การบำบัดชีวิตคู่สำหรับผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า

ทำไมการทบทวนวรรณกรรมนี้จึงสำคัญ

โรคซึมเศร้าเป็นความผิดปกติทางจิตที่พบได้บ่อย แสดงออกโดยมีความเศร้า การสูญเสียความรู้สึกที่เคยมีความสุขในการทำกิจกรรมต่างๆ มีความรู้สึกไร้ค่า หรือความรู้สึกผิด มีความคิดเรื่องอยากตายหรือการฆ่าตัวตาย การบำบัดแบบชีวิตคู่ได้รับการแนะนำให้ใช้ในการบำบัดคู่รักที่มีคู่รักมีอาการซึมเศร้าบนพื้นฐานของความสัมพันธ์ระหว่างอาการซึมเศร้ากับความทุกข์ใจจากความสัมพันธ์ในชีวิตคู่ บทบาทของปัจจัยด้านลบที่ทำให้เกิดอาการซึมเศร้า และทำให้อาการซึมเศร้าคงอยู่ และผลของปัจจัยที่ช่วยทำให้เกิดการสนับสนุนความใกล้ชิดและความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล การบำบัดชีวิตคู่ทำงานโดยการปรับเปลี่ยนรูปแบบปฏิสัมพันธ์เชิงลบและเพิ่มการสนับสนุนความสัมพันธ์ที่เกื้อกูลกัน การมีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าการบำบัดชีวิตคู่สามารถช่วยผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าได้หรือไม่จึงเป็นสิ่งสำคัญ

ใครที่จะมีความสนใจในการทบทวนวรรณกรรมนี้

การทบทวนนี้จะเป็นที่สนใจของผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้า คู่ของพวกเขาและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลคู่ชีวิตที่มีอาการซึมเศร้า

การทบทวนวรรณกรรมนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อตอบคำถามอะไร

การทบทวนนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินหลักฐานเกี่ยวกับผลของการบำบัดชีวิตคู่สำหรับคู่รักที่มีคู่รักมีอาการซึมเศร้า

การศึกษาใดที่นำเข้าในการทบทวนวรรณกรรม

เราได้พิจารณาการศึกษาเกี่ยวกับการบำบัดชีวิตคู่ที่ให้บริการที่แผนกผู้ป่วยนอกให้กับคู่รักที่คู่รักได้รับการวินิจฉัยทางคลินิกว่าเป็นโรคซึมเศร้า เรารวมการศึกษา 14 รายการ ในผู้เข้าร่วมวิจัย 651 คน เป็นการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุมจำนวน 13 รายการ โดยผู้เข้าร่วมวิจัยได้รับการสุ่มแบบโดยบังเอิญให้เข้ากลุ่มบำบัดชีวิตคู่หรือกลุ่มการดูแลตามปกติ อย่างไรก็ตาม มีการศึกษา 1 รายการ ที่ไม่ได้สุ่มอย่างสมบูรณ์ ขึ้นอยู่กับความพร้อมของนักบำบัด

