มีความน่าเชื่อถือต่ำ, การให้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อ มีผลที่ไม่ชัดเจนต่อการติดเชื้อในโพรงมดลูก, ผู้ป่วยจะมีไข้และเจ็บมดลูกหรือมีเลือดออกมากทางช่องคลอด (สองการศึกษา, สตรี 3813 ราย; หลักฐานความน่าเชื่อถือต่ำ) และการติดเชื้อบริเวณแผลฝีเย็บหรือแผลฉีกขาด (หนึ่งการศึกษา, สตรี 3420 ราย; หลักฐานความน่าเชื่อถือต่ำ)

ผลกระทบต่ออาการไม่พึงประสงค์ของมารดา (หนึ่งการศึกษา, สตรี 2593 ราย; หลักฐานมีความน่าเชื่อถือต่ำ) และระยะเวลาของการนอนโรงพยาบาลของมารดา (หนึ่งการศึกษา, สตรี 393 ราย; หลักฐานความน่าเชื่อถือต่ำ) ไม่ชัดเจนเนื่องจากการศึกษามีความน่าเชื่อถือต่ำ อาการปวดแผลฝีเย็บและผลกระทบต่อสุขภาพจากอาการปวดฝีเย็บลดลงเล็กน้อย ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อไม่ได้มีผลชัดเจนต่อความเจ็บปวดระหว่างมีเพศสัมพันธ์และการให้นมบุตรที่หกสัปดาห์หลังคลอด การกลับมานอนโรงพยาบาลซ้ำของมารดาและสุขภาพของมารดาที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตอาจดีขึ้นเล็กน้อย ค่าใช้จ่ายลดลงจากการให้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อ ไม่มีการศึกษาใดที่วัดเรื่องไข้โดยเฉพาะ, การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะหรืออาการไม่พึงประสงค์ในทารก

หลักฐานนี้หมายความว่าอย่างไร

การให้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อเข้าไปในหลอดเลือดดํามีประสิทธิภาพในการลดอาการป่วยทางสุขภาพที่เกิดจากการติดเชื้อในสตรีที่ได้รับการทำหัตการช่วยคลอดทางช่องคลอดและผู้ที่ไม่มีข้อบ่งชี้ทางคลินิกสําหรับการให้ยาปฏิชีวนะ หลักฐานส่วนใหญ่มาจากการศึกษาเดียวในประเทศที่มีรายได้สูง การศึกษาแบบสุ่มที่ออกแบบมาอย่างดีในสถานการณ์อื่น ๆ ยังคงต้องการในอนาคตเพื่อยืนยันผลการศึกษานี้

บทนำ

มีรายงานว่าการช่วยคลอดทางช่องคลอดโดยเครื่องดูดสูญญากาศและคีมทำให้มีอุบัติการณ์ของการติดเชื้อหลังคลอดและการต้องกลับเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลซ้ำของมารดาสูงกว่าการคลอดเองทางช่องคลอด การให้ยาปฏิชีวนะอาจป้องกันการติดเชื้อนี้ได้ อย่างไรก็ตาม ประโยชน์ของการให้ยาปฏิชีวนะเพื่อการป้องการติดเชื้อจากการทำหัตการช่วยคลอดทางช่องคลอดยังไม่ชัดเจน นี่คือการปรับปรุงของการทบทวนวรรณกรรมล่าสุดที่ตีพิมพ์ในปี 2017

วัตถุประสงค์

เพื่อประเมินประสิทธภาพและความปลอดภัยของการให้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อในการลดการติดเชื้อในช่วงหลังคลอดในสตรีที่ได้รับการคลอดทางช่องคลอดโดยการใช้หัตถการช่วยคลอดทั้งการใช้เครื่องดูดสูญญากาศหรือคีมหรือการใช้ทั้งสองอย่าง

วิธีการสืบค้น

ในการปรับปรุงล่าสุดนี้ เราสืบค้นจาก Cochrane Pregnancy and Childbirth’s Trials Register, ClinicalTrials.gov WHO International Clinical Trials Registry Platform (ICTRP) (5 กรกฎาคม 2019) และเอกสารอ้างอิงของการศึกษาที่สืบค้นมาได้

