โรคผิวหนังอักเสบคืออาการคันและผิวหนังแดง ซึ่งอาจเกิดขึ้นกับผู้คนทั่วโลก 20% ในบางช่วงของชีวิต แม้ว่ามันอาจจะดีขึ้นตามอายุแต่ก็ไม่มีทางรักษาให้หายขาดได้ เด็กจำนวนมากสามารถหายจากอาการผิดปกตินี้เมื่อถึงวัยมัธยมศึกษา อาการคันอย่างต่อเนื่องทำให้ผู้ที่มีอาการนี้ไม่สบายตัวไม่ว่าจะมีอายุเท่าไรก็ตาม
การรักษาทางการแพทย์แบบดั้งเดิมทำให้ชีวิตผู้คนดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้คนบางส่วนที่ไม่เห็นอาการที่ดีขึ้นในเรื่องโรคภูมิแพ้หรือกลัวผลข้างเคียงจากผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์แบบดั้งเดิม ก็หันมาใช้ทางเลือกอื่นนอกเหนือจากการรักษาทางการแพทย์แบบดั้งเดิม การทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบนี้เป็นการกล่าวถึงผลิตภัณฑ์ 2 ชนิดนี้ ได้แก่ น้ำมันอีฟนิ่งพริมโรส (EPO) และน้ำมันโบราจ (BO) ชนิดรับประทาน ซึ่งเชื่อกันว่ามีประโยชน์ต่อโรคผิวหนังอักเสบ
เรารวมการศึกษาทั้งหมด 27 ฉบับ โดยมีผู้ใหญ่และเด็กรวม 1596 คน จาก 12 ประเทศ จากการศึกษาเหล่านี้ มีการศึกษา 19 ฉบับ ที่เปรียบเทียบ EPO กับการรักษาหลอก และมีการศึกษา 8 ฉบับ ที่ใช้ BO เทียบกับยาหลอก เราค้นหาหลักฐานโดยรวมของอาการที่ดีขึ้นของโรคผิวหนังอักเสบและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น การศึกษา 27 ฉบับ ประเมินอาการที่ดีขึ้นโดยรวมของโรคผิวหนังอักเสบ แต่มีเพียง 2 ฉบับเท่านั้นเกี่ยวกับ EPO ที่วัดการคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ไม่มีการแสดงข้อได้เปรียบทางสถิติอย่างมีนัยสำคัญสำหรับ EPO หรือ BO เมื่อเทียบกับยาหลอก โดยสรุป เราไม่พบหลักฐานว่าอาการผิวหนังอักเสบจะดีขึ้นจากการทานผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมากกว่าการทานยาหลอก
พบหลักฐานบางอย่างเกี่ยวกับผลข้างเคียงเล็กน้อยและชั่วคราวสำหรับผู้เข้าร่วมที่ใช้ผลิตภัณฑ์หรือยาหลอก โดยส่วนใหญ่เป็นผลข้างเคียงเล็กน้อย เช่น ปวดศีรษะชั่วคราว ปวดท้องหรือท้องเสีย EPO มีฤทธิ์ป้องกันการแข็งตัวของเลือด (ทำให้เลือดอุดตันลดลง) เมื่อรับประทานผลิตภัณฑ์เหล่านี้ มีคำเตือนเกี่ยวกับยาละลายลิ่มเลือดวาร์ฟาริน (Coumadin®) ว่าการรับประทาน EPO อาจทำให้มีโอกาสเลือดออกเพิ่มขึ้น รายงานฉบับหนึ่งเตือนว่าหากใช้ EPO เป็นเวลานาน (เกิน 1 ปี) อาจมีความเสี่ยงต่อการอักเสบ การเกิดลิ่มเลือด และภูมิคุ้มกันบกพร่องเนื่องจาก EPO จะสะสมในเนื้อเยื่ออย่างช้า ๆ รายงานอีกฉบับระบุถึงกรณีเดียวที่คิดว่า EPO ก่อให้เกิดอันตราย เราไม่พบหลักฐานทางคลินิกของอันตรายดังกล่าวในการทดลองในระยะสั้นเหล่านี้
การตรวจสอบอย่างเป็นระบบนี้ไม่พบหลักฐานว่า BO หรือ EPO มีประสิทธิผลในการรักษาโรคผิวหนังอักเสบ ทั้งผลิตภัณฑ์เหล่านี้และยาหลอกที่ใช้ในการศึกษาต่างก็มีผลข้างเคียงชั่วคราวเล็กน้อยที่คล้ายคลึงกัน โดยส่วนใหญ่มักเกิดกับระบบทางเดินอาหาร