หลักฐานจากการทบทวนวรรณกรรมนี้บอกอะไรเราบ้าง

มีหลักฐานคุณภาพต่ำที่ชี้ให้เห็นว่าการบำบัดแบบชีวิตคู่มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับจิตบำบัดรายบุคคลในการลดภาวะซึมเศร้า ผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าอาจมีอาการดีขึ้นเมื่อได้รับการบำบัดแบบชีวิตคู่เมื่อเทียบกับไม่ได้รับการรักษา แต่เราไม่แน่ใจเกี่ยวกับประสิทธิผลการบำบัด เนื่องจากคุณภาพของการศึกษาอยู่ในระดับต่ำมาก เมื่อเปรียบเทียบกับการรักษาด้วยยาต้านอาการซึมเศร้า มีข้อมูลที่จำกัด ไม่สามารถสรุปผลได้ แม้ว่ามีข้อมูลว่ามีจำนวนผู้ป่วยเพียงเล็กน้อยที่หยุดเข้าร่วมการทดลองการบำบัดชีวิตคู่กลางคัน แต่คุณภาพของข้อมูลที่ต่ำมาก ทำให้ความเชื่อถือได้ของผลการศึกษาอยู่ในระดับต่ำ การเปรียบเทียบระหว่างการบำบัดด้วยชีวิตคู่กับยาต้านอาการซึมเศร้าและยาต้านอาการซึมเศร้าเพียงอย่างเดียว ไม่พบความแตกต่างในการลดระดับอาการซึมเศร้า แต่ผลการศึกษามาจากการศึกษาขนาดเล็ก 2 การศึกษา การบำบัดแบบชีวิตคู่มีประสิทธิภาพในการลดความทุกข์ใจในความสัมพันธ ์มากกว่าการทำจิตบำบัดแบบรายบุคคลและประสิทธิผลนี้เพิ่มมากขึ้นเมื่อให้การบำบัดคู่สมรสที่มีความทุกข์ใจไม่พร้อมกัน (แยกการเข้ารับการบำบัด) อย่างไรก็ตามผลลัพธ์นี้ต้องได้รับการพิจารณาอย่างระมัดระวังเป็นอย่างยิ่งเนื่องจากคุณภาพของการศึกษาต่ำมาก การศึกษาส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบอันเนื่องมาจากขนาดตัวอย่างที่เล็ก จึงไม่สามารถเป็นตัวแทนของประชากรได้ การสูญเสียจำนวนผู้เข้าร่วมวิจัยในระยะการติดตามผล และอคติที่ผู้วิจัยมีความเชื่อว่าการบำบัดแบบชีวิตคู่ดีกว่า นอกจากนี้ยังมีการศึกษาจำนวนเล็กน้อยที่มีการติดตามผลหลังการศึกษาเกิน 6 เดือน มีเพียง 1 การศึกษา ที่ทดสอบว่าการปรับปรุงความสัมพันธ์แบบคู่รักนำไปสู่การลดอาการซึมเศร้าหรือไม่ มีหลักฐานเชิงประจักษ์สนับสนุนข้อค้นพบนี้ อย่างไรก็ตามเนื่องจากการศึกษานี้มีขนาดกลุ่มตัวอย่างเล็กและไม่มีการศึกษาอื่น ๆ ที่ตรวจสอบสมมติฐานเดียวกัน ทำให้ไม่สามารถทดสอบเพื่อสนับสนุนข้อสรุปของความสัมพันธ์ข้อนี้ได้ แม้ว่าจะเป็นเรื่องยากที่จะหาข้อสรุปอย่างมีความเชื่อมั่นทางสถิติในความแตกต่างระหว่างการบำบัดแบบชีวิตคู่และการรักษาอื่น ๆ ในการรักษาภาวะซึมเศร้า แต่มีความเป็นไปได้ว่าการปรับปรุงความสัมพันธ์แบบชีวิตคู่อาจเป็นทางเลือกที่ดีเมื่อความทุกข์ใจมีสาเหตุหลักจากความสัมพันธ์

อะไรที่ควรจะเกิดขึ้นต่อไป

เราต้องการงานวิจัยเชิงทดลองที่มีคุณภาพดีในการทดสอบกับกลุ่มตัวอย่างจำนวนมาก โดยมีการติดตามผลของการบำบัดแบบชีวิตคู่เป็นเวลานาน เมื่อเปรียบเทียบกับการบำบัดรูปแบบอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคู่รักที่มีความเครียดมาก

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

แม้ว่าจะมีข้อเสนอแนะว่าการบำบัดชีวิตคู่จะมีประสิทธิผลเทียบเท่ากับจิตบำบัดรายบุคคลในการลดอาการซึมเศร้าและมีประสิทธิผลมากขึ้นในการพัฒนาความสัมพันธ์ในคู่รักที่มีความทุกข์ใจ แต่คุณภาพของหลักฐานที่ต่ำหรือต่ำมากทำให้มีข้อจำกัดความเป็นไปได้ที่จะได้ข้อสรุปอย่างชัดเจน มีข้อมูลน้อยมากสำหรับการเปรียบเทียบกับการรักษาที่ไม่มี / หรือได้รับการรักษาน้อย และ การรักษาด้วยยา การศึกษาต่อไปควรทำการศึกษาแบบทดลองที่มีคุณภาพสูงในกลุ่มตัวอย่างขนาดใหญ่และมีการติดตามผลของการบำบัดด้วยชีวิตคู่เป็นเวลานานเมื่อเปรียบเทียบกับการบำบัดด้วยรูปแบบอื่น ๆ ในคู่รักที่มีปัญหาในความสัมพันธ์ของชีวิตคู่ที่คู่รักมีอาการซึมเศร้า โดยพิจารณาจากปัจจัยด้านคุณภาพของความสัมพันธ์ในฐานะเป็นตัวแปรส่งผ่านที่มีอิทธิพลต่อการลดอาการซึมเศร้า