เกณฑ์การคัดเลือก

การทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มเปรียบเทียบทั้งหมดซึ่งศึกษาการให้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อเปรียบเทียบกับการให้ยาหลอกหรือไม่มีการรักษาใดๆ ในสตรีที่ได้รับการทำหัตการช่วยคลอดทางช่องคลอดด้วยเครื่องดูดสูญญากาศหรือคีมช่วยคลอด อาสาสมัครเป็นสตรีตั้งครรภ์ทุกอายุครรภ์ทุกคนที่ปราศจากหลักฐานของการติดเชื้อหรือมีข้อบ่งชี้อื่นๆที่ต้องได้รับยาปฏิชีวนะ การรักษาที่ให้คือการให้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อ(ในทุกขนาดยา ทุกการบริหารยา ระยะเวลาใดๆระหว่างการคลอดหรือหลังคลอด)

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล

ผู้ทบทวนบทประพันธ์ สองคนประเมินการศึกษาที่นำเข้ามาทบทวน ตรวจสอบอคติและประเมินคุณภาพอย่างอิสระต่อกัน ผู้ทบทวนทั้งสองคนจะดึงข้อมูลแบบอิสระต่อกันโดยใช้แบบฟอร์มกรอกข้อมูลที่เตรียมไว้ ทุกๆความคิดเห็นที่แตกต่างกันจะถูกนำมาอภิปรายและหาข้อสรุปร่วมกันระหว่างผู้ทบทวนงานวิจัยทุกคน มีการประเมินคุณภาพระเบียบวิธีวิจัยของสองการศึกษาโดยใช้วิธี GRADE

ผลการวิจัย

สองการศึกษา ที่ศึกษาในสตรีรวมทั้งหมด 3813 ราย ที่ได้รับการช่วยคลอดทางช่องคลอดด้วยเครื่องดูดสูญญากาศหรือคีม ถูกรวบรวมเข้ามา หนึ่งการศึกษาทำในสตรี 393 รายเปรียบเทียบการให้ยาฆ่าเชื้อ cefotetan ทางหลอดเลือดดํา หลังจากหนีบสายสะดือกับการที่ไม่ได้รับการรักษา อีกหนึ่งการศึกษาทำในสตรี 3420 รายเปรียบเทียบการให้ยา amoxicillin ครั้งเดียว ฉีดเข้าเส้นเลือดดําและ clavulanic acid กับการให้ยาหลอกโดยใช้สารละลายน้ำเกลือความเข้มข้น 0.9% ปริมาณ 20 mL ฉีดเข้าเส้นเลือดดํา

จากหลักฐานแสดงให้เห็นว่าการให้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อช่วยลดการติดเชื้อแผลตื้นได้ (risk ratio (RR) 0.53, 95% confidence interval (CI) 0.40 to 0.69; สตรี = 3420 ราย; 1 การศึกษา; หลักฐานความน่าเชื่อถือสูง), ลดการติดเชื้อแผลฝีเย็บลึกได้ (RR 0.46, 95% CI 0.31 to 0.69;สตรี = 3420 ราย; 1 การศึกษา; หลักฐานความน่าเชื่อถือสูง) และอาจลดโอกาสของการเกิดแผลแยก (RR 0.52, 95% CI 0.43 to 0.63; สตรี = 2593 ราย; 1 การศึกษา; หลักฐานความน่าเชื่อถือปานกลาง) ข้อมูลไม่ชัดเจนเกี่ยวกับผลกระทบต่อการติดเชื้อของอวัยวะหรือช่องว่างบริเวณฝีเย็บ (RR 0.11, 95% CI 0.01 ถึง 2.05; สตรี = 3420 ราย; 1 การศึกษา) และการติดเชื้อในโพรงมดลูก (average RR 0.32, 95% CI 0.04 ถึง 2.64; 15/1907 กับ 30/1906; สตรี = 3813 ราย; 2 การศึกษา) หลักฐานมีความน่าเชื่อถือต่ำและมี CIs ที่กว้าง การให้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้ออาจลดภาวะแทรกซ้อนจาการติดเชื้อรุนแรงได้ (RR 0.44, 95% CI 0.22 ถึง 0.89; สตรี = 3420 ราย; 1 การศึกษา; หลักฐานความน่าเชื่อถือสูง). นอกจากนี้การให้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อยังมีผลในการลดการติดเชื้อของมารดาได้ การศึกษาที่รวบรวมมาทั้งสองการศึกษาไม่ได้รายงานผลเกี่ยวกับการมีไข้หรือการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ

ไม่มีผลชัดเจน จากหลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ ว่าการให้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อมีผลกระทบต่ออาการไม่พึงประสงค์ของมารดา่ (RR 2.00, 95% CI 0.18 ถึง 22.05; สตรี = 2593 ราย; 1 การศึกษา) และระยะเวลาในการนอนโรงพยาบาลของมารดาหรือไม่ (MD 0.09 วัน 95% CI -0.23 ถึง 0.41; สตรี = 393 ราย; 1 การศึกษา) เนื่องจาก CIs กว้าง การให้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อสามารถลดอาการปวดแผลฝีเย็บและผลกระทบทางสุขภาพจากอาการปวดฝีเย็บลงได้เล็กน้อยและอาจลดค่าใช้จ่าย การให้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อไม่ได้มีผลกระทบที่สําคัญในการเกิดอาการเจ็บเวลามีเพศสัมพันธ์ (การมีเพศสัมพันธ์ที่ยากหรือเจ็บปวด) หรือการให้นมบุตรที่หกสัปดาห์ การให้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้ออาจลดโอกาสการกลับมานอนโรงพยาบาลซ้ำของมารดาและสุขภาพของมารดาที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตอาจดีขึ้นเล็กน้อย อาการไม่พึงประสงค์ของทารกแรกเกิดไม่ได้รายงานไว้ในการศึกษาที่รวบรวมมา

ข้อสรุปของผู้วิจัย

การให้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อทางหลอดเลือดดํามีผลในการลดการติดเชื้อหลังคลอดในแง่ของการติดเชื้อใต้ผิวหนังในระดับตื้นและการติดเชื้อชั้นลึกลงไปของแผลฝีเย็บหรือภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อรุนแรงในสตรีที่ได้รับการทำหัตถการช่วยคลอดทางช่องคลอดซึ่งไม่มีข้อบ่งชี้ทางคลินิกอื่นในการให้ยาปฏิชีวนะหลังจากการคลอดแล้ว การให้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อช่วยลดอาการปวดฝีเย็บและผลกระทบของอาการปวดฝีเย็บได้เล็กน้อย, อาจลดค่าใช้จ่าย, และอาจลดโอกาสของการกลับมานอนโรงพยาบาลซ้ำของมารดาลงได้เล็กน้อย และช่วยทำให้สุขภาพที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตของมารดาดีขึ้นเล็กน้อย อย่างไรก็ตามผลกระทบในเรื่องการลดลงของการติดเชื้อในโพรงมดลูก, การติดเชื้อของอวัยวะอื่นหรือช่องว่างบริเวณแผลฝีเย็บ, อาการไม่พึงประสงค์ของมารดาและระยะเวลาในการนอนโรงพยาบาลของมารดามีข้อมูลไม่ชัดเจนเนื่องจากหลักฐานความน่าเชื่อถือต่ำ

เนื่องจากหลักฐานที่ได้มาจากการศึกษาเดียวซึ่งดําเนินการในพื้นที่ที่มีรายได้สูง ดังนั้นการศึกษาแบบสุ่มที่ออกแบบอย่างดีในอนาคตควรทำในพื้นที่ที่แตกต่างกันออกไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่มีรายได้ต่ำและรายได้ปานกลาง เพื่อเป็นการยืนยันผลของการการให้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อสำหรับการทำหัตการช่วยคลอดทางช่องคลอด

บันทึกการแปล

แปลโดย พญ.วิลาสินี หน่อแก้ว ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

Citation
Liabsuetrakul T, Choobun T, Peeyananjarassri K, Islam QM. Antibiotic prophylaxis for operative vaginal delivery. Cochrane Database of Systematic Reviews 2020, Issue 3. Art. No.: CD004455. DOI: 10.1002/14651858.CD004455.pub5.