ข้อแนะนำสำหรับการปฏิบัติ
น้ำมันโบราจและน้ำมันอีฟนิ่งพริมโรสชนิดรับประทานไม่มีผลต่อผิวหนังอักเสบ แต่การอาการที่ดีขึ้นนั้นคล้ายคลึงกับยาหลอกที่ใช้ในการทดลอง การให้ BO และ EPO ชนิดรับประทานไม่ได้ผลในการรักษาโรคผิวหนังอักเสบ
ในการศึกษานี้ ร่วมกับยาหลอก EPO และ BO มีผลข้างเคียงเล็กน้อยชั่วคราวที่เหมือนกัน ซึ่งพบได้ค่อนข้างบ่อย โดยส่วนใหญ่มักเกิดกับระบบทางเดินอาหาร
การศึกษาในระยะสั้นที่รวมอยู่นี่ไม่ได้ตรวจสอบผลข้างเคียงระยะยาวที่อาจเกิดขึ้นได้จากการใช้ EPO หรือ BO รายงานกรณีศึกษาเตือนว่าหากใช้ EPO เป็นเวลานาน (เกิน 1 ปี) อาจมีความเสี่ยงต่อการอักเสบ การเกิดลิ่มเลือด และภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ส่วนการศึกษาอีกกรณีพบว่า EPO อาจเพิ่มการเกิดเลือดออกในผู้ที่ใช้ยา Coumadin® (warfarin) ได้
ข้อแนะนำสำหรับการวิจัย
ช่วงความเชื่อมั่นระหว่างการรักษาแบบใช้งานและแบบใช้ยาหลอกนั้นแคบ เพื่อไม่ให้เกิดความแตกต่างที่มีประโยชน์ทางคลินิก เราจึงสรุปได้ว่าการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับ EPO หรือ BO สำหรับโรคผิวหนังอักเสบนั้นหาเหตุผลสนับสนุนได้ยาก
การทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบนี้ไม่ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ในระยะยาว
โรคผิวหนังอักเสบคือภาวะผิวหนังอักเสบเรื้อรัง มักเกิดขึ้นในวัยเด็ก เด็กจำนวนมากหายจากอาการผิดปกตินี้เมื่อถึงวัยมัธยมศึกษา และแม้ว่าอาการอาจดีขึ้นตามวัย แต่ก็ยังไม่มีทางรักษาให้หายขาดได้ อาการคันอย่างต่อเนื่องทำให้ผู้ที่มีอาการนี้ใช้ชีวิตไม่สะดวกสบายไม่ว่าจะอายุเท่าไรก็ตาม ดังนั้นอาการคันอาจส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ดูเหมือนว่าการแพร่หลายดังกล่าวจะเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากประชากรย้ายออกจากพื้นที่ชนบทเข้าสู่เมือง ผู้คนบางกลุ่มที่ไม่เชื่อในการรักษาที่เหมาะสมหรือกลัวผลข้างเคียงจากผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์แผนปัจจุบันก็พยายามใช้ทางเลือกเสริมแทนการรักษาแผนปัจจุบัน นี่คือการทบทวนการศึกษาเกี่ยวกับการใช้น้ำมันอีฟนิ่งพริมโรส (evening primrose oil; EPO) และน้ำมันโบราจ (borage oil; BO) ที่รับประทานเข้าไป โดยทั้งสองชนิดนี้ถือว่ามีประโยชน์เนื่องจากมีกรด gamma-linolenic
เพื่อประเมินผลของการรับประทานน้ำมันอีฟนิ่งพริมโรสหรือน้ำมันโบราจในการรักษาอาการของโรคภูมิแพ้