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

การบำบัดแบบชีวิตคู่สำหรับภาวะซึมเศร้า มีจุดมุ่งหมายสองข้อ คือ การปรับเปลี่ยนรูปแบบการโต้ตอบเชิงลบและเพิ่มแง่มุมที่สนับสนุนซึ่งกันและกันของความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด, การเปลี่ยนแปลงบริบทระหว่างความสัมพันธ์ของสองคนที่เกี่ยวข้องกับภาวะซึมเศร้า การบำบัดแบบชีวิตคู่ได้ถูกบรรจุเป็นข้อเสนอแนะในแนวปฏิบัติในการรักษาภาวะซึมเศร้าหลายๆ อัน

วัตถุประสงค์: 

1. วัตถุประสงค์หลักคือเพื่อตรวจสอบผลของการบำบัดชีวิตคู่เมื่อเปรียบเทียบกับจิตบำบัดรายบุคคลสำหรับผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า
2. วัตถุประสงค์รองคือเพื่อตรวจสอบผลของการบำบัดชีวิตคู่เปรียบเทียบกับการรักษาด้วยยาและไม่มี / มีการรักษาภาวะซึมเศร้าน้อยที่สุด

วิธีการสืบค้น: 

การศึกษาที่นำมาทบทวนสืบค้นจากฐานข้อมูลต่อไปนี้ Cochrane Common Mental Disorders Group Controlled Trials Register (CCMDCTR), Cochrane Central Register of Controlled Trials (CENTRAL), MEDLINE (Ovid), Embase (Ovid) และ PsycINFO (Ovid) และสืบค้นจนถึงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2018 มีการตรวจสอบวารสารที่เกี่ยวข้องและรายการอ้างอิง

เกณฑ์การคัดเลือก: 

การวิจัยรูปแบบการทดลองแบบสุ่ม และแบบ quasi-randomised controlled trials ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจสอบผลของการบำบัดแบบชีวิตคู่เปรียบเทียบกับจิตบำบัดรายบุคคล การบำบัดด้วยยา หรือไม่มีการรักษา / การรักษาน้อยที่สุด สำหรับผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า ถูกนำมาทบทวน

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

เราพิจารณาว่าผลลัพธ์หลักในการศึกษานี้ประกอบด้วย ระดับอาการซึมเศร้า ความคงอยู่ของภาวะซึมเศร้า และการออกจากการศึกษากลางคัน ผลลัพธ์รอง คือ ระดับความทุกข์ใจจากความสัมพันธ์ เราดึงข้อมูลโดยใช้ spreadsheet ที่เป็นมาตรฐาน ในกรณีที่ไม่มีข้อมูลในเอกสาร เราพยายามติดต่อผู้นิพนธ์เพื่อขอข้อมูล เราสังเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ Review Manager software version 5.3 เรารวบรวมข้อมูลที่มีสองกลุ่ม (dichotomous) โดยใช้ความเสี่ยงสัมพัทธ์ (RR) สำหรับข้อมูลต่อเนื่องใช้ความแตกต่างของค่าเฉลี่ยมาตรฐาน (SMD) ร่วมกับช่วงความเชื่อมั่น 95% (CIs) เราใช้ random-effects model สำหรับการเปรียบเทียบทุกชนิดและทดสอบความแตกต่างของกลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นการทดสอบที่ใช้ Chi2 test

ผลการวิจัย: 

เรารวมการศึกษา 14 เรื่อง จากยุโรป อเมริกาเหนือ และอิสราเอลโดยมีผู้เข้าร่วมการศึกษาจำนวนทั้งหมด 651 คน ผู้เข้าร่วมการวิจัย 80 เปอร์เซ็น เป็นคนผิวขาว ดังนั้นข้อค้นพบนี้จึงไม่สามารถนำไปใช้ได้กับประเทศที่ไม่ใช่ประเทศตะวันตกหรือกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ในประเทศตะวันตก โดยเฉลี่ยแล้วผู้เข้าร่วมวิจัยมีภาวะซึมเศร้าในระดับปานกลาง จึงไม่สามารถนำผลการศึกษานี้ไปขยายผลใช้กับผู้ป่วยที่มีอาการซึมเศร้าระดับรุนแรง โดยรวมแล้วผู้เข้าร่วมวิจัยมีอายุระหว่าง 36 ถึง 47 ปี

เมื่อสิ้นสุดการทดลองพบว่าไม่มีความแตกต่างในผลการรักษาระหว่างการบำบัดชีวิตคู่และจิตบำบัดแบบรายบุคคล ไม่ว่าจะเป็นผลอาการซึมเศร้าซึ่งเป็นตัวแปรต่อเนื่อง ข้อมูลนี้มาจากการศึกษา 9 เรื่องมีผู้เข้าร่วมวิจัย 304 คน (SMD −0.17, 95% CI −0.44 ถึง 0.10, หลักฐานคุณภาพต่ำ) หรือสัดส่วนของผู้เข้าร่วมวิจัยที่ยังคงมีอาการซึมเศร้า ข้อมูลนี้มาจากการศึกษา 6 เรื่อง มีผู้เข้าร่วมวิจัย 237 คน (RR 0.94, 95% CI 0.72 ถึง 1.22, หลักฐานคุณภาพต่ำ) การค้นพบจากการศึกษาที่มีการติดตามผล 6 เดือนหรือนานกว่านั้น ยืนยันว่าไม่มีความแตกต่างระหว่างเงื่อนไขทั้ง 2 รูปแบบ

ไม่มีการศึกษาใดที่รายงานผลข้างเคียงที่อันตรายจากการทดลอง อย่างไรก็ตาม เราถือว่าอัตราการหยุดการรักษาก่อนกำหนดไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม เป็นตัวบ่งชี้ของผลลัพธ์ที่ไม่พึงประสงค์ ไม่มีหลักฐานแสดงความแตกต่างของอัตราการออกกลางคันระหว่างการบำบัดด้วยชีวิตคู่และจิตบำบัดรายบุคคล ข้อมูลจากการศึกษา 8 เรื่อง ในผู้เข้าร่วมวิจัย 316 คน (RR 0.85, 95% CI 0.51 ถึง 1.41, หลักฐานมีคุณภาพต่ำ)

มีข้อมูลเพียงเล็กน้อยสำหรับการเปรียบเทียบกับการรักษาด้วยยา ข้อมูลจากการศึกษาขนาดเล็กที่มีผู้เข้าร่วมวิจัย 12 คน เมื่อสิ้นสุดการทดลองไม่พบความแตกต่างในเรื่องอาการซึมเศร้าที่เป็นตัวแปรต่อเนื่อง (SMD −0.51, 95% CI −1.69 ถึง 0.66, หลักฐานคุณภาพต่ำมาก) และในการติดตามผล 6 เดือน (SMD −1.07, 95% CI -2.45 ถึง 0.31, หลักฐานคุณภาพต่ำมาก) ข้อมูลเกี่ยวกับการออกจากการศึกษาก่อนสิ้นสุดการทดลองจาก 2 การศึกษา ในผู้เข้าร่วมวิจัย 95 คน พบว่าการบำบัดชีวิตคู่ได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่ามาก (RR 0.31, 95% CI 0.15 ถึง 0.61, หลักฐานคุณภาพต่ำมาก) อย่างไรก็ตามการค้นพบนี้จากการศึกษาเรื่องเดียว ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากอคติในการเลือกกลุ่มตัวอย่างที่ชอบการบำบัดแบบชีวิตคู่

การเปรียบเทียบระหว่างการบำบัดแบบชีวิตคู่กับการรักษาด้วยยาและการรักษาด้วยยาเพียงอย่างเดียว ไม่พบความแตกต่างในระดับอาการซึมเศร้าจากการศึกษา 2 เรื่องกับผู้เข้าร่วมวิจัย 34 คน (SMD −1.04, 95% CI -3.97 ถึง 1.89, หลักฐานคุณภาพต่ำมาก) และในการออกจากการศึกษาก่อนสิ้นสุดการทดลอง จากการศึกษา 2 เรื่อง ในผู้เข้าร่วมวิจัย 45 คน (RR 1.03, 95% CI 0.07 ถึง 15.52, หลักฐานคุณภาพต่ำมาก)