เราค้นหาฐานข้อมูลต่อไปนี้จนถึงเดือนสิงหาคม 2012: Cochrane Skin Group Specialised Register, CENTRAL ใน The Cochrane Library , MEDLINE (จากปี 1946), EMBASE (จากปี 1974), AMED (จากปี 1985) และ LILACS (จากปี 1982) นอกจากนี้ เรายังค้นหาทะเบียนการทดลองออนไลน์และตรวจสอบบรรณานุกรมของการศึกษาที่รวมอยู่เพื่ออ้างอิงเพิ่มเติมเกี่ยวกับการทดลองที่เกี่ยวข้อง เราติดต่อกับผู้วิจัยในการทดลองและบริษัทยาเพื่อพยายามระบุการทดลองที่ยังไม่ได้เผยแพร่และยังคงดำเนินการอยู่ เราได้ดำเนินการค้นหาแยกกันเกี่ยวกับผลข้างเคียงของน้ำมันอีฟนิ่งพริมโรสและน้ำมันโบราจในเดือนพฤศจิกายน 2011
การทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม แบบคู่ขนาน หรือแบบไขว้ทั้งหมดที่ศึกษาการรับประทานน้ำมันอีฟนิ่งพริมโรสหรือน้ำมันโบราจเพื่อรักษาโรคผิวหนังอักเสบ
ผู้เขียน 2 คน ประเมินการศึกษาตามเกณฑ์การคัดเข้า ประเมินความเสี่ยงของการมีอคติ และดึงข้อมูลออกมาอย่างเป็นอิสระต่อกัน เราได้รวบรวมผลลัพธ์แบบไดโคทอมัสโดยใช้อัตราส่วนความเสี่ยง (risk ratios; RR) และผลลัพธ์ต่อเนื่องโดยใช้ความแตกต่างของค่าเฉลี่ย (mean difference; MD) หากเป็นไปได้ เราจะรวมผลการศึกษาโดยใช้การวิเคราะห์ random-effects meta-analysis และทดสอบทางสถิติของความความแตกต่างระหว่างการศึกษาโดยใช้ทั้งการทดสอบ Chi² และการทดสอบสถิติ I² เราเสนอผลลัพธ์โดยใช้ forest plots พร้อมช่วงความเชื่อมั่น 95% (CI)
การศึกษาทั้งหมด 27 ฉบับ (ผู้เข้าร่วม 1596 ราย) ที่เข้าเกณฑ์การรวม: การศึกษา 19 ฉบับ ประเมินน้ำมันอีฟนิ่งพริมโรส และการศึกษา 8 ฉบับ ประเมินน้ำมันโบราจ จากการวิเคราะห์ข้อมูลย้อนหลังของผลลัพธ์จากการศึกษา 7 ฉบับ พบว่า EPO ไม่สามารถช่วยรักษาอาการผิวหนังอักเสบได้อย่างมีนัยสำคัญ ตามที่รายงานโดยผู้เข้าร่วมการศึกษาโดยใช้มาตราส่วนเปรียบเทียบภาพตั้งแต่ 0 ถึง 100 (MD -2.22, 95% CI -10.48 ถึง 6.04, ผู้เข้าร่วมการศึกษา 176 ราย, การทดลอง 7 ฉบับ) และมาตราส่วนเปรียบเทียบภาพตั้งแต่ 0 ถึง 100 สำหรับแพทย์ (MD -3.26, 95% CI -6.96 ถึง 0.45, ผู้เข้าร่วมการศึกษา 289 ราย, การทดลอง 8 ฉบับ) เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มยาหลอก
การรักษาด้วย BO ยังไม่สามารถลดอาการของโรคผิวหนังอักเสบโดยรวมได้อย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับการรักษาด้วยยาหลอก ตามที่รายงานโดยผู้เข้าร่วมและแพทย์ แม้ว่าเราจะไม่สามารถทำการวิเคราะห์เมตต้าได้ เนื่องจากการศึกษาได้รายงานผลในรูปแบบที่แตกต่างกัน เมื่อพิจารณาถึงความเสี่ยงของการมีอคติ การศึกษาส่วนใหญ่มีความเสี่ยงของการมีอคติต่ำ โดยเราตัดสินว่าการศึกษาที่รวมอยู่ 67% มี ความเสี่ยงของการมีอคติต่ำในเรื่องการสร้างลำดับสุ่ม; 44% สำหรับการปกปิดการจัดสรร; 59% สำหรับการปกปิด; และ 37% สำหรับอคติอื่น ๆ
ผู้แปล แพทย์หญิงชุติมา ชุณหะวิจิตร วันที่ 12 พฤศจิกายน 2024