การเปรียบเทียบการบำบัดชีวิตคู่กับการไม่ได้รับการรักษาหรือการได้รับการรักษาน้อยมาก พบว่า การบำบัดชีวิตคู่มีประสิทธิผลมากกว่าการไม่ได้รับการรักษาหรือการรับการรักษาน้อยมากในผลลัพธ์ระดับอาการซึมเศร้า จากการศึกษา 3 เรื่อง ในผู้เข้าร่วมวิจัย 90 คน: (SMD −0.95, 95% CI −1.59 ถึง −0.32, หลักฐานคุณภาพต่ำมาก) และการคงอยู่ของภาวะซึมเศร้าจากการศึกษา 2 เรื่อง ในผู้เข้าร่วม 65 คน (RR 0.48, 95% CI 0.32 ถึง 0.70, หลักฐานคุณภาพต่ำมาก) ไม่มีข้อมูลสำหรับการออกกลางคันก่อนสิ้นสุดการทดลองสำหรับการเปรียบเทียบนี้

เกี่ยวกับความทุกข์ใจจากความสัมพันธ์ เมื่อเปรียบเทียบกับ จิตบำบัดรายบุคคล พบว่าเมื่อสิ้นสุดการทดลองการบำบัดแบบชีวิตคู่มีประสิทธิผลในการลดระดับความทุกข์ใจมากว่าการทำจิตบำบัดรายบุคคล จากการศึกษา 6 เรื่อง ในผู้เข้าร่วมวิจัย 187 คน (SMD −0.50, CI −0.97 ถึง −0.02, หลักฐานมีคุณภาพต่ำมาก) รวมถึงลดการคงอยู่ของความทุกข์ใจได้มากกว่า จากการศึกษา 2 เรื่อง ในผู้เข้าร่วมวิจัย 81 คน (RR 0.71, 95% CI 0.51 ถึง 0.98, หลักฐานคุณภาพต่ำมาก) คุณภาพของหลักฐานได้รับผลกระทบอย่างมากจากการมีความแตกต่างของกลุ่มตัวอย่างมาก (I2 = 59%) ในการวิเคราะห์ข้อมูลจากงานวิจัยที่มีความเข้มงวดมากที่คัดเลือกเฉพาะการศึกษาที่กลุ่มตัวอย่างเป็นคู่รักที่มีความทุกข์ใจเท่านั้นทำให้ไม่มีความแตกต่างกันของกลุ่มตัวอย่าง ผลการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า เมื่อสิ้นสุดการทดลอง ประสิทธิผลของการบำบัดแบบคู่ชีวิตในการลดระดับความทุกข์ใจเมื่อสิ้นสุดการรักษามีขนาดใหญ่กว่า (SMD −1.10, 95% CI −1.59 ถึง −0.61) มีข้อมูลน้อยมากเกี่ยวกับผลลัพธ์นี้สำหรับการเปรียบเทียบกับการรักษาในรูปแบบอื่น ๆ

เราประเมินความเชื่อมั่นของหลักฐานโดยวิธีแนวทางของ GRADE system ผลการวิจัยมีความเชื่อถือได้น้อยเนื่องจากคุณภาพของหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับผลต่ออาการซึมเศร้าอยู่ในระดับต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับจิตบำบัดรายบุคคล นอกจากนี้งานวิจัยที่เปรียบเทียบการบำบัดคู่ชีวิตกับรูปแบบอื่นๆ ทั้งหมด รวมถึงการศึกษาที่ใช้ความทุกข์ใจเป็นการประเมินผลลัพธ์ก็เป็นงานวิจัยที่มีคุณภาพในระดับต่ำมาก การศึกษาส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากปัญหาหลายอย่าง เช่นขนาดของกลุ่มตัวอย่างเล็ก มีอคติจากการที่ไม่มีการปกปิดผู้ประเมินผลลัพธ์ รายงานการประเมินผลลัพธ์ไม่สมบูรณ์ รวมถึงอคติของผู้วิจัยที่เชื่อว่าการบำบัดแบบชีวิตคู่ดีกว่า นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างมีความหลากหลายไม่เหมือนกันเป็นปัญหาสำคัญของงานวิจัยที่ใช้การลดความทุกข์ใจจากความสัมพันธ์เป็นผลลัพธ์ในการศึกษา

บันทึกการแปล: 

แปลโดย สมพร รุ่งเรืองกลกิจ

Tools
